ปรับความสมดุลให้ประเทศ คืนความเป็นปรกติสุขสู่สังคมไทย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่14"
พฤศจิกายน 25, 2024, 02:51:55 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ปรับความสมดุลให้ประเทศ คืนความเป็นปรกติสุขสู่สังคมไทย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  (อ่าน 1873 ครั้ง)
b.chaiyasith
แก้ปัญหาไม่ตกคุยกันเวลางานline:chiabmillion
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน650
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 3008


ไม้ดีไม่ลอยน้ำมาไกล


อีเมล์
« เมื่อ: ธันวาคม 04, 2010, 05:27:17 pm »


ผมมีสิทธิที่จะยืนหยัดตรงนี้ เพราะผมไม่ใช่คนคดโกง ขายชาติหรือต้องการทำร้ายคนไทยด้วยกัน ตรงกันข้ามในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารผมได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังในการฉุดรั้งประเทศชาติออกจากหุบเหวแห่งหายนะ ซึ่งคนไทยทุกคนคือหัวใจสำคัญที่จะต้องร่วมกันนำพาบ้านเมืองออกจากวิกฤติ


ปรับความสมดุลให้ประเทศ คืนความเป็นปรกติสุขสู่สังคมไทย

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ3 ธันวาคม 2533

 

                ตลอดการบริหารงานเกือบสองปีที่ผ่านมา ผมต้องเผชิญกับปัญหาท้าทายในหลายด้าน ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ และความขัดแย้งภายในประเทศ จนอดรู้สึกไม่ได้ว่า 2 ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็น 2 ปีที่ยาวนานที่สุดในชีวิต ผมต้องผ่านการตัดสินใจที่ยากลำบากหลายครั้ง แต่ผมไม่เคยท้อเพราะเป็นผู้อาสาเข้ามาทำงานให้กับประชาชน มีภาระที่ต้องรับผิดชอบต่อผืนแผ่นดินนี้ จึงต้องเดินหน้าแก้ปัญหาอย่างเต็มความสามารถ

                ผมเข้าใจดีว่าการตัดสินใจหลายครั้งไม่ง่ายที่จะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับ เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ถ่างรอยร้าวทำให้บ้านเมืองเกิดความแตกแยกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ในฐานะนักการเมืองผมอดรู้สึกผิดไม่ได้ที่พวกเราคือส่วนหนึ่งของปัญหาจนส่งผลกระทบต่อศรัทธาที่ประชาชนมีต่อการเมือง แต่นักการเมือง ก็เป็นคนกลุ่มหนึ่งในสังคมนี้ เมื่อเราคิดที่จะสร้างความปรองดองในประเทศเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากที่สุด นักการเมืองก็ย่อมอยู่ในกลุ่มที่เราต้องรับฟังด้วยเช่นเดียวกัน

                ความขัดแย้งหลักของฝ่ายการเมืองเกิดจากความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยมีฝ่ายหนึ่งตั้งข้อรังเกียจที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่ามาจากการทำรัฐประหาร แต่ในขณะเดียวกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวก็ผ่านการทำประชามติจากประชาชน

                เมื่อถกเถียงกันก็ไม่เคยได้ข้อยุติ ประเด็นรัฐธรรมนูญจึงกลายเป็นปมความขัดแย้งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาตลอดเวลา ซึ่งแน่นอนว่าเราคงไม่สามารถทำให้ทุกฝ่ายพอใจ แต่การให้ประเทศเดินหน้าสิ่งสำคัญคือต้องค่อย ๆ คลายปมปัญหาไปทีละเปลาะ และพิจารณาในสิ่งที่มีเหตุผล มีความเป็นไปได้ ไม่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย และไม่มีประโยชน์ทับซ้อนของฝ่ายการเมือง ด้วยการนำปัญหาเข้าสู่ระบบแก้ไขด้วยกระบวนการทางรัฐสภาเพื่อยืนยันว่ากระบวนการทางรัฐสภาเป็นหลักให้กับบ้านเมืองได้ หลังจากที่ถูกทำให้อ่อนแอมาเป็นเวลานานหลายปี

