พิมพ์หน้านี้ - หน่วยมั่นคงเปิดข้อมูลใหม่ โรฮิงญาไม่ได้มาจากยะไข่ และส่วนใหญ่ไม่ได้หนีตาย

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่14"

นานาสาระ => หน้าที่พลเมือง => ข้อความที่เริ่มโดย: eskimo_bkk-LSV team♥ ที่ พฤษภาคม 22, 2015, 01:18:43 pm



หัวข้อ: หน่วยมั่นคงเปิดข้อมูลใหม่ โรฮิงญาไม่ได้มาจากยะไข่ และส่วนใหญ่ไม่ได้หนีตาย
เริ่มหัวข้อโดย: eskimo_bkk-LSV team♥ ที่ พฤษภาคม 22, 2015, 01:18:43 pm
ในขณะที่นานาชาติ องค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ นักสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชนบางแขนง
นำเสนอข่าวการหลบหนีเข้าเมืองของชาวโรฮิงญาว่าเป็นการหนีภัยสงครามจากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาร์
และตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ในพื้นที่ภาคใต้ของไทย
จนมีกระแสเรียกร้องให้ไทยเปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว เพื่อดูแลชาวโรฮิงญานั้น

          มีข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคงไทย นำเสนอข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่ง ระบุว่า
ได้ตรวจสอบปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญาแล้ว
พบว่ามีข้อเท็จจริงหลายประการที่สังคมไทยยังเข้าใจคลาดเคลื่อน

          หนึ่ง คือ ชาวโรฮิงญาที่ลักลอบเข้าเมือง ไม่ใช่เชื้อชาติโรฮิงญาทั้งหมด แต่มีชาวบังกลาเทศครึ่งต่อครึ่ง

          สอง ชาวโรฮิงญาที่หลบหนีเข้าเมือง ไม่ได้มาจากรัฐยะไข่ของเมียนมาร์ทั้งหมด
แต่ที่มาจากรัฐยะไข่เป็นเพียงส่วนน้อย เพราะส่วนใหญ่ตรวจสอบแล้วมาจากคอกซ์บาซา ชายแดนบังกลาเทศที่ติดกับรัฐยะไข่ของเมียนมาร์
 แม้แต่ชาวโรฮิงญาจากยะไข่ที่หลบหนีออกมา ก็ไปเริ่มต้นลงเรือที่คอกซ์บาซา
เพราะมีขบวนการนำพารับจ้างพาลงเรือล่องจากอ่าวเบงกอลสู่ทะเลอันดามัน

          สาม ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ที่ลักลอบเข้าไทยไม่ใช่เหยื่อขบวนการค้ามนุษย์
แต่สมัครใจเดินทางมาเพื่อต้องการเข้าไปทำงานที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย หรือประเทศที่สามเพื่อหางานทำ

          สี่ เมื่อชาวโรฮิงญาหรือบังคลาเทศเดินทางมาด้วยความสมัครใจ ด้วยการลงขันออกเงินค่าเดินทางและเช่าเรือกันมาเอง
จึงไม่ใช่การค้ามนุษย์ แต่เป็นการลักลอบเข้าเมือง
ขณะที่เครือข่ายที่ช่วยเหลือก็เป็นพวกขบวนการนำพาคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ไม่ใช่ขบวนการค้ามนุษย์

         ห้า การจัดตั้งค่ายผู้อพยพหรือศูนย์พักพิงชั่วคราวในไทยจึงไม่จำเป็น และไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง

          หก มีค่ายใหญ่มากที่สามารถรองรับชาวโรฮิงญาได้อยู่แล้ว โดยมี 2 ค่ายอยู่ที่คอกซ์บาซา จุคนได้ร่วม 3 แสนคน
แต่ตอนนี้ในค่ายมีชาวโรฮิงญาอยู่แค่ราวๆ 2 หมื่นกว่าคนเท่านั้น
ฉะนั้นไทยสามารถส่งคนเหล่านี้กลับไปพำนักในค่ายดังกล่าวได้

          เจ็ด สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอชซีอาร์
ปล่อยปละละเลยให้ชาวโรฮิงญาที่อยู่ในค่ายที่คอกซ์บาซาหลบหนีออกมา
จึงต้องมีส่วนรับผิดชอบกับปัญหาด้วย เพราะค่ายดังกล่าวอยู่ในความดูแลของยูเอ็นเอชซีอาร์

          แปด หลักการจัดการกับปัญหานี้ที่ถูกต้อง คือ การส่งกลับไปที่ประเทศต้นทาง
ซึ่งก็คือค่ายที่คอกซ์บาซา ประเทศบังคลาเทศ โดยประเด็นนี้จะถูกหยิบยกขึ้นหารือในที่ประชุม
ว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย
ร่วมกับประเทศอาเซียน ในวันที่ 29 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมด้วย

