เครื่องรางของขลังที่คนโบราณนิยมกันว่าเป็นมงคลอีกอย่างหนึ่งก็คือ "แหวนพิรอด"
ในปัจจุบันนี้ค่อนข้างหายาก และอาจารย์ที่ทำดูจะหายากตามไปด้วย
นับเป็นวัฒนธรรมเครื่องรางโบราณอีกชนิดหนึ่งที่กำลังจะหายไปกับยุคโลกาภิวัฒน์
หรือยุคเทคโนโลยี ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะนำพาสังคมไทยไปในรูปแบบใดจะเป็นการสร้างชาติ
หรือสิ้นชาติที่หมาย
ถึงการสูญเสียวัฒนธรรมเก่าๆไปแลกกับวัฒนธรรมขยะยุคไอ.ที. (I.T.)
ที่วัยรุ่นปัจจุบันมักมีพฤติกรรมแปลกให้เห็นอยู่เสมอๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์
ฝากข้อคิดไว้นิดว่าชาติจะมีความหมายอะไร
ถ้าหากเราไม่สามารถรักษาเอกลักษณ์คือวัฒนธรรมเอาไว้ได้
แหวนพิรอดว่ามีสองชนิด
ตามตำราไสยศาสตร์นั้นบอกเล่าเรื่องราวของ แหวนพิรอดว่ามีสองชนิด
คือชนิดเล็กใช้สวมนิ้ว ชนิดใหญ่ใช้สวมแขน ซึ่งมักเรียกว่า สนับแขนพิรอด
(ชนิดนี้บางทีทำด้วยโลหะผสมก็มี ตรงหัวทำเป็นเหมือนหัวแหวนพิรอด)
ซึ่งสนับแขนนี้เดิมยังใช้เป็นอาวุธของนักมวยในการกอดปล้ำที่เข้าวงใน
เพราะแหวนแขนที่ทำจากด้ายดิบหากลงรักจะแข็งและคม
ซึ่งใช้ถูกับผิวหนังนักมวยฝ่ายตรงข้ามทำให้เจ็บและไม่อยากเข้าต่อสู้ด้วยการกอดปล้ำ
เป็นการจำกัดรูปมวยฝ่ายตรงข้ามเรียกว่าพาให้เขาเข้าทางมวยฝ่ายเรา
ซึ่งทำให้ได้เปรียบในเชิงการต่อสู้ ในปัจจุบันจะพบเห็นในการแข่งขันชกมวยไทย
แต่ปัจจุบันคงเป็นแค่เครื่องรางอย่างหนึ่งเท่านั้น
วัสดุที่ใช้ทำแหวนพิรอด
วัสดุที่ใช้ทำแหวนพิรอดโดยมากทำด้วยกระดาษว่าวกับถักด้วยเชือก
ตำนานแหวนพิรอดเมื่อย้อนยุคไปเมื่อสักเกือบศตวรรษนั้น
แหวนพิรอดของหลวงพ่อม่วง วัดประดู่ทรงธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
มีชื่อมากขนาด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ (รัชกาลที่๕)
ได้ทรงกล่าวถึงอาจารย์ที่สร้างแหวนพิรอดที่ขึ้นชื่อลือชาในสมัยที่พระองค์ประสพพบเห็น
โดยทรงพระราชนิพนธ์บันทึกไว้นี้สองท่านคือ รูปหนึ่งคือเจ้าอธิการเฮง วัดเขาดิน
เป็นอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ได้นำแหวนพิรอดมาถวายพระเจ้าลูกเธอที่ตามเสด็จ
ได้ทรงวิจารณ์ไว้ว่า "เอาแหวนถักพิรอดมาแจกแหวนนั้นทำนองเดียวกับขรัวม่วงวัดประดู่
แต่ขรัวม่วงถักด้วยกระดาษลงรักนี่ถักด้วยด้ายทำเรียบร้อยดี"
ซึ่งพอจะคะเนได้ว่าพระเถระทั้งสองรูปน่าจะเป็นเกจิอาจารย์ของเมืองกรุงเก่า(อยุธยา)
แหวนพิรอดเดิมทีนั้นใช้วัสดุที่หาได้จากใกล้ๆตัวตามวิถีชีวิตคนในสมัยนั้นคือมักทำด้วย
กระดาษว่าว ก็เพราะเป็นกระดาษที่เหนียวแน่นดีกว่ากระดาษชนิดอื่น
ลงยันต์แหวนพิรอด
เมื่อจะต้องทำลงยันต์แหวนพิรอดในกระดาษยันต์นี้ประกอบด้วยรูปพระภควัม
หรือเลขยันต์ตามแต่พระเกจิอาจารย์แต่ละสายจะกำหนดขึ้น
ซึ่งเรื่องนี้จะเห็นว่าเป็นกลเม็ดเด็ดพรายตามแต่สำนักใดจะสร้างขึ้น
โดยมีความเชื่อกันอยู่อย่างหนึ่งถึงวิธีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องรางแหวนพิรอด
ที่สร้างขึ้นว่ามีอิทธิคุณถึงขั้นหรือยังคือเมื่อทำแล้วให้ทดลองเอาไฟเผาดู ถ้าไม่ไหม้ก็ใช้ได้