                ถ้าคิดแบบง่ายที่สุด ผมก็ไม่ต้องทำอะไรเลยในประเด็นนี้ ไม่ต้องถูกโจมตีว่าละทิ้งอุดมการณ์เพื่อรักษาอำนาจทางการเมือง ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วการตัดสินใจเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งมาตรา 190 และ เรื่องของระบบเลือกตั้ง ไม่มีเรื่องประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่มีส่วนใดทำให้ชาติเสียหาย แต่ผมพยายามที่จะสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองว่า   การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้โดยไม่เกิดวิกฤติหากไม่มีการสอดไส้ประโยชน์ของฝ่ายการเมือง และกลไกการแก้ปัญหาก็คือรัฐสภา ไม่ใช่การฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งด้วยอำนาจนอกระบบ

                ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐมนตรีเสนอตามผลการศึกษาของคณะกรรมการชุดอาจารย์สมบัติ ธำรงธัญวงศ์  ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาวาระแรกไปแล้ว ผมไม่ถือว่าเป็นชัยชนะของรัฐบาล แต่เห็นว่าเป็นก้าวแรกที่อยากให้สังคมไทยได้เรียนรู้ร่วมกันเพื่อปรับสมดุลให้กับประเทศเป็นจุดเริ่มต้นคืนความสงบสู่สังคมไทย

                การเรียนรู้ที่ว่าคือฝ่ายการเมืองได้ตระหนักมากขึ้นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำตามอำเภอใจโดยคิดแต่เพียงความต้องการของฝ่ายการเมืองอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมีบทพิสูจน์มาแล้วว่าเมื่อไหร่ที่ฝ่ายการเมืองคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองประชาชนจะออกมาต่อต้านและการแก้ไขรัฐธรรมนูญนอกจากจะไม่ประสบความสำเร็จแล้วยังก่อให้เกิดวิกฤติความขัดแย้งรุนแรงด้วย

                นี่จึงเป็นเหตุผลว่าแม้หลายพรรคการเมืองจะมีความต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 เกี่ยวกับเรื่องการยุบพรรค ก็ยังต้องยับยั้งชั่งใจหยุดตัวเองไว้แค่การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และ เรื่องระบบเลือกตั้งเท่านั้น เพราะสามารถชี้แจงกับสังคมได้เต็มปากเต็มคำว่าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งหากพิจารณาในมิตินี้จะเห็นได้ว่าพรรคการเมืองก็ยอมถอยลดความต้องการของตัวเองลงเพื่อไม่สร้างปัญหาให้กับประเทศชาติ

                และแม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงสองประเด็น พรรคประชาธิปัตย์ก็มีจุดยืนชัดเจนว่าเราไม่สนับสนุนจึงเป็นที่มาของมติไม่แก้รัฐธรรมนูญ ถ้าหากผมเกรงกลัวหรือต้องการเอาใจพรรคร่วมรัฐบาลหรือถูกบีบอย่างที่มีการกล่าวหา ผมและพรรคประชาธิปัตย์ก็คงสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปตั้งแต่ในคราวที่มีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาไปแล้ว และคงลงมติสนับสนุนร่างของพรรคร่วมในครั้งนี้ซึ่งเราก็ไม่ทำแม้จะรู้ดีว่าอาจทำให้การอยู่ร่วมกันมีความยากลำบากมากขึ้น

                แต่กรณีของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และเรื่องระบบเลือกตั้งของรัฐบาลที่ผมเสนอนั้น เราต้องดูถึงที่มาของเรื่องนี้ก็จะเกิดความเข้าใจมากขึ้น จุดเริ่มต้นในการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50  เกิดจากวิกฤติช่วงที่กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมบุกล้มการประชุมอาเซียนที่พัทยา จนรัฐบาลต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นำไปสู่การควบคุมสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ และมีการนำประเด็นที่เกิดขึ้นมาร่วมกันหาทางออกในรัฐสภา จนมีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างวุฒิสภา รัฐบาล และฝ่ายค้าน ซึ่งมีคุณดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธาน ได้ข้อสรุปสำหรับการแก้ปัญหาในส่วนหนึ่งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 มาตรา โดยผมเห็นว่าถ้าจะดำเนินการดังกล่าวก็ควรจะให้มีการทำประชามติ เนื่องจากมีหลายประเด็นอ่อนไหวต่อความขัดแย้ง เช่น มาตรา 237 เรื่องการยุบพรรคการเมือง แต่กระบวนการดังกล่าวก็เดินหน้าต่อไม่ได้เพราะฝ่ายค้านปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในภายหลัง

                ต่อมาเกิดเหตุการณ์ความสูญเสียช่วงเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา ผมเสนอแผนปรองดอง 5 ข้อ มีการตั้งคณะกรรมการหลายชุดเพื่อเดินหน้านำประเทศเข้าสู่ความปรองดอง คณะกรรมการชุดของอาจารย์สมบัติเป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่ผมตั้งขึ้นตามแผนปรองดอง เมื่อเขาได้ข้อสรุปและเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 มาตรา ผมก็ยังเลือกเฉพาะประเด็นที่คิดว่าไม่น่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งมาดำเนินการเพียง 2 มาตรา ก็คือ 190 และ ระบบเลือกตั้ง โดยไม่มีการทำประชามติ ไม่ใช่เพราะไม่เห็นความสำคัญกับเสียงของประชาชน แต่เห็นเป็นประเด็นที่ไม่ทำให้ชาติเสียประโยชน์และไม่น่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มเติมก็น่าจะเดินหน้าไปได้ด้วยกลไกของรัฐสภา

                ซึ่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชุดของอาจารย์สมบัติ ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างไปจากร่างของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะการลดจำนวนส.ส.เขตและเพิ่มส.ส.สัดส่วน ดังนั้นจึงไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งที่จะกล่าวหาว่าผมและพรรคประชาธิปัตย์ทิ้งอุดมการณ์เพื่อเอาใจพรรคร่วมรัฐบาล

                ผมเองก็เจ็บปวดไม่แพ้หลายคนในพรรคที่เชื่อว่าระบบเขตใหญ่จะเป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตยมากกว่า แต่เมื่อมีการศึกษาจากคนกลางที่ผมเป็นคนตั้งขึ้นเองสรุปว่า การเลือกตั้งในระบบเขตเดียวเบอร์เดียวจะทำให้ส.ส.ทำงานใกล้ชิดประชาชนได้มากกว่า และประชาชนก็จะมีความเสมอภาคในการเลือกผู้แทน แล้วผมจะยึดถือเอาความต้องการของตัวเองเป็นหลัก โดยไม่รับฟังผลการทำงานของคณะกรรมการที่ตัวเองตั้งขึ้นได้อย่างไร

                นี่คือที่มาของการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่รัฐสภา ขณะเดียวกันผมก็คิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเป็นโอกาสในการคลายปมความขัดแย้งเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คพปร.ที่ค้างวาระการประชุมรัฐสภามานานนับปี เมื่อรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบร่างดังกล่าวก็ตกไปทำให้ความอึมครึมที่มีมาตลอดหมดไปด้วยเช่นเดียวกัน

                สิ่งที่ผมดำเนินการนอกจากจะทำเพื่อแก้ปัญหาให้การทำงานของฝ่ายบริหารมีความคล่องตัวมากขึ้น คลายปมปัญหารัฐธรรมนูญที่ฝ่ายการเมืองเรียกร้อง ซี่งต้องบอกว่าแม้แต่พรรคเพื่อไทยเองก็เคยเห็นชอบกับเรื่องของระบบเขตเดียวเบอร์เดียวซึ่งเป็นบทสรุปของคณะกรรมการสามฝ่าย ดังนั้นปมความขัดแย้งนี้จึงถือว่าคลี่คลายไปได้ในระดับหนึ่ง

                ส่วนข้อกังวลของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มีความเป็นห่วงมาโดยตลอดเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คพปร. วันนี้ก็ยุติลงแล้ว และผมยืนยันชัดเจนมาโดยตลอดแม้ไม่มีการชุมนุมของประชาชน ผมก็ไม่รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คพปร. ที่จะกลายเป็นการนิรโทษกรรมให้กับฝ่ายการเมือง เป็นจุดยืนที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

