พิมพ์หน้านี้ - เปิดตัว 'แจสโมบาย' โอเปอเรเตอร์ 4 จี ป้ายแดง! ทายาทอดีตรมต.ยุคทักษิณ เจ้าของ

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่14"

นานาสาระ => หน้าที่พลเมือง => ข้อความที่เริ่มโดย: eskimo_bkk-LSV team♥ ที่ ธันวาคม 20, 2015, 10:58:18 am



หัวข้อ: เปิดตัว 'แจสโมบาย' โอเปอเรเตอร์ 4 จี ป้ายแดง! ทายาทอดีตรมต.ยุคทักษิณ เจ้าของ
เริ่มหัวข้อโดย: eskimo_bkk-LSV team♥ ที่ ธันวาคม 20, 2015, 10:58:18 am
.นายพิชญ์ โพธารามิก เป็นทายาทคนเดียวของ นายอดิศัย โพธารามิก
นักธุรกิจผู้ก่อตั้งบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล
และเคยนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร.."

(http://www.isranews.org/images/2013/isranews/Logo_News_Website/ppeeeddddddsd.jpg)

ผลการประมูล 4 จีคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ สิ้นสุดลงไปเป็นทางการแล้ว เมื่อเวลา 00.15 น.ของวันที่ 19 ธ.ค. 2558ที่ผ่านมา
โดยผู้ที่ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz ในชุดที่ 1 คลื่น 895-905 MHz คู่กับ คลื่น 940-950 MHz ได้แก่
 บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ภายใต้กลุ่มบริษัท จัสมิน
ส่วนชุดที่ 2 คลื่น 905-915 MHz คู่กับ คลื่น 950-960 MHz ได้แก่ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด
ภายใต้บริษัท ทรูมูฟ เอช ราคารวม 151,952 ล้านบาท

เชื่อว่าหลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด
ภายใต้บริษัท ทรูมูฟ เอช เป็นธุรกิจของคนในตระกูล "เจียรวนนท์" นายศุภชัย เจียรวนนท์
ลูกชายของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นเจ้าของ

แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด
ภายใต้กลุ่มบริษัท จัสมิน มาความเป็นมาอย่างไร?  และใครเป็นเจ้าของ?
 

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า
บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2558
ทุนปัจจุบัน 350 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่  200 หมู่ที่ 4 อาคารจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ทาวเวอร์
ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

แจ้งประกอบธุรกิจให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่
นำเข้าและจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และให้บริการเช่าและบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
ให้บริการสื่อสารข้อมูลผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่

ปรากฎชื่อ นาย พิชญ์ โพธารามิก น.ส. สายใจ คีตสิน นาย สมบัติ พันศิริพัฒน์
และนาย ยอดชาย อัศวธงชัย เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ

รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 27 สิงหาคม 2558 มี 4 ราย บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)
ถือหุ้นใหญ่สุด 34,998,950 หุ้น มูลค่า 349,989,500 
นาย พิชญ์ โพธารามิก นาย สมบัติ พันศิริพัฒน์ นางสาว สายใจ คีตสิน
ถืออยู่คนละ 350  หุ้น มูลค่าหุ้นที่ถือคนละ 3,500 บาท

บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์
เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2537 ทุนปัจจุบัน 3,568,697,189 บาท ตั้งอยู่ที่เดียวกัน

แจ้งประกอบธุรกิจให้บริการที่ปรึกษาด้านการจัดการ ให้เช่าพื้นที่และบริการในอาคารสำนักงาน

ปรากฎชื่อ นายพิชญ์ โพธารามิก นายสมบุญ พัชรโสภาคย์ 
นายสุพจน์ สัญญพิสิทธิ์กุล นายธีรศักดิ์ จีรอัศวพงศ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ

รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2558
นาย พิชญ์ โพธารามิก ถือหุ้นใหญ่สุด 1,844,046,870 หุ้น
มูลค่า 922,023,435 บาท

ล่าสุดนำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ปี 2557 แจ้งว่า
มีรายได้รวม 2,399,653,565 บาท แยกเป็น รายได้ค่าจัดการ 498,000,000 บาท
ดอกเบี้ยรับ 24,103,302 บาท เงินปันผลรับจากบริษัทย่อย 1,855,555,167 บาท
รายได้อื่น 21,995,096 บาท รวมรายได้อื่น 2,399,653,565 บาท

