ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ ดาวดวงใหม่ในเวทีวิทย์โลก @
LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่14"
พฤศจิกายน 21, 2024, 10:49:27 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ ดาวดวงใหม่ในเวทีวิทย์โลก @  (อ่าน 4048 ครั้ง)
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1887
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13886


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« เมื่อ: กรกฎาคม 27, 2012, 05:07:40 am »



 “นักวิทยาศาสตร์นอกจากต้องเป็น คนเก่ง ในสายอาชีพแล้ว ยังต้องเป็น คนดี ทำงานคืนกลับสู่สังคมด้วย”

นี่ไม่ใช่แค่ประโยคที่พูดเพื่อให้ดูสวยหรู
ทว่าพิสูจน์ได้ด้วยตัวตนและผลงานของ ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ
 นักวิจัยหญิงไทยที่กำลังเป็นที่จับตามองในเวทีระดับนานาชาติ   


 ดร.นิศรา เป็นสาวนครสวรรค์ ความเก่งของเธอไม่ใช่แค่ดีกรี “ดอกเตอร์สาว”
ที่คว้าทุนรัฐบาลตั้งแต่ระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
จนถึงปริญญาโท-เอกในสาขาวิชาวิศวกรรมเคมี
ณ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา
แต่ผลงานอันโดดเด่นในฐานะหัวหน้าห้องปฏิบัติการไมโครอะเรย์แบบครบวงจร
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช.
ทำให้เธอเป็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่ได้รับทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย
 "เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์" ประจำปี 2552


 นอกจากผลงานทางวิชาการที่เป็นที่ยอมรับแล้ว
ด้วยศักยภาพในการเป็นผู้นำและเป็นผู้ที่ทำงานเพื่อสังคมมาโดยตลอด
มูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.)
 และคณะกรรมการ InterAcademy Panel (IAP)
ได้คัดเลือกเธอให้เป็น 1 ใน 43 นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ดีเด่นระดับนานาชาติ
เข้าร่วมเวทีประชุมวิชาการระดับโลก
World Economic Forum (WEF) Annual Meeting of the New Champions 2008 “Summer Davos”
 ซึ่งเป็นจุดผลักดันให้เธอได้รับการเลือกตั้งจากตัวแทนนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จากทั่วโลก
ให้ดำรงตำแหน่งประธานร่วมขององค์กรระดับโลกนาม
 The Global Young Academy (GYA)
หรือ องค์กรเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของโลก   


 ล่าสุดวารสาร Nature วารสารระดับนานาชาติที่มีชื่อทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์
ได้ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ของเธอในฐานะประธานที่ผลักดัน GYA ให้สำเร็จลุล่วงเป็นที่ประจักษ์
 และนี่คือศักยภาพของนักวิจัยหญิงไทย ที่ได้รับการยอมรับในเวทีระดับสากล

The Global Young Academy มีที่มาอย่างไร

จุดเริ่มต้นมาจาก ในปี 2008 ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum
ซึ่งเดิมการประชุมนี้จะมีแต่นักการเมือง นักธุรกิจและบุคคลสำคัญระดับโลกเท่านั้น
ซึ่งทาง IAP มองว่าการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและสังคมโลกจะแก้ได้ด้วยพื้นฐานองค์ความรู้ในด้านต่างๆ
ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เป็นผู้ที่สร้างความรู้
ฉะนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงควรมีส่วนร่วมในการนำความรู้มาเสนอแนะทางออกของปัญหา
 ด้วยเหตุนี้ทาง IAP จึงคัดเลือกตัวแทนนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์กว่า 40 คนจากทั่วโลกเป็นตัวแทน
โดยมีวิสัยทัศน์ว่านักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จะเป็นพลังสำคัญ
รวมทั้งเป็นการฝึกและปลูกฝังให้นักวิทยาศาสตร์สามารถสื่อสาร
 พูดคุย กับนักการเมือง นักธุรกิจ และประชาชนทั่วไปได้ตั้งแต่เด็ก