                สิ่งที่ผมอยากให้ภาคประชาชนได้เรียนรู้จากเรื่องนี้คือ คงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะได้ตามความต้องการของตัวเองในทุกเรื่อง และการเรียกร้องไม่จำเป็นต้องใช้คนมาก ๆ มากดดัน แต่ข้อเรียกร้องที่มีเหตุผลเป็นสิ่งที่รัฐบาลพึงต้องนำไปปฏิบัติ นี่คือสิ่งที่ผมพยายามพิสูจน์ให้เห็นเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการบริหารประเทศ

                ผมเข้าใจครับว่าหลายคนที่สนับสนุนผมเป็นทุกข์ ผิดหวัง กับการตัดสินใจครั้งนี้ ผมเองก็ต้องหยุดความต้องการของตัวเองโดยมองภาพรวมของประเทศเป็นสำคัญ เพราะผมมีความรับผิดชอบต้องนำชาติเดินไปข้างหน้า ความทุกข์ส่วนตัวไม่สำคัญเท่ากับการปลดเปลื้องความทุกข์ให้กับแผ่นดิน และผมมั่นใจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปูทางไปสู่การเลือกตั้งที่สงบ ไม่มีความรุนแรง จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น

                สังคมไทยต้องเติบโตแบบนี้ คือทุกฝ่ายต้องเรียนรู้ที่จะมีความยับยั้งชั่งใจ ประนีประนอมในส่วนที่จะทำให้ชาติเดินหน้าได้ โดยไม่เสียหลักของบ้านเมืองในการรักษาระบบนิติรัฐและนิติธรรม ที่สำคัญกระบวนการตามระบบต้องแก้ปัญหาได้ไม่ต้องพึ่งวิธีการพิเศษหรืออำนาจนอกระบบ เพราะรังแต่จะซ้ำเติมมปัญหาให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น

                ในฐานะนายกรัฐมนตรีของคนไทยผมรับฟังข้อเรียกร้องจากคนทุกสีเสื้อ เพราะพวกเขาคือพลเมืองไทย ข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดงที่มีเหตุผลผมก็เดินหน้าเต็มที่เพื่อปฏิรูปประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม จัดระบบสวัสดิการที่ประชาชนไม่ต้องเป็นหนี้บุญคุณรัฐ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการขจัดระบบอุปถัมภ์ โดยให้คนไทยได้ตระหนักถึงสิทธิที่ตัวเองพึงได้รับโดยรัฐบาลมีหน้าที่จัดสวัสดิการสร้างหลักประกันให้กับคนไทยทุกคนอย่างยั่งยืน ไม่กระทบกับฐานะทางการเงินการคลัง

                ส่วนคนที่ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหว สิ่งที่ผมดำเนินการอยู่ก็จะส่งผลให้ทุกคนได้รับประโยชน์ด้วยเช่นเดียวกัน และเมื่อคนไทยมีหลักประกันชีวิตที่ดีเขาก็จะไม่ถูกระบบอุปถัมภ์ครอบงำจนตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง

                เหล่านี้คือสิ่งที่ผมเดินหน้าควบคู่ไปกับความพยายามสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองให้ความรับผิดชอบทางการเมืองอยู่สูงกว่ากฎหมาย เป็นความตั้งใจที่จะยกระดับการเมืองไทยให้เป็นที่พึ่งที่หวังของพี่น้องประชาชนได้ ผมรู้ดีครับว่าสิ่งที่ได้ดำเนินการไปอาจไม่ได้ทั้ง 100 % แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่นักการเมืองอย่างผม อยากบอกประชาชนว่า พวกเราต้องมีความรับผิดชอบต่อความรู้สึกของประชาชน โดยใช้หลักเหตุผลมาเป็นตัวกำกับ

                ถ้าเราได้เรียนรู้ร่วมกันภายใต้ระบบคิดนี้ ก็จะเป็นการปรับสมดุลให้กับประเทศ ใช้กลไกที่มีอยู่แก้ปัญหาอย่างถูกต้อง เรื่องความผิด ถูก ก็ปล่อยเป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม ส่วนเรื่องใดที่เป็นนโยบายก็เป็นหน้าที่ฝ่ายบริหาร การตรวจสอบเป็นหน้าที่ขององค์กรอิสระ และปัญหาที่แก้ไขได้ด้วยกลไกของรัฐสภาก็ต้องเดินเข้าสู่ช่องทางนี้