มีรายจ่ายรวม 426,469,976 บาท  กำไรสุทธิ 1,871,540,106 บาท

ทั้งนี้ นายพิชญ์ โพธารามิก เป็นทายาทคนเดียวของ นายอดิศัย โพธารามิก
นักธุรกิจผู้ก่อตั้งบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล
และเคยนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 

นายพิชญ์ เคยปรากฎชื่อติดทำเนียบเศรษฐีเมืองไทยอันดับที่ 34 ของนิตยสารฟอร์บส์ ประจำปี 2554
ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวม 245 ล้านดอลลาร์
คิดเป็นเงินบาทประมาณ 7,350 ล้านบาท (อัตราแลกคิดที่ 30 บาทต่อ 1 ดอลลลาร์สหรัฐ)
ซึ่งมาจากการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มบริษัท 'จัสมิน' และเจ้าของบริษัทในเครือ "โมโน กรุ๊ป"

ณ วันนี้ โมโน กรุ๊ป เป็นเจ้าของช่องทีวีดิจิทัล "ช่อง MONO 29"
ขณะที่ แจส โมบาย บรอดแบนด์ เพิ่งประมูลประมูล 4 จีคลื่นความถี่ 900 900 MHz

บทบาทของ 'พิชญ์ โพธารามิก' นับจากนี้ไปจึงน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง!

ในฐานะนักธุรกิจด้านการสื่อสารรุ่นใหม่ ที่มี 'อาวุธ' ครบมือ 

(http://www.isranews.org/images/2013/isranews/Logo_News_Website/10409669_10206939265274601_2070626646200040634_n.jpg)

Cr: http://www.isranews.org/


หัวข้อ: Re: ไขปริศนาการประมูลคลื่น900MHz โดย : ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา
เริ่มหัวข้อโดย: eskimo_bkk-LSV team♥ ที่ ธันวาคม 20, 2015, 02:26:00 pm
 ในที่สุดการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ก็สิ้นสุดลง หลังเที่ยงคืนของวันที่ 18 ย่างเข้าสู่เช้าวันที่ 19 ธันวาคม 2558
ผลการประมูลเหนือความคาดหมาย ทั้งในเรื่องราคาชนะประมูล และผู้ชนะการประมูล
และมีคำถามหรือข้อสงสัยต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ในระหว่างการประมูล
ตลอดจนมีข้อสังสัยหลังสิ้นสุดการประมูลว่า
ทั้งสี่รายจะมีอนาคตเป็นเช่นไร เราลองมาหาคำอธิบายต่อข้อสงสัยดังกล่าว ดังนี้

1. ทำไมผู้ให้บริการที่มีคลื่นความถี่ย่านอื่นอยู่แล้ว จึงยังร่วมประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz

ในปัจจุบันและอนาคตบริการหลักบนโทรศัพท์เคลื่อนที่คือบริการบรอดแบนด์ผ่านมือถือ
(ต่างจากเดิมซึ่งเน้นเพียงการโทรออกรับสาย)  ความเร็วของบริการนี้ขึ้นกับปริมาณคลื่นที่ใช้งาน
อีกทั้งปัจจุบันเทคโนโลยีสามารถนำคลื่นย่านต่างๆ มาผสมผสานให้บริการได้อย่างลงตัว
เราจึงมักจะเห็นผู้ให้บริการเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ทุกแถบย่าน เพื่อช่วงชิงการเป็นผู้นำบริการนั่นเอง

 2. ทำไมราคาคลื่นความถี่ 900 MHz ถึงแพงกว่าคลื่นความถี่ 1800 MHz

คลื่นความถี่ 900 MHz มีคุณสมบัติเดินทางได้ไกลกว่าคลื่นความถี่ 1800 MHz การตั้งเสาสถานี 1 ต้น
จึงครอบคลุมพื้นที่เทียบเท่ากับเสาสถานีของคลื่นความถี่ 1800 MHz ประมาณ 3 ต้น
ทำให้ใช้งบประมาณในการขยายโครงข่ายต่ำกว่าในพื้นที่ให้บริการขนาดเดียวกัน
ราคาคลื่นความถี่ 900 MHz เฉลี่ยต่อหน่วยทั่วโลกจึงสูงกว่าราคาคลื่นความถี่1800 MHz ประมาณ 2 เท่าตัว

