มติชน
ย้อนกลับไป 12 เมษายน พ.ศ.2504 นับตั้งแต่วันที่ "ยูริ กาการิน" ชาวรัสเซียสร้างประวัติศาสตร์เป็น "มนุษย์คนแรกที่ออกไปโคจรในห้วงอวกาศ" รัฐบาลชาติมหาอำนาจทั่วโลกยิ่งจำเป็นต้องทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อครองความเป็นผู้นำกิจการด้านอวกาศ อย่างไรก็ตาม เมื่อล่วงมาเกือบ 50 ปีจนถึงยุคปัจจุบัน บริษัทเอกชนต่างก็กำลังเข้ามาแข่งขันครองความเป็นผู้นำด้านอวกาศเช่นกัน เพียงแต่พุ่งเป้าไปที่ธุรกิจส่งมนุษย์ออกไปท่องเที่ยวสัมผัสประสบการณ์ในอวกาศ
พลิกปูมเที่ยวอวกาศ
ก้าวแรกของธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศเริ่มขึ้นในปี 2544 เมื่อบริษัทสเปซแอดเวนเจอร์ของสหรัฐอเมริกา รับหน้าที่เป็นตัวกลางพา "เดนนิส ติโต้" อภิมหาเศรษฐีสหรัฐ นั่งยานอวกาซ "โซยูซ" ของรัสเซียไปเยือนสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส)
หลังจากนั้น สเปซแอดเวนเจอร์ก็ยังส่งมหาเศรษฐีระดับโลกอีก 2 คน "เกร็ก โอลเซ่น" และ "มาร์ก ชัตเติลเวิร์ธ" นั่งยานโซยูซไปยังสถานีไอเอสเอสเช่นเดียวกัน
อัตราการตีตั๋วสู่อวกาศของทั้ง 3 คนนี้มีราคาสูง 800 ล้านบาท และยังต้องพึ่งพาการติดต่อประสานงานกับองค์การอวกาศรัสเซีย จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะส่งคนเดินดินออกไปโคจรนอกโลกบ่อยๆ
ในที่สุด ยุคสมัยของแนวคิดการทำธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศแนวใหม่จึงถือกำเนิดขึ้น
บริษัทเอกชนผู้ผลิตจรวดและอากาศยานหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เริ่มเบนเข็มเข้ามาเปิดตลาดขายประสบการณ์ "บินแตะขอบอวกาศ" ในสภาพไร้น้ำหนักให้กับกลุ่มลูกค้ากระเป๋าหนักทั่วโลกที่ต้องการซื้อการผจญภัยอันน่าตื่นเต้นสุดขั้ว
โดยบริษัทที่ถือว่าเป็น "ผู้นำ" ธุรกิจเที่ยวขอบอวกาศ ณ วันนี้มีอยู่ 2 เจ้าใหญ่
"เวอร์จิ้น กาแล็กติก" ในเครือเวอร์จิ้นของ "เซอร์ริชาร์ด แบรนสัน" มหาเศรษฐีอังกฤษ
และ "สเปซแอดเวนเจอร์" ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างกลุ่มทุนสื่อสารโทรคมนาคมและผู้เชี่ยวชาญอากาศยานในสหรัฐ
เศรษฐีโลกแห่จอง"เวอร์จิ้น"
เซอร์ริชาร์ด ประธานกลุ่มเวอร์จิ้น เปิดเผยว่า หลายปีที่ผ่านมา เวอร์จิ้น กาแล็กติก ใช้จ่ายเงินกว่า 4,000 ล้านบาทเพื่อพัฒนายานอวกาศรุ่นใหม่ที่จะนำนักท่องเที่ยวบินขึ้นแตะขอบอวกาศระดับ Sub Orbital หรือการบินขึ้นไปเหนือพื้นโลกราว 100 กิโลเมตร ซึ่งเป็นการบินที่ตัวยานยังไม่หลุดเข้าไปในวงโคจรโลก แต่ทำให้เกิดสภาพไร้น้ำหนักและสามารถมองเห็นโลกได้ทั้งใบ
ขณะนี้บริษัทสเกลคอมโพสิทของ "เบิร์ต รูทัน" รับหน้าที่พัฒนายานอวกาศดังกล่าวอยู่ 5 ลำ
แต่ละลำบรรทุกผู้โดยสารได้ 6 คน นักบิน 2 คน
ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดภายในปี 2551 ยานจะสร้างเสร็จสมบูรณ์และมีฐานส่งยานอยู่ในทะเลทรายโมยาวี รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ด้วยอัตราค่าตั๋ว 8 ล้านบาทต่อคน
เวอร์จิ้น กาแล็กติก ยังมีแผนระยะยาวในการจับมือกับรัฐนิวเม็กซิโก เพื่อพัฒนาให้รัฐแห่งนี้กลายเป็น "ท่าอวกาศ" หรือจุดศูนย์กลางแห่งการเดินทางไปท่องเที่ยวอวกาศในระดับโลกภายในปี 2553
ล่าสุดสภารัฐนิวเม็กซิโกอนุมัติงบก้อนแรก 4,000 ล้านบาทออกมาแล้ว เพื่อใช้สำหรับโครงการสร้างท่าอวกาศ
นอกจากนี้ องค์การอวกาศสหรัฐ (นาซ่า) เพิ่งชักชวนให้เวอร์จิ้น กาแล็กติก ไปเปิดฐานส่งยานอวกาศเพิ่มอีก 1 แห่งบริเวณศูนย์อวกาศเคนเนดี้ รัฐฟลอริดา ทางฝั่งตะวันออกของสหรัฐ
"มีลูกค้าแสดงความสนใจในแผนท่องเที่ยวอวกาศเข้ามา 50,000 คนจากทั่วโลก ในจำนวนนี้ 150 กว่าคนวางเงินมัดจำล่วงหน้าแล้ว" เซอร์ริชาร์ดกล่าว
เตรียมเปิด"ท่าอวกาศ"สิงคโปร์
ถึงแม้สเปซ แอดเวนเจอร์ จะประสบความสำเร็จจากการติดต่อทำธุรกิจกับองค์การอวกาศรัสเซียเพื่อส่งมหาเศรษฐี 3 คนไปสถานีไอเอสเอส แต่ไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง
หลังจากสุ่มเก็บข้อมูลอยู่นาน บริษัทแห่งนี้ก็ประกาศโครงการใหญ่ เตรียมสร้าง "ท่าอวกาศ" มูลค่า 10,600 ล้านบาทในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
พร้อมกันนั้นยังเตรียมประสานงานกับรัฐบาล "สิงคโปร์" พัฒนาให้สิงคโปร์กลายเป็นท่าอวกาศสำหรับฝึกหัดและส่งนักท่องเที่ยวอวกาศ
"เอริก ซี. แอนเดอร์สัน" ประธานและซีอีโอสเปซ กล่าวว่า ได้จ้างให้บริษัทในรัสเซียสร้างฝูงยานอวกาศสำหรับนำนักท่องเที่ยวจากพื้นโลกไปสู่ขอบอวกาศ
ยานลำแรกจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2551 เหมือนกับยานของเวอร์จิ้น กาแล็กติก
แต่เอริกเชื่อมั่นว่า เทคโนโลยียานอวกาศของรัสเซียจะดีกว่าและมีต้นทุนต่ำกว่ายานอวกาศสหรัฐ
ที่สำคัญสนนราคาค่าตั๋วของตนถูกกว่าค่ายเวอร์จิ้น 1 เท่า คือ 4.1 ล้านบาทต่อหัว
สำหรับราคาตั๋วของทั้ง 2 บริษัทจะมีรายละเอียดใกล้เคียงกัน นั่นคือ รวมถึงค่าฝึกร่างกาย/เตรียมความพร้อม 3-4 วัน การพบกับประสบการณ์บินเกือบ 2 ชั่วโมง และอยู่ในภาวะไร้น้ำหนัก 6 นาทีเศษ
"ข้อได้เปรียบอีกประการของเราก็คือ เทคโนโลยีการบินและยานอวกาศของเรานั้นส่งออกไปจำหน่ายได้ทั่วโลก ไม่มีกฎหมายห้ามเหมือนกับในสหรัฐ" เอริกกล่าว