                ส่วนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องใส่ใจให้ความสำคัญในประเด็นที่มีเหตุมีผล ซึ่งผมขอย้ำว่าปริมาณไม่มีความสำคัญเท่ากับเนื้อหาข้อเรียกร้องว่ามีเหตุผลเพียงพอหรือไม่  ในกรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะชุมนุม เพื่อขอให้ผมถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญและกรอบการเจรจาเจบีซีไทย-กัมพูชา ออกจากการพิจารณาของรัฐสภานั้น ก็สามารถดำเนินการได้ตามกรอบของกฎหมาย

                ผมอยากชี้แจงเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในประเด็นที่มีความกังวลเกี่ยวกับมาตรา 190 ผมได้ใช้สิทธิในฐานะ ส.ส.แปรญัตติเรื่องนี้ด้วยตัวเองเพื่อให้เนื้อหาเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนและรัฐสภากลับไปเป็นเหมือนเดิม เป็นการยืนยันว่ารัฐบาลมีเจตนาเพียงแต่ต้องการให้มีความชัดเจนในเรื่องประเภทสัญญาที่ไม่เกี่ยวกับเขตแดนที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาตามมาตรา 190 เพื่อให้การบริหารงานมีความคล่องตัวเท่านั้น ไม่ได้เป็นการหมกเม็ด ซ่อนเงื่อน เรื่องอาณาเขต ดินแดน เหมือนที่มีความเข้าใจกันอยู่ในขณะนี้

                 ผมยังได้ให้คำมั่นต่อสาธารณะผ่านรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกอภิสิทธิ์ไปแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาชนเกิดความสบายใจได้ว่า ผมจะรับผิดชอบหากคณะกรรมาธิการร่วมรัฐสภาไม่มีการแปรญัตติตามที่ผมได้รับปากเอาไว้ ด้วยการขอให้พรรคร่วมรัฐบาลไม่รับหลักการในวาระ 3 เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ใจของรัฐบาลว่า ไม่ได้มีเจตนาจะเปลี่ยนแปลงหลักการของรัฐธรรมนูญมาตรา 190

                ส่วนบันทึกการประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย – กัมพูชา (เจบีซี) ทั้ง 3 ฉบับซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมรัฐสภา ในขณะนี้มีกลุ่มส.ส.ได้เข้าชื่อกันเพื่อเตรียมยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า บันทึกการประชุมดังกล่าวซึ่งเป็นเอกสารที่มีลักษณะเป็นรายงานการประชุม ถือเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องขออนุมัติจากที่ประชุมรัฐสภาหรือไม่ หรือเป็นแค่การดำเนินการตามกรอบที่รัฐสภาได้อนุมัติไปแล้ว

                ผมได้รับรายงานจาก ส.ส.ของพรรคที่เป็นคณะกรรมาธิการฯถึงเหตุผลที่จะขอให้มีการตีความในประเด็นนี้ว่า เกิดจากในที่ประชุมมีความเห็นแตกต่างกัน โดยกระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรีเห็นว่าควรจะนำบันทึกรายงานการประชุมทุกครั้งเสนอขออนุมัติจากรัฐสภา ตามมาตรา 190 แต่กรรมาธิการส่วนหนึ่งเห็นว่าหากทำเช่นนั้นน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากรัฐสภาได้อนุมัติกรอบการดำเนินการไปแล้ว ดังนั้นการดำเนินการเจรจาหรือบันทึกการประชุมที่เป็นไปตามกรอบ ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ จนกว่าจะมีการเซ็นสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันต่อรัฐบาล จึงจะเสนอเข้าที่ประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้ง

                ผลจากการที่ ส.ส.เข้าชื่อกันเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก็จะทำให้ต้องชะลอการพิจารณาบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาทั้ง 3 ฉบับออกไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

                ผมยืนยันอีกครั้งว่าเป้าหมายของกลุ่มพันธมิตรฯกับผมตรงกัน คือ การรักษาสิทธิและอธิปไตยของชาติ เราต่างกันเพียงแค่วิธีการเท่านั้น ผมจึงรู้สึกเศร้าทุกครั้งที่ประเด็นนี้ลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งทั้ง ๆ ที่เราล้วนมีเจตนาดีต่อบ้านเมือง

