เรื่องโดย ... ฮักก้า
หากภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระพุทธรัตนสถานพระบรมมหาราชวังชั้นใน เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังแห่งยุครัชกาลที่ 9 แห่งแรก
ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ประเทศอินเดีย ก็จะ กลายเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังแห่งยุครัชกาลที่ 9 แห่งที่ 2 และเป็นแห่งแรกในต่างประเทศ
โดย เมื่อ พ.ศ.2543 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานภาพประกอบในหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก” จำนวน 16 ภาพ และภาพพระราชกรณียกิจ จำนวน 6 ภาพเพื่อนำมาเขียนเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง แต่ก็ต้องพบกับอุปสรรคนานาประการ
กระทั่ง มีคณะผู้มีจิตศรัทธาจากประเทศไทยคณะหนึ่งเดินทางไปสักการะสังเวชนียสถานที่ ประเทศอินเดีย และ ได้แวะเข้าไปที่วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ พระราชรัตนรังสี เจ้าอาวาสวัด จึงได้ขอให้คณะผู้มีจิตศรัทธาเหล่านั้นได้ดำเนินการต่อ จึงทำให้โครงการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ณ วัดไทยแห่งนี้ ซึ่งมี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเป็นประธานโครงการ สามารถดำเนินการต่อไปได้
เป็นที่ทราบกันว่า ภาพประกอบในหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก” เป็นภาพประกอบที่มีศิลปินหลายๆคน ช่วยกันเขียน แต่ พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปิน แห่งชาติ,อดีตอธิบดีกรมศิลปากร และหนึ่งในคณะกรรมการของโครงการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในครั้งนี้ เห็นว่าการจะนำภาพเหล่านั้นไปเขียนเป็นภาพจิตกรรมฝาผนัง คงจะไม่สามารถถ่ายทอดเนื้อหาสาระของพระราชนิพนธ์ได้อย่างครบถ้วน คณะกรรมการอยากให้ภาพเป็นไปในรูปแบบเดียวกัน เพื่อผู้ชมจะได้ชมเข้าใจง่าย จึงเห็นว่าหากใช้วิธีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบไทยดั้งเดิมจะเหมาะกว่า และถือเป็นการเผยแพร่ศิลปะไทยในต่างแดนด้วย
พลอากาศตรี อาวุธ จึงได้มอบหมายให้ มณเฑียร ชูเสือหึง จิตรกร กลุ่มจิตรกรรมศิลปประยุกต์และลายรดน้ำ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เขียนแบบลายเส้นโดยละเอียดตามพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก” ทั้งเรื่อง แล้วนำทูลเกล้าถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตร เมื่อเป็นที่พอพระทัย จึงทรงมีพระราชานุญาตให้นำแบบทั้งหมดขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ซึ่งทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตลงมาเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2551
มณเฑียร ผู้เคยเป็นหนึ่งในทีมงานเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระพุทธรัตนสถาน พระบรมมหาราชวังชั้นใน มาก่อน และมีเกียรติประวัติและผลงานเป็นที่น่าพอใจ จึงกลายเป็นจิตรกรเพียงคนเดียวที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการออกแบบ และเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง
โดยก่อน ที่จะลงมือเขียนภาพ นอกจากมณเฑียรจะได้เดินทางไปเยี่ยมชมสถานที่จริง คือ พระอุโบสถ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เขายังต้องกลับไปศึกษา ทั้งเรื่องราวของพระมหาชกที่ปรากฎในวรรณกรรมทางพุทธศาสนาและที่ปรากฏใน หนังสือพระราชนิพนธ์
จากนั้นมณเฑียร ได้ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบสามมิติ(แบบโบราณสองมิติ)ที่มีความ ผสมผสานระหว่างเอกลักษณ์ไทยและอินเดีย สังเกตได้ในส่วนของ ภาพคน สถาปัตยกรรม และฉากหลัง นอกจากนี้ในบางส่วนของภาพก็ยังมีวิธีการเขียนแบบตะวันตก เช่น การตกทอดของเงา