พระอาจารย์ผู้สร้างจึงจะนำมาตกแต่งเพื่อความมั่นคงทนทานและสวยงาม อันแหวนพิรอดนั้น
โดยมากมักจะลงรักเพื่อป้องกันความชื้นซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แหวนผุง่ายไม่คงทน
ลอร์ดออฟเดอะริงค์ อย่างไทยๆ เรา
ในตำราไสยศาสตร์นั้นยังระบุอธิบายวิธีใช้ไว้ว่า ถ้าจะเข้าสู้รบทำสงคราม
ให้ถือแหวนกระดาษนี้แล้วบริกรรมด้วย "มะอะอุฯ" และถ้าจะให้เป็นตบะเดชะในสงคราม
ทำให้ข้าศึกครั่นคร้าม ให้บริกรรมด้วยคาถา "โอม ยาวะ พะกาสะตรีนิสิเหฯ"
ว่ากันว่าไม่แต่เพียงศึกมนุษย์ถึงศึกเทวดามาก็ไม่ต้องกลัว
ซึ่งคงเป็นแบบเรื่องราวของ ลอร์ดออฟเดอะริงค์อย่างไทยๆ เรา
ความเป็นมาของเงื่อน
เคยได้ยินคนรุ่นเก่าเล่ากันว่า แหวนหลวงพิรอด
เรื่องนี้เห็นจะเป็นเพราะลากเข้าความกันมากกว่า
เท่าที่อ่านพบจากการสันนิษฐานของนักปราชญ์ชาวตะวันตก(อิตาลี)ที่เข้ามารับราชการ
จนเป็นถึงเจ้ากรมยุทธศึกษาของกองทัพบกไทยคนแรกในการทหารยุคใหม่คือ ยี. อี.เยรินี
(พันเอกพระสารสารขันธ์)กล่าวว่า
ชื่อ พิรอด มาจากภาษาสันสกฤตว่า วิรุทธ หรือ พิรุทธ แปลว่า อันขัดกันอยู่
อันได้รับการต่อต้านหรือขัดขวาง อันตรงกันข้ามเมื่อพิจารณาจากลายที่ถัก
ก็ใช้ขัดกันแบบเงื่อนลูกเสือที่เรียกกันว่า เงื่อนพิรอด ก็ดูจะสมกับชื่อในภาษาสันสกฤตอยู่มาก
เงื่อนพิรอดนั้นเป็นเงื่อนที่ใช้กันมาแต่โบราณนานมาก หลักฐานที่พอจะชี้ให้เห็นเป็นตัวอย่างได้ก็คือรูปสลักหินโบราณของพวกขอม จะเห็นว่าผ้าคาดเอวตรงด้านหน้าทำเป็นเชือกผูกเป็นเงื่อนพิรอดอย่างนี้เหมือนกัน เงื่อนชนิดนี้ยิ่งดึงยิ่งแน่น
คาถาอาคม ที่ใช้กับเงื่อน ขอเกจิอาจารย์ ต่างๆ
เงื่อนพิรอดนั้นจัดเป็นเงื่อนสำคัญที่ใช้ในการต่อเชือกหรือการผูกโยงเพื่อความมั่นคง
แน่นหนาอย่างวิชาเชือกคาดสายหลวงปู่ขัน วัดนกกระจาบ
ที่ต่อยุคมายังหลวงปู่ธูปวัดแค นางเลิ้ง กทม.
ซึ่งพระเกจิอาจารย์ท่านนี้เป็นผู้ทรงคุณวิทยาสูงส่งเฉพาะด้านมหานิยมก็เข้มขลังขนาดอมตะ
ดาราอย่าง คุณ มิตร ชัยบัญชายังนับถือเป็นลูกศิษย์ซึ่งวงการผู้นิยมเครื่องรางก็ทราบกันดี
โดยเชือกคาดสายหลวงปู่ขันนั้นเวลาคาดต้องขัดเป็นเงื่อนพิรอด มีคาถากำกับว่า
พระพิรอดขอดพระพินัย และเวลาแก้เชือกก็มี
คาถาว่า พระพินัยคลายพระพิรอด อันจะเห็นได้ว่าศาสตร์การใช้เงื่อนพิรอดนั้นยังสืบมาถึงเครื่องคาดอย่างเชือกหรือการ ผูกตะกรุด พิสมรซึ่งต้องรวมถึงเครื่องรางโบราณอีกชนิดที่ปัจจุบันไม่ค่อยมีเกจิอาจารย์สร้างก็คือ ผ้าขอด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องพิรอดด้วยโดยผ้าขอดนั้นจะเป็นการขัด พิรอดเดี่ยว เกจิอาจารย์ที่มีชื่อเรื่องผ้าขอดในยุคเก่าๆเช่นหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จ.อยุธยา หลวงพ่อพรหม วัดขนอนเหนือ จ.อยุธยา หลวงพ่อกวย ชุตินธโร จ.ชัยนาท เป็นต้น ในส่วนเครื่องรางผ้าขอดสายวัดสะแก จ.อยุธยา ก็มีชื่อเช่นกันแต่เป็นฆารวาส ที่ชื่อว่า เฮง ไพรวัลย์ ลอยเรืออยู่ท่าน้ำวัดสะแกบางคนเรียก ว่า อาจารย์เฮงเรือลอยก็มี (ความรู้เพิ่มเติมเรื่องเงื่อนศักดิ์สิทธิ์นี้อ่านที่คอลัมมายิกไท-เทศ;อุณมิลิต เล่มที่ ๑๐ - ๑๑)...