หัวข้อ: มูลนิธิ'บิล เกตส์' ใจบุญ บริจาคเงิน1,600ล้านสู้อีโบลา เริ่มหัวข้อโดย: หลอดไฟ ที่ กันยายน 11, 2014, 11:38:29 am เอเอฟพี/รอยเตอร์ - มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ เผยวันพุธ(10) เตรียมบริจาคเงิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ราว1,600ล้านบาท) ช่วยสนับสนุนต่อสู้กับอีโบลา ขณะที่เหล่าคณะแพทย์ในแอฟริกาตะวันตกโดยเฉพาะไลบีเรีย เริ่มรับมือกับการแพร่ระบาดที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆไม่ไหว ส่วนเซียร์ราลีโอน ก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนัก กระนั้นยังพอมีข่าวดีบ้าง เมื่อผู้ป่วยด้วยไวรัสมรณะชนิดนี้คนแรกในเซเนกัลฟื้นไข้แล้ว ส่วนผลตรวจร่างกายผู้ต้องสงสัยติดเชื้อในอิตาลี ก็พบว่าเป็นแค่มาลาเรียเท่านั้น
ถ้อยแถลงของมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ ระบุว่าจะส่งมอบเงินทุนแก่หน่วยงานต่างๆของสหประชาชาติและเหล่าองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับโรคติดต่อนี้ในทันที เพื่อยกระดับความพยายามช่วยเหลือฉุกเฉินในประเทศต่างๆที่ได้รับผลกระทบ พร้อมกันนั้นทางมูลนิธิยังประกาศจะร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ในด้านเร่งมือพัฒนาการรักษาและวัคซีนเพื่อจัดการกับไวรัสมณะอีโบลา "เรากำลังทำงานอย่างเร่งด่วนกับพันธมิตรเพื่อกำหนดแนวทางที่มีประสิทธิผลที่สุดสำหรับช่วยเหลือพวกเขาปกป้องชีวิต และหยุดยั้งการระบาดของไวรัสมรณะ" ซูเอ เดสมอนด์-เฮลล์มันน์ ประธานบริหารของมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ กล่าว "เรายังต้องการเร่งมือพัฒนาการรักษา วัคซีนและการวิฉิจฉัย ที่สามารถยุติโรคระบาดนี้และปกป้องการแพร่ระบาดในอนาคต" การยื่นมือเข้ามาของมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ มีขึ้นในช่วงเวลาที่มีข่าวว่าเหล่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในไลบีเรียกำลังรับมือกับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ๆไม่ไหว ขณะเดียวกันไวรัสมรณะชนิดนี้ก็ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในเซียร์ราลีโอน ชาติเพื่อนบ้าน องค์การอนามัยโลก(WHO)คาดคะเนว่าตัวเลขผู้ติดเชื้ออีโบลาทั่วแอฟริกาตะวันตกกำลังเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ และเตือนว่าไลบีเรีย จะเผชิญกับผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีกหลายพันคนในอีกไม่กี่วันข้างหน้า "ผู้ป่วยของเราล้นแล้ว คนไข้ยังคงเดินทางมาในจำนวนมหาศาล เฉพาะเมื่อวาน เรารับผู้ป่วยเพิ่มเติมอีกมากกว่า 30 คน" โซฟี เจน โฆษกขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนบอกกับเอเอฟพี ณ ศูนย์รักษาอีโบลาในกรุงมันโรเวีย ข้อมูลที่อัพเดทล่าสุดขององค์การอนามัยโลกเมื่อวันอังคาร(9ก.ย.) พบว่ายอดรวมผู้เสียชีวิตจากอีโบลา ในไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน กินีและไนจีเรีย อยู่ที่ 2,296 คน จากจำนวนผู้ติดเชื้อ 4,293 คน ซึ่งในนั้นเกือบครึ่งหนึ่งเพิ่งติดเชื้อในช่วง 21 วันที่ผ่านมา เซียร์ราลีโอน ซึ่งมีรายงานผู้เสียชีวิต 500 ศพจากผู้ติดเชื้อ 1,400 คน บอกว่าวิกฤตนี้กำลังก่อความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการเติบโตถอยกลับสู่เลขตัวเดียวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่อุตสากรรมเหมืองของประเทศเริ่มต้นเฟื่องฟูในปี 2011 ไคฟาลา ซามูรา รัฐมนตรคลังบอกกับผู้สื่อข่าวในกรุงฟรีทาวน์ ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจถอยกลับ ด้วยขยายแค่ร้อยละ 7 นับตั้งแต่ประเทศพบผู้ติดเชื้อคนแรกในเดือนพฤษภาคม "ภาคธุรกิจต้องปิดตัวลง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศไม่เอื้อต่อเราอีกต่อไป หลายสายการบินไม่ใช้เส้นทางการบินของเรา ราคาสินค้าที่มีความจำเป็นพุ่งสูงและรายได้ก็กำลังลดลง ระหว่างที่อีโบลายังคงแพร่ระบาด" เท่านั้นไม่พอ ยังคาดหมายเศรษฐกิจของเซียร์ราลีโอนน่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้นในช่วงสัปดาห์หน้า หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลสั่งปิดประเทศที่มีประชากร 6 ล้านคน เป็นเวลา 4 วันเริ่มตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน ด้วยกำหนดให้ประชาชนอยู่แต่ภายในบ้าน และห้ามเดินทางไปไหนมาไหน ยกเว้นในกรณีที่มีความจำเป็นจริงๆ อาสาสมัครมากกว่า 20,000 คนจะดำเนินการตรวจค้นบ้านทุกหลังเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้ออีโบลาและเคลื่อนย้ายศพผู้เสียชีวิต รวมถึงพาผู้ป่วยที่ไม่ได้ไปหาแพทย์ตามโรงพยาบาล ไปยังศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินอีโบลา โดยในวันพุธ(10ก.ย.) รัฐบาลเซียร์ราลีโอน คาดหมายว่าการกำหนดเคอร์ฟิวทั่วประเทศดังกล่าว จะทำให้พบเหยื่ออีโบลาที่พากันหลบซ่อนตัว และผลก็คืออาจทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสมรณะชนิดนี้เพิ่มขึ้นอีกราวร้อยละ 20 ในวันพุธ(10ก.ย.)เช่นกัน รัฐมนตรีกลาโหม บราวนี ซามูไค ของไลบีเรีย กล่าวเตือนว่าโรคอีโบลากำลังกลายเป็นภัยร้ายแรงถึงขั้นคุกคามต่อการดำรงคงอยู่ของประเทศของเขา ท่ามกลางข้อมูลร้ายๆในไลบีเรียและเซียร์ราลีโอน ยังพอมีข่าวที่ดีกว่าในเซเนกัล ด้วยทางการบอกในวันพุธ(10ก.ย.) ว่านักศึกษาชาวกินี วัย 21 ปี ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้ออีโบลาคนเดียวของประเทศได้ฟื้นไข้แล้ว "เราได้ตรวจเลือกครั้งแรกในวันศุกร์(5ก.ย.)และครั้งที่ 2 ในอีก 48 ชั่วโมงต่อมา โดยทั้งสองมีผลออกมาเป็นลบ" เอมาโดอู เดียค ผู้อำนวยการสาธารณสุขเซเนกัลบอกกับรอยเตอร์ "นี่ถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับคนไข้และของประเทศ" อย่างไรก็ตามเเจ้าหน้าที่เซเนกัล บอกว่ายังคงสังเกตอาการประชาชนอีก 67 คนที่สัมผัสกับนักศึกษาชาวกินีรายดังกล่าว และกำลังพยายามตามรอยเส้นทางของเขาที่เดินทางข้ามพรมแดนมาจากทางตะวันตกของกินี เป็นระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร โดยในนั้นมีอยู่ 33 คน ถูกแยกกักกันอยู่ในบ้านหลังหนึ่งในย่านปาร์เซลเลส์ แอสไซนีส์ ที่ซึ่งนักศึกษาชาวกินีรายนี้อาศัยอยู่กับลุงหลังเดินทางมาถึงกรุงดาการ์เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกแถลงเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาพบผู้ป่วยต้องสงสัยติดอีโบลา 2 รายในเซเนกัล อย่างไรก็ตามในวันพุธ(10ก.ย.) เผยว่าผลตรวจอาการของทั้งสองคนเพื่อหาเชื้อไวรัสมรณะ มีผลออกมาเป็นลบ ในวันอังคารเช่นกัน หญิงชาวไนจีเรียรายหนึ่งที่อาศัยอยู่ในอิตาลี ได้ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาล ด้วยอาการป่วยที่บรรดาแพทย์ต่างเกรงว่าเธออาจจะกลายเป็นผู้ติดเชื้ออีโบลารายแรกของประเทศนี้ กระนั้นในวันพุธ(10ก.ย.) หน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่น แคว้นมาเค่ เผยผลตรวจว่าเธอล้มป้วยด้วยโรคมาลาเรีย |