ผู้ประกอบการแท็กซี่รับไม่ได้ ปรับขึ้นค่าโดยสารแค่ 13% แถมแบ่งเป็นสองระยะ ชี้ ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เตรียมยื่นหนังสือต่อนายกฯ ขอให้ขึ้นเป็น 26% ช่วยผู้ประกอบการอยู่รอด จากกรณีที่กระทรวงคมนาคมไฟเขียวให้รถแท็กซี่ปรับขึ้นค่าโดยสารได้ 13% โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก ปรับขึ้น 8% ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 จากนั้นจะประเมินผล 6 เดือน เพื่อพิจารณาปรับขึ้นอีก 5% ในระยะที่ 2 ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2557 นายปราโมทย์ โคตรมณี อุปนายกสมาคมผู้ขับรถแท็กซี่สาธารณะสุวรรณภูมิ ได้ระบุว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้ปรับขึ้นค่าโดยสารเป็น 2 ระยะ โดยควรให้ปรับขึ้นระยะเดียว 13% ไปเลย เพราะคนขับแท็กซี่ต้องเสียค่าปรับจูนมิเตอร์ครั้งละ 300 บาท หากปรับขึ้น 2 ครั้งก็ต้องเสียเงินเป็น 600 บาท หรือหากจะปรับขึ้น 2 ระยะ ก็ขอให้รัฐบาลออกค่าปรับจูนมิเตอร์ให้ด้วย
นายปราโมทย์ กล่าวต่อว่า ผู้ขับแท็กซี่พร้อมจะปรับปรุงการบริการให้ดีขึ้น แต่ก็ขอให้ผู้โดยสารเข้าใจด้วยว่าคงไม่สามารถแก้ปัญหาปฏิเสธผู้โดยสารได้ทั้งหมด เพราะบางครั้งรถก๊าซฯ หมด หมดเวลา หมดกะต้องไปเข้าคิวเติมก๊าซเพื่อส่งรถ ก็ต้องปฏิเสธผู้โดยสาร ซึ่งทางแท็กซี่จะรณรงค์ให้ผู้ขับขี่ปิดไฟด้านหน้ารถ เพื่อแจ้งให้ทราบว่าไม่รับผู้โดยสาร
ขณะเดียวกัน นายปราโมทย์ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎอัยการศึกโดยเร็ว เพราะขณะนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจากยุโรปมาเที่ยวน้อยมาก ส่งผลกระทบต่อรายได้ของคนขับแท็กซี่ตามสนามบิน
ด้านนายปัฐวี มีราช คณะกรรมการประสานงานกลุ่มผู้ขับรถสาธารณะแท็กซี่ มองว่า การปรับขึ้นค่าโดยสาร 13% ยังไม่เป็นธรรมนัก เพราะต้นทุนที่นำมาคำนวณคลาดเคลื่อน เนื่องจากใช้ฐานอัตราเงินเฟ้อปี 2551 ที่ช่วงนั้นปรับขึ้นค่าแท็กซี่เล็กน้อยตามต้นทุนพลังงานบางส่วน ไม่ได้คำนวณจากเงินเฟ้อทั้งระบบ ดังนั้นควรใช้ฐานปี 2548 มาคำนวณ นอกจากนี้การคำนวณต้นทุนนั้นก็มาจากผู้ขับรถที่เช่ารถจากสหกรณ์ต่าง ๆ ที่มีสัดส่วนร้อยละ 30 ไม่ได้คำนวณจากการเช่าซื้อรถ ซึ่งเป็นผู้ขับส่วนใหญ่ร้อยละ 70
ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการจึงรับไม่ได้กับอัตราที่กระทรวงคมนาคมเห็นชอบ ขอเสนอให้ขึ้นค่าโดยสาร 13% ทันที และเมื่อปรับปรุงการบริการแล้วควรขึ้นค่าโดยสารให้อีก 13% รวมเป็น 26% จึงจะคุ้มทุน และช่วยให้ผู้ประกอบการอยู่รอดได้ ซึ่งเตรียมทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในวันที่ 21 ตุลาคมนี้ เพื่อให้ทบทวนเรื่องดังกล่าว
http://www.1009seo.com/