3. ทำไมราคาคลื่นชุดที่หนึ่งถึงถูกกว่าคลื่นชุดที่สอง ทั้งที่เป็นคลื่นความถี่ 900 MHz เหมือนกัน

คลื่นชุดที่หนึ่งเป็นแถบที่ติดกับคลื่นความถี่ย่าน 850 MHz ซึ่งค่ายดีแทคเปิดให้บริการ 3G อยู่
ทำให้อาจเกิดปัญหาสัญญาณรบกวนกันได้ ในอดีตจึงมีการกันคลื่นไว้ประมาณ 3.5 MHz
เพื่อเป็นพื้นที่กันชนหรือการ์ดแบนด์ (guard band) ทำให้เหลือคลื่นความถี่ 900 MHz
สำหรับให้บริการเพียง 17.5 MHz แต่ในการประมูลครั้งนี้ กสทช. ลดขนาดการ์ดแบนด์ลงอีก 2.5 MHz
เพื่อนำมารวมกับคลื่นที่หมดสัมปทานจนสามารถเพิ่มปริมาณคลื่นในการประมูลเป็น 20 MHz
ในทางเทคนิคผู้ชนะการประมูลชุดนี้จึงอาจต้องลงทุนติดตั้งอุปกรณ์จัดการปัญหาสัญญาณรบกวนเพิ่ม
ซึ่งค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในส่วนนี้อาจสูงถึงประมาณ 3,000 ล้านบาท ในขณะที่คลื่นชุดที่สองไม่ประสบปัญหานี้
จึงไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม ข้อมูลนี้สามารถอธิบายได้ว่าทำไมค่ายเอไอเอส (ผู้แพ้การประมูลชุดที่สอง)
ถึงไม่ชนะการประมูลคลื่นความถี่ทั้งที่เสนอราคาสูงกว่าค่ายแจส (ผู้ชนะการประมูลชุดที่หนึ่ง)
เพราะหากต้องการกลับมาชนะคลื่นชุดที่หนึ่ง ค่ายเอไอเอสต้องเตรียมงบประมาณ
เพื่อจัดการปัญหาการรบกวนเพิ่มอีกนับพันล้านบาทอยู่ดี จึงยอมหยุดการเสนอราคาลงที่คลื่นชุดที่สอง

4. ราคาชนะประมูลครั้งนี้สูงที่สุดในโลกหรือไม่

ราคาชนะประมูลครั้งนี้เหนือความคาดหมายของทุกฝ่าย จนมีข้อสงสัยว่าเป็นราคาที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ หรือไม่
จากรายงานการศึกษาของ ITU เพื่อประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ 900 MHz ในการจัดประมูลครั้งนี้ พบว่า
เมื่อทำการรวบรวมผลการประมูลในประเทศต่างๆ (ซึ่งอาจไม่ครบทุกประเทศ จึงไม่สามารถยืนยันเป็นสถิติโลกได้)
พบว่าราคาคลื่นความถี่ 900 MHz ที่ประมูลสูงสุดในอดีต คือ การประมูลที่ฮ่องกงเมื่อ พ.ศ. 2554
มีราคาคลื่นเฉลี่ยต่อหน่วยที่ประมาณ 64บาทต่อเมกะเฮิรต์ซต่อประชากร
ส่วนราคาชนะประมูลของไทยอยู่ที่ประมาณ 57 บาทต่อเมกะเฮิรต์ซต่อประชากร
จะเห็นได้ว่าราคาของไทยยังต่ำกว่า แต่นี่เป็นการเปรียบเทียบโดยใช้ตัวเลขดิบ
หากมีการปรับมูลค่าที่แท้จริงของค่าเงินตามหลักการความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ (Purchasing power parity) แล้ว
ราคาคลื่นเฉลี่ยของฮ่องกงจะเทียบได้เพียงประมาณ 51 บาทต่อเมกะเฮิรต์ต่อประชากร
ซึ่งจะพบว่าราคาของไทยสูงกว่า ทั้งที่ตลาดโทรคมนาคมฮ่องกงมีอัตราผลตอบแทนต่อการลงทุนสูงกว่าประเทศไทยมาก