 ผลการประชุมครั้งนั้นประสบความสำเร็จอย่างมาก นักการเมือง นักธุรกิจที่ไม่เคยติดต่อกับนักวิทยาศาสตร์
ก็เริ่มเห็นว่าจริงๆ นักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่คนที่ใส่แว่นตาหนาเตอะ หัวฟู คุยไม่รู้เรื่องนะ (หัวเราะ)
แถมยังมีไอเดียหลากหลายที่เขาคาดไม่ถึง
 เพราะนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมต่างก็เป็นระดับหัวกะทิทั้งนั้น
ส่งผลให้ปีต่อมา (2009) ก็มีการคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์รุ่นที่ 2 เข้าร่วมการประชุมอีกครั้ง
ขณะที่เราได้รับคัดเลือกให้เข้าไปทำงานในฐานะพี่เลี้ยง ซึ่งมีทั้งหมด 7 คน


 แน่นอนว่าผลลัพธ์จากการประชุมลุล่วงไปด้วยดี ซึ่งพวกเราเองเริ่มตระหนักว่าความรู้ของเราช่วยสังคมได้อย่างมาก
อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ถือเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
มีพลังและมีไฟในการทำงานมาก ดังนั้นหากเราสามารถดึงนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำรุ่นเยาว์ทั่วโลกมาไว้ด้วยกัน
ก็น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมาก ทำให้ต่อมาได้มีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ
ระหว่างวันที่ 14-17 กุมภาพันธ์ 2553 ณ เมือง Berlin ประเทศเยอรมนี
และนั่นก็เป็นวันถือกำเนิดขององค์กร The Global Young Academy ด้วย



ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานของ GYA ได้อย่างไร

 เมื่อ GYA เกิดขึ้น ก็เริ่มมีการตั้งธรรมนูญและกฎเกณฑ์ต่างๆ ขององค์กร
รวมถึงการเลือกตั้งประธาน ซึ่งทุกคนเห็นพ้องว่าควรมีประธาน 2 คน
หนึ่งคนมาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว และอีกหนึ่งคนจากประเทศกำลังพัฒนา
เพื่อให้มองเห็นปัญหาและดำเนินงานได้อย่างครอบคลุม
ซึ่งจากการเสนอชื่อและลงคะแนนเลือกตั้ง
ทำให้เราได้เป็นประธานจากประเทศกำลังพัฒนา
ส่วน Prof. Dr.Gregory Weiss จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเป็นประธานจากประเทศพัฒนาแล้ว
 ซึ่งตอนที่ได้รับการเลือกตั้งรู้สึกดี ภูมิใจมาก
แต่ขณะเดียวกันก็ยังงงๆ ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง (หัวเราะ)

จริงๆ แล้วเป้าหมายของ GYA คืออะไร


 จุดมุ่งหมายสำคัญคือเราอยากเป็นกระบอกเสียง
ไม่ได้บอกว่าปัญหาของนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่มีอะไรนะคะ (หัวเราะ)
แต่เราจะบอกว่านักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ทำอะไรให้สังคมได้บ้าง
ที่สำคัญคืออยากปลุกพลังนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่
ให้ช่วยกันนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาตอบโจทย์ความต้องการของสังคม
หรือทำงานเพื่อสร้างประโยชน์กลับคืนสู่สังคมได้อย่างแท้จริง


 ทั้งนี้จะเห็นได้จากสมาชิกของ GYA ไม่ได้มาจากการรับสมัครทั่วไป
แต่สมาชิกส่วนใหญ่มาจากการคัดเลือกจากองค์กรวิทยาศาสตร์ในแต่ละประเทศ
โดยทุกคนจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการ “เก่ง” และ “ดี” เก่ง
คือ คุณต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ มีผลงานตีพิมพ์
และเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ และ ดี คือ ต้องมีผลงานในเชิงประจักษ์ว่า
 คุณพร้อมที่จะอุทิศตนทำงานเพื่อสังคม รวมถึงมีศักยภาพในการเป็นผู้นำในอนาคตด้วย