                การแก้ปัญหาในเรื่องอาณาเขต ดินแดน เป็นหน้าที่ของรัฐบาล และผมก็ไม่มีวาระซ่อนเร้นหรือผลประโยชน์ทับซ้อนที่จะนำผลประโยชน์ชาติไปแลกกับผลประโยชน์ส่วนตัว

                การที่ผมยังเห็นว่าเอ็มโอยู 43 มีประโยชน์ไม่ได้เป็นเพราะมีอัตตากลัวเสียหน้าที่ต้องยกเลิกบันทึกข้อตกลงดังกล่าวซึ่งทำขึ้นในยุคที่คุณชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี แต่มีข้อเท็จจริงรองรับแล้วว่าเพราะมีเอ็มโอยู 43 กัมพูชาจึงไม่สามารถยื่นแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารต่อคณะกรรมการมรดกโลกได้ และผมได้เสนออย่างเป็นทางการกับทางสมเด็จฮุนเซนว่าทั้งสองประเทศต้องหาข้อยุติร่วมกันก่อนการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกจะมาถึงในเดือนมิถุนายนปีหน้า โดยย้ำจุดยืนประเทศไทยว่าเรายึดหลักสันปันน้ำและจะไม่ยอมให้กัมพูชาเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ๆป็นดินแดนของไทย ซึ่งเป็นการแสดงออกที่คณะกรรมการมรดกโลกต้องนำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจในเดือนมิถุนายนปีหน้าด้วย    ส่วนความกังวลเกี่ยวกับข้อเสียเปรียบที่กลุ่มพันธมิตรมีความหวาดกลัวแผนที่หนึ่งต่อสองแสนนั้น ผมก็พูดชัดเจนไปแล้วในการแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันผ่านการถ่ายทอดสดทางช่อง 11 ว่า แผนที่หนึ่งต่อสองแสนไม่สามารถนำมาใช้ในการจัดทำหลักเขตแดนได้ เนื่องจากในเอ็มโอยู 43 ระบุชัดเจนว่า แผนที่ที่จะนำมาใช้ต้องเป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนผสมระหว่างสยามและอินโดจีน แต่ศาลโลกได้มีคำพิพากษาแล้วว่าแผนที่หนึ่งต่อสองแสน เฉพาะระวางดงรักไม่ใช่ผลงานของคณะกรรมการปักปันฯ ดังนั้นแผนที่ดังกล่าวจึงนำมาใช้ในการจัดทำหลักเขตแดนตามเอ็มโอยู 43 ไม่ได้ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศก็เคยทำหนังสืออย่างเป็นทางการชี้แจงกับทางกัมพูชาไปแล้ว

                นอกจากนี้รัฐบาลยังปรับทีมงานเจรจาใหม่และให้นโยบายชัดเจนเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติว่าเรายึดหลักสันปันน้ำและแผนที่หนี่งต่อสองแสนที่เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันฯเท่านั้น ซึ่งไม่รวมแผนนที่ระวางดงรักที่เป็นปัญหา  ผมจึงไม่คิดว่าการเจรจาภายใต้เอ็มโอยู 43 จะทำให้ไทยเสียเปรียบ แต่การมีเอ็มโอยู 43 ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีช่องทางเจรจาแทนการใช้กำลัง

                การจะใช้กำลังทหารมาแก้ปัญหาไม่ยากหรอกครับ และคงจะทำให้ผมได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนส่วนหนึ่งที่ต้องการเห็นการแก้ปัญหาด้วยวิธีการเด็ดขาด แต่ถ้าผมทำอย่างนั้นก็เท่ากับผมขาดความรับผิดชอบต่อประเทศ เพราะผลที่ตามมาไม่มีทางจบในระยะเวลาอันสั้น และผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณนั้น เราคงไม่อยากเห็นพี่น้องของเราต้องใช้ชีวิตท่ามกลางเสียงระเบิดและควันปืนไม่นับความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นกับประชาคมโลก

                สิ่งที่ผมเดินหน้าในขณะนี้ คือ การให้กัมพูชาปฏิบัติตามเอ็มโอยู 43 โดยเฉพาะกรณีที่มีการรุกเข้ามาในพื้นที่ที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ ผมเข้าใจดีถึงความเป็นห่วงของประชาชนที่อยากให้มีการผลักดันชาวกัมพูชาออกจากพื้นที่โดยเร็ว และบางคนไปไกลถึงขั้นคิดว่าไทยเสียอธิปไตยไปแล้ว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

                เรื่องนี้มีมติ ปปช.วันที่ 16 ก.ค. 2553 ยืนยันได้ว่า รัฐบาลดำเนินการถูกต้องในการรักษาอธิปไตยของชาติด้วยการประท้วงตามวิธีการทางการทูต ซึ่งเป็นการยกคำร้องข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านในขณะที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในปี 2552  มีเนื้อหาดังนี้

<span>ข้อกล่าวหาที่ </span><span>6.</span> ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ โดยทำให้ราชอาณาจักรหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรตกไปอยู่ภายใต้อธิปไตยของต่างประเทศและไม่กำกับ ดูแล เพื่อรักษาไว้ซึ่งดินแดนของประเทศ  กรณีให้ประเทศเพื่อนบ้านทำถนนบุกรุกยึดครองใช้พื้นที่ดินแดนของประเทศไทยเป็นทางขึ้นเขาพระวิหาร

                                         จากการไต่สวนข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในขณะที่นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ ได้รับ

พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นั้น กระทรวงการต่างประเทศไม่มีกฎหมายหรือระเบียบรองรับหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องการรักษาไว้ซึ่งบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศไทยตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 แต่อย่างใด แต่อาศัยการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณี แนวทางปฏิบัติทางการทูต รวมทั้งสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ในส่วนของประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา นั้น  ได้มีการทำบันทึกความเข้าใจในเรื่องเขตแดนระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ.2543 ซึ่งตามข้อ 5 ของบันทึกดังกล่าวสรุปว่า หน่วยงานของรัฐบาล จะงดเว้นการดำเนินการใด ๆ ที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของพื้นที่ชายแดน และข้อ 8  ได้ระบุว่า ให้มีการระงับข้อพิพาทที่เกิดจากการตีความหรือการบังคับใช้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้โดยสันติวิธีด้วยการปรึกษาหารือและการเจรจา ซึ่งหากมีกรณีของการละเมิดเขตแดนของประเทศไทยโดยประเทศใดประเทศหนึ่งแล้วตามขนบธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติทางการทูต  โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีสิทธิที่จะทำการประท้วงได้  ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ประท้วงต่อรัฐบาลกัมพูชาเรื่อยมา ไม่ได้ปล่อยให้ประเทศเพื่อนบ้านทำถนนรุกล้ำเข้ามายึดครองดินแดนเป็นทางขึ้นไปสู่ประสาทพระวิหารแต่อย่างใด  โดยล่าสุดภายหลังที่นายกษิต  ภิรมย์  ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 

ก็ได้อนุมัติการประท้วงเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 เพื่อรักษาสิทธิของประเทศไว้

                                         คณะกรรมการ ป.ป.ช.  พิจารณาแล้วเห็นว่า  จากพยานหลักฐานที่ได้จากการ

ไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  ในฐานะผู้กำกับ ดูแลการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่มีพฤติการณ์ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด  ข้อกล่าวหาไม่มีมูล  จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป

                ที่ผมหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความเข้าใจว่าการรักษาดินแดนมีหลายวิธี และเมื่อถึงคราวจำเป็นที่ทหารต้องทำหน้าที่ ผมมั่นใจว่ากองทัพมีความพร้อม แต่เราต้องเริ่มต้นจากการแก้ปัญหาโดยยึดหลักสันติวิธีเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดต่อประชาชนเป็นอันดับแรก

                ผมได้พบกับสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา 4 ครั้ง โดยครั้งหลังสุดผมได้พูดชัดเจนถึงจุดยืนของประเทศไทยที่ต้องการให้กัมพูชาเคารพเอ็มโอยู 43 และขอให้มีการถอนชาวกัมพูชาทั้งชุมชน ตลาด และวัดออกจากพื้นที่ รวมถึงไม่ให้มีการก่อสร้างถนนซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่อันเป็นการละเมิดเอ็มโอยู 43

