พิมพ์หน้านี้ - รู้เท่าทัน "หินสี" ก่อนโดนหลอก

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่14"

นานาสาระ => ลึกลับ-เหลือเชื่อ-ธรรมะ => ข้อความที่เริ่มโดย: CIVIC" ที่ กุมภาพันธ์ 19, 2015, 11:21:37 am



หัวข้อ: รู้เท่าทัน "หินสี" ก่อนโดนหลอก
เริ่มหัวข้อโดย: CIVIC" ที่ กุมภาพันธ์ 19, 2015, 11:21:37 am
(http://www.1009seo.com/+uppic/+2558/2-58/stone_1009seo-com_11.JPG)
  ..ฮอตฮิตติดลมบนมาแล้วสักพักหนึ่งสำหรับ “กำไลหินสี” เครื่องประดับหินหลากสี ที่นาทีนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก ที่ไม่ว่าจะหญิงหรือชายต่างต้องไปเสาะแสวงหามาประดับไว้บนข้อมือ ด้วยความสวยงามสีสันแปลกตาและสรรพคุณนานาเฉกเช่นของขลัง ทำให้วันนี้ “หินสี” กลับมาตีตลาดวงการอัญมณีได้อีกครั้ง ด้วยราคาค่าตัวตั้งแต่หลักร้อยบาทจนถึงหลักหมื่นบาททีเดียว
       
      วันนี้จะพาไปทำความรู้จักกับ “หินสี” ให้มากขึ้นในแง่มุมของวิทยาศาสตร์ที่จะมาไขข้อข้องใจให้รู้ชัดกันว่า “หินสี” ที่สวมใส่อยู่บนข้อมือเรานี้ที่จริงแล้วคืออะไร ? จากปากของนักอัญมณี และนักธรณีวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านหินและแร่คนสำคัญของประเทศไทย


หัวข้อ: “หินสี” จัดให้เป็นอัญมณีคุณภาพต่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: CIVIC" ที่ กุมภาพันธ์ 19, 2015, 11:35:49 am
(http://www.1009seo.com/+uppic/+2558/2-58/stone_1009seo-com_12.JPG)
รศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักธรณีวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านหินและแร่ เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เรื่องหินสีตอนนี้เป็นที่นิยมมากสังเกตได้ทั้งจากคนใกล้ตัวและลูกศิษย์ของเขาที่พยายามไปหากำไลหินสีมาใส่กันจนเต็มข้อมือพะรุงพะรังทั้งที่บางคนยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าความจริงแล้ว “หินสี” คืออะไร..


(http://www.1009seo.com/+uppic/+2558/2-58/stone_1009seo-com_13.JPG)
รศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างเยี่ยมชมเหมืองอัญมณีที่แอฟริกา

        ในมุมนักธรณีวิทยา "หินสี" คืออะไร ?
       
       รศ.ดร.จักรพันธ์ ไล่เรียงถึงจุดกำเนิดหินสีว่า เป็นการให้นิยามแบบรวมๆ กันของหินหรือแร่ ซึ่งหินสีที่นิยมนำมาร้อยเป็นกำไลมีทั้งแบบที่เป็น “หิน” และแบบที่เป็น “แร่” ซึ่งหินสีธรรมชาติทั้งหมดล้วนเกิดจากจุดกำเนิดเดียวกัน คือกระบวนการทางธรณีวิทยาใต้ชั้นเปลือกโลก แหล่งเก็บรวมรวมแร่ธาตุที่จะปะทุตัวขึ้นมาในรูปแบบลาวาของภูเขาไฟ หรือรูปแบบอื่นๆ ก่อนจะแข็งตัวกลายเป็นหินอัคนี ที่จะสามารถแตกกลุ่มหินออกได้อีกเป็น 2 แบบคือ “หินชั้น” ที่เกิดจากทับถมกันของหินประเภทต่างๆ เป็นเวลานานจนเกาะตัวเป็นนื้อเดียวกัน และหินแปรที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของหินอัคนีหรือหินชั้นแบบเดิม จากอุณหภูมิและความดันสูงๆ จนเกิดเป็นหินชนิดใหม่ที่มีโครงสร้างทางเคมีที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหินสีในปัจจุบันสามารถเป็นได้ทั้งหินอัคนี หินชั้น และหินแปร
       