5. จำนวนรอบการประมูลครั้งนี้มากที่สุดในโลกหรือไม่

การประมูลครั้งนี้มีการเสนอราคาถึง 198 รอบ ซึ่งนานกว่าการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่ผ่านมา
จนหลายคนสงสัยว่าเป็นการประมูลมาราธอนที่สุดในโลกหรือไม่
จากข้อเท็จจริงเราจะพบว่าการประมูลหลักร้อยรอบเป็นเรื่องปกติของการประมูลคลื่นความถี่ในต่างประเทศ ในปี 2551
แคนาดามีการประมูลคลื่นนานเกือบสองเดือน สิ้นสุดที่ 331 รอบอย่างไรก็ตามโดยทั่วไป
การประมูลคลื่นความถี่ในต่างประเทศมิได้นำผู้เข้าร่วมประมูลมาเก็บตัวเหมือนในบ้านเรา

6. ทำไมราคาชนะประมูลจึงสูง

ราคาชนะประมูลที่สูงสะท้อนถึงความต้องการชนะที่สูงเช่นกัน
ปัจจัยที่ทำให้เกิดความต้องการสูงขนาดนี้ มีหลายด้าน ได้แก่

ปัจจัยด้านเทคนิค: คลื่นความถี่ 900 MHz ประหยัดงบประมาณการขยายโครงข่าย
และที่สำคัญประเทศไทยมีคลื่นย่านนี้เหลือสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียง 20 MHz
ที่นำมาจัดประมูลครั้งนี้เท่านั้น ไม่มีคลื่นเหลืออีกแล้ว ในขณะที่ในหลายประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นอินเดียหรือเยอรมนี มีการประมูลคลื่นความถี่ย่านนี้ในปริมาณมากกว่าไทย
เมื่อเป็นสินค้าที่ขาดแคลนและมีความต้องการสูง จึงไม่น่าแปลกใจว่าราคาจะสูงไปด้วย

ปัจจัยด้านส่วนแบ่งการตลาด: มีผู้ให้บริการรายใหม่ต้องการแจ้งเกิดในตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
และรายเก่าบางรายจำเป็นต้องได้คลื่นความถี่ซึ่งเคยถือครองตามสัมปทานเดิมเพื่อไม่ให้คุณภาพบริการลดต่ำลง
ในขณะที่บางรายต้องการคลื่นความถี่เพื่อลดความเสี่ยงของการสิ้นสุดสัมปทานในอนาคต
และที่สำคัญบางรายต้องการช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดโดยเพิ่มปริมาณคลื่นที่ถือครอง
ซึ่งในขณะเดียวกันก็เท่ากับการแย่งชิงคลื่นมาจากมือของคู่แข่ง
จนอาจส่งผลให้คู่แข่งบางรายต้องออกจากตลาดไปในอนาคต

ปัจจัยด้านการแบ่งงวดชำระเงิน: ในการประมูลคลื่นความถี่อื่น กสทช.
กำหนดให้ผู้ชนะชำระเงินงวดแรก 50%ของราคาที่ชนะ และงวดที่สองและสามงวดละ 25% ยิ่งประมูลในราคาที่สูงขึ้น
ก็ยิ่งต้องหาเงินมาชำระงวดแรกเพิ่มขึ้น แต่ในการประมูลครั้งนี้ กสทช.
กำหนดให้ชำระงวดแรกประมาณ 8,000 ล้านบาท และงวดที่สองและสามงวดละประมาณ4,000
ส่วนที่เหลือทั้งหมดจึงนำมาชำระในงวดที่สี่ ทำให้การเพิ่มราคาประมูลอย่างต่อเนื่อง
ไม่มีผลต่อภาระทางการเงินในสามงวดแรก การแบ่งงวดการชำระเงินแบบนี้
หากสามารถนำคลื่นที่ชนะประมูลไปสร้างรายได้ในสี่ปีแรก
แล้วนำรายได้ดังกล่าวมาชำระในงวดสุดท้าย ก็จะไม่เป็นการเพิ่มภาระหนี้และดอกเบี้ยในระยะสั้น