ประวัติศาสตร์บาดแผลชาติพันธุ์โรฮิงญา

          อย่างไรก็ดี ยังมีแง่มุมทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนมิติด้านสิทธิมนุษยชน
และมนุษยธรรมของชนชาติโรฮิงญา สรุปเป็นประเด็นๆ ได้ดังนี้

          O รัฐยะไข่ (อาระกัน) กับบังคลาเทศ มีพรมแดนติดกัน
          O อาระกันเดิมเป็นรัฐเอกราช บางช่วงอยู่ใต้อิทธิพลราชวงศ์เบงกอล บางช่วงอยู่ใต้อิทธิพลราชวงศ์ของพม่า
          O โรฮิงญาในรัฐยะไข่ปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิม อีกส่วนอพยพมาจากบังคลาเทศ (เดิมคืออินเดีย) ในยุคอังกฤษล่าอาณานิคม
          O พ.ศ.2369-2491 ในยุคล่าอาณานิคม อังกฤษรบกับพม่า โดยมีโรฮิงญาช่วยรบ
และอพยพคนโรฮิงญาเข้ามาตั้งถิ่นฐานในยะไข่เพิ่มขึ้น เป็นต้นเหตุให้คนพม่าไม่ชอบโรฮิงญา
          O พ.ศ.2491 อังกฤษมอบเอกราชให้พม่า อาระกันมีสถานะเป็นรัฐปกครองตนเอง
          O พ.ศ.2505 นายพลเนวินทำรัฐประหารและประกาศยกเลิกรัฐปกครองตนเองอาระกัน (Arakanese autonomy)
พร้อมปฏิเสธให้สถานะ "พลเมืองพม่า” แก่ชาวโรฮิงญา
          O พม่ามี 140 ชนเผ่า แต่ไม่เคยยอมรับว่าชนเผ่าโรฮิงญาเป็นพลเมือง หรือมีสัญชาติพม่า
จึงไม่ได้รับสิทธิต่างๆ ถือเป็นเพียงผู้อาศัย
และกดดันด้วยวิธีต่างๆ ให้ออกจากแผ่นดินยะไข่ อันเนื่องจากบาดแผลในประวัติศาสตร์
          O ชาวโรฮิงญาอีกส่วนหนึ่งอยู่ในบังคลาเทศ แต่บังคลาเทศก็มีประชากรหนาแน่นและยากจนมาก
ทำให้โรฮิงญาที่หนีจากพม่าไปบังคลาเทศ ก็ไม่ได้รับการยอมรับเป็นพลเมือง
แม้จะเชื้อชาติเดียวกันและนับถือศาสนาอิสลาม
ชาวโรฮิงญาที่หนีไปจะถูกนำตัวไปอยู่ในแคมป์ผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนเท่านั้น
          O พ.ศ.2555 เกิดเหตุปะทะครั้งใหญ่ในรัฐยะไข่ ระหว่างคนพุทธกับมุสลิมโรฮิงญา
ทำให้มีการอพยพหนีภัยสงครามและความแร้นแค้นด้วยการล่องเรือไปตายเอาดาบหน้า

สรุปความคืบหน้าคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา

          ด้านความคืบหน้าการดำเนินคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา จากการสรุปของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 9 ส่วนหน้า
ล่าสุดได้มีการออกหมายจับผู้ต้องหาเพิ่มอีก 3 ราย เป็นเครือข่ายค้ามนุษย์ในจังหวัดระนอง
รวมผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับแล้วทั้งสิ้น 65 คน ควบคุมตัวได้แล้ว 30 คน รวมถึง นายปัจจุบัน อังโชติพันธ์ หรือโกโต้ง
อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคนสำคัญ

          ส่วนความคืบหน้าการอายัดทรัพย์สินเครือข่ายค้ามนุษย์นั้น เจ้าหน้าที่ได้อายัดทรัพย์เครือข่ายค้ามนุษย์จำนวน 52 คน
เป็นผู้ต้องหา 15 คน และที่เป็นเครือข่ายอีก 37 คน รวม156 รายการ มูลค่า 81 ล้านบาท
เป็นเครือข่ายค้ามนุษย์ในจังหวัดระนอง 71 ล้านบาท
ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการอายัดทรัพย์เครือข่ายค้ามนุษย์ในจังหวัดสงขลาเพิ่มเติมอีก มูลค่ารวมน่าจะเกิน100 ล้านบาท

          สำหรับจำนวนผู้อพยพที่เจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ อยู่ที่ 313 ราย
แยกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ 64 ราย ส่วนที่เหลือ 240 คนอยู่ระหว่างการดำเนินคดีหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
ในจำนวนนี้มี 48 คนที่ศาลพิจารณาคดีเสร็จสิ้นแล้ว
และจะส่งสำนักงานตำรวจคนเข้าเมืองดำเนินการผลักดันกลับประเทศต่อไป

Cr. สนข.อิศรา