       “ก่อนอื่นเราต้องรู้จักก่อนว่าหินกับแร่ เหมือนและแตกต่างกันอย่างไร เริ่มต้นจาก “แร่” คือสารประกอบเนื้อเดียว ที่มีโครงสร้างทางเคมีที่ชัดเจน เป็นผลึกบริสุทธิ์ เช่น แร่ควอตซ์ แร่เหล็ก และเพชร เป็นต้น แต่ในขณะที่ “หิน” คือก้อนที่รวมแร่หลายชนิดไว้ด้วยกัน ไม่มีคุณสมบัติทางเคมีที่แน่นอน เพราะเป็นสารประกอบที่เกิดจากการรวมหลายหลายๆ ชนิดเอาไว้ โดยทั้งหินและแร่มีสมบัติเป็นอนินทรีย์เคมีเหมือนกัน แต่ในปัจจุบันทั้งหินและแร่ที่มีสีสันสวยงามถูกเรียกรวมๆ กันว่า “หินสี” ทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นหินหรือแร่ชนิดใดหากยังไม่ได้ดูด้วยตา แต่ก็ถือว่าพอเข้าใจได้ในหมู่คนทั่วไป แต่ไม่ถูกต้องนักสำหรับนักธรณีวิทยา” รศ.ดร.จักรพันธ์ อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างหินกับแร่
       
       ด้วยความไม่แน่นอนในส่วนประกอบ “หินสี” จึงจัดให้เป็นอัญมณีคุณภาพต่ำ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับพลอยแต่เป็นพลอยแฟชั่น ที่ไม่มีคุณค่าทางการลงทุนเหมือน เพชร หรือพลอยน้ำดี เพราะหินสีส่วนมากจะมีเนื้อขุ่นและมีมลทินอยู่ภายใน ทำให้หินสีมีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับอัญมณีชนิดอื่น ซึ่ง รศ.ดร.จักพันธ์ระบุว่า เป็นข้อดีที่ทำให้คนทุกระดับสามารถเข้าถึงหินสีได้ แต่ก็ไม่วายที่ในขณะนี้มีการผลิตหินสีปลอมจำนวนมากออกมาจำหน่ายเพื่อย้อมแมวขายให้กับคนที่ต้องการโดยรู้เท่าไม่ถึงการ ที่สนนราคาจำหน่ายตั้งแต่ถูกระดับหลักสิบจนถึงราคาเป็นหมื่นบาทเกือบเท่าพลอยแท้ ทำให้ผู้ซื้อต้องระมัดระวังจากการถูกหลอกให้มากยิ่งขึ้น
       
       สีของหินเกิดจากอะไร?
       
       “ขึ้นชื่อว่าหินสี เรื่องสีจึงเป็นสิ่งสำคัญแต่หินแบบที่ใสไม่มีสีก็มี สีที่แตกต่างกันของหินเกิดจากสีในแร่ที่แตกต่างกัน โดยธาตุให้สีอาจเป็นองค์ประกอบในสูตรเคมีของแร่ ถ้าเป็นแร่ชนิดเดียวกันจะทำให้เกิดสีสันสวยงามที่ความเข้มระดับแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปริมาณแร่สี แต่ถ้าเกิดแร่นั้นเข้าไปอยู่กับเนื้อหินหรือเนื้อแร่ที่เป็นคนละชนิดกัน แร่นั้นจะถูกเรียกว่า "มลทิน" หรือขยะที่อยู่ในหิน ซึ่งพวกเรามักรู้จักกันดีในชื่อของ “ไหมทอง” ที่เกิดจากแร่รูไทล์เข้าไปอยู่ในแร่ควอตซ์เกิดเป็นเส้นสีทองสวยงาม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับหินบางประเภทได้ ทั้งที่ความจริงแล้วเราเรียกว่ามันว่าสิ่งสกปรก"
       