ผ่านมา 1 ปีผลงานที่เป็นรูปธรรมมีอะไรบ้าง

 สิ่งสำคัญอันดับแรกเลย ตอนนี้เราได้สนับสนุนให้ประเทศในเครือข่ายสมาชิกจัดตั้ง
 National Young Scientists Academy หรือ เครือข่ายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของประเทศนั้นๆ
เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างมีพลัง โดยประเทศที่ดำเนินการจัดตั้งเสร็จแล้วได้แก่
ประเทศไทย ปากีสถาน ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงญี่ปุ่นก็ได้เริ่มต้นดำเนินการแล้ว
ซึ่งหากในแต่ละปีมีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์เกิดขึ้นปีละ 10 ประเทศ
ก็จะเกิดเป็นเครือข่ายทำงานประสานกันเหมือนใยแมงมุมที่แข็งแกร่งและมีพลังอย่างมาก


 สำหรับในเรื่องกิจกรรม เช่น การส่งเสริมการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์
ยกตัวอย่างในประเทศปากีสถานที่ยังประสบปัญหาขาดแคลนสื่อการสอนวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจและทันสมัย
 ทาง GYA ได้จัดหานักวิทยาศาสตร์อาสาสมัครมาทำการบันทึกการบรรยายวิทยาศาสตร์ในรูปแบบของซีดี
 เพื่อนำไปใช้ในปากีสถาน ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จ ก็จะนำไปใช้ขยายผลในประเทศอื่นๆ ที่ขาดแคลน
 นอกจากนี้ก็พยายามผลักดันให้นักวิทยาศาสตร์จากประเทศที่พัฒนาแล้ว
ได้เดินทางไปบรรยายพิเศษ แลกเปลี่ยนประสบการณ์
เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา เป็นต้น


ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากตรงนี้อย่างไรบ้าง


  แน่นอนว่าประเทศไทยได้รับประโยชน์อย่างมาก ผลลัพธ์ที่เห็นเด่นชัดตอนนี้
เรามีเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ที่ชื่อว่า Thai Young Scientists Academy
หรือมีชื่อเล่นๆ ว่า TYSA (ไทยซ่า) เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าประชุม World Economic Forum
 และเป็นสมาชิกของ GYA นั่นเอง ซึ่งตอนนี้ TYSA มีสมาชิกที่ได้รับคัดเลือกแล้วกว่า 30 คน
เป็นบุคลากรจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิทยาศาสตร์ระดับชั้นนำจากทั่วประเทศ


 สำหรับการจัดกิจกรรมในประเทศไทย เรากำลังจะจัด Youth Apec ซึ่งทาง GYA
ได้ประสานเชิญประธาน Prof. Hans Hilgenkamp
อดีตประธาน De Jonge Akademie (Dutch Young Academy) ของประเทศเนเธอร์แลนด์มาร่วมบรรยายพิเศษ
และเมื่อไม่นานมานี้ GYA ได้เชิญ ศ.เดวิด ฮัทชินสัน จากประเทศนิวซีแลนด์
ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก GYA มาบรรยายพิเศษให้นักเรียน
นักศึกษาที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย
ซึ่งจะเห็นว่าถ้าไม่ใช่เพราะเครือข่ายสมาชิกนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์
เป็นเรื่องที่ยากมาในการเชิญบุคคลระดับนี้มาบรรยายให้เรา
 หรือแม้แต่ในเรื่องงานวิจัย นักวิทยาศาสตร์จากประเทศแอฟริกาใต้
จะมาบรรยายและจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้ไบโอเทคในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้


ในฐานะประธาน GYA รู้สึกอย่างไร

 

             การทำงานตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เป็นภาระที่หนักมาก เพราะต้องเข้าใจว่าเป็นการตั้งองค์กรใหม่
หนึ่งจะต้องสร้างการยอมรับทางสังคม สองคือต้องหาเงินทุน และทุกอย่างต้องเริ่มจากศูนย์
ประธานทั้งสองคนต้องทำทุกอย่าง บริหาร เลขา ตอบเมล ทำฐานข้อมูล
 สร้างเว็บไซต์ประสานงานกับเครือข่ายทั่วโลก ซึ่งถือว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และท้าทายมาก

 


            แต่เราก็คิดเสมอว่าทุกอย่างที่เราทำไม่ได้สะท้อนแค่ตัวเรา
แต่มันสะท้อนถึงองค์กรและประเทศชาติ ซึ่งก็เป็นโชคดีอย่างมากว่าตลอดระยะเวลาการทำงาน
เราได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากทั้งผู้บริหารไบโอเทค สวทช.
และอีกหลายๆ หน่วยงาน จนทำให้ GYA ก่อร่างสร้างตัวได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งหมดเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้ก้าวสู่องค์กรวิทยาศาสตร์โลกได้อย่างมั่นคง
ซึ่งมาถึงวันนี้สิ่งที่เราและทุกๆ คนทุ่มเทลงไป เชื่อว่า
 คงไม่มีใครจำ นิศรา นามสกุลยาวๆ ได้ แต่เขาจะจำได้ว่าประธานร่วม
The Global Young Academy คนแรกนั้นมาจากประเทศไทย


มองบทบาทผู้หญิงไทยในการทำงานวิจัยระดับโลกอย่างไรบ้าง

 


 ถ้าถามถึงการยอมรับในต่างประเทศทุกวันนี้ การกีดกันหรือความไม่เท่าเทียมกันของผู้หญิงผู้ชายน่าจะหมดไปแล้ว
และจากการทำงานที่ผ่านมา เชื่อว่าทั่วโลกน่าจะทึ่งมากนะที่เราทำได้ขนาดนี้
และหัวดำๆ นี่ก็มาจากประเทศที่หลายคนมองว่าเป็นประเทศด้อยพัฒนาหรือประเทศกำลังพัฒนา
แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่เพราะตัวเราเก่ง แต่เป็นเพราะโอกาสที่หลายฝ่ายหยิบยื่นมาให้
ตั้งแต่การได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลไทย การสนับสนุนจากองค์กร
 หน่วยงาน รวมทั้งบุคคลต้นแบบ เช่น ศ.ดร. มรกต ตันติเจริญ, ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร
ที่เป็นแรงบันดาลใจและสนับสนุนเราเรื่อยมา


สุดท้ายอยากฝากอะไรถึงนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ไหม


 อยากให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ฝึกฝนพัฒนาตนเองให้เก่งในด้านนั้นๆ แต่ขณะเดียวกัน
ก็อยากให้แบ่งเวลาทำงานหรือกิจกรรมเพื่อตอบแทนเพื่อสังคมด้วย
เพราะเวลาเพียงเล็กๆ น้อย ในการบรรยายให้เยาวชนได้ฟัง ก็อาจจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครอีกหลายคน
เช่น เคยมีน้องคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า เราเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเดินตามกระทั่งได้รับทุนรัฐบาล ซึ่งภูมิใจมาก
เพราะไม่คิดว่าหนึ่งชั่วโมงที่เราไปพูดให้เขาฟัง มันจะเปลี่ยนชีวิตคนคนหนึ่งได้
และคนคนนั้นตอนนี้เขากำลังจะเปลี่ยนชีวิตใครอีกมากมาย
สิ่งเรานี้ก็เป็นกำลังใจที่ทำให้เรามุ่งมั่นทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป

Credit  http://www.bangkokbiznews.com/

นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ประจำปี พ.ศ. 2554

http://www.youtube.com/v/Yb6PtA6wW9I?version=3&hl=th_TH" type="application/x-shockwave-flash



บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media

lsv2555Please follow the new website at https://www.pohchae.com

Valid CSS!