ละมุดมีกี่แบบ - การปลูกละมุด
LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่14"
พฤศจิกายน 24, 2024, 09:37:24 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ละมุดมีกี่แบบ - การปลูกละมุด  (อ่าน 3194 ครั้ง)
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« เมื่อ: มกราคม 10, 2020, 08:49:43 am »

ละมุด จัดเป็นไม้ผลขนาดกลาง มีเส้นผ่าศูนย์กลางพุ่ม อยู่ระหว่าง 4-8 เมตร ไม่สลัดใบ ความสูงของต้นจะแตกต่างกันไปตามพันธุ์ อยู่ระหว่าง 9-15 เมตร ต้นแผ่กิ่งก้านสาขาแข็งแรง กิ่งเหนียวไม่หักง่าย ออกดอกติดผลตลอดทั้งปี

กรมส่งเสริมการเกษตร สำรวจพบว่า แหล่งปลูกละมุด ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดราชบุรี รองลงมาคือสุโขทัย และนครราชสีมา ที่เหลือปลูกกระจัดกระจายอยู่ใน 31 จังหวัด ที่ผ่านมา ไทยเคยส่งออกละมุดแช่แข็งและผลละมุดสดไปยังประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บูรไน และยุโรป..

ละมุด ที่ปลูกในเมืองไทย สามารถจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ..

●ผลเล็ก ได้แก่ พันธุ์มะกอก พันธุ์ปราจีน พันธุ์สีดา

●ผลขนาดกลาง ได้แก่ พันธุ์กระสวยมาเล พันธุ์ดำเนิน พันธุ์นมแพะ

●ผลใหญ่ ได้แก่ พันธุ์กำนัน พันธุ์ ทช01 พันธุ์ CM19 พันธุ์สาลี่เวียดนาม และพันธุ์ตาขวัญ

ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีจุดเด่น-จุดด้อย ที่แตกต่างกันออกได้ ได้แก่..

-พันธุ์มะกอก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ละมุดกรอบ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีรสชาติดี รสหวาน หอม กรอบ แต่มีขนาดผลเล็ก ผลมีลักษณะกลมเมื่อยังเล็กอยู่ เมื่อโตขึ้นก็จะค่อยๆ ยาวเหมือนผลมะกอก จัดอยู่ในกลุ่มขนาดผลเล็ก คือ 45 กรัม ต่อผล ผลมีผิวสีน้ำตาลอมเหลืองเมื่อแก่จัด ผลสุกเนื้อในจะแข็งกรอบ มีสีน้ำตาลอมแดง เนื้อละเอียด ผิวไม่นิ่ม ให้ผลดก อายุเก็บเกี่ยว 6 เดือน ผลสุกจัดความหวาน 17 องศาบริกซ์ เกษตรกรก็นิยมปลูกกันเป็นอาชีพมาก เพราะมีรสชาติดีและเป็นที่นิยมของตลาด

-พันธุ์กระสวยมาเลย์ มีขนาดผลกลาง 150-250 กรัม ต่อผล รูปร่างผลยาวรี สีเปลือกค่อนข้างเหลือง ลักษณะเนื้อเมื่อสุกละเอียด ค่อนข้างเละ สีเนื้อน้ำตาลแดง อายุเก็บเกี่ยว 8-9 เดือน

-พันธุ์ CM19 จากประเทศมาเลเซีย นิยมเรียกกันติดปากว่า “ละมุดยักษ์มาเล” มีขนาดผลใหญ่ ประมาณ 200-300 กรัม ต่อผล ขนาดผลค่อนข้างโต ลักษณะผลมีทั้งรีและกลมในต้นเดียวกัน สีเปลือกผลน้ำตาลเข้ม เนื้อละเอียดสีน้ำตาล เนื้อละมุดจะไม่กรอบเมื่อสุก อายุเก็บเกี่ยว 8-9 เดือน

-พันธุ์ ทช.01 เกิดจากการคัดเลือกพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตร พันธุ์ ทช.01 มีขนาดผลใหญ่เฉลี่ย 200 กรัม ต่อผล อายุเก็บเกี่ยว 8 เดือน เมื่อสุกเนื้อจะไม่กรอบ สีเปลือกน้ำตาลเข้ม สีเนื้อในน้ำตาลแดง

-พันธุ์ไข่ห่าน ขนาดผลใหญ่มาก ขนาดคล้ายกับไข่ห่าน เปลือกผลบาง เนื้อสีน้ำตาลอ่อน รสชาติหวานเย็น มีปริมาณเนื้อมาก เมื่อสุกเนื้อค่อนข้างหยาบไม่แข็ง กรอบ ให้ผลได้ไม่ดก

โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตละมุดอย่างมีคุณภาพ โดย คุณสุรศักดิ์ วัฒนพันธุ์สอน และคณะ ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย พบว่า การตัดแต่งทรงพุ่มละมุดทุกกรรมวิธี สามารถช่วยให้ผลผลิตที่มีผลขนาดใหญ่มากกว่าการไม่ตัดแต่งทรงพุ่มเลย วิธีการตัดแต่งแบบเปิดแกนกลางและการตัดแต่งแบบครึ่งวงกลม ทำให้ได้ผลผลิตละมุดมีขนาดผลโตขึ้นมากกว่าการตัดแต่งทรงพุ่มแบบทรงเหลี่ยม และแบบฝาชีหงาย

นอกจากนี้ ผลการศึกษาวิจัย พบว่า ละมุดพันธุ์มะกอก ที่ปลูกจากกิ่งตอน หากใส่ปุ๋ยคอก ในอัตรา 2 กิโลกรัม ต่อต้น ร่วมกับใส่ปุ๋ยไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ในอัตรา 6-2-3 กิโลกรัม ต่อต้น ในต้นละมุดอายุ 1-2 ปี จะทำให้ต้นละมุดมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี และมีขนาดทรงพุ่มเพิ่มเร็วขึ้น ให้ผลผลิตมากกว่าการใส่ปุ๋ยเคมีที่อัตราต่ำกว่านี้ ให้ผลผลิตได้ในปีที่ 2

ด้านการจัดการน้ำ พบว่า การให้น้ำต้นละมุดตั้งแต่เริ่มปลูก จะทำให้ละมุดมีการเจริญเติบโตได้ดี แตกตาดอกและตาใบมากขึ้น สำหรับต้นละมุดที่เพิ่งปลูกใหม่ๆ ควรให้น้ำทุกๆ วันในตอนเย็น ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับสภาพความชุ่มชื้นของดินและสภาพแวดล้อมต่างๆ ส่วนต้นละมุดที่ให้ผลผลิตแล้ว การให้น้ำจะไม่มีผลกระทบต่อการออกดอกติดผลแต่อย่างใด

ถึงแม้จะทนต่อความแห้งแล้งได้ดี แต่ต้นละมุดก็ต้องการน้ำอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ละมุดออกดอกและดอกกำลังบาน ในช่วงที่ผลแก่และเริ่มจะสุก หากมีฝนตกจะทำให้ความหวานลดลงบ้างเล็กน้อย แต่ยังจัดว่ายังหวาน เมื่อฝนเริ่มหาย อย่างไรก็ตาม การบังคับน้ำหรือการอดน้ำ ควรกระทำในช่วงหน้าหนาวในระยะผลแก่ก่อนจะทำการเก็บผล ประมาณ 20 วัน เพื่อเร่งให้ผลละมุดมีความหวานมากขึ้นและเนื้อกรอบ ส่วนการให้น้ำหรือบังคับน้ำเพื่อเร่งการออกดอกนั้น ไม่มีความจำเป็น เพราะละมุดมีนิสัยที่มีการติดดอกออกผลมากอยู่แล้ว

ภายหลังจากการเก็บเกี่ยวผลออกไปในแต่ละรุ่น ต้นละมุดจะมีการสะสมอาหารพร้อมที่จะออกดอกติดผลได้ในรุ่นต่อไป ในช่วงฤดูแล้งนั้นควรจะให้น้ำเป็นระยะๆ อย่างน้อยเดือนละ 2-3 ครั้ง และก่อนจะหมดฤดูฝน เกษตรกรควรนำเศษหญ้ามาสุมโคนต้นเพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นของดินไว้ให้นาน และช่วยไม่ให้แสงแดดส่องถึงพื้นดิน น้ำที่รดลงไปจะมีการระเหยออกมาน้อย ช่วยประหยัดน้ำ และประหยัดแรงงานในการให้น้ำได้อีกทางหนึ่ง.