       สำหรับแร่ที่ทำให้เกิดหินสีที่พบได้บ่อยจะเป็นจำพวกแร่เหล็ก โครเมียม เบริล อะลูมิเนียมออกไซด์ ไทเทเนียม ซึ่ง รศ.ดร.จักรพันธ์ ระบุว่าไม่ใช่เพียงแค่แร่เท่านั้นที่จะทำให้เกิดสีสันบนอัญมณีที่แตกต่างกัน สีที่เกิดยังขึ้นอยู่กับแร่ตั้งต้น การสะท้อนของแสง และการหักเหของแสงด้วย เพราะบางครั้งถึงแม้จะเป็นแร่สีชนิดเดียวกัน แต่หากเข้าไปอยู่ในเนื้อหินต่างกัน สีที่ได้ก็จะไม่เหมือนกัน เช่น การเกิดสีของทับทิบ ไพลิน นิล มรกต เป็นต้น


หัวข้อ: Re: รู้เท่าทัน "หินสี" ก่อนโดนหลอก
เริ่มหัวข้อโดย: CIVIC" ที่ กุมภาพันธ์ 19, 2015, 11:38:19 am
(http://www.1009seo.com/+uppic/+2558/2-58/stone_1009seo-com_14.JPG)
ผศ.ดร.ปัญจวรรณ ธนสุทธิพิทักษ์ อาจารย์ประจำสาขาอัญมณีวิทยา ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่

        หินสีแท้จากธรรมชาติมาจากไหน?
       
       ด้าน ผศ.ดร.ปัญจวรรณ ธนสุทธิพิทักษ์ อาจารย์ประจำสาขาอัญมณีวิทยา ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ใช้เวลาอยู่กับวิทยาศาสตร์ของเพชรนิลจินดามามากกว่าครึ่งชีวิต ระบุว่า กระแสความฮิตของหินสี ไม่ได้เพิ่งมีเมื่อเหล่าดาราคนดังพากันใส่แล้วถ่ายรูปลงสื่อสังคมออนไลน์ หากแต่กระแสและความเชื่อเรื่องหินสีมีมานานแล้วเป็นร้อยๆ ปีในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศธิเบต อียิปต์ และแอฟริกา ที่หินสีมักจะถูกนำมาโยงกับเรื่องราวลี้ลับจนกลายเป็นตำนานเล่าขานของผู้คนรุ่นต่อรุ่น เราจึงมักเห็นหินสีอยู่ในรูปของเครื่องประดับเป็นกำไล สร้อย แหวน ยอดมงกุฏ ที่นอกจากจะใช้เป็นเครื่องประดับเพื่อความสวยงามแล้ว ยังถูกใช้เป็นเครื่องรางประจำตัวอีกด้วย
       
       “เมืองนอกนี่แหละที่เป็นผู้นำเทรนด์หินสี ความจริงส่วนตัวอาจารย์คิดว่าพวกความเชื่อเหล่านี้น่าจะมาพร้อมๆ กับประวัติศาสตร์ของมนุษย์เลยทีเดียว เพราะตั้งแต่ไหนแต่ไรมนุษย์ก็ดำรงชีวิตด้วยหินมาตลอด ซึ่งประเทศที่มีความเชื่อเกี่ยวกับหินสี ส่วนมากจะเป็นประเทศที่มีเหมืองหินสีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งประเทศเหล่านี้นี่เองที่ส่งหินสีมาขายยังประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น ประเทศทางแถบแอฟริกาใต้ แทนซาเนีย ยุโรป อียิปต์ อัฟกานิสถาน ธิเบต พม่า เพราะตอนนี้แหล่งหินสีในประเทศไทยแทบไม่มีหลงเหลืออยู่แล้ว แต่ก็มีประวัติการขุดเหมืองหินสี ที่บ้านโป่งข่าม จ.ลำปาง เช่นกัน แต่หินสีที่นั่นไม่ค่อยสวยงามเสียเท่าไหร่ หินสีแท้ๆ ที่เห็นในประเทศไทยจึงมาจากการนำเข้าแทบทั้งสิ้น”
       
       ผศ.ดร.ปัญจวรรณ ให้ข้อมูลอีกว่า หินสีที่ขุดได้จะมาในรูปแบบหินก้อน ตั้งแต่ขนาดเล็กหนักไม่ถึงกิโลกรัม จนถึงขนาดยักษ์หนักเป็นตันๆ แล้วนำมาผ่านกรรมวิธีการตัดแต่งเชิ้นส่วนหินไม่มีค่าออกก่อน จากนั้นจึงนำเข้ากระบวนการกลึงให้เป็นทรงกลม หรือทำเหลี่ยมตามความพึงพอใจด้วยเครื่องมือของโรงงานทำอัญมณี ซึ่งกระบวนการเหล่านี้คล้ายๆ กับการเจียระไนเพชรให้มีรูปแบบและเหลี่ยมที่สวยงาม เป็นอีกขั้นตอนที่จะช่วยเพิ่มคุณค่าและราคาให้หินสีเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ขายได้มากยิ่งขึ้น แต่ราคาหลักก็ยังขึ้นกับความนิยมของหินหรือแร่ชนิดนั้นๆ บวกกับความแข็ง และสีสันที่จะมีผลต่อกลไกการตลาดอีกด้วย แต่อย่างไรก็ดี หินสีก็ยังถือว่ามีราคาต่ำมากเมื่อเทียบกับอัญมณีชนิดอื่นๆ


หัวข้อ: Re: รู้เท่าทัน "หินสี" ก่อนโดนหลอก
เริ่มหัวข้อโดย: CIVIC" ที่ กุมภาพันธ์ 19, 2015, 11:45:42 am
(http://www.1009seo.com/+uppic/+2558/2-58/stone_1009seo-com_15.JPG)
รศ.ดร.เสรีวัฒน์ สมินทร์ปัญญา อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะวิทยาศาสตร์ มศว.

        หินย้อมสีได้
       
       ในวงการอัญมณีสามารถเปลี่ยนสีพลอยได้ โดย รศ.ดร.เสรีวัฒน์ สมินทร์ปัญญา อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหินและอัญมณีกล่าวว่า..การเปลี่ยนสีพลอยถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นักอัญมณีใช้สำหรับการปรับปรุงคุณภาพพลอยที่มีการทำสืบต่อกันมานานแล้วตั้งแต่อดีต เพื่อให้พลอยหรืออัญมณีมีสีที่สวยขึ้น ใสขึ้น ขายได้ราคาดีขึ้น หรือทำให้มีสีสันลวดลายแบบที่ต้องการซึ่งนิยมทำกันมากทั้งในพลอยธรรมชาติ และพลอยสังเคราะห์ จนบางครั้งผู้เชี่ยวชาญยังไม่สามารถแยกได้ว่าอันไหนเป็นของจริง หรืออันไหนเป็นของปลอม
       
       รศ.ดร.เสรีวัฒน์ ให้ความรู้ว่าวิธีการเปลี่ยนสีพลอยหรืออัญมณีที่นิยมใช้ในเชิงพาณิชย์มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี คือ การเผาด้วยอุณหภูมิสูง ในเตาที่ออกแบบมาจำเพาะสำหรับการเผาอัญมณีเพื่อให้โครงสร้างภายในบางส่วนเกิดการเปลี่ยนแปลงและมีสีสันตามแบบที่ต้องการ ซึ่งวิธีนี้จะใช้กับอัญมณีคุณภาพสูงอย่างเพชร เพื่อให้มีสีสวยตรงกับความต้องการของตลาด ช่วยเพิ่มมูลค่ากับตัวอัญมณีได้ค่อนข้างมาก, วิธีการฉายรังสี หรือการให้รังสี จำพวกแกมมา นิวตรอน หรืออิเล็กตรอน รวมถึงความร้อน และความดัน เพื่อทำให้มลทินในเม็ดอัญมณีสลาย กลายเป็นเพชรเม็ดใสเนื้อดีไม่มีมลทินเพิ่มราคาได้อีกเท่าตัว และการใช้สารเคลือบสี หรือการย้อมสีซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุดกับพลอยสังเคราะห์ที่ทำจากแก้วหรือเรซิ่นให้ดูมีสีสันเหมือนของจริง โดยการใช้สีเคมีย้อมเข้าไปที่ตัวพลอย ให้เม็ดสีเข้าไปเคลือบที่บริเวณช่องว่างและผิวหน้าของเม็ดพลอย แต่เมื่อเวลาผ่านไปสีก็จะค่อยๆ หมองและหลุดลอกในที่สุด
       
