...เชียงใหม่อาฟเตอร์ช็อคตลอดคืนเกือบ60ครั้ง 25 มีค. 2554 09:52 น.
สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ระบุอาฟเตอร์ช็อคตลอดคืนเกือบ 60 ครั้ง แต่แรงเกิน 5.0 ริกเตอร์เพียง 6 ครั้ง คาดอาฟเตอร์ช็อคต่อเนื่องไปอีกสัปดาห์
นายบุรินทร์ เวชบันเทิง ผู้อำนวยการส่วนเฝ้าระวังและติดตามแผ่นดินไหวและสึนามิ สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า หลังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.7 ริกเตอร์ ในเวลา 20.55 น. วันที่ 24 มี.ค. หลังจากนั้นได้เกิดอาฟเตอร์ช็อคขึ้นตลอดทั้งคืนตรวจวัดได้ประมาณ 56 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นอาฟเตอร์ช็อคที่มีแรงสั่นสะเทือนเกิน 5 ริกเตอร์ จำนวน 6 ครั้ง แรงที่สุดวัดได้ 5.5 ริกเตอร์ ในเวลา 07.22 น. (25 มี.ค.) ส่วนที่เหลือมีแรงสั่นสะเทือนต่ำกว่า 5 ริกเตอร์
อาฟเตอร์ช็อคที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องสามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้บริเวณจุดศูนย์กลางในประเทศพม่าและจังหวัดในภาคเหนือที่มีระยะทางไม่ห่างกันมากนัก อย่างไรก็ตามคาดว่าจะเกิดอาฟเตอร์ช็อคต่อเนื่องไปอีกประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งจะมีความรุนแรงมากน้อยสลับกันไปประมาณ 3-5 ริกเตอร์ แต่จะไม่รุนแรงมากกว่า 6 ริกเตอร์
สำหรับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นครั้งนี้ คาดการว่าจะเกิดจากรอยเลื่อน "น้ำมา" ของประเทศลาว รอยเลื่อนนี้มีแนวที่ต่อเนื่องเข้าไปในเขตพม่าซึ่งถูกระบุเป็นจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวครั้งนี้ ขณะที่รอยเลื่อนน้ำมาอยู่ติดกับรอยเลื่อนแม่จันของไทยทำให้สามารถรับแรงสั่นสะเทือนถึงกันได้
แผ่นดินไหวพม่าทำให้เกิดรอยตัดของเปลือกโลก รองโฆษกสาขาภาคเหนือ กรมอุตุนิยมวิทยาเผย จับตาแผ่นดินไหวพม่าครั้งนี้ทำให้เกิดรอยตัดของเปลือกโลกเหนือแม่ฮ่องสอนไป 30 กิโลเมตร จะส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวในจุดที่ไม่เคยเกิดได้
นายอดิศร ฟุ้งขจร ผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยา จ.เชียงใหม่ ในฐานะรองโฆษกสาขาภาคเหนือ กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า อาฟเตอร์ช็อคที่เกิดขึ้นตามหลังเหตุแผ่นดินไหวหลายครั้งต้องเกิดขึ้นแน่ เพราะเมื่อแผ่นดินไหวแรงขนาดถึง 6.7 -7 ริกเตอร์แล้ว ธรรมชาติจำเป็นต้องคืนตัวสู่จุดภาวะสมดุลย์
การเกิดแผ่นดินไหวในพม่าครั้งนี้เกิดขึ้นที่รอยเลื่อนฉาน ในเขตรัฐฉานของพม่า ซึ่งขนานกับรอยเลื่อนเชียงแสนประมาณ 50 กิโลเมตรไปทางเหนือ และเกี่ยวข้องกับการเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่นิวซีแลนด์ เมืองเซนไดญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกใบเดียวกัน และมีความเชื่อมโยงเป็นพลวัตซึ่งกันและกัน อย่างกรณีที่เซนไดประเทศญี่ปุ่นนั้นแผ่นเปลือกโลกของแปซิฟิกมุดลงไปใต้เปลือกโลกของญี่ปุ่น เหมือนวัวกระทิงที่พยายามขวิดดันกันไปดันกันมาแล้วเปลือกแปซิฟิกก็ชนะญี่ปุ่น ส่งผลให้เปลือกโลกญี่ปุ่นขยับไป 2.4 เมตร จึงทำให้กระทบไปยังรอยเลื่อนอื่นๆเพราะเป็นโลกใบเดียวกัน
นายอดิศร กล่าวว่า ส่วนการเกิดแผ่นดินไหวในพม่าในครั้งนี้ สิ่งที่น่าห่วงคือรอยเลื่อนจากพม่าได้วิ่งขนานมากับลอยเลื่อนไทยแล้วมาหักศอกตรงบริเวณเหนือ จ.แม่ฮ่องสอนไปประมาณ 30 กิโลเมตร น่าจะเกิดรอยตัดของเปลือกโลกบริเวณดังกล่าวซึ่งจะทำให้แผ่นดินไหวมีการเปลี่ยนทิศ ต้องจับตาให้ดีว่าโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวหรือการสะสมพลังในรอยเลื่อนที่ไม่เคยเกิดอาจเกิดขึ้น คืออาจเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ๆไม่เคยเกิดขึ้นได้หลังจากนี้
http://breakingnews.nationchannel.com