เพิ่มเติมสำหรับผู้สนใจปลูกละมุด

ละมุด ชื่อวิทยาศาสตร์ Manilkara zapota (L.) P.Royen (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Manilkara achras (Mill.) Fosberg) จัดอยู่ในวงศ์พิกุล (SAPOTACEAE)

ละมุด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ละมุดฝรั่ง (ภาคกลาง), ชวานิลอ (ปัตตานี, มลายู, ยะลา), สวา เป็นต้น

ละมุดเป็นผลไม้ที่มีรสหวาน กลิ่นหอมอร่อยมาก ใช้รับประทานเป็นของหวานหรือของว่าง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ละมุดเป็นผลไม้ที่โตเร็วและให้ผลเร็ว และให้ผลทุกๆ ปี เป็นไม้ผลที่ไม่ผลัดใบและออกดอกออกผลอยู่ตลอดปี และเป็นไม้ผลที่ขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิดไม่ว่าเป็นดินทราย ดินเหนียวหรือดินลูกรังผุๆ ก็ตาม เจริญเติบโตเร็ว ให้ผลแน่นอน ทั้งการปฏิบัติบำรุงรักษา ก็ไม่สู้จะลำบากยากเย็นอะไรเหมือนกับผลไม้อื่นๆ เช่น เงาะ ทุเรียน ลางสาด ส้มต่างๆ ฯลฯ เป็นต้น ละมุดยิ่งแก่จะให้ผลดกมากยิ่งขึ้น ละมุดในประเทศไทยมีอยู่ 2 อย่างคือ..

1. ละมุดไทยหรือละมุดสีดา เป็นพันธุ์ที่มีอยู่ในประเทศไทยมานานแล้ว เป็นไม้ผลที่มีทรงพุ่มไม่ทึบ และใบมีลักษณะโคนเรียว ปลายใบมน ท้องใบมีสีขาวเหลือบ มีผลเล็ก ผลมีสีน้ำตาลปนแดง ใบเป็นมัน ลักษณะผลคล้ายๆ กับมะเขือเทศสีดา ในปัจจุบันนี้ ไม่ใคร่มีใครนิยมปลูกกันมากนัก จึงรู้สึกว่าไม่ใคร่มีจำหน่ายในท้องตลาด
2.  ละมุดฝรั่ง คำว่าละมุดฝรั่งนี้ส่วนมากมักจะไม่ใคร่ได้ยินหรือเรียกกัน จะได้ยินกันก็แต่ว่า “ละมุด” เฉยๆ เท่านั้น แต่ความจริงแล้วละมุดมีชื่อเรียกเต็มว่า “ละมุดฝรั่ง” เพราะฉะนั้นคำว่าละมุดหรือละมุดฝรั่ง จึงเป็นผลไม้อย่างเดียวกัน ขอท่านนักเกษตรกรพึงเข้าใจตามนี้ด้วย ละมุดฝรั่งนี้เป็นละมุดที่กสิกรนิยมปลูกกันมาก เพราะเป็นพืชที่เป็นสินค้าชั้นนำอยู่พืชหนึ่งเหมือนกัน ละมุดนี้เท่าที่ทราบและมีอยู่ในประเทศไทยประมาณ 6 พันธุ์ด้วยกัน คือ พันธุ์ล่าลี พันธุ์สาลี่ พันธุ์ฝาชี พันธุ์กระสวย พันธุ์ไข่ห่าน และพันธุ์มะกอก ส่วนพันธุ์กระสวยนั้นมีรสและคุณภาพเหมือนพันธุ์มะกอก ผิดกันแต่ลักษณะของผลละมุดกระสวยนั้นหัวและท้ายของผลเรียวเท่านั้น แต่การติดผลของพันธุ์กระสวยนั้นติดผลห่าง ถ้าจะปลูกละมุดพันธุ์นี้เพื่อเป็นการค้าแล้ว จะได้ผลไม่คุ้ม จึงทำให้นิยมปลูกกันน้อย เว้นไว้แต่จะปลูกเพื่อเป็นของแปลกๆ บ้านละต้นสองต้นเท่านั้น


ถิ่นกำเนิดละมุด
ละมุดเป็นต้นไม้ผล ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อน ได้แก่ประเทศเม็กซิโก อเมริกากลาง อเมริกาใต้ และหมู่เกาะอินเดียตะวันออก ซึ่งภายหลังก็ได้กระจายทั่วๆ ไปในเขตประเทศร้อน จนกระทั่งมาถึงประเทศไทย และไม่ทราบว่าเข้ามาในสมัยใด

ชนิดของพันธุ์
ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ละมุดมีประมาณ 6 พันธุ์ด้วยกัน และเท่าที่นิยมปลูกกันทั่วๆ ไป ก็มีอยู่เพียง 2 พันธุ์เท่านั้น คือ
1. ละมุดพันธุ์ไข่ห่าน มีลักษณะใบยาวรี ปลายใบแหลม มีสีเขียวอ่อน ลักษณะและขนาดของผลใกล้เคียงกับไข่ห่าน เปลือกบาง เวลาสุกเนื้อค่อนข้างหยาบไม่แข็งกรอบ เนื้อสีน้ำตาลอ่อน รสหวานเย็น เป็นพันธุ์ที่ให้ผลไม่ดก
2. ละมุดพันธุ์มะกอก มีลักษณะยาวรี มีใบแคบกว่าพันธุ์ไข่ห่าน หลังใบมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ผลเมื่อเล็กมีลักษณะกลม ต่อมาจึงค่อยๆ ยาวขึ้นเหมือนผลมะกอก เมื่อแก่จัดผิวของผลจะมีสีน้ำตาลอมเหลือง เมื่อสุกแล้วเนื้อในจะมีสีน้ำตาลอมแดง เนื้อในแข็งกรอบ รสหวานแหลม ละมุดพันธุ์นี้มีผู้นิยมปลูกเป็นอาชีพกันมาก เพราะนอกจากเนื้อกรอบหวานรสดีแล้ว ยังให้ผลดกอีกด้วย ในต่างประเทศมีละมุดหลายพันธุ์มากกว่าของประเทศไทยเรา ทั้งนี้เพราะสาเหตุจากการปลูกด้วยเมล็ดมักจะกลายพันธุ์ จึงทำให้มีลักษณะแตกต่างไปจากพันธุ์เดิม

การขยายพันธุ์

-การเพาะเมล็ด (Seeding)
-การตอน (Marcotting or Air Layering)
-การทาบและเทียบกิ่ง (Inarching)
-การติดตา (Budding)