       “การปรับปรุงคุณภาพพลอยธรรมชาติด้วยกรรมวิธีที่กล่าวไปข้างต้นเรามีมานานแล้วกว่า 40 ปี ซึ่งคนจังหวัดจันทบุรีนี่แหละ ที่เป็นผู้บุกเบิกวงการโดยเฉพาะการเผาเพื่อเพิ่มสีและกำจัดมลทิน ทำให้ประเทศไทยยังคงเป็นเจ้าแห่งพลอยน้ำดีของโลกอยู่ ในขณะที่อัญมณีเทียมทั้งพลอยเทียม เพชรเทียม ประเทศรัสเซียจะมีชื่อเสียงมาก การแยกระหว่างของแท้และของเทียมสำหรับนักอัญมณีจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ที่น่าตกใจไปกว่านั้น คือ แม้กระทั่งหินสีตอนนี้ก็มีการทำปลอมขึ้นมาแล้ว ขายเส้นละไม่กี่บาท ทั้งๆ ที่ของแท้ก็ถูกแสนถูก คนที่จะซื้อจึงต้องควรดูให้ดี เพราะไม่อย่างนั้นคุณอาจจะถูกขายแก้วย้อมสีด้วยราคาสูงลิ่วก็ได้” รศ.ดร.เสรีวัฒน์ระบุ
       
      แยกหินสีของจริง-ของปลอม
       
       หินสีที่มีอยู่ในท้องตลาดขณะนี้ มีทั้งหินสีธรรมชาติที่เป็นของจริง หินสีปลอมที่ทำจากแก้ว เรซิ่น และพลาสติก ซึ่ง รศ.ดร.เสรีวัฒน์ ให้ข้อสังเกตว่า มีวิธีเบื้องต้นสำหรับตรวจสอบดังนี้
       
       1.ใช้ลูปส่องพระ ขนาดกำลังขยาย 10 เท่าส่องเข้าไปที่เม็ดหิน หากเป็นหินปลอมที่ทำขึ้นจากแก้วหรือเรซิ่น ภายในจะเต็มไปด้วยฟองอากาศขนาดเล็กเต็มไปหมด ที่เกิดจากกระบวนการหล่อของโรงงานที่สามารถยืนยันได้ทันทีว่าหินนี้เป็นของปลอม
       
       2.เมื่อนำไปตากแดดแล้วนำมาสัมผัส หรือนำมาอังไว้ที่แก้ม หินสีธรรมชาติจะยังคงความเย็นอยู่ ในขณะที่แก้วหรือเรซิ่นจะร้อน เพราะมีคุณสมบัติในการดูดความร้อน
       
       3.ดูเส้นไหล หินปลอมจากพลาสติกหรือแก้วจะมีเส้นไหล ที่มีลักษณะเหมือนเป็นลายน้ำเชื่อมที่เกิดจากการหลอมของพลาสติก ซึ่งจะไม่พบในหินแท้จากธรรมชาติ
       
       4.ดูแนวเชื่อม ถ้าหากมีแนวเชื่อมของเม็ดหินแสดงว่าเป็นหินปลอมที่เกิดจากเครื่องหล่อที่ไม่มีประสิทธิภาพ
       
