พิมพ์หน้านี้ - ปุ๋ยทางใบ

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่14"

สารพัดช่าง-แนวทางอาชีพ => ข้าว => ข้อความที่เริ่มโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ พฤษภาคม 14, 2012, 11:27:44 pm



หัวข้อ: ปุ๋ยทางใบ
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ พฤษภาคม 14, 2012, 11:27:44 pm
ปุ๋ยทางใบ (foliar fertilizer)

1.พืชสามารถ ดูดสารอาหารเข้าทางใบได้หรือไม่

   ตอบ อาหารส่วนใหญ่ที่พืชใช้ จะได้มาจากการดูดซึมของระบบราก ในส่วนของใบเองจะมีหน้าที่รับแสง และสังเคราะห์แสง รับและคายน้ำ จากงานวิจัยพบว่า สารอาหารต่างๆ สามารถซึมเข้าสู่ใบพืชได้เช่นกัน แม้จะไม่มากเท่ากับสารอาหารที่ได้มาจากระบบราก แต่ก็มีปริมาณที่มากพอให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  ทั้งนี้เกษตรกรอาจคุ้นเคยกับการทำงานของ ไกลโฟเสต หรือยาฆ่าหญ้า ซึ่งจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์แสงของพืช ซึ่งสารไกลโฟเสตนี้ พืชดูดซึมผ่านทางใบ จะเห็นว่าใช้เพียงปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น

2.จริงหรือไม่ที่ ให้สารอาหารทางใบ ออกฤทธิ์ ได้เร็วกว่า การให้ผ่านทางระบบราก

  ตอบ จริง เพราะจริงๆ แล้วสารอาหารต่างๆ ที่พืช ดูดซึมมา จะต้องถูกลำเรียงมาที่ใบ เพื่อผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสงให้เป็นอาหาร จากนั้นอาหารเหล่านี้จะถูกลำเลียงไปยังส่วนต่างๆของพืชอีกที ดังนั้นสารอาหารที่ให้ทางใบจะเข้าสู่กระบวนสังเคราะห์แสงทันที ที่เริ่มสัมผัสกับพืช จะเห็นว่าการให้สารอาหารทางใบจะเป็นการเพิ่มปริมาณสารอาหารบนใบพืช จากปกติที่ระบบรากของพืชสามารถหามาได้

3. ในเมื่อการให้อาหารทางใบ มีประโยชน์ เราสามารถ นำปุ๋ยเม็ดมาละลายน้ำ แล้วฉีดพ่นให้กับพืชได้หรือไม่

    ตอบ ไม่ได้ เพราะสารอาหารที่เป็นประโยชน์กับพืช เมื่อฉีดพ่นทางใบ ต้องเป็นสารอาหารที่พืชสามารถนำไปสังเคราะห์แสงได้ทันที ปุ๋ยเม็ดที่เกษตรกรใช้ส่วนใหญ่ จะเป็นเกลือของสารประกอบ ซึ่งต้องผ่านการคัดกรองโดยระบบรากเท่านั้น พืชจึงจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ มิหนำซ้ำ ปุ๋ยบางชนิดอาจทำอันตรายพืช เมื่อให้ทางใบ

4. ทำไม การให้ปุ๋ยทางใบ จึงมีปริมาณสารอาหารเล็กน้อย เมื่อเทียบกับการให้ทางราก

    ตอบ เนื่องจากการให้ปุ๋ยทางใบ สารอาหารต่างๆ ต้องอยู่ในสภาพที่พืชสามารถนำไปใช้ได้ทันที สารอาหารจึงมีความบริสุทธิ์สูง และการให้ทางใบ มีการสูญเสียไปกับสภาพแวดล้อมต่ำมาก เมื่อเทียบกับการให้ทางราก สารอาหารบางตัว การให้ทางใบเพีบง 1 กิโลกรัม จะให้ผลเท่ากับการให้ทางราก 20 กิโลกรัมทีเดียว

5.ทำไมสารอาหารทางใบจึงมีราคาแพง จะคุ้มค่าหรือไม่

    ตอบ เนื่องจากสารอาหารต่างๆ ที่จะให้ทางใบได้ จะต้องถูกนำไปผ่านกระบวนการสลาย ให้อยู่ในรูปที่พืช สาม่รถดูดซึมทางใบ และนำไปใช้สังเคราะห์แสงได้ทันที ซึ่งมีขั้นตอนการผลิตที่ซับซ้อนกว่า แต่จากที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า สารอาหารทางใบมีความบริสุทธิ์สูง จึงใช้เพียงปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น และต้องใช้ร่วมกับปุ๋ยทางดิน หากมองผลผลิตที่เพิ่มขึ้น นับว่าคุ้มค่ากว่ามาก

6.สารอาหารทางใบ ใส่ไปเพียงเล็กน้อย จะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นได้อย่างไร

    ตอบ จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ปริมาณสารอาหารส่วนใหญ่ที่พืชใช้ในการสร้างผลผลิต ยังคงมาจากระบบราก ซึ่งในการเพาะปลูกจริงปริมาณอาหารถูกจำกัดโดย ประสิทธิภาพของระบบราก ซึ่งจะดี ไม่ดีขึ้นอยู่กับสภาพดินและคุณภาพน้ำ รวมทั้งโรคต่างๆ ซึงการให้สารอาหารทางใบ จะให้สารอาหารกับพืชเพิ่มขึ้นจากที่ระบบรากหาได้ การให้โดยตรงที่ใบ จะทำให้อัตราการสังเคราะห์แสงเพิ่มขึ้น ซึ่งกระบวนการสังเคราะห์แสงที่เพิ่มขึ้น จะกระตุ้นให้พืชดูดน้ำมากขึ้น ทำให้ระบบรากนำพาสารอาหารเข้าไปในลำต้นมากขึ้นด้วย และการสังเคราะห์แสงเพิ่มขึ้นอีก คล้ายปฏิกริยาลูกโซ่ จึงส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น

7.เมื่อให้สารอาหารทางใบแล้ว จำเป็นต้องให้ทางรากด้วยหรือไม่

    ตอบ จำเป็นต้องให้ทางรากด้วย เพราะจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า การให้สารอาหารทางใบ เป็นการกระตุ้นให้พืชดูดสารอาหารทางรากมากขึ้น และลดข้อจำกัดของระบบรากในพืช แต่ปริมาณสารอาหารส่วนใหญ่ จำเป็นต้องมาจากระบบราก เพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น

8.เราสามารถให้สารอาหารทางใบ กับพืชทุกชนิดหรือไม่

    ตอบ เกือบทุกชนิด แต่ประสิทธิภาพในการรับสารอาหารทางใบของพืชแต่ละชนิดไม่เท่ากัน พืชที่มีใบใหญ่ ปากใบกว้างและเปิดนานกว่า จะดูดซึมได้ดีกว่า ซึ่งในพืชบางชนิด อัตราการดูดซึมปุ๋ยทางใบ ไม่คุ้มค่า เมื่อเทียบกับผลผลิตที่เพิ่ม

9.เราควรฉีดพ่น อาหารทางใบให้กับพืชช่วงไหนดี

    ตอบ พืชจะดูดสารอาหารทางปากใบ เราจึงควรฉีดพ่นในช่วงเวลาที่ปากใบเปิด คือช่วงที่อากาศไม่ร้อนจัด ที่เหมาะสมจะเป็นช่วงเช้าของวัน หรือฉีดพ่นตอนเย็น เมื่ออากาศไม่ร้อนแล้ว

http://www.siamgreensil.com


หัวข้อ: Re: ปุ๋ยทางใบ
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ พฤษภาคม 14, 2012, 11:34:07 pm
ข้อดีและข้อจำกัดในการใช้ปุ๋ยทางใบ