1.การเพาะเมล็ด (Seeding) การขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ส่วนมากมีการทำไม่สู้มากนัก ทั้งนี้เพราะสาเหตุจากการเพาะเมล็ดทำให้กลายพันธุ์ได้  และส่วนมากที่กลายพันธุ์มักจะกลายไปในทางที่เลวมากกว่าในทางที่ดี แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ก็ยังมีผู้กระทำการเพาะละมุดปลูกอยู่อีกเป็นจำนวนมากเหมือนกัน ทั้งนี้เนื่องจากสาเหตุต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. เพราะไม่มีความรู้เรื่องการขยายพันธุ์โดยวิธีต่างๆ เว้นแต่วิธีเพาะเมล็ดอย่างเดียวเท่านั้น
2. เพราะต้องการอยากได้พันธุ์ที่ดีใหม่ๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ จะเห็นได้ว่าละมุดบางต้นมีลักษณะใบผิดไปจากเดิม คือมีสีของใบด่างเป็นสีขาวสลับเขียว แต่ลักษณะของผลและคุณภาพของผลคงเป็นพันธุ์เดิมนั่นเอง เช่นละมุดมะกอก เป็นต้น การที่ละมุดมีลักษณะผิดแผกแตกต่างไปจากพันธุ์เดิมนั้น ทำให้ต้นพันธุ์สูงขึ้น เพราะนอกจากปลูกเพื่อจำหน่ายผลแล้วยังใช้เป็นไม้ประดับได้อีกด้วย

การเพาะเมล็ดตามธรรมดาละมุดเป็นพืชที่มีเปลือกของเมล็ดแข็ง  ถ้าเพาะทั้งเปลือกแล้วต้องใช้เวลานานกว่าจะงอก ควรจะใช้กรรไกรหรือมีดคมๆ ตัดตอนปลายของเมล็ดออกเสียเล็กน้อยพอให้ความชุ่มชื้นซึมเข้าไปได้จะทำให้งอกเร็วขึ้น การเพาะเมล็ดอย่างธรรมดาจะราวๆ ประมาณ 30-40 วัน แต่ถ้าตัดปลายเมล็ดแล้ว เมล็ดละมุดจะงอกเร็วขึ้น ซึ่งจะใช้เวลาเพียง 15-25 วัน

วิธีเพาะควรทำกะบะเพาะ กะบะเพาะจะใช้กว้าง 1 เมตร ยาว 4 เมตร แล้วบรรจุทรายหรือขี้เถ้าแกลบลงให้เต็ม  การใช้ขี้เถ้าแกลบควรใช้ขี้เถ้าแกลบค้างปี แต่ถ้าขี้เถ้าแกลบเก่าๆ ไม่มีจะใช้ขี้เถ้าแกลบใหม่ก็ได้ แต่ก่อนใช้ต้องเอาน้ำรดขี้เถ้าเสียก่อน จะทำให้ความเป็นด่างของขี้เถ้าน้อยลง หรือจับดูหยดน้ำใต้กะบะ ถ้าไม่มีเมือกลื่นติดมือก็ใช้ได้

แล้ววางเมล็ดละมุดที่เตรียมไว้ให้เป็นแถวตามความยาวของกะบะให้ห่างกันประมาณ 10-15 ซ.ม. ระหว่างเมล็ดและระหว่างแถว จนเต็มกะบะเพาะ กลบเมล็ดพอมิด แล้วรดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอจนเมื่อละมุดงอกมาแล้ว ควรฉีดยาป้องกันโรคและแมลงไว้ พอมีใบจริง 2 คู่ ควรย้ายไปชำในที่อื่นเสียใหม่ เพื่อให้ต้นละมุดเจริญเติบโตต่อไป

ภาชนะที่จะย้ายละมุดไปชำนั้นควรเป็น กระถางหม้อ หรือถุงพลาสติคอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ แล้วผสมดิน 3 ส่วน ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 2 ส่วน ผสมดินและปุ๋ยนี้ใส่กระถางหม้อ หรือถุงพลาสติคเพื่อชำละมุดต่อไป ถ้าจะใช้ถุงพลาสติคควรจะเจาะรูให้น้ำไหลทางก้นถุงได้ เมื่อชำเสร็จแล้ว ควรนำภาชนะที่ชำไปวางไว้ในที่ร่มในแปลงเพาะ อย่าวางไว้กับดินเฉยๆ เพราะรากละมุดอาจไชลงไปในดินได้ ควรวางไว้บนกระดาน อิฐ หรือพื้นซีเมนต์ หรือใช้ผ้าพลาสติกปูลงบนพื้นดิน แล้วจึงวางถุงต้นไม้ลงบนผ้าพลาสติค จะทำให้รากของละมุดไม่สามารถไชลงไปในดินได้

พอต้นละมุดตั้งตัวได้ควรใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-13 ใส่ต้นละหยิบมือ โรยรอบๆ โคนต้นและควรใส่ทุกๆ เดือนได้ยิ่งดี ใส่ไปจนกว่าจะย้ายไปปลูกเพื่อเร่งให้ต้นเจริญเติบโตและควรฉีดยาดีลดริน 50% ชนิดละลายน้ำได้ หรือคาบาริล 85% อย่างใดอย่างหนึ่ง 2 ช้อนแกงต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดป้องกันแมลงที่จะมาทำลายใบเสีย

อนึ่งต้นกล้าที่อยู่ในกะบะเพาะก็ดีหรืออยู่ในที่ชำก็ดีมักมีเชื้อราทำอันตราย ดังนั้นจึงควรใช้สารผสมคอปเปอร์อ๊อกซี่คลอไรด์ เช่นคูปราวิท 2-3 ช้อนแกงต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดกันไว้เสียก่อนที่โรคจะเกิดขึ้น เมื่อต้นกล้าที่ย้ายมาชำเจริญเติบโตและสูงประมาณ 50 ซม. ก็ย้ายไปปลูกได้ การย้ายไปปลูกใหม่ไม่ควรย้ายขณะที่ต้นกล้าแตกยอดอ่อน เพราะอาจทำให้ยอดอ่อนเหี่ยวและแห้งตายได้ ควรย้ายปลูกเมื่อต้นกล้าใบยอดเป็นเพสลาดแล้ว


2. การขยายพันธุ์ โดยการตอน การขยายพันธุ์ โดยการตอน ชาวสวนส่วนมากรู้จักวิธีการตอนต้นไม้กันดีอยู่แล้วและชอบทำการขยายพันธุ์ไม้โดยวิธีนี้เป็นส่วนมาก เพราะ
1. สามารถได้กิ่งตอนไปปลูกเร็ว
2. ให้ผลเร็วกว่าการปลูกด้วยเมล็ด
3. ต้นเตี้ยสะดวกในการเก็บผลและบำรุงรักษา
4. ได้พันธุ์เหมือนเดิม


เครื่องมือในการตอน
เครื่องมือที่ใช้ในการตอนมีดังต่อไปนี้
1. มีด
2. กาบมะพร้าว
3. ใบตองแห้ง
4. ตอกสำหรับมัด
5. ดินสำหรับหุ้ม
6. ผ้าพลาสติค
7. ขุยของเปลือกมะพร้าว
1. มีด ที่ใช้ในการตอนกิ่ง ควรเป็นมีดที่คมและสะอาด มีลักษณะค่อนข้างโค้งเข้าหาทางด้านสันมีดใช้ขวั้นกิ่งและมีดควรใช้ในการตอนอย่างเดียว หลังจากใช้แล้วควรลับและทำความสะอาดทุกครั้งก่อนจะเก็บ เพื่อให้มีดคมและสะอาดอยู่เสมอ และเป็นการป้องกันเชื้อโรคที่อาจจะติดมาจากการขวั้นกิ่งซึ่งจะแพร่ไปยังต้นอื่นที่จะทำต่อไปได้
2. กาบมะพร้าว กาบมะพร้าวที่จะนำมาใช้สำหรับหุ้มกิ่งตอนนั้น จะต้องเตรียมไว้เสียก่อนแต่เนิ่นๆ อย่างน้อยต้องเอากาบมะพร้าวทั้งเปลือกแช่น้ำไว้เป็นเวลา 1-2 เดือน เพื่อให้กาบมะพร้าวยุ่ยและชุ่มน้ำจนอิ่มตัว ยิ่งแช่ไว้นานๆ ยิ่งดี เมื่อจะใช้ก็นำเอากาบมะพร้าวมาตัดหัวตัดท้ายออก และลอกเปลือกแข็งออก จากนั้นให้ทุบกาบมะพร้าวให้แผ่ออกไป แล้วม้วนเป็นชั้นกลมๆ เก็บไว้
3. ใบตองแห้ง ใบตองที่จะใช้หุ้มกิ่งตอนควรใช้ใบตองแห้ง และควรเป็นใบตองกล้วยน้ำว้า ฉีกเป็นชั้นขนาดพอหุ้มกิ่งตอนให้มิด แล้วพับหัวท้ายใบตอง เพื่อให้ใบตองกว้างเท่าๆ กัน ซ้อนกันไว้ เพื่อสะดวกในการนำไปใช้ประโยชน์ของใบตองมีต่อการตอนกิ่งไม้ ก็คือ
-ช่วยป้องกันการระเหยของน้ำ
-ช่วยควบคุมอุณหภูมิให้พอเหมาะในการเจริญของราก
-ป้องกันแสงแดดส่องรากที่กำลังแตกออกมาใหม่
4. ตอก ตอนสำหรับใช้มัดกิ่งตอน ส่วนมากนิยมใช้ไม้ไผ่สีสุก หรือไม้ไผ่ลำมะลอกที่แก่พอเหมาะ จึงจะมีความทนอยู่ได้ และจะไม่ผุขาดก่อนที่กิ่งตอนจะออกราก ตัดเป็นปล้องยาวประมาณ 12 นิ้วฟุต ควรเกลาให้อ่อน เพราะสะดวกในการมัดกิ่งตอน
5. ดินสำหรับหุ้มกิ่งตอน ดินที่เหมาะควรเป็นดินเหนียวปนดินร่วนและปนปุ๋ยคอกหรือพืชวัตถุผสมกัน ส่วนมากชาวสวนมักใช้ดินในสวนมาใช้หุ้มกิ่งตอน
6. ผ้าพลาสติค ในปัจจุบันนี้ชาวสวนส่วนมากนิยมใช้ผ้าพลาสติคหุ้มกิ่งตอนแทนใบตองแห้ง ผ้าพลาสติคที่จะใช้หุ้มนี้ควรเป็นสีขาว เพราะจะทำให้เห็นรากที่งอกออกมาได้ง่าย ขนาดของผ้าที่จะใช้หุ้มนี้ควรกว้างประมาณ 6 นิ้ว ยาว 8 นิ้ว
7. ขุยของเปลือกมะพร้าว ขุยของเปลือกมะพร้าวที่หุ้มกิ่งตอนแทนดินนั้น ได้มาจากผงที่ร่วงหล่นมาจากที่ทุบกาบมะพร้าวทำเบาะรองนั่ง ผงเหล่านี้มีความสามารถอุ้มน้ำได้ดีจะทำให้รากงอกเร็วขึ้น


ฤดูที่ควรตอน
ตามปกติแล้วการตอนกิ่งไม้ทุกชนิดจะตอนกันในฤดูฝนคือตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนสิงหาคม เพราะในระยะนั้น ต้นไม้กำลังอยู่ในระยะที่กำลังเจริญเติบโตมีความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องเสียเวลาเสียแรงงานรดน้ำให้กับกิ่งตอน


ต้นที่จะทำการตอน
การตอนกิ่งละมุดนั้นก่อนจะตอน ต้องมีการคัดเลือกกันเสียก่อน เพราะต้นแม่พันธุ์เป็นของสำคัญ ถ้าต้นแม่พันธุ์ไม่เจริญเติบโตแข็งแรง รสไม่ดี ผลไม่ดกแล้ว ก็ไม่ควรตอนเพราะจะได้พันธุ์ไม่ดีไปปลูก ฉะนั้นก่อนตอนควรถือหลักในการคัดเลือกต้นแม่พันธุ์ ดังนี้..
1. เลือกจากต้นที่ให้ผลแล้ว
2. เลือกจากต้นที่ให้ผลดก ให้ผลสม่ำเสมอ พันธุ์ดี รสดี
3. เลือกจากต้นที่อยู่ในหมู่เดียวกัน แต่เป็นต้นแข็งแรง
4. เลือกจากต้นที่ปราศจากโรคและแมลง
การเลือกกิ่งที่จะตอน
การเลือกกิ่งที่จะตอนนับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากเหมือนกัน แต่ส่วนมากชาวสวนมักไม่ค่อยคำนึงถึงกัน สักแต่ว่ามีกิ่งใดที่พอจะตอนได้ก็ตอนหมด ซึ่งยังไม่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าต้นไม้แต่ละต้นมีกิ่งที่มีความเจริญเติบโตสมบูรณ์ไม่เท่ากัน บางกิ่งก็แข็งแรงดี บางกิ่งก็แคระแกรนอ่อนแอ บางกิ่งก็แก่เกินไป และบางกิ่งก็อ่อนเกินไป ฉะนั้นควรจะเลือกกิ่งตอนดังนี้คือ
1. กิ่งที่ใช้จะตอนนั้นต้องเป็นกิ่งเพสลาด คือกิ่งที่ไม่แก่และไม่อ่อนเกินไป และมีใบยอดคลี่เต็มแล้ว และเจริญเติบโต จนเป็นใบแก่แล้ว
2. กิ่งที่จะตอนควรเป็นกิ่งกระโดงตั้งตรง รากจะได้ออกรอบๆ กิ่ง
3. กิ่งที่จะตอนควรยาวไม่น้อยกว่า 60-90 ซม.
4. กิ่งที่จะตอนต้องเป็นกิ่งที่เจริญเติบโตแข็งแรง ปราศจากโรคและแมลง


การควั่นกิ่ง
การควั่นกิ่งหรือการตอนกิ่งนั้น สำหรับละมุดชาวสวนมักจะควั่นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ หรือเดือนสาม เมื่อควั่นแล้วปล่อยทิ้งไว้ มาหุ้มกิ่งในต้นเดือนพฤษภาคม การควั่นนั้นให้ควั่นใต้ข้อของกิ่งเสียก่อนแล้วจึงค่อยมาควั่นส่วนล่างรอยควั่นห่างกันเท่ากับความยาวของเส้นรอบวงของกิ่งที่จะควั่นกรีดตามยาวของกิ่ง จากรอยควั่นข้างบนถึงรอยควั่นข้างล่างแล้วลอกเปลือกตรงรอยควั่นออก ถ้าลอกเปลือกได้ง่าย รากจะงอกเร็วกว่าที่ลอกเปลือกออกยาก ใช้สันมีดขูดเยื่อทางเดินอาหารออกให้หมด เพื่อป้องกันมิให้ทางเดินอาหารมาประสานกันได้ ถ้ามีโอกาสส่งอาหารได้แล้วรากจะไม่งอก


การหุ้มดิน
การหุ้มดินนั้นหุ้มให้ปิดรอยที่ควั่นตอนบน ส่วนตอนล่างจะไม่ปิดก็ไม่เป็นไร บีบดินให้แน่นติดกับกิ่ง ระวังกิ่งจะหัก แล้วหุ้มกาบมะพร้าวกับดินอีกที ให้กาบมะพร้าวยาวเกินกว่าที่ดินหุ้ม แล้วมัดหัวท้ายของกาบมะพร้าวด้วยตอกให้แน่น ให้กาบมะพร้าวแน่นติดกับดิน อย่าให้ดินที่หุ้มกิ่งนั้นคลอนหลวมตัวได้ ใช้ใบตองแห้งที่เตรียมเอาไว้หุ้มอีกทีหนึ่งแล้วเอาตอกมัดให้แน่น ถ้ากิ่งตอนเอนควรจะเปิดใบตองแห้งด้านบนให้รับน้ำฝนได้ จะช่วยให้ได้รับความชุ่มชื้นขึ้นได้มากขึ้น การหุ้มกิ่ง โดยใช้ผ้าพลาสติคหุ้ม และใช้ผงมะพร้าวแทนดินก็ทำวิธีเดียวกันคือ เอาพลาสติคที่ตัดไว้หุ้มกิ่งตอนเป็นรูปกรวยกลมๆ แล้วมัดด้วยเชือกตอนล่างของกรวยพลาสติคเสร็จแล้วเอาผงมะพร้าวที่แช่น้ำไว้มายัดใส่ลงบนกรวยให้แน่นแล้วมัดตอนบนอีกที ด้วยเชือกอะไรก็ได้


การปฏิบัติบำรุงรักษากิ่งตอน
เมื่อหุ้มกิ่งตอนแล้ว ถ้าฝนหยุดตก 5-6 วันควรจะรดน้ำที่กิ่งตอนนั้นให้ชุ่มชื้น หลังจากนั้นต้องหมั่นคอยดูมดและปลวกมักจะชอบไปทำรังอยู่ในตุ้มโดยเฉพาะในฤดูฝน ถ้าปรากฎว่ามีมดหรือปลวกให้รีบกำจัดเสีย โดยใช้ยาดีลดริน 50% 2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำหนึ่งปี๊บ พ่นที่ตุ้มกิ่งตอนนั้น หากตุ้มชำรุดควรรีบทำการซ่อมแซมเสียใหม่


การตัดกิ่ง
เป็นการยากที่จะบอกให้แน่ชัดลงไปว่า กิ่งตอนจะออกรากและตัดออกจากต้นได้เมื่อไร โดยปกติแล้ว กิ่งตอนจะรีบออกรากประมาณตั้งแต่ 1-3 เดือน แล้วแต่ชนิดของต้นไม้แต่ก็มีข้อสังเกตได้ว่า จะตัดกิ่งตอนได้เมื่อไร คือถ้ากิ่งตอนออกรากเป็นสีน้ำตาลยังตัดไม่ได้ จะตัดได้ต่อเมื่อรากสีน้ำตาลนั้นแตกรากสีขาวเป็นฝอยออกมาอีก จึงจะตัดได้ เพราะรากสีขาวหรือรากฝอยนั้นเป็นรากที่ดูดอาหาร

การตัดกิ่งเอาไปปลูกหรือชำนั้น ควรตัดในตอนเย็น เพราะเป็นระยะที่ใบหยุดการคายน้ำ กิ่งจะไม่เหี่ยวหรือเฉาได้ง่าย การตัดควรใช้กรรไกรตัดกันการชอกช้ำ เมื่อตัดกิ่งตอนออกจากกันแล้ว ควรตัดกิ่งและใบที่มีมากเกินไปออกเสียบ้าง เพื่อป้องกันน้ำระเหยออกจากกิ่งและใบ ก่อนที่จะนำไปปลูกหรือชำก็ตาม ควรแช่กิ่งตอนไว้ในน้ำท่วมตุ้มไว้สักประมาณ 1-5 ชั่วโมงจึงแก้มัดใบตองออก แล้วนำไปปลูกหรือชำต่อไป

เฉพาะละมุดนั้นควรชำให้รากงอกและขยายตัวเสียก่อนจะดีกว่าตัดมาแล้วปลูกเลย การชำควรชำไว้สักประมาณ 1-2 เดือน เมื่อรากเดินดีและตั้งตัวได้แล้ว ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การตัดกิ่งตอนอย่าตัดขณะที่กำลังแตกยอดอ่อน เพราะถ้าตัดกิ่งตอนระยะนั้นเมื่อนำมาชำ จะทำให้ยอดที่กำลังแตกยอดอ่อนจะเหี่ยวและอาจตายได้

การชำใส่ดินให้มิดตุ้มกิ่งตอนก็พอแล้ว อย่าใส่ดินให้สูงกว่าตุ้มเพราะจะทำให้เป็นโรคโคนเน่าในโอกาสต่อไป

เท่าที่ได้กล่าวมาแล้วถึงวิธีการตอนละมุด จะเห็นได้ว่าการตอนละมุดไม่เป็นของยากเลย เว้นเสียแต่ต้องใช้เวลานานกว่าการตอนไม้ผลชนิดอื่นๆ และกิ่งตอนต้องไม่แก่และอ่อนเกินไป ส่วนใดที่มีพันธุ์ละมุดเป็นพันธุ์ดีอยู่แล้ว สามารถตอนได้เองจะเป็นการทุ่นการลงทุนไปได้ ทั้งยังได้พันธุ์ดีตามที่ต้องการอีกด้วย


การขยายพันธุ์โดยการติดตา
การขยายพันธุ์ โดยวิธีนี้ยังไม่มีใครเคยทำการขยายเลยในประเทศไทย เพราะคนไทยนิยมการตอนเสียมากกว่า แต่การติดตานั้นก็เหมือนวิธีการติดตาทั่วๆ ไปนั่นเอง แต่ข้อสำคัญต้นตอพันธุ์ที่จะใช้ในการติดตาได้นั้น คือละมุดสีดาพิกุล และเกตุ เพราะฉะนั้นควรเพาะเมล็ดละมุดสีดา เมล็ดพิกุล และเมล็ดเกตุ เพื่อเลี้ยงเป็นต้นตอ พอต้นโตขนาดแท่งดินสอดำ ก็ใช้ติดตาได้ ส่วนการให้ผลนั้นจะเป็นอย่างไรนั้นไม่ทราบ เพราะยังไม่ได้ทำการทดลอง


วิธีปลูกละมุด
ตามธรรมดาละมุดจะตัดชำได้ก็ประมาณ 45-60 วัน หลังจากหุ้มกิ่งตอนแล้ว ถ้าลงมือหุ้มกิ่งตอนปลายเดือน 5 (เมษายน) ก็จะออกรากประมาณกลางเดือน 7 (กรกฎาคม) แล้วชำอีก 1 เดือน เวลาประมาณกลางเดือน 8 จึงจะปลูกได้ ก่อนปลูกควรกะระยะหลุมปลูกเสียก่อน ละมุดควรปลูกระยะห่างกัน 8×8 เมตร หรือประมาณไร่ละ 25 ต้น หลุมปลูกควรกว้าง 1 เมตร ยาว 1 เมตร และลึก 1 เมตร ก้นหลุมควรใส่หญ้าแห้งรองก้นหลุมไว้ เสร็จแล้วเอาดินปั้นใส่ลงไปก่อน ส่วนดินล่างให้ผสมปุ๋ยคอก 1 ส่วน ใส่ให้เต็มหลุมและให้สูงขึ้นจากปากหลุมประมาณ 25 ซม. เพื่อกันดินยุบ ขณะที่หญ้าแห้งยุบลง ดินจะยุบลงเหลือแค่ปากหลุมพอดี..


เมื่อได้เตรียมหลุม ไว้สำหรับปลูกกิ่งตอนชำต่อไปกิ่งตอนชำที่จะนำมาปลูกนั้นถ้าชำในหม้อ กระถาง หรือถุงพลาสติค ก็ควรเอาต้นละมุดออกเสียจากภาชนะที่ใช้ชำเสียก่อน โดยพยายามให้ดินติดกิ่งตอนให้มากๆ แล้วเอาต้นละมุดที่ชำไว้วางลงในหลุมที่ขุดไว้ ตั้งให้ต้นตรง เมื่อกลบดินแล้วกะให้ดินเสมอกับตุ้มของกิ่งตอน

การกลบดินควรใช้ดินละเอียดกลบรากให้แน่น เพื่อให้รากจับดิน รากจะได้หาอาหารได้เร็ว เสร็จแล้วปักหลักให้ชิดกับลำต้น ให้หลักหยั่งลงไปในดิน แล้วผูกกิ่งตอนให้ติดกับหลัก 2 เปลาะ เพื่อกันลมโยก ควรทำที่บังลมให้ด้วย เพราะการทำเพิงกันแสงแดดให้ต้นละมุดจะทำให้ต้นละมุดตั้งตัวและเจริญเติบโตได้รวดเร็ว แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

ถ้าดินยุบควรกลบดินเสียให้เต็มอย่างเก่า ระยะที่รากเริ่มเจริญละมุดจะแตกใบอ่อน ระยะนี้ควรฉีดยาดีลดริน 50% หรือเซริน 85% โดยใช้ยาดังกล่าวแล้ว 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 2 ปี๊บฉีด เพื่อป้องกันแมลงที่จะมาทำลายใบและยอดอ่อนของละมุดในระหว่างที่ละมุดยังไม่ได้ให้ผลนี้ จะปลูกพืชล้มลุกจำพวกแตงโม ถั่วต่างๆ พริก มะเขือ แซมระหว่างแถวก็ได้ เพื่อหารายได้มาจุนเจือขณะละมุดไม่ให้ผล หรือจะปลูกกล้วยน้ำว่าแซมก็ได้

ถ้าจะปลูกกล้วยแซมควรแซมให้ห่างจากต้นละมุดประมาณ 1.50 ม. กล้วยนี้จะใช้แซมเพียง 2 ปี แล้วก็ต้องเอาออกเสียให้หมด เพื่อให้ละมุดเจริญเติบโตต่อไป ในระหว่างปลูกพืชแซมอยู่นี้ละมุดก็จะแตกกิ่งก้านสาขา บางครั้งกิ่งล่างทึบไปก็ต้องตัดทิ้งเสียบ้าง ควรตัดกิ่งเตี้ยๆ ที่อยู่กับพื้นดินออกให้หมด ให้กิ่งที่เหลืออยู่ห่างจากพื้นดินประมาณ 70 เซ็นติเมตร เพื่อให้โคนต้นโปร่ง กิ่งข้างบนจะได้เจริญอย่างรวดเร็ว เพราะไม่ถูกแย่งอาหาร

ในปีหนึ่งๆ ควรใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง โดยใช้ปุ๋ยคอกผสมกับปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ใช้สูตร 18-13-13 ก็ได้ ถ้าต้นยังเล็กอยู่และยังไม่ได้ผลควรใส่ต้นฤดูฝน 1 ครั้ง และติดผลแล้วขนาดหัวแม่มืออีกครั้งหนึ่ง จำนวนปุ๋ยใส่ก็ใช้ครึ่งหนึ่งของจำนวนปุ๋ยที่ได้ใส่ 1 ปี โดยใส่ปีแรกครึ่งกิโลกรัม ปีที่ 2 หนึ่งกิโลกรัม ปีที่ 3 สองกิโลกรัม ปีที่ 4-5 เพิ่มขึ้นอีกปีละหนึ่งกิโลกรัม

การใส่ปุ๋ยใส่ได้หลายวิธีด้วยกัน โดยการพรวนให้รอบๆ ปลายทรงพุ่มแล้วโรยปุ๋ย เมื่อโรยปุ๋ยแล้วพรวนกลบอีกทีหนึ่ง หรือจะทุบเป็นร่องรอบๆ นอกทรงพุ่มของต้นละมุดแล้วโรยปุ๋ยลงไปในร่องแล้วกลบทับ ส่วนปุ๋ยคอกที่ใช้ผสมในปีแรกควรใส่ 1 บุ้งกี๋ ปีต่อๆ ไปควรใส่ 2 บุ้งกี๋ และทวีขึ้นเรื่อย ๆ ปีละ 1 บุ้งกี๋

ถ้าเป็นสวนยกร่อง ควรยกร่องปลูกให้กว้าง 6 เมตร และให้หลังร่องสูงกว่าระดับน้ำในร่องประมาณ 75 เซ็นติเมตรและควรปลูกละมุดกลางร่องห่างกัน 8 เมตร การปลูกพืชแซมก็คงทำอย่างเดียวกัน เว้นไว้เสียแต่การยกร่อง ควรสาดเลนขึ้นหลังร่องทุกๆ ปี เพื่อให้เป็นปุ๋ย แต่อย่าให้เลนนั้นทับต้นละมุดได้ การปลูกพืชแซมควรทำเพียง 2 ปีเท่านั้น เพราะระยะต่อไปละมุดจะเจริญเติบโตแตกพุ่มเริ่มจะตกผลแล้ว และไม่ควรขุดดินเข้ามาในทรงพุ่มเลย เพราะจะทำให้รากละมุดและทำให้ต้นละมุดชะงักงันไปได้ เพียงแต่ถางหญ้าที่มีอยู่ในทรงพุ่ม ส่วนนอกทรงพุ่มนั้น ควรพรวนดินทุกปี เพราะจะทำให้รากสามารถออกไปหาอาหารได้ไกลๆ ขึ้นอีก


แมลงศัตรูละมุดและการป้องกันกำจัด
แมลงที่จะทำอันตรายต้นละมุด มีอยู่เพียง 4-5 ชนิดด้วยกัน คือ
1. หนอนเจาะกิ่งและเจาะต้น หนอนชนิดนี้เริ่มทำความเสียหายให้แก่ต้นละมุดที่กำลังเริ่มให้ผลแล้ว ส่วนมากมักเจาะเป็นรูเห็นได้ง่าย เมื่อตรวจพบรูให้เอาคีลรินกับน้ำแล้วชุบสำลี ใช้เหล็กแหลมดันสำลีเข้าไปในรู แล้วใช้ดินเหนียวปิดปากรูเสีย จะทำให้หนอนตายได้ ทางที่ดีควรจะฉีดยาดีลดริน 50% หรือคาบาริล 85% เคลือบต้นและกิ่งไว้ทุกๆ เดือน จะป้องกันได้


2. หนอนไชเปลือกละมุดกำลังจะให้ผล ลำต้นและเปลือกยังไม่แข็งแกร่ง จะมีหนอนตัวยาวๆ เป็นปล้องปากดำกัดกินผิวเปลือกต้นละมุด
วิธีป้องกันกำจัด พยายามทำความสะอาดบริเวณโคนต้นไว้ให้เตียนอยู่เสมอ จะได้ไม่เป็นที่หลบซ่อนของตัวหนอนและตัวแมลงที่จะมาทำอันตรายแก่ต้นละมุด ถ้าเกิดหนอนชนิดนี้ขึ้นจะสังเกตได้ง่ายก็คือ จะมีขี้หนอนตกอยู่ตามพื้นดินให้เห็น แล้วดูกิ่งตรงขุยที่หนอนร่วงลงมาจะพบรู ใช้ลวดหรือเหล็กเล็กๆ ไชไปตามรูจนพบตัว ทางที่ดีควรฉีดยาป้องกันไว้และต้องหมั่นตรวจดูทุกๆ เดือนต้นละมุดใหญ่และเปลือกแข็งแล้วหนอนจะไม่ค่อยรบกวน


3. หนอนกัดกินใบอ่อน มีหนอนชนิดหนึ่งเป็นหนอนร่าน ตัวสีเขียวมีขนแข็ง ถ้าไปถูกหนอนชนิดนี้จะทำให้แสบและคัน หนอนพวกนี้จะกัดกินใบอ่อนของละมุด การกำจัดใช้ยาคาบาริล 85% หรือมาลาไธออนฉีด 2-3 ครั้งก็จะหมดไป


4. หนอนเจาะผลละมุด หนอนเจาะผลละมุดนี้ทำความเสียหายโดยการเจาะผลให้เป็นรู ส่วนมากมักจะเป็นกับละมุดที่ดกมีผลเบียดกัน วิธีป้องกันและกำจัดใช้ยามาลาไธออนหรือคาบาริล 85% ฉีดป้องกันไว้ในระยะที่กำลังมีผลประมาณ 15 วันต่อครั้ง


5. หนอนชอนใบ หนอนจำพวกนี้มักกัดกินใต้ผิวใบอ่อนทำให้ใบเป็นทาง อาจทำให้ใบไม่สมบูรณ์ได้ การป้องกันใช้ยามาลาไธออนฉีดเคลือบป้องกันไว้ทุกๆ ครั้งที่ละมุดแตกใบอ่อน


6. เพลี้ยแป้ง เป็นแมลงที่เป็นศัตรูไม่ร้ายแรงของละมุดนัก ทำความเสียหายให้เป็นส่วนน้อย การป้องกันและกำจัดโดยใช้ยามาลาไธออน 1,000 อี ฉีดป้องกันประมาณ 15-20 วันต่อครั้ง
นอกจากศัตรูดังกล่าวแล้วยังมีศัตรูจำพวกกระรอก กระแต ค้างคาว นกต่างๆ คอยกัดกินจิกผลที่กำลังสุก การป้องกันใช้ปี๊บผูกติดไว้ในที่สูงๆ ทำลูกตุ้มไว้ในปี๊บเวลามีศัตรูจำพวกดังกล่าวแล้วเข้ามารบกวน ก็ดึงลูกตุ้มให้ถูกปี๊บมีเสียงดัง มันก็จะตกใจและหนีไปได้


การบังคับ
ละมุดแม้จะทนต่อความแห้งแล้งก็ตาม แต่ในฤดูแล้งบางปี น้ำในดินไม่เพียงพอ ก็กระทบกระเทือนความเจริญเติบโตและการออกดอกออกผลเหมือนกัน ฉะนั้น ควรหาน้ำมารดให้ความชุ่มชื้นไว้เสมอ และควรหาหญ้าฟางมาช่วยคลุมดินโคนต้น เพื่อช่วยสงวนความชุ่มชื้นไว้ด้วย ละมุดจึงเจริญเติบโตโดยไม่ชะงักงันจะออกดอกออกผลเร็วกว่า ที่จะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ และยิ่งระหว่างที่ละมุดติดผลแล้ว ยิ่งจำเป็นที่จะให้ดินมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ผลละมุดจะเจริญเติบโตมีรสหวาน

ถ้าเป็นสวนยกร่องในฤดูแล้งบางแห่งน้ำเค็มท่วมถึง เพื่อสะดวกที่จะใช้น้ำควรสูบน้ำเข้าร่องสวนไว้เสียให้เพียงพอก่อน แล้วปิดร่องกักน้ำไว้ใช้ในระยะที่มีน้ำท่วมถึง น้ำที่กักไว้นี้จะทำให้ดินบนหลังร่องชุ่มชื้นขึ้นเอง แม้จะรดน้ำไม่พอบ้างก็ตาม น้ำในร่องก็เข้าไปบนร่อง ทำให้เกิดความชุ่มชื้นในดินขึ้นเอง


การตัดแต่งกิ่ง
การตัดแต่งกิ่งนี้เริ่มทำได้ตั้งแต่กิ่งละมุดยังเล็กอยู่คือ ตัดกิ่งที่ไม่ได้รูปทรงออกเสียบ้าง และให้กิ่งล่างอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 18 นิ้ว เมื่อต้นโตขึ้นต้องหมั่นคอยตรวจดู ว่าถ้ามีกิ่งแซมกิ่งเบียด กิ่งที่ทำให้ทรงพุ่มทึบ ก็ตัดออกเสียบ้าง ทั้งนี้เพื่อให้แสงแดดส่องผ่านต้น และพื้นดินได้ตลอด เพื่อป้องกันมิให้เกิดโรคราขึ้นได้ และยิ่งกว่านั้นการตัดแต่งกิ่ง นอกจากจะทำให้ต้นโปร่งไม่เป็นที่อาศัยของแมลงแล้ว ยังทำให้ต้นละมุดหักโค่นได้น้อยลง เพราะลมสามารถพัดผ่านไปได้ การตัดแต่งกิ่งควรให้ชิดโคนกิ่ง หรือถ้าตัดกิ่งตอนปลายเพื่อให้แตกกิ่งใหม่ ควรตัดฝานบวบ เพื่อป้องกันน้ำเข้าไป ใช้ปูนแดงหรือสีทาบ้านป้ายรอยตัดไว้ เพื่อกันเชื้อโรคเข้าทางแผลการตัดแต่งกิ่งเสร็จแล้วจะต้องใช้ปุ๋ยและฉีดยาป้องกันโรคและแมลงไว้ทุกๆ ครั้ง


การออกผลของละมุด
ละมุดจะเริ่มให้ผลตั้งแต่ปีที่ 3 และจะทยอยออกตลอดปี รุ่นแรกจะออกดอกเดือนธันวาคม เก็บผลได้ในเดือนมิถุนายน ทยอยกันตลอดปี
ละมุดอายุ 3 ปี จะได้ผลปีละประมาณ 100-200 ผลต่อต้น
ละมุดอายุ 4-6 ปี จะได้ผลปีละประมาณ 300-500 ต่อต้น
ละมุดอายุ 7-10 ปี จะได้ผลปีละประมาณ 600-1,000 ผลต่อต้น
การให้ผลของละมุดจะทวีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเจ้าของสวนเอาใจใส่ปฏิบัติบำรุงรักษาให้ดีแล้ว ละมุดจะมีอายุยืนไปถึง 70-80 ปี


การเก็บผลละมุด
การเก็บผลละมุดเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน เพราะการที่จะทราบว่าผลไหนแก่หรือยังนั้นลำบาก เพราะละมุดอยู่สูงดูยากจะต้องใช้ความสังเกตและความชำนาญ ว่าจุดแหลมซึ่งเป็นยอดของเกษรตัวเมียที่ก้นนั้นหลุดไปแล้ว และมีผิวค่อนข้างเต่งและใสก็ให้ทำการเก็บได้แล้ว ถ้าผู้เก็บยังไม่ชำนาญพอ การเก็บครั้งแรกอาจมีการผิดพลาด การเก็บละมุดขณะเมื่อต้นยังต่ำหรือเตี้ยอยู่นั้นใช้เก็บด้วยมือ ทางที่ดีควรใช้กรรไกรตัด การตัดให้ตัดที่ก้านขั้ว เอาก้านไว้ยาวๆ หน่อย เพราะอาจจะทำให้น่ารับประทานขึ้น แต่พอต้นละมุดสูงขึ้นๆ ควรทำบันไดสำหรับเก็บ เพราะสะดวกกว่าใช้ไม้หรือตะกร้าสอย ละมุดจะไม่ช้ำเมื่อเก็บผลมาใหม่ๆ จะมียางไหลที่ก้าน ควรจุ่มน้ำหรือล้างออกเสียทีหนึ่งก่อน