       5.ดูลวดลาย หากลวดลายหรือตำหนิบนหินมีลักษณะเหมือนๆ กัน หรือตรงกันทุกจุด ก็สันนิษฐานได้ทันทีว่ามาจากโรงงาน เพราะหินในธรรมชาติแทบจะไม่มีก้อนไหนเลยที่มีลักษณะเหมือนกัน
       
       6.ราคาอาจใช้เทียบไม่ได้ เพราะเกิดจากความพึงพอใจระหว่างคนขายคนซื้อ และเครดิตของร้านค้า
       
       7.น้ำหนัก ใช้เทียบไม่ได้ เพราะแก้วบางชนิดมีน้ำหนักใกล้เคียงกับหินสีของแท้
       
       8.วิธีสุดท้ายที่ง่ายที่สุด สำหรับการแยกหินสีแท้กับพลาสติก คือ การนำไปเผาไฟ แต่อาจไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ค้า
       
       หากทดสอบด้วยตัวเองแล้วยังไม่มั่นใจ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ ได้สอบถามไปยังอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีอีกคนเพื่ออธิบายถึงวิธีการตรวจสอบอัญมณี รวมถึงหินสี ที่ได้มาตรฐานสากลและนิยมใช้ในห้องปฏิบัติการอัญมณีศาสตร์ทั่วไปอีกด้วย


หัวข้อ: หินสี พ่อค้าแม่ค้าเรียกว่า พลอยคุณภาพต่ำ ไม่เคยขายได้ราคามาก่อน
เริ่มหัวข้อโดย: CIVIC" ที่ กุมภาพันธ์ 19, 2015, 12:00:58 pm
(http://www.1009seo.com/+uppic/+2558/2-58/stone_1009seo-com_16.JPG)


(http://www.1009seo.com/+uppic/+2558/2-58/stone_1009seo-com_17.JPG)
ดร.ภูวดล วรรธนะชัยแสง อาจารย์ประจำคณะอัญมณี ม.บูรพา

        ตรวจสอบ “หินสี” ด้วยวิทยาศาสตร์
       
       ดร.ภูวดล วรรธนะชัยแสง อาจารย์ประจำคณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา แจกแจงวิธีตรวจสอบอัญมญีทางวิทยาศาสตร์ว่า.. การตรวจสอบอัญมณีเพื่อขอรับใบประกาศยืนยันคุณภาพทางวิทยาศาสตร์มีหลายขั้นตอน ทั้งการตรวจโครงสร้างภายในและภายนอก เริ่มตั้งแต่การดูรูปทรง ดูรอยสึกหรอ ดูสีสัน ดูมลทิน ชั่งน้ำหนัก วัดความแข็ง วัดขนาด จากนั้นจึงนำไปเข้าเครื่องมือต่างๆ เพื่อตรวจวัดค่าดัชนีหักเห ความถ่วงจำเพาะ การเรืองแสงกับหลอดยูวี (UV light) การเปล่งแสงของอัญมณี และตรวจดูสเปกตรัม แล้วนำมาเทียบกับค่ามาตรฐาน ซึ่งการตรวจสอบแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง อัญมณีที่มีราคาต่ำอย่างหินสีจึงไม่คุ้มทุนกับการนำมาตรวจสอบในห้องแล็บ
       
       อย่างไรก็ดี ดร.ภูวดล แนะนำว่าหากประชาชนไม่สบายใจ และอยากตรวจสอบว่าหินสีของตัวเองเป็นของแท้หรือปลอม สามารถนำไปตรวจสอบกับห้องปฏิบัติการทางอัญมณีได้ แต่ต้องเป็นห้องปฏิบัติการที่มีคุณภาพ ผ่านการรับรอง และมีเครื่องมือที่ทันสมัย เช่น สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน), ห้องปฏิบัติการของสถาบันการศึกษาบางแห่ง เช่น ห้องปฏิบัติการของคณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
       