อย่างไรก็ตามยังคง รักษารูปแบบบางอย่างของช่างโบราณไทยเอาไว้ เช่น ยังมีเรื่องของการตัดเส้น และการจัดองค์ประกอบแบบ Bird Eye View หรือ มองจากมุมสูงลงมาต่ำ
แต่ที่ต่างออกไปมณเฑียรไม่ได้เขียนภาพลงบนผนังพระอุโบสถโดยตรงตามแบบโบราณ แต่เขียนลงบนผ้าใบ ก่อนจะนำไปผนึกบนผนังอีกครั้ง
เนื่อง จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเห็นด้วยกับ พลอากาศตรี อาวุธ ว่าแทนที่จะเขียนภาพลงไปบนผนังพระอุโบสถตามที่เคยปฏิบัติกันมา ควรจะเขียนลงในแผ่นผ้าใบแล้วจึงนำไปปิดลงบนผนังพระอุโบสถ เพราะวิธีนี้จะแก้ปัญหาเรื่องความชื้นของผนังพระอุโบสถ ซึ่งจะทำให้ภาพจิตรกรรมชำรุดต้องซ่อมแซมอยู่เสมอ และจะเป็นการทุ่นค่าใช้จ่ายและเวลาเพราะการเขียนภาพสามารถหาจิตรกรที่ชำนาญ เขียนขึ้นในประเทศไทยและไม่ต้องใช้เวลาในการเขียนนานหลายปี
“เรา ใช้เทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น ผ้าใบที่ใช้สำหรับภาพเขียนแต่ละตอน กว้าง 3.2 เมตร ยาว 15 เมตร ที่เมืองไทยไม่มีฮะ ต้องไปสั่งซื้อมาจากอเมริกา และสีที่ใช้ก็เป็นสีอะคริลิค สีวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นสีสมัยใหม่ที่มีคนใช้กันอย่างแพร่หลายในแวดวงศิลปะ เพราะสะดวกสบายในการเขียน ไม่ยุ่งยากเหมือนสมัยก่อน”
มณเฑียร จิตรกรผู้เขียนภาพบอกเล่าและขณะนี้ก็ใกล้เวลาที่ภาพเขียน จะถูกเคลื่อนย้ายจากสตูดิโอของเขา ณ ประเทศไทย ไปติดตั้งที่ผนังพระอุโบสถ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ณ ประเทศอินเดีย ในช่วงต้นปี พ.ศ.2554
ภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้งหมด มี 39 ตอน แบ่งเป็นภาพที่นำเสนอเรื่องราวของพระมหาชนกที่ปรากฎในวรรณกรรมทางพุทธศาสนา และที่ปรากฎในพระราชนิพนธ์ รวม 36 ตอน และภาพเกี่ยวกับเทพชุมนุมอีก 3 ตอน
โดย ภาพจิตรกรรมฝาผนังในส่วนของพระมหาชนกที่ปรากฎในพระราชนิพนธ์ เน้นในเรื่องราวที่เข้ากับสังคมไทยในปัจจุบัน ตลอดจนด้านการศึกษาและด้านเกษตรกรรม อาทิ ตอนที่พระมหาชนกลงเรือมาค้าขายที่สุวรรณภูมิ และใช้ความเพียรแหวกว่ายอยู่กลางมหาสมุทร เพื่อให้ผู้พบเห็น นอกจากสัมผัสเอาความงดงามของงานจิตรกรรมฝาผนัง ยังรับเอาข้อคิดในเรื่องความเพียรที่ถ่ายทอดไว้ในภาพกลับไปด้วย
ดัง เช่นที่ มณเฑียร จิตรกรชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ได้มีโอกาสทำงานใหญ่อีกครั้ง ก็ได้ยึดเรื่องความเพียร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถ่ายทอดไว้ในหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก” เป็นกำลังใจให้เขาเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังได้สำเร็จลุล่วง
“การ ทำงานมันต้องมีความเพียร ถ้าไม่มีความเพียร มันก็ไม่มีความสำเร็จ ความเร็จของทุกสาขางาน เกิดจากความเพียรและความขยันของตัวเราเอง”
และ จิตรกรเช่นเขาก็มีความตั้งใจที่จะใช้ความเพียรในทางที่ถูกที่ชอบ ดังเช่นในพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก บอกไว้ว่า “ความเพียรโดยธรรม คือ ความเพียรของบุรุษ” ทำงานศิลปะทั้งในโอกาสนี้และในอนาคต เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
“ใน ฐานะที่เราเป็นจิตรกร และเรียนทางด้านศิลปะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชอบมาตั้งแต่เด็กๆแล้ว อยากสนองพระราชดำหริของพระองค์ท่าน ด้วยการต่อยอด รูปแบบจิตรกรรมฝาผนัง ตามที่ผมได้รับพระราชกระแสมาดำเนินการ ต่อไป เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ”