ผู้เชี่ยวชาญ จุฬาฯ ย้ำ อย่าตระหนก
การใช้ไมโครเวฟอุ่นอาหารปลอดภัย และยังไม่มีงานวิจัยยืนยันว่า
การนำน้ำหรืออาหารที่ใส่ภาชนะพลาสติกและให้ความร้อนด้วยไมโครเวฟอย่างถูกวิธี
จะทำให้เกิดภาวะมีไมโครพลาสติกในกระแสเลือด
รศ.ดร.สุรเชษฐ์ หลิมกำเนิด ภาควิชาฟิสิกส์
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กล่าวว่า การใช้เตาไมโครเวฟอุ่นอาหาร
เป็นการทำให้อาหารสุกและร้อน
ด้วยคลื่นไมโครเวฟ มีความปลอดภัยไม่ได้ก่อให้เกิดอันตราย
เพียงผู้ใช้คำนึงถึงการใช้อย่างถูกวิธี ใช้อุ่นอาหารอย่างเหมาะสม
และตรวจสอบคุณภาพของเครื่องสม่ำเสมอให้อยู่ในสภาพดี
ช่วยประหยัดเวลาและสะดวกสบาย
ที่สำคัญคุณค่าทางอาหารยังสูญเสียน้อยกว่าวิธีอื่น
เนื่องจากใช้เวลาในการให้ความร้อนน้อยกว่า
ส่วนกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าว
ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยเนแบรสกาในสหรัฐอเมริกา
เรื่องการใช้เตาไมโครเวฟอุ่นพลาสติกและพบไมโครพลาสติก
สลายออกมาในอาหาร
ขอย้ำกับผู้บริโภคว่าอย่าเพิ่งตระหนกและกังวล
เพราะยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันว่า
การนำน้ำหรืออาหารใส่ภาชนะพลาสติกไปให้ความร้อน
ด้วยเตาไมโครเวฟอย่างถูกวิธี โดยใช้ความร้อนและเวลาที่เหมาะสม
จะทำให้เกิดภาวะมีไมโครพลาสติกในกระแสเลือด
หลังจากรับประทานอาหารนั้น
ในงานวิจัยดังกล่าว นักวิจัยนำภาชนะที่ทำจากพลาสติก
แบบพอลิโพรพิลีน (Poly-propylene: PP) ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัย
จากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA)
บรรจุน้ำ DI (Deionized water) และน้ำ DI ที่มีความเป็นกรดเล็กน้อย
นำเข้าไปอุ่นในไมโครเวฟแบบ 1000 วัตต์ เป็นเวลา 3 นาที
จากนั้นนักวิจัยได้ทำการวัดปริมาณ
ไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติก (Micro/nano plastics) ในน้ำ
โดยเทียบกับน้ำที่เก็บอยู่ในภาชนะเดียวกัน
ที่ปล่อยให้อยู่ในอุณหภูมิห้องเป็นเวลา 6 เดือน พบว่าทั้ง 2 การทดลอง
มีปริมาณพลาสติกขนาดเล็กอยู่เท่า ๆ กัน
ดังนั้นไมโครพลาสติกจึงสามารถพบได้อยู่ทั่วไป
ไม่ใช่แค่เพียงการนำพลาสติกเข้าไปอุ่นในไมโครเวฟ
นอกจากนี้นักวิจัยยังมีการนำเซลล์ไตตัวอ่อน (Human embryonic kidney cells)
ไปแช่ในน้ำที่มีไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกเป็นเวลา 48 และ 72 ชั่วโมง
และพบว่ามีการตายของเซลล์ประมาณ 78% อย่างไรก็ดี
ในการทดลองนี้มีไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติก
อยู่มากกว่าที่พบในการทดลองอุ่นน้ำอยู่ 5,000 ถึง 10,000 เท่า
ทั้งนี้การทดลองไม่ได้เปรียบเทียบพลาสติกที่ปล่อยออกมา
จากการอุ่นน้ำด้วยไมโครเวฟในภาชนะพลาสติก
และการนำน้ำเดือดมาบรรจุในภาชนะพลาสติกเป็นเวลานานที่เท่ากัน
จึงไม่สามารถยืนยันได้ว่า พลาสติกที่พบนั้น
เกิดจากผลของไมโครเวฟหรือเป็นผล
ของความร้อนของน้ำในภาชนะบรรจุ
อีกทั้งการทดลองนี้ใช้ไมโครเวฟอุ่นน้ำในปริมาณที่น้อย
และเวลาที่ใช้ในการต้มน้ำในไมโครเวฟไม่ได้สัดส่วนกับปริมาณน้ำ
จึงทำให้น้ำร้อนมากเกินกว่าการอุ่นให้ร้อนตามการใช้งานปกติมาก
ซึ่งแน่นอนว่าการให้ความร้อนที่มากเกินไปไม่ว่าจะโดยวิธีใด
มีโอกาสที่จะทำให้พลาสติกเสียสภาพได้
ที่สำคัญงานวิจัยดังกล่าว ไม่ได้นำน้ำที่ต้มในภาชนะพลาสติกนั้น
ไปให้เด็กหรืออาสาสมัครดื่ม และไม่ได้มีการตรวจวัด
ไมโครพลาสติกในเลือดแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม อาหารแช่แข็งหรืออาหารแช่เย็นพร้อมรับประทาน
ที่นำมาใช้อุ่นกับไมโครเวฟ สิ่งสำคัญที่ต้องระมัดระวัง คือ
บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่นำเข้าเตาไมโครเวฟ ต้องทนความร้อน
ในกลุ่มพอลิโพรพิลีน (Poly-propylene: PP)
พอลิเอทิลีน (Poly-ethylene: PE)
ซึ่งสามารถใช้กับเตาไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัย
และควรใช้พลาสติกชนิดที่ระบุว่าใช้กับเตาไมโครเวฟได้
เพราะเป็นพลาสติกคุณภาพดีและทนความร้อนเท่านั้น
ที่สำคัญไม่ควรนำภาชนะใช้แล้วกลับมาอุ่นอาหารซ้ำอีก
https://plewseengern.com/plewseengern/126574?fbclid=IwAR25XBgX7deNDmwwQ9Mp6ULDj5p3ew4aGeYXjAfnAzauRsXzWVhuwlHERdE#