หัวข้อ: ไวรัสเมอร์ส ตัวร้าย สายพันธุ์ใหม่ โผล่ที่เอเชียแล้ว เริ่มหัวข้อโดย: nongtop ที่ มิถุนายน 04, 2015, 12:02:06 pm (http://www.1009seo.com/+uppic/+2558/5-58/mers_1009seo-com_1.jpg)
ไวรัสเมอร์ส (MERS) โคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศเตือนให้เฝ้าระวัง แม้จะยังไม่เข้ามาในประเทศไทย แต่การที่มีข่าวพบผู้ป่วยในประเทศจีนและเกาหลีใต้ ก็ทำให้เราต้องรู้จักโรคนี้กันไว้บ้าง.. ไวรัสเมอร์ส คืออะไรกันแน่ ? ไวรัสเมอร์ส (MERS) ย่อมาจาก Middle East Respiratory Syndrome มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โคโรน่าไวรัสสายพันธุ์กลุ่มอาการโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือบ้างก็ขนานนามโรคนี้ว่า เมอร์สคอฟ (MERS-CoV) เนื่องจากเป็นโรคจากการติดเชื้อในกลุ่มโคโรน่าไวรัส (Coronavirus: CoV) ซึ่งจัดเป็นไวรัสตระกูลใหญ่ที่เคยส่งโรคไข้หวัดใหญ่และโรคซาร์ส (SARS) มาระบาดไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน (http://www.1009seo.com/+uppic/+2558/5-58/mers_1009seo-com_2.jpg) ต้นกำเนิดไวรัสเมอร์ส ไวรัสเมอร์สเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2012 โดยพบผู้เสียชีวิตด้วยไวรัสตัวนี้ที่ประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นที่แรก ซึ่งคาดว่าพาหะมาจากอูฐ และความรุนแรงของไวรัสเมอร์สก็คร่าชีวิตผู้คนกว่า 100 ราย อีกทั้งยังกระจายการแพร่ระบาดไปยังประเทศจอร์แดน, กาตาร์, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, ตูนีเซีย, อียิปต์, อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา และล่าสุด (มิถุนายน 2558) ก็พบเชื้อไวรัสตัวนี้ที่เกาหลีใต้และประเทศจีนแล้วด้วย การระบาดของไวรัสเมอร์ส ..ไวรัสเมอร์สเป็นไวรัสสายพันธุ์กลุ่มอาการโรคทางเดินหายใจ การแพร่ระบาดของเชื้อชนิดนี้จึงอาศัยละอองเสมหะเมื่อเกิดอาการไอหรือจามของมนุษย์เป็นแหล่งซ่อนตัวและเกาะไปตามเชื้อ เมื่อคนที่ยังไม่ป่วยสัมผัสกับละอองเชื้อโรคเหล่านี้ ไวรัสเมอร์สก็สบโอกาสที่จะมีแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อไวรัสใหม่ การแพร่ระบาดจึงกระจายจากคนสู่คนได้ (http://www.1009seo.com/+uppic/+2558/5-58/mers_1009seo-com_3.jpg) อาการโรคไวรัสเมอร์ส อาการที่สังเกตได้ว่าติดเชื้อไวรัสเมอร์สมักพบตั้งแต่ไม่มีอาการแสดงออกจนกระทั่งมีอาการรุนแรงแล้ว โดยเริ่มแรกอาจมีอาการไอ มีไข้ หายใจลำบาก หรือบางคนที่มีภูมิต้านทานค่อนข้างแข็งแรงอาจมีอาการคล้ายคนเป็นไข้หวัดธรรมดาและจะหายเป็นปกติในเวลาไม่นาน ทว่าสำหรับคนที่ร่างกายอ่อนแอหรือมีโรคประจำตัวแทรกซ้อนอยู่อาการก็จะรุนแรง โดยอาจมีไข้สูงและมีอาการเกี่ยวกับทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น ท้องเสีย ปวดมวนท้อง คลื่นไส้อาเจียน และในผู้ป่วยที่อาการรุนแรงมาก ๆ อาจมีภาวะปอดบวมหรือไตวายร่วมด้วย อัตราการเสียชีวิตจากไวรัสเมอร์สอยู่ที่ 30% โดยจะมีผลรุนแรงต่อคนที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำและเหล่าคนที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน มะเร็ง โรคหัวใจ โรคปอด หรือโรคไต เป็นต้น การเฝ้าระวัง เชื้อไวรัสเมอร์สมีระยะเวลาฟักตัวอยู่ที่ 2-14 วัน ดังนั้นหากผู้ป่วยมีอาการไข้ ไอ หายใจเร็ว และหอบ ภายในระยะเวลา 14 วันหลังจากเพิ่งเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงของเชื้อไวรัสเมอร์ส หรือมีอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงแต่ไม่สามารถหาเชื้อที่เป็นสาเหตุการเกิดโรคได้ควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสเมอร์สโดยด่วน (http://www.1009seo.com/+uppic/+2558/5-58/mers_1009seo-com_4.jpg) การรักษาโรคเมอร์ส ..ปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่มีข้อจำกัดในการใช้ยาต้านไวรัสเมอร์ส เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดขึ้นมาใหม่ จึงทำได้เพียงรักษาตามอาการและประคับประคองชีวิตคนไข้ไปจนกว่าอาการอักเสบในระบบทางเดินหายใจจะหายเป็นปกติดี แต่สำหรับผู้ป่วยขั้นรุนแรงอาจต้องรักษาด้วยยาต้านไวรัส Oseltamivir ในขนาดที่ใช้รักษาอาการไข้หวัดใหญ่ไปก่อน แนวทางการป้องกันไวรัสเมอร์ส กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เลือกกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ หลีกเลี่ยงอาหารค้างคืน รักษาสุขอนามัยของตนเอง หากไอหรือจามควรใช้ทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสตา จมูก ปาก และใบหน้า โดยเฉพาะหากยังไม่ได้ล้างมือให้สะอาด สวมหน้ากากอนามัยหากต้องอยู่ในที่แออัด พยายามหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด เช่น จูบ กับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงโรคเมอร์ส หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง เช่น ประเทศซาอุดีอาระเบีย ประเทศใกล้เคียง และประเทศเกาหลีใต้ รวมถึงประเทศจีนในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสอยู่ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ สถานการณ์เชื้อไวรัสเมอร์สในประเทศไทย แม้ว่าในประเทศไทยยังไม่พบรายงานผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเมอร์สสักราย แต่หลังจากมีรายงานว่าพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ 2012 ที่ประเทศเกาหลีใต้ หลังจากผู้ป่วยเดินทางกลับจากประเทศในตะวันออกกลาง และล่าสุดมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 2 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 2 มิถุนายน 2558) กระทรวงสาธารณสุขก็ประกาศให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลทุกแห่ง เฝ้าระวังผู้ป่วย เน้นกลุ่มที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในสถานพยาบาลในระดับสูงสุดเช่นเดียวกับโรคซาร์ส อีกทั้งยังสั่งให้กรมควบคุมโรควางแผนการดูแลสุขภาพชาวไทยมุสลิมที่จะเดินทางไปร่วมพิธีฮัจญ์ ณ ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยจัดให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามที่กระทรวงสาธารณสุขประเทศซาอุดีอาระเบียกำหนด พร้อมทั้งจัดระบบตามเฝ้าระวังสุขภาพหลังเดินทางกลับและจัดทำคำแนะนำในการดูแลสุขภาพและป้องกันโรคแก่ประชาชนทั่วไปที่จะเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงด้วย อย่างไรก็ดี จากฐานข้อมูลของประเทศซาอุดีอาระเบียสรุปยอดผู้ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสเมอร์สตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2555 จนถึง ณ ปัจจุบัน (เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558) ได้ทั้งหมด 965 ราย เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 419 ราย ซึ่งก็ถือเป็นไวรัสที่มีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างน่ากังวลพอสมควร ดังนั้นช่วงเวลานี้เราจึงต้องดูแลสุขอนามัยของตัวเองเป็นอย่างดี อย่างน้อยก็น่าจะช่วยป้องกันความเสี่ยงจากไวรัสเมอร์สได้ไม่มากก็น้อย จาก http://www.leksound.net/board/index.php/topic,49.0.html |