     ข้อดี
          1.   การปรับปรุงดินที่มีปัญหา  ให้มีคุณสมบัติเหมะสมกับการใช้ปุ๋ยทางดิน   ต้องใช้เวลาพอสมควร  ในช่วงเวลาที่มีปัญหาดังกล่าว  อาจแก้ปัญหาการขาดธาตุอาหารบางธาตุ โดยการพ่นทางใบโดยตรง    ซึ่งไม่ต้องมีอุปสรรคเกี่ยวข้องกับการตรึง  หรือลดความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารในดิน
                    2.   ในหลายกรณีการให้ปุ๋ยทางใบมีประสิทธิภาพสูงกว่าใส่ในดิน โดยเฉพาะธาตุอาหารเสริม
                   3.   ในบางระยะของการเจริญเติบโตของพืช   ถ้าพืชแสดงอาการขาดธาตุอาหารในระยะวิกฤต เช่น  ก่อนออกดอก ในจังหวะเช่นนี้   ไม่มีวิธีใดให้ผลดีและรวดเร็วกว่าการให้ทางใบ หากใส่ปุ๋ยทางดินอาจไม่ทันกับความต้องการ และกระทบกระเทือนต่อผลผลิตอย่างรุนแรง การให้ปุ๋ยพวกธาตุอาหารเสริมทางใบอาจไม่ต้องทำบ่อย การให้ในความเข้มข้นที่เหมาะสมเพียงครั้งหรือสองครั้ง ก็เพียงพอไปจนตลอดชีพจักรของพืช
                   4.    การให้ปุ๋ยทางใบ  ได้ผลดีกับพืชที่มีใบใหญ่และใบมาก   เพราะจะรับละอองปุ๋ยไว้ได้มาก  วิธีนี้จึงให้ผลดีกับพืช ใบเลี้ยงคู่เช่น ไม้ผล ผักต่าง ๆ   มากกว่าพืชใบเลี้ยงเดียว  เช่น ข้าว อ้อย  ในกรณีที่รากพืชไม่ค่อยเจริญเติบโตเท่าที่ควร   เนื่องจากดินไม่ค่อยสมบูรณ์ มีการตรึงธาตุอาหารรุนแรง  ธาตุอาหารสูญเสีย   โดยการพังทลาย และการชะล้างอุณหภูมิอากาศต่ำ   ความชื้นในดินมีจำกัดรากมีบาดแผลหรือเริ่มเป็นโรคหรือระบบรากค่อนข้างจำกัดควรแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้โดยการให้ปุ๋ยทางใบ
                   5.  การให้ปุ๋ยทางใบ  เพื่อเสริมการใส่ในดิน จะให้ผลเด่นชัด  เมื่อให้ตอนที่พืชมีอัตราการเจริญเติบโตค่อนข้างช้าและระหว่างการออกดอกขณะที่พืชออกดอกจะมีใบเต็มที่แล้ว แต่ความสามารถในการดูดธาตุอาหารของรากลดลง 

     ข้อจำกัด
         1.   ควรถือว่าการให้ปุ๋ยทางใบเป็นวิธีเสริมการใส่ปุ๋ยทางดินตามปกติ
                    2.    การพ่นปุ๋ยน้ำให้มีละอองเล็กและรวดเร็วต้องใช้เครื่องมือพิเศษ และต้องการความชำนาญพอสมควร
                    3.   พืชหลายชนิด   ไม่ค่อยตอบสนองต่อการพ่นปุ๋ยทางใบ  องค์ประกอบทางเคมีและสัณฐาน   ลักษณะของพืช  มีผลกระทบต่อการเกาะติดที่ใบ และการใช้ประโยชน์จากปุ๋ย
                   4.   หากใช้อัตราสูงเกินไป  อาจเกิดอาการใบไหม้ได้อย่างรุนแรงกว่าการใส่ในดิน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ปุ๋ยธาตุอาหารเสริมจะต้องระมัดระวังในเรื่องอัตราที่ใช้อย่างมาก 
                   5.    ต้องไม่ใช้ปุ๋ยพ่นทางใบในขณะที่พืชเหี่ยวเฉาหรือขาดน้ำ หรืออากาศร้อนจัด ลมแรงหรือเมื่อคาดว่าฝนจะตก
                   6.    การพ่นปุ๋ย    อย่าให้ถึงกับเปียกโชก  เพราะสิ้นเปลีองค่าปุ๋ยซึ่งมีราคาแพง    ประสิทธิภาพของปุ๋ยพ่นทางใบเมื่อตกลงดินจะมีประสิทธิภาพเท่ากับปุ๋ยที่ใส่ทางดินที่มีราคาถูกกว่ามาก
                  7.   โดยปกติปุ๋ยที่ใช้อยู่ในรูปของอนินทรียสาร จึงกัดกร่อนอุปกรณ์การพ่นปุ๋ยมากกว่าสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชทั่ว ๆ ไป

ธาตุอาหารพืชในปุ๋ยเคมีสูตรต่าง ๆ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
     กลุ่มที่ 1 เรียกว่า ธาตุอาหารหลัก ประกอบด้วย ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม
     กลุ่มที่ 2 เรียกว่า ธาตุอาหารรอง ประกอบด้วย แคลเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน
     กลุ่มที่ 3 เรียกว่า ธาตุอาการเสริม ประกอบด้วย เหล็ก แมงกานีส สังกะสี ทองแดง โบรอน โมลิบดินัม คลอรีน

          การใช้ปุ๋ยพ่นทางใบ   มีข้อจำกัดหลายประการ  แต่ประการที่สำคัญที่สุดคือ  ความเข้มข้นของปริมาณธาตุอาหารที่มากเกินพอ จนทำให้พืชทนไม่ได้ และเกิดความเสียหายได้   อัตราแนะนำที่ต่ำเกินไป พ่นทางใบจะไม่ได้ผลเต็ประสิทธิภาพ เสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายไม่คุ้มค่าและเกิดความเข้าใจผิดเสียโอกาสแต่อัตราที่สูงