ซอกแซกแดนผู้ดีรายงานจาก กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ.
LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่14"
พฤศจิกายน 29, 2024, 05:51:06 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ซอกแซกแดนผู้ดีรายงานจาก กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ.  (อ่าน 1776 ครั้ง)
b.chaiyasith
แก้ปัญหาไม่ตกคุยกันเวลางานline:chiabmillion
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน650
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 3008


ไม้ดีไม่ลอยน้ำมาไกล


อีเมล์
« เมื่อ: ตุลาคม 21, 2008, 06:43:53 pm »

@รัฐบาลอังกฤษพ่ายสภาสูงแก้ไขกฎหมายปราบปรามการก่อการร้าย
 
รัฐบาลอังกฤษพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายการก่อการร้ายให้สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยว่ามีความผิดเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายได้นานถึง 42 วัน โดยไม่ต้องตั้งข้อหา
ปรากฏว่า สภาขุนนางอังกฤษ หรือสภาสูง ก็ไม่ได้ให้ความเห็นชอบ  โดยเสียงส่วนใหญ่ในสภาขุนนางยืนกรานให้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้เหมือนเดิมคือ 28 วัน    เดิมทีรัฐบาลอังกฤษทำท่าว่าจะไม่ยอมถอยและยืนกรานว่าจะนำเรื่องเข้าสู่สภาใหม่  แต่ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา(14 ต.ค.) ก็ยอมถอนประเด็นนี้ออกไปแล้ว
 
บรรดานักวิเคราะห์ก็มองกันว่า  ความพ่ายแพ้ของรัฐบาลอังกฤษในประเด็นนี้ใหญ่หลวงนัก   เพราะไม่เฉพาะฝ่ายค้านเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วยกับการขยายเวลาคุมตัวผู้ต้องสงสัยจาก 28 เป็น 42 วัน  แต่สมาชิกสภาขุนนางฟากรัฐบาลเองก็มีไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วย  และผลออกมาก็คือเสียงส่วนใหญ่ 309 เสียง ไม่เห็นด้วย มีแค่ 118 เสียงที่สนับสนุน พูดง่าย ๆ ว่ารัฐบาลแพ้มากถึง 119 เสียง ซึ่งเท่ากับว่ากฎหมายข้อนี้ของรัฐบาลถูกฉีกกระจุยไปแล้ว   การจะนำเสนอเข้าสภาใหม่อีกครั้งโดยทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
 
จริง ๆ แล้วนี่ก็ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ครั้งแรกในประเด็นนี้ของรัฐบาลอังกฤษ  เมื่อสองปีก่อนก็เคยมีการเสนอว่า จะให้ออกกฎหมายกำหนดให้คุมตัวผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายโดยไม่ต้องตั้งข้อหาได้นานถึง 90 วัน  แต่ผลที่ออกมาคือคุมได้แค่ 28 วัน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการประนีประนอมอย่างที่สุดแล้วของสภาอังกฤษ   จะว่าไปแล้วรัฐบาลอังกฤษใช่ว่าจะหมดหนทางเสียทีเดียว รัฐบาลสามารถใช้กฎหมายรัฐสภาบังคับให้ข้อเสนอคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้นาน 42 วันบังคับใช้เป็นกฎหมายได้   แต่รัฐบาลเองตัดสินใจแล้วว่าจะไม่ทำอย่างนั้น เพราะจะเสียเวลาและคงจะเป็นประเด็นฉาวโฉ่พอสมควรทีเดียว
 
@คุณครูในอังกฤษต้านหน้าที่ใหม่...ให้จับตานักเรียนที่ต้องสงสัยว่าจะมีพฤติกรรมหัวรุนแรง
 
ตอนนี้บรรดาคุณครูทั้งหลายในอังกฤษต่างถูกขอร้องให้จับตาดูพฤติกรรมของนักเรียน และแจ้งให้ทางการและตำรวจทราบ   หากสงสัยว่านักเรียนหรือวัยรุ่นคนไหนมีแนวโน้มที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มหัวรุนแรง
 
นี่ไม่ใช่แค่การขอร้องกันธรรมดา  แต่เป็นรายละเอียดที่บรรจุอยู่ในข้อเสนอแนะที่รัฐบาลจัดทำขึ้นและเผยแพร่ต่อโรงเรียนต่าง ๆ เมื่อไม่กี่วันมานี้เอง   เพราะรัฐบาลอังกฤษถือว่าโรงเรียนเป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันภัยก่อการร้าย 
 
เรื่องนี้รัฐมนตรีศึกษาธิการของอังกฤษ นายเอ็ด บอลส์ เรียกร้องให้โรงเรียนทุกแห่งหันมาถกกันอย่างจริงจังในประเด็นเรื่องการก่อการร้าย  โดยคุณครูทั้งหลายถูกขอให้พูดคุยกับนักเรียนในเรื่องราวเกี่ยวกับองค์กรก่อการร้ายอิสลาม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายก่อการร้ายอัลไคด้า และกลุ่มหัวรุนแรงขวาจัด  ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำที่มีการใช้ความรุนแรงในหมู่นักเรียน วัยรุ่นที่ชอบเอาใจออกห่างสังคมและสนใจไปเข้ากับกลุ่มที่ไม่เหมาะสม
 
แต่การที่จะให้คุณครูลุกขึ้นมาพูดเรื่องเครือข่ายก่อการร้ายโดยไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนเลยก็คงจะยากลำบากเหมือนกัน  รัฐบาลอังกฤษก็เลยกำหนดแนวทางมาให้  เช่นว่า จะเริ่มต้นคุยกับนักเรียนอย่างไรในชั้นเรียนไม่ให้เป็นการปลุกเร้าความรุนแรง   รวมทั้งมีเสนอแนะเพิ่มด้วยว่า ให้เชิญบรรดาอิหม่ามที่เป็นคนที่เกิดในอังกฤษมาคุยกับนักเรียน  และให้ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีสิทธิ์เต็มที่สามารถแสดงความเห็นได้อย่างเสรี  และจากจุดนี้เองที่จะทำให้ครูจับตาดูได้ว่านักเรียนคนไหนที่พกพาค่านิยมแห่งเกลียดชังเอาไว้
 
ประเด็นที่ก่อให้เกิดการถกเถียงมากที่สุดตอนนี้คือ  การขยายความรับผิดชอบของครูซึ่งเป็นคนที่ดูแลเด็กตอนอยู่ในโรงเรียน หรือพูดง่าย ๆ ว่าตอนที่พ่อแม่ไม่อยู่ด้วยให้เป็นคนจับตาดูว่าเด็กคนไหนมีความคิดหัวรุนแรง และให้แจ้งทางการทราบ หากเห็นว่าเด็กมีพฤติกรรมน่าห่วง โดยหน่วยงานที่จะแจ้งได้ก็มีตั้งแต่หน่วยงานสังคมสงเคราะห์ เจ้าหน้าที่แรงงานชุมชนและตำรวจ
 
จริง ๆ แล้วมาตรการป้องปรามการชักชวนวัยรุ่นเข้าไปพัวพันกับการก่อการร้ายนั้นไม่ใช่เพิ่งจะเริ่มใช้กับโรงเรียน   ก่อนหน้านี้รัฐบาลอังกฤษเคยมีการออกข้อเสนอแนะในทำนองเดียวกันนี้ให้ครูอาจารย์ในมหาวิทยาลัยทำมาแล้วเหมือนกัน  แต่มีเสียงก่นด่าตามมาจากสหภาพแรงงานอาจารย์ในมหาวิทยาลัยว่า  ทำให้ครูอาจารย์ต้องทำตัวเหมือนเป็นสายลับคอยรายงานพฤติกรรมนักศึกษาที่ตัวเองสอนอยู่   ต่อมามีการแก้ไขข้อเสนอแนะที่ระบุให้จับตาเด็กนักศึกษามุสลิมเป็นพิเศษ ให้เป็นคอยดูนักศึกษาที่มีแนวคิดหัวรุนแรงทั้งหมด
 
สำหรับครูทั้งหลายไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่ที่ต้องมาจับตานักเรียนของตัวเอง  ก็ออกมาให้สัมภาษณ์เช่น เลขานุการทั่วไปของสมาคมครูและอาจารย์บอกว่า ครูมีหน้าที่ดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กนักเรียนเข้าไปพัวพันกับพฤติกรรมผิดกฎหมายในรูปแบบต่าง ๆ  ซึ่งอาจทำลายอนาคตของเด็กได้   แต่ว่าครูไม่ได้ถูกสอนมาให้รับมือกับพวกหัวรุนแรงซักหน่อย   
 
ส่วนรักษาการเลขานุการทั่วไปของสมาคมครูแห่งชาติก็ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า เพื่อให้เป้าหมายของรัฐบาลในเรื่องนี้ประสบความสำเร็จ  ในโรงเรียนเองต้องสร้างบรรยากาศแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจกันก่อน   ซึ่งแน่นอนว่าครูคงไม่อาจเพิกเฉย เมื่อเห็นพฤติกรรมที่ชัดเจนว่านักเรียนมีแนวโน้มจะเข้าพวกหัวรุนแรง แต่ก็จำเป็นที่ครูจะต้องยอมให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นเต็มที่
 
ในระหว่างที่จัดให้มีการถกเถียงกันในเรื่องนี้  และไม่ใช่ว่าพอนักเรียนพูดอะไรไปแล้วครูจับไปรายงานทั้งหมดว่า เด็กมีพฤติกรรมเข้าข่ายหัวรุนแรง   จุดนี้เองที่เป็นประเด็นเหมือนกันว่า ครูจะตัดสินอย่างไรโดยปราศจากอคติ
 
@นโยบายทำบัตรประชาชนให้คนอังกฤษก็ยังถูกต้านไม่เลิก
 
เมื่อครั้งที่รัฐบาลอังกฤษประกาศใหม่ๆว่า มีนโยบายจะออกบัตรประชาชนให้คนอังกฤษใช้เป็นหลักฐานแสดงตนก็มีเสียงโวยวายมากพอสมควรแล้ว   ล่าสุดนโยบายเรื่องนี้ดูจะวิกฤตยิ่งขึ้นทุกขณะ
 
รัฐบาลอังกฤษมีแผนจะออกบัตรประชาชนให้กลุ่มคนบางกลุ่มก่อนในช่วงเริ่มต้นนี้ เช่น พนักงานที่สนามบินและนักศึกษา  ทำให้บรรดานักบินของสายการบินต่าง ๆ กว่าหมื่นคนประกาศว่า จะดำเนินมาตรการทางกฎหมายเพื่อสกัดกั้น
 
เรื่องนี้  ขณะที่ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และหน่วยงานเทศบาลที่เจ้าหน้าที่จะต้องทำบัตรประชาชนด้วยนั้นก็ออกมาโวยวายเหมือนกัน ซึ่งอาจจะทำให้แผนของรัฐบาลที่จะเริ่มนำระบบการใช้บัตรประชาชนมาใช้ในอังกฤษนั้นต้องพบกับอุปสรรคใหญ่หลวงเสียแล้ว
 
เดิมทีรัฐมนตรีมหาดไทยอังกฤษหวังว่านโยบายทำบัตรประชาชนนี้จะได้เสียงสนับสนุนจากประชาชน   โดยชี้ให้เห็นว่ามีความจำเป็นต่อนโยบายปราบปรามการก่อการร้ายของรัฐบาล  แต่ปรากฏว่าสมาคมนักบินสายการบินอังกฤษ และสภาแรงงานต่างยืนกรานว่าบัตรประชาชนไม่ได้ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้สนามบิน หรือช่วยต่อสู้กับพวกก่อการร้ายได้เลย และยังเกรงว่ารายละเอียดส่วนตัวที่ปรากฏอยู่บนบัตรของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานที่สนามบินซึ่งรวมถึงนักบินด้วย อาจจะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดได้
 
ตามแผนการนั้น  กระทรวงมหาดไทยอังกฤษคาดว่าจะเริ่มออกบัตรประชาชนใบแรกได้ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป   และคาดว่าปลายปี2553 จะเริ่มทำบัตรประชาชนให้คนหนุ่มสาว โดยเฉพาะนักเรียน  โดยจะให้ทำตามความสมัครใจก่อน  จากนั้นอีกสองปี ก็จะกำหนดให้ใครก็ตามที่ขอทำพาสปอร์ตจะต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน 
 
อังกฤษเป็นประเทศที่รัฐบาลไม่สามารถบังคับให้ประชาชนต้องมีบัตรประชาชนได้  หากไม่ได้มีการลงมติในสภาก่อน   อย่างไรก็ตาม นโยบายออกบัตรประชาชนก็ถูกชาวอังกฤษคัดค้านมาตลอด 
 
นี่ถ้าไม่มีบรรดาเทศบาลท้องถิ่นซึ่งต้องการใช้บัตรประชาชนเพื่อแสดงตนสำหรับผู้ที่มาขอรับผลประโยชน์จากทางการแล้วล่ะก็ โครงการทำบัตรประชาชนให้ชาวอังกฤษคงเป็นหมันมานานแล้ว 
 
ตอนนี้กระทรวงมหาดไทยยืนยันว่าทุกอย่างยังเป็นไปตามแผนและเชื่อมั๊ยว่า ต้นทุนราคาค่าทำบัตรประชาชนอังกฤษตกหัวละ 100 ปอนด์ทีเดียว ซึ่งคงรวมค่าใช้จ่ายจิปาถะ อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่เฉพาะตัวบัตรประชานอย่างเดียวเท่านั้น
 
@หมอฟันอังกฤษ....ฟันราคาค่ารักษาจนถูกตำหนิ
 
เมืองผู้ดีอะไรๆก็แพงไปหมด  รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านยาด้านหมอ ที่ทางการต้องรับภาระด้วย
ที่เอ่ยมาอย่างนี้ เพราะเราจะคุยกันต่อถึงเรื่องที่ว่า หมอฟันของโรงพยาบาลในอังกฤษนั้นถูกตำหนิว่านัดชาวบ้านมาตรวจเช็คฟันก่อนกำหนด  ทั้งที่ไม่มีความจำเป็น นี่ก็เป็นเพราะหมอฟันต้องการทำกำไรจากการนัดชาวบ้านมาทำฟันนั่นเอง
 
หน่วยงานที่ออกมาตำหนิคือ  สถาบันเพื่อความเป็นเลิศทางสุขภาพและการแพทย์ของอังกฤษบอกว่า   คนไข้ที่มีสุขภาพฟันดีไม่จำเป็นต้องกลับมาหาหมอฟันมากเกินไปกว่าหนึ่งครั้งต่อสองปี    ฟังดูก็ออกจะขัดๆ กับคำแนะนำของหมอฟันในเมืองไทยหรือเมืองไหน ๆ ที่ว่าควรจะพบทันตแพทย์ทุก ๆ หกเดือน 
 
 หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านทันตกรรมบอกว่า มีคนไข้ที่ถูกทันตแพทย์นัดให้มาพบโดยไม่มีความจำเป็นทุก ๆ หกเดือน  หรือไม่ก็ต้องจ่ายเงินเพื่ออุดฟันใหม่ ครอบฟัน หรือรักษาอย่างอื่นที่สามารถทำให้เสร็จในคราวเดียวได้...แต่กลับไม่ทำ
 
ตัวเลขที่รวบรวมโดยกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษพบว่า มีการนัดหมายประมาณ 8 แสนครั้ง  หรือราว ๆ 1 ใน 10 ที่เป็นการนัดที่ไม่จำเป็นเลย   และยังเปิดเผยตัวเลขอีกด้วยว่า ตั้งแต่มีการปรับสัญญาค่าจ้างทำฟันใหม่เมื่อสองปีมานี้เอง  หมอฟันก็ฟันรายได้เพียบเลย โดยเฉลี่ยแล้วรายได้ของหมอฟันเพิ่มขึ้นมาปีละเกือบหมื่นปอนด์  จาก 87,000 ปอนด์ เป็น 96,000 ปอนด์
 
แต่ถ้าเป็นเจ้าของคลีนิคทำฟันเอง รายได้ก็เพิ่มมาถึงสามสิบห้าเปอร์เซ็นต์ เป็นราว ๆ 172,000 ปอนด์
 
น่าสนใจไปเป็นหมอฟันที่อังกฤษนะคะ  รายได้งามทีเดียว   ที่อังกฤษเด็ก ๆ จะทำฟันฟรี และผู้ใหญ่ในบางกรณีก็ได้รับยกเว้น ไม่ต้องจ่ายค่าทำฟันเหมือนกัน
 
นอกจากนี้คนไข้ทั่วไปควรจะจ่ายค่าทำฟันแค่หนเดียว  แม้ว่าบางครั้งจะต้องมาหาหมอฟันหลาย ๆ ครั้ง เพื่อรักษาอาการเดียว แต่ทันตแพทย์บางคนก็ตุกติกได้  ด้วยการเลื่อนนัดเพิ่มเติมเพื่อรักษาอาการเดียวนี้ออกไปให้อยู่หลังกำหนดวันมาตรวจสุขภาพฟันใหม่อีกรอบ  จะได้คิดค่าทำฟันใหม่อีก ซึ่งก็เป็นจุดที่ทำให้หมอฟันได้เงินเพิ่มขึ้น 
 
แหล่งข่าวบอกว่า ตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังหาทางแก้ปัญหาอยู่  ซึ่งคงไม่ถึงกับลงโทษทางกฎหมายบรรดาหมอฟัน  แค่ต้องการหยุดยั้งพฤติกรรมไม่เหมาะสมของทันตแพทย์บางคนเท่านั้นเอง 
 
แต่สมาคมทันตแพทย์อังกฤษออกมาแย้งว่าไม่พบหลักฐานว่าคนไข้ถูกนัดให้มาพบหมอฟันบ่อยเกินจำเป็น
 
หมายเหตุ-ติดตามซอกแซกแดนผู้ดี.ทางสถานีวิทยุศึกษา เอฟเอ็ม 92.0  หรือ www.moeraiothai.net ทุกวันพุธวันในรายการโลกของเรา  เวลา 19.30 – 20.00 น.  รับฟังรายการย้อนหลังได้ที่ www.thaivoice.com และ www.thaicr.org  ติดต่อรายการได้ที่ sttoday@gmail.com หรือตู้ปณ.81  ดินแดง  กรุงเทพ 10407
 

 




บันทึกการเข้า

"CHIAB"
มนุษย์เราแต่ละคน  ต่างไม่รู้ว่ามาจากไหน  ไม่มีใครรู้จักกันมาก่อนเลย  แล้ววันหนึ่งก็มาพบหน้ากัน  สมมุติเป็นพ่อ  เป็นแม่  เป็นเมีย  เป็นสามี  เป็นลูก  อยู่ร่วมกัน  ใช้ชีวิตร่วมกัน และแล้ววันหนึ่ง  ก็แยกย้ายด้วยการ  "ตายจาก"  กันไปสู่  ณ  ที่ซึ่งไม่มีใครได้ตามพบ  คืนสู่ความเป็นผู้ไม่รู้ว่ามาจากไหน  ไปไหน  และคืนสู่ความเป็น  "คนแปลกหน้า"  ซึ่งกันและกันอนันกาลอีกครั้งหนึ่ง...และอีกครั้งหนึ่ง!?
ขอขอบคุณ คุณเปลว สีเงิน ที่ให้ข้อคิดดีๆ

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media

lsv2555Please follow the new website at https://www.pohchae.com

Valid CSS!