เมื่อเก็บผลมาแล้วควรคัดขนาดผล การคัดขนาดผลควรแบ่งออกเป็น 3 ขนาด คือ ใหญ่ กลาง และเล็ก และควรคัดผลที่ชอกช้ำและมีตำหนิออกทิ้งไป เมื่อคัดขนาดแล้วทำความสะอาดผิว การล้างใช้สวิงตาห่างๆ ใส่ละมุดลงไปให้เต็มแล้ว รอบปากสวิงให้อยู่ระดับผิวน้ำแล้วเขย่า ผลละมุดจะเสียดสีกันจะทำให้ขุยที่ติดอยู่ที่ผลหลุดไปจนทำให้ผิวสะอาดแล้วน้ำมาผึ่งให้เสด็จน้ำเอามาทำการย้อมสีต่อไป


การย้อมสีละมุด
ละมุดที่ได้ทำการล้างน้ำจนผิวสะอาดดีแล้ว นำมาย้อมสีเพื่อทำให้สวนงามน่ารับประทานยิ่งขึ้น การย้อมสีแบ่งออกเป็น 2 อย่างด้วยกัน คือ
1. ย้อมด้วยปูนแดง กะให้น้ำปูนแดงพอจับผิวละมุด
2. โดยใช้สีที่ใส่ขนมย้อม ใช้สีเหลืองอ่อนปนกับเหลืองแก่ผสม่ลงในน้ำ พอให้สีจับติดมือแล้วนำละมุดจุ่มลงไปและทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วเอาขึ้นใส่ลงบนตะแกรง เพื่อให้สะเด็ดน้ำ และผึ่งลมทิ้งไว้จนแห้งแล้วจึงนำไปบ่มต่อไป


การบ่มละมุด
การบ่มละมุดก็คือการอบทำให้ละมุดสุก และเพื่อให้ยางที่เปลือกผลผิวหมดไปด้วย ผลละมุดที่บ่มสุกแล้วจะมีรสหวานไม่ฝาด การบ่มนั้นจะใช้ภาชนะอะไรก็ได้ที่หาได้ง่ายๆ แล้วใส่ละมุดลงไปให้เต็ม เว้นช่องว่างไว้เล็กน้อย แล้วจึงใช้กระสอบปิดให้มิดชิด ถ้าเป็นหน้าร้อนการบ่มเพียง 2 คืน ก็ใช้ได้

บางแห่งนิยมใช้จุดธูป เพื่อเพิ่มอุณหภูมิให้ร้อนขึ้น และเร่งทำให้ละมุดสุก มีสีสวยเร็วขึ้น ถ้ามีละมุดเป็นจำนวนมากอาจดัดแปลงที่บ่มเป็นห้องก็ได้ โดยทำให้มิดชิด อากาศถ่ายเทไม่ได้ แล้วทำเป็นชั้นสำหรับวางละมุดไว้เป็นชั้นๆ และอาจจะต้องมีการรมควันด้วย เพื่อทำให้อากาศภายในห้องอบอุ่น ละมุดจะได้สุกตามกำหนด ละมุดต้นหนึ่งๆ จะให้ผลเก็บที่ประมาณต้นละ 2,000-3,000 ผล ทั้งนี้ต้องประกอบด้วย
1. เป็นพันธุ์ที่ได้ผลดก
2. ดินดีปลูกได้ระยะพอเหมาะ
3. การปฏิบัติบำรุงรักษาดี เช่น
-พรวนดินใช้ปุ๋ยเสมอ
-ฉีดยาป้องกันรักษาโรคแมลง
-รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ
-มีการตัดกิ่งอยู่เรื่อยๆ เท่าที่ควร
จะเห็นได้ว่าละมุด 1 ต้น เมื่อได้ผลเต็มที่แล้วจะได้ประมาณ 2,000-3,000 ผล ถ้ามีละมุดเพียง 25 ต้น เท่ากับเนื้อที่ปลูก 1 ไร่ จะได้ละมุด 50,000-75,000 ผล ทีเดียว
คุณค่าทางโภชนาการของละมุด ต่อ 100 กรัม

    พลังงาน 83 กิโลแคลอรี
    คาร์โบไฮเดรต 19.96 กรัม
    เส้นใย 5.3 กรัม
    ไขมัน 1.1 กรัม
    โปรตีน 0.44 กรัม
    วิตามินบี 2 0.02 มิลลิกรัม 2%
    วิตามินบี 3 0.2 มิลลิกรัม 1%
    วิตามินบี 5 0.252 มิลลิกรัม 5%
    วิตามินบี 6 0.037 มิลลิกรัม 3%
    วิตามินบี 9 14 ไมโครกรัม 4%
    วิตามินซี 14.7 มิลลิกรัม 18%
    ธาตุแคลเซียม 21 มิลลิกรัม 2%
    ธาตุเหล็ก 0.8 มิลลิกรัม 6%
    ธาตุแมกนีเซียม 12 มิลลิกรัม 3%
    ธาตุฟอสฟอรัส 12 มิลลิกรัม 2%
    ธาตุโพแทสเซียม 193 มิลลิกรัม 4%
    ธาตุโซเดียม 12 มิลลิกรัม 1%
    ธาตุสังกะสี 0.1 มิลลิกรัม 1%
    วิธีทำน้ำละมุด
        วัตถุดิบที่ต้องเตรียมมีดังนี้ เนื้อละมุด 1 ถ้วย, เกลือป่น 1/4 ช้อนชา, น้ำแข็งทุบ 1 แก้ว, น้ำเปล่า 1 ถ้วย
        นำผลละมุดมาปอกเปลือกและเอาเมล็ดออกเอาแต่เนื้อ แล้วใส่ลงไปในเครื่องปั่น
        หลังจากนั้นให้เติมเกลือ น้ำเปล่า และน้ำแข็งลงไปตามลำดับ
        ปั่นจนละเอียดให้เนื้อเข้ากัน
        นำมารินใส่แก้วเป็นอันเสร็จ ก็จะได้น้ำละมุดปั่นแบบเย็นชื่นใจช่วยดับกระหายได้ทันที

    ละมุดเป็นผลไม้ที่มีรสหวานจัด ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ควรบริโภคเพียงเล็กน้อยและนานครั้ง ๆ และไม่ควรให้เด็กเล็กรับประทานละมุดโดยลำพัง หากต้องการให้เด็กรับประทานควรเอาเมล็ดออกก่อนพร้อมหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ พอคำที่เด็กจะสามารถเคี้ยวได้ เนื่องจากเมล็ดของละมุดมีความลื่นและมีโอกาสจะหลุดเข้าไปในหลอดลมได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ฟันยังขึ้นไม่ครบ ก็ควรจะบดให้ละเอียด และไม่ควรป้อนอาหารด้วยความรีบร้อนเพราะเด็กอาจจะสำลักติดคอได้

    เคล็ดลับการเลือกซื้อละมุด อย่างแรกก็ให้ลองจับที่ผิวเบา ๆ ถ้าผิวไม่นุ่มมากก็ใช้ได้ ลักษณะภายนอกของผลผิวดูเกลี้ยงกลม มีสีน้ำตาลเป็นธรรมชาติและขั้วไม่หัก ก็จะได้ละมุดคุณภาพดี ๆ แล้ว.

ขอบคุณhttps://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_85822
https://www.google.com/search?client=firefox-b-d&q=%E0%B8%9B%E0%..
https://www.thaikasetsart.com/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%..
https://www.vichakaset.com/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E..
https://medthai.com/%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%..
แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สำนักหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (เต็ม สมิตินันทน์), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), โครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยและการจัดการความรู้ทางพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, USDA National Nutrient Database for Standard


บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media

lsv2555Please follow the new website at https://www.pohchae.com

Valid CSS!