7. ผู้ชนะการประมูลจะเบี้ยวหนี้ได้ไหม หากกิจการไม่ประสบความสำเร็จ

จากการแบ่งงวดชำระเงินที่กล่าวมาแล้ว พบว่าผู้ชนะการประมูลต้องชำระค่างวดในแต่ละงวด
ในอัตราส่วนประมาณ 10 : 5 : 5 : 80 กล่าวคือชำระงวดสุดท้ายเกือบร้อยละ 80 ของราคาชนะการประมูล
มีข้อสงสัยว่า หากธุรกิจไม่รอดก็สามารถเบี้ยวหนี้ก้อนโตได้ โดยแท้จริงแล้ว กสทช.
กำหนดให้ชำระงวดแรกประมาณ 8,000 ล้านบาท แต่ต้องวางหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน
สำหรับยอดเงินในงวดที่เหลือทั้งหมดในคราวเดียวกันด้วย ดังนั้นหากมีการไม่ชำระค่างวดในงวดใดก็ตาม 
กสทช. สามารถดำเนินการตามกฎหมายเพื่อยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ได้รับมอบตั้งแต่แรก

8. ราคาชนะประมูลที่สูงจะทำให้บริการ 4G แพงขึ้นหรือไม่

การประมูลคลื่นความถี่เปรียบเสมือนการเซ้งสิทธิในการใช้คลื่นความถี่
ไม่ว่าเราเซ้งปั๊มน้ำมันมาแพงเพียงใด เราก็ต้องขายน้ำมันในราคาลิตรละไม่เกินราคาของปั๊มคู่แข่ง
ไม่เช่นนั้นจะไม่มีคนมาเติมน้ำมันกับปั๊มเรา การผลักภาระค่าเซ้งจึงเป็นเรื่องยาก
ในขณะเดียวกัน แม้กลุ่มเอไอเอสและดีแทคจะไม่ชนะการประมูลครั้งนี้
แต่ก็มีบริการ 4G เช่นกัน หากผู้ชนะการประมูลหวังจะแย่งส่วนแบ่งการตลาด
ก็ไม่สามารถขายแพงกว่า 4G ในปัจจุบันได้อย่างแน่นอน

9. แล้วอะไรที่อาจจะกระทบผู้บริโภค

กสทช.ได้กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับอัตราค่าบริการเฉลี่ยที่ต้องลดต่ำกว่าค่าบริการเฉลี่ยในปัจจุบัน
แต่เป็นไปได้ว่า หากผู้ชนะการประมูลเน้นการประคับประคองผลประกอบการ
จะพบการลดค่าบริการอย่างค่อยเป็นค่อยไปทีละเล็กน้อย
และหากผู้ชนะการประมูลขาดแคลนงบประมาณในการขยายโครงข่าย
ก็จะกระทบต่ออัตราการครอบคลุมของพื้นที่ให้บริการ อย่างไรก็ตาม
กสทช. มีหน้าที่ต้องติดตามผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในทุกด้าน
และหากจำเป็นอาจต้องกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของสาธารณะ

10. อนาคตการแข่งขันในตลาดมือถือ หลังการประมูลของแต่ละรายจะเป็นเช่นใด

สำหรับค่ายเอไอเอสและค่ายดีแทค แม้จะไม่ชนะการประมูล
แต่ระดับราคาที่ยืนหยัดสู้ในการประมูลที่ไม่ต่ำกว่า70000 ล้านบาททั้งสองค่าย
สะท้อนให้เห็นว่า ทั้งสองค่ายสู้เต็มที่และไม่ได้ส่งสัญญาณแม้แต่น้อย
ว่าจะถอนตัวออกจากตลาดมือถือเมืองไทย โดยแต่ละค่ายเองยังมีคลื่นความถี่ย่านอื่นที่จะให้บริการได้อยู่
ในปัจจุบันทั้งสองค่ายมิได้ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์คับขันแต่อย่างใด
เพียงแต่ต้องกำหนดกลยุทธ์เพื่อรักษาคุณภาพบริการและส่วนแบ่งการตลาดให้ได้
สำหรับค่ายทรูนั้น การมุ่งมั่นเอาจริงเพื่อชนะการประมูลทั้งคลื่นความถี่ 900 และ 1800 MHz
แสดงให้เห็นถึงความต้องการก้าวสู่อันดับ 1 ของตลาดมือถือในไทย
การครอบครองคลื่นหลายย่านความถี่ในปริมาณมากจะเป็นผลดี
ต่อคุณภาพบริการและความครอบคลุมของพื้นที่ให้บริการ

