พิมพ์หน้านี้ - มาดูสาระสำคัญมาตรา 44 อำนาจสุดท้าย คสช.

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่14"

นานาสาระ => หน้าที่พลเมือง => ข้อความที่เริ่มโดย: หลอดไฟ ที่ เมษายน 02, 2015, 09:16:28 am



หัวข้อ: มาดูสาระสำคัญมาตรา 44 อำนาจสุดท้าย คสช.
เริ่มหัวข้อโดย: หลอดไฟ ที่ เมษายน 02, 2015, 09:16:28 am
(http://www.leksound.net/uppic2558/4-2558/44_leksound-net_.jpg)

เปิดข้อมูล มาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 การใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จของ คสช.  ให้อำนาจทหารเข้าไปสอบสวนร่วมกับตำรวจ และขั้นตอนขึ้นศาลทหารจะมี 3 ศาล ยืนยันหากไม่ทำผิดไม่มีผลกระทบกับประชาชนทั่วไป

               หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในขณะนั้น เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และได้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกเพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อยของประเทศ สาระสำคัญของกฎอัยการศึกนั้นให้ทหารมีอำนาจเข้าดำเนินการตรวจสอบ ตรวจค้นได้โดยไม่มีความผิดทางอาญา และให้อำนาจของศาลทหารในการพิจารณาคดีความมั่นคงของพลเรือนได้

              ในทางกลับกันรัฐบาลยุค คสช. กลับถูกกดดันจากนานาชาติ โดยเฉพาะกับกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพราะเห็นว่ากฎดังกล่าวเป็นกฎที่ล้าหลัง เปิดช่องให้มีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของพลเรือน และต้องการให้ประเทศไทยยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกโดยเร็ว

              ท่าทีของรัฐบาล คสช. จึงเปลี่ยนไปเพื่อลดกระแสกดดันจากนานาชาติ ทีมกฎหมายของ คสช. จึงได้พิจารณาว่าจะมีกฎหมายใดบ้างที่สามารถนำมาใช้ควบคุมสถานการณ์ในบ้านเมือง จนได้ข้อสรุปคือการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จของ คสช. ที่อยู่เหนือฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ โดยการนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44 มาใช้เป็นกรอบในการเขียนกฎหมายเพื่อรักษาความมั่นคงแทนกฎอัยการศึก
 
              เปิดข้อมูล มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557
 
              บทบัญญัติในมาตรา 44 นั้น ระบุว่า “ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทําการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่ง หรือการกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้เมื่อได้ดําเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว”
 
              ทั้งนี้การใช้อำนาจ คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียด โดยมีรายละเอียด 5-6 ข้อ อาทิ

           - ให้ทหารเข้าไปปฏิบัติงาน และร่วมสอบสวนผู้ต้องหาร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
           - ให้มีศาลทหาร 3 ศาล
           - ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ภายใน 7 วัน เท่ากับกฎอัยการศึก
           - หากควบคุมตัวและสอบสวนพบไม่มีความผิด ปล่อยตัวได้ทันที ยกเว้นมีอาวุธสงคราม

              จากข้างต้นจะเห็นว่า มาตรา 44 นั้นให้อำนาจกับหัวหน้า คสช. กระทำการได้ทุกอย่าง และเหนือกว่าทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ และเป็นคำสั่งที่เป็นผลที่สุด โดยไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย
 
              ด้านความเห็นของนักวิชาการหลังปรากฏแน่ชัดว่ามีการยกเลิกกฎอัยการศึก และประกาศใช้คำสั่งแห่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในมาตรา 44 แทน ย่อมมีเสียงสะท้อนทั้งความเป็นกังวล และห่วงใยว่าประเทศจะเข้าสู่รัฐแบบเผด็จการทหารแบบเบ็ดเสร็จ และมีอำนาจแบบล้นฟ้าหรือไม่ เช่น
 
              นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อ.ภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ออกมาคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับการที่จะยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วหันมาใช้อำนาจตามมาตรา 44 แทน และย้ำว่าไม่ควรมีมาตรานี้อยู่ในรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ เพราะเห็นว่าเป็นการให้อำนาจหัวหน้า คสช. ในการออกคำสั่งระงับยับยั้ง หรือกระทำการใด ๆ ได้ทุกอย่าง ทั้งทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แล้วหากมีใครไม่เห็นด้วย หรือถูกละเมิดสิทธิจากการใช้มาตรานี้ จะก็ไปร้องอะไรกับใครไม่ได้ เพราะการใช้อำนาจตามตามมาตรานี้ ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ดังนั้น คสช. จะไม่มีวันขัดรัฐธรรมนูญเลย เพราะมาตรา 44 ให้อำนาจเต็ม 100%
 
               อย่างไรก็ตามยังมีนักวิชาการที่สนับสนุนการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของนายกรัฐมนตรี เช่น
 
              นายอมร วาณิชวิวัฒน์ อ.ประจำรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ออกมาสนับสนุนแนวคิดของนายกฯ ในการยกเลิกใช้กฎอัยการศึก เพื่อใช้อำนาจตามมาตรา  44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแทน โดยยืนยันว่าหากมองในสายตาต่างชาติแล้วถือว่าสถานการณ์ประเทศไทยดีขึ้น เพราะไม่ว่าจะเป็นองค์การนิรโทษกรรมสากลหรือหน่วยงานด้านการทูตต่าง ๆ จะมองว่ากฎอัยการศึกผูกโยงกับการทำรัฐประหารโดยตรง แต่หากมีการยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วก็จะผ่อนปรนเรื่องข้อกล่าวหาของต่างชาติลงได้มาก
 
              ทั้งนี้เชื่อว่าเป็นเจตนาของรัฐบาลในการยกเลิกกฎอัยการศึกด้วย ตนยังเชื่อว่ารัฐบาลรู้ดีอยู่แล้วว่าจะใช้อำนาจอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนตามมา และจะพิสูจน์ว่าการใช้มาตรา 44 นั้นมีขอบเขต ไม่ได้มีอำนาจล้นฟ้าจริง ๆ
 
               อย่างไรก็ตามหลังจากการประกาศคำสั่งเพื่อประกาศใข้ มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราวแล้ว เราคงต้องมาดูกันต่อว่า “รัฐบาล คสช.” จะใช้เพื่อกำหนดกรอบกฎหมายอย่างไร ออกคำสั่งอะไรบ้าง จะสามารถลบกระแสต่อต้าน และกดดัน จากนานาชาติในการบริหารประเทศของ คสช. ได้หรือไม่
http://www.1009seo.com/