จัดเป็นคลื่นลูกที่สามที่ได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำมาประยุกต์
ใช้ในทางการแพทย์และเภสัชกรรม รวมทั้งในวงการอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมอุตสาหกรรมการผลิต
นักวิชาการจำนวนมากทำนายไว้ว่า Nanotechnology คลื่นลูกที่สามซึ่งตามมาหลังจากเทคโนโลยีสารสนเทศ Information Technology
และเทคโนโลยีชีวภาพ Biotechnology นี้จะเป็นคลื่นที่มีความรุนแรงมากที่สุด แทบจะพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของโลกมนุษย์
ในทศวรรษที่ 21 อย่างสิ้นเชิง และยังมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตรวมทั้งความเป็นอยู่ของมวลมนุษยชาติอย่างมาก
เกินกว่าที่หลายคนเคยคาดคิดกันไว้ก่อนหน้านี้
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตระหนักความสำคัญของนาโนเทคโนโลยี Nanotechnology
ในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ จึงได้เสนอของบประมาณ 910 ล้านบาท ตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ พร้อมจัดทำแผนแม่บท
มุ่งส่งเสริมมหาวิทยาลัยให้ดำเนินการทำงานศึกษาวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ อาหาร การเกษตร และอิเล็กทรอนิกส์
ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ในอนาคตนาโนเทคโนโลยี
ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขนาดเล็กจะเข้ามามีบทบาทสำคัญทั้งในเรื่องอุตสาหกรรมและทางการแพทย์ ดังนั้น สวทช.จึงได้จัดทำรายละเอียด
เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีจัดตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สังกัด สวทช. ซึ่งขณะนี้มีอยู่แล้ว 3 ศูนย์ คือ
ศูนย์ไบโอเทค ศูนย์เอ็มเทค และศูนย์เนคเทค โดยรอเพียงให้ นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ ลงนามรับรองเพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติต่อไป
ศ.ดร.ไพรัช กล่าวว่า ได้เสนอของบประมาณเพื่อจัดตั้งศูนย์จำนวน 910 ล้านบาท โดยแผนงานประกอบด้วย การผลิตบุคลากร
และปรับปรุงหลักสูตรในสถาบันการศึกษา ซึ่งคาดว่าจะต้องผลิตบุคลากรให้ได้อย่างน้อย 300 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี
นอกจากนี้จะส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยผ่านทางมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งการทำแผนแม่บทนาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย
"ทั่วโลกให้ความสำคัญกับนาโนเทคโนโลยีมาก โดยประเทศที่ถือเป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านนี้คือ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับอุตสาหกรรมทางด้านโลหะได้เป็นอย่างนี้ เช่น ด้านไบโอเทค ได้ค้นพบแบคทีเรียขนาดเล็ก เป็นสารชีวภาพ
ที่เรียกว่าสาร ATPH นำมาพัฒนาเป็นมอเตอร์เครื่องมือขนาดเล็ก เพื่อนำยาหรือเครื่องมือในการรักษาโรค
ไปยังจุดที่ร่างกายมีปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น จึงจะเป็นโอกาสดีในการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต โดยเฉพาะในส่วนของประเทศไทย
ศูนย์ดังกล่าวน่าจะมีบทบาททางด้านอุตสาหกรรม การแพทย์ อาหาร การเกษตร และด้านอิเล็กทรอนิกส์ และยังสามารถเชื่อมโยงกับการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพของไทยอีกด้วย"
นาโนเทคโนโลยีทางการแพทย์
การนำนาโนเทคโนโยโลยีมาใช้ทางการแพทย์เป็นไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ได้เริ่มต้นศึกษาวิจัยมาตั้งแต่เมื่อสิบปีที่แล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยุโรป กลุ่มประเทศเอเชีย เช่น จีน เกาหลี อินเดีย และสิงคโปร์
ความรู้ใหม่ๆ เหล่านี้ทำให้เกิดเป็นศาสตร์แขนงใหม่ที่มีชื่อเรียกว่า "NANOMEDICINE" ซึ่งที่ผ่านมาในระยะเริ่มต้น
พบว่ามีเป้าหมายที่สำคัญอย่างเด่นชัด 3 ประการด้วยกัน
ประการที่หนึ่ง - เพื่อเป็นเครื่องมือใหม่ในการศึกษากระบวนการสรีรวิทยาที่เกิดขึ้นในร่างกายมนุษย์ทั้งหมดโดยใช้แนวทาง Nanotechnology และประยุกต์ใช้ศึกษาความผิดปกติที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บทุกชนิดที่รู้จักกันในปัจจุบัน รวมทั้งโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีอีกมากมายหลายร้อยหลายพันโรค ก็คือสิ่งที่ทางการแพทย์เรียกว่า "idiopathic" หมายถึงยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดในปัจจุบันนั่นเอง ยกตัวอย่างพอเป็นสังเขปเช่น โรคเลือดที่ชื่อ ITP (Idiopatic Thrombocytopenic Purpura) หรือโรคปอดที่ชื่อ IPF (Idiopathic Pulmonary Fibrosis) เป็นต้น
ประการที่สอง - เพื่อให้เกิดความแม่นยำในการวินิจฉัยโรค ปัญหาที่พบในเวชปฎิบัติทั่วไปขณะนี้คือบางโรคยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ในเวลาอันรวดเร็ว
บางโรคยังต้องใช้ข้อมูลทางระบาดวิทยา บางโรคอาจต้องติดตามการรักษาไปสักระยะหนึ่งก่อนการวินิจฉัยขั้นสุดท้าย ดังนั้นเป้าหมายสำคัญในการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ก็เพื่อให้ออกแบบแนวทางการตรวจวินิจฉัยโรคต่างๆ ที่รวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้ ด้วยหลักการเดียวกัน ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการติดตามผลการรักษาได้อีกด้วย สามารถหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงหรือฤทธิ์อันไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการบำบัดรักษาได้มากกว่าเดิม
ประการที่สาม - ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ยากที่สุดที่จะเกิดขึ้น เรียกว่า "Nanorobots" ทำหน้าที่ช่วยเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีอยู่ในธรรมชาติทำหน้าที่ป้องกันอันตรายจากสิ่งแปลกปลอม ทั้งที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง และก่อให้เกิดโรคออโตอิมมูน ซึ่งมีเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน แนวความคิดนี้ใกล้เคียงกับ DNA COMPUTER ที่กำลังถูกพัฒนามาแทนที่ Silicon Chip ในเร็ววันนี้
บทสรุป (ตอนที่ 1)
นาโนเทคโนโลยีกำลังเป็นเรื่องใกล้ตัวและมองเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นในประเทศไทย เรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Nanotechnology และ Nanomedicine ยังมีอีกมากมายหลายแง่หลายมุม ท่านที่สนใจสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ BangkokHealth.com อีกทั้งจะได้นำเสนอข่าวคราวความคืบหน้าในการนำมาประยุกต์ใช้จริงในการการแพทย์ให้ทราบเป็นระยะ ๆ.....................