ในส่วนน้องใหม่ในตลาดมือถือคือค่ายแจส ซึ่งเดิมมีบริการบรอดแบนด์แบบมีสายและบริการไวไฟอยู่แล้ว
การเพิ่มบริการบรอดแบนด์ผ่านมือถือจะทำให้สามารถบริการลูกค้าบรอดแบนด์ได้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น
และแม้ว่าราคาคลื่นที่แจสเคาะนั้นนับว่าสูงเกินไปสำหรับรายใหม่ที่จะทำกำไร
 เพราะเป็นระดับราคาของรายเก่ารายใหญ่ แต่ก็คาดการณ์ว่าแจสคงจะหาพันธมิตรทางธุรกิจ
กับค่ายมือถือเดิมที่ไม่ชนะการประมูลครั้งนี้ เพื่อลดต้นทุนส่วนอื่นในการเข้าสู่ตลาดมือถือ
จึงต้องจับตาว่าค่ายมือถือที่ครอบครองคลื่นความถี่ปริมาณน้อยกว่าค่ายอื่น
น่าจะมีโอกาสที่จะเป็นพันธมิตรที่ผลประโยชน์ลงตัวมากที่สุดใช่หรือไม่

ทั้งนี้ การที่มีผู้ให้บริการรายใหม่เกิดขึ้น น่าจะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันเพื่อผู้บริโภคอีกครั้งหนึ่ง
หลังจากที่การแข่งขันในตลาดมือถือของสามค่ายใหญ่อยู่ในสภาพตกตะกอนมาหลายปี

11. การประมูลครั้งนี้ทำให้ กสทช. มีรายได้มหาศาล

กสทช. มีหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่โดยวิธีการประมูล แต่รายได้จากการประมูลทั้งหมด
หลังหักค่าใช้จ่ายในการจัดประมูล ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน มิใช่รายได้ของ กสทช. แม้แต่บาทเดียว
การใช้จ่ายเงินดังกล่าวจึงเป็นอำนาจหน้าที่ของทางรัฐบาล ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ในทุกภารกิจ
โดยไม่มีข้อจำกัด อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคมก็อยากให้รัฐบาลจัดสรรเงินบางส่วน
เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทอล ซึ่งจะส่งเสริมให้ตลาดมือถือและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเติบโตได้อย่างต่อเนื่องด้วย 
ส่วน กสทช. เองมิได้เสร็จสิ้นภารกิจเพียงการจัดประมูล แต่ยังมีหน้าที่หลังจากการประมูล
 ตั้งแต่การออกใบอนุญาต การกำกับดูแลการประกอบกิจการ ที่สำคัญอย่างยิ่งคือการคุ้มครองผู้บริโภค
ให้ได้รับความเป็นธรรม และหากเกิดสถานการณ์ในภายหลังว่า
การประมูลในครั้งนี้นำไปสู่การผูกขาดในตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
โดยผู้ให้บริการรายใดหรือหลายราย กสทช. ก็ต้องมีมาตรการ
เพื่อรับมือกับปัญหาการผูกขาดจากผู้มีอำนาจเหนือตลาดรายนั้นๆ


ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา

กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

Cr: http://www.naewna.com/


หัวข้อ: Re: เปิดตัว 'แจสโมบาย' โอเปอเรเตอร์ 4 จี ป้ายแดง! ทายาทอดีตรมต.ยุคทักษิณ เจ้าของ
เริ่มหัวข้อโดย: CRV-All New2017 ที่ ธันวาคม 22, 2015, 11:04:12 am
 smiley4 thank2