       “การตรวจสอบหินสี ทำได้ครับ ก็เหมือนกับการตรวจเพชรพลอยนั่นแหละ อาจจะตรวจด้วยตัวเองเช่น การดูฟองอากาศหรือลวดลายต่างๆ ประเมินเบื้องต้น หรืออาจจะส่งมาที่แล็บเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญดูก็ได้ เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าหินปลอมสมัยนี้ทำได้เหมือนของจริงมาก แต่ก็ต้องดูด้วยนะว่าส่งมาแล้วมันจะคุ้มค่าหรือไม่ เพราะบางทีซื้อหินมา 1,000 บาท แต่ต้องมาเสียค่าตรวจประมาณ 2,000 บาท นี่คิดว่ามันคุ้มกันหรือเปล่า” ดร.ภูวดลกล่าว


(http://www.1009seo.com/+uppic/+2558/2-58/stone_1009seo-com_18.JPG)
นักธรณีมองกระแสคลั่งหินสี
       
       “ผมว่ามันดีมากเลยนะ ที่คนหันมาให้ความสนใจ เพราะไม่บ่อยที่วงการอัญมณีจะเป็นที่สนใจจากประชาชนทุกระดับ การกลับมาฮิตหินสีในครั้งนี้ทำให้วงการอัญมณีกลับมาคึกคักอีกครั้ง ต้องขอบคุณเหล่าดาราเซเลปด้วยซ้ำที่พากันสวมใส่หินสีจนกลายเป็นกระแสของคนในสังคม เพราะเมื่อก่อนนี้หินสี หรือที่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าเรียกว่า พลอยคุณภาพต่ำ ไม่เคยขายได้ราคามาก่อน ต้องชั่งขายกันเป็นกิโลๆ แต่ตอนนี้พวกควอตซ์ (Quartz) อะเมทิซ (Amethyst) ลาพิซ ลาซูรี (Lapis Lazuri) กำลังเป็นที่นิยมมากกว่าเพชร พลอยเสียอีก เรียกว่าทำมาเท่าไรก็ไม่พอขาย แต่ตอนนี้มันได้ทำให้ผู้ประกอบการหลายคนลืมตาอ้าปากได้เลย” ดร.ภูวดลกล่าว
       
       ท้ายสุด ดร.ภูวดล ยังได้ฝากข้อคิด ถึงผู้ที่กำลังมองหาซื้อหินสี และผู้ประกอบการหินสี ด้วยว่า สำหรับผู้ซื้อก่อนจะซื้อควรมีสติและหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนซื้อ โดยเฉพาะหินที่มีราคาแพงมากๆ ต้องพิจารณาให้รอบคอบด้วยว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ ในขณะที่คนขายก็ต้องต้องรู้ข้อมูล รู้ประวัติของหินสีบ้าง
       
       "ถ้าคุณไม่ใช่คนที่ศึกษาทางด้านอัญมณีมาโดยตรง ก็ควรจะหาความรู้เกี่ยวกับหินชนิดนั้นๆ ด้วย ไม่ใช่ไม่รู้จักหินเลย แต่ไปเที่ยวหลอกชาวบ้านว่านี่คือ หินถูกหวย หินหายอัมพาต หินอารมณ์ดี เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่เคยมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ที่จะยืนยันได้ว่าการใช้หินสีช่วยแก้ปัญหา หรือรักษาโรคได้จริง แต่อย่างไรก็ดีความเชื่อก็เป็นสิ่งที่อยู่กับหินสีมานาน แยกออกจากกันไม่ได้ มันคือศาสตร์และศิลป์ที่ผสมกัน นอกจากนี้ผมก็อยากเน้นย้ำเนื่องจรรยาบรรณของพ่อค้าแม่ค้าด้วย หากหินสีไม่ใช่ของจริง หรือมีการปรับปรุงคุณภาพก็ควรจะบอกกับลูกค้าไปตามตรง และที่สำคัญอย่าโก่งราคาเอาเปรียบผู้บริโภคจนมากเกินไป” ดร.ภูวดลทิ้งท้าย

http://www.1009seo.com/