                ปัจจุบันนี้กัมพูชาอยู่ในระหว่างการถอนคนออกจากชุมชนและตลาด ยังเหลือในวัดซึ่งจะต้องเจรจากันต่อแม้ว่าปัญหาจะยังไม่จบ แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี และผมยืนยันครับว่าจะไม่มีการถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ จนกว่าจะมีกัมพูชาจะปฏิบัติตามเอ็มโอยู 43 ดังที่กล่าวในข้างต้น ซึ่งหากกัมพูชายอมดำเนินการตามเงื่อนไขนี้จึงค่อยมาหารือเกี่ยวกับการปรับกำลังทหารทั้งสองฝ่าย

                นี่คือวิธีการแก้ปัญหาที่ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม อาจไม่ทันใจใครหลายคนแต่ผมยืนยันว่าไม่เคยละเลยในการแก้ปัญหา และขอย้ำว่าตราบใดที่ผมยังเป็นผู้นำรัฐบาลผมจะรักษาสิทธิและอธิปไตยของชาติให้ถึงที่สุด

                การปลุกอารมณ์สร้างความเกลียดชังทำได้ง่ายแต่การทำให้สังคมกลับสู่เหตุผลเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง ผมหวังที่จะเห็นสังคมไทยใช้วิจารณญาณแยกแยะปัญหาอย่างมีสติ โดยที่ทุกฝ่ายเคารพกฎหมาย ไม่ควรมีใครใช้เจตนาดีต่อบ้านเมืองมาเป็นข้ออ้างทำผิดกฎหมาย เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นบ้านเมืองก็คงอยู่ไม่ได้

                ผมรู้ตัวดีครับว่าเข้ามาบริหารประเทศบนสถานการณ์ยากลำบาก แต่ผมก็มีหน้าที่สมานบาดแผลให้กับแผ่นดินโดยยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ ผมมีสิทธิที่จะยืนหยัดตรงนี้ เพราะผมไม่ใช่คนคดโกง ขายชาติหรือต้องการทำร้ายคนไทยด้วยกัน ตรงกันข้ามในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารผมได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังในการฉุดรั้งประเทศชาติออกจากหุบเหวแห่งหายนะ ซึ่งคนไทยทุกคนคือหัวใจสำคัญที่จะต้องร่วมกันนำพาบ้านเมืองออกจากวิกฤติ

               

เราไม่จำเป็นต้องรักกันหรอกครับ แต่เราต้องอยู่ร่วมกันได้บนความแตกต่างทางความคิดแต่ไม่สร้างความแตกแยกให้กับสังคม ประเทศจึงจะไปรอดและความเป็นปรกติสุขจะคืนสู่สังคมไทยอีกครั้ง

http://www.facebook.com/?ref=logo#!/notes/abhisit-vejjajiva/kae-raththrrmnuy-payha-thiy-kamphucha/168352113205555


บันทึกการเข้า

"CHIAB"
มนุษย์เราแต่ละคน  ต่างไม่รู้ว่ามาจากไหน  ไม่มีใครรู้จักกันมาก่อนเลย  แล้ววันหนึ่งก็มาพบหน้ากัน  สมมุติเป็นพ่อ  เป็นแม่  เป็นเมีย  เป็นสามี  เป็นลูก  อยู่ร่วมกัน  ใช้ชีวิตร่วมกัน และแล้ววันหนึ่ง  ก็แยกย้ายด้วยการ  "ตายจาก"  กันไปสู่  ณ  ที่ซึ่งไม่มีใครได้ตามพบ  คืนสู่ความเป็นผู้ไม่รู้ว่ามาจากไหน  ไปไหน  และคืนสู่ความเป็น  "คนแปลกหน้า"  ซึ่งกันและกันอนันกาลอีกครั้งหนึ่ง...และอีกครั้งหนึ่ง!?
ขอขอบคุณ คุณเปลว สีเงิน ที่ให้ข้อคิดดีๆ

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media

lsv2555Please follow the new website at https://www.pohchae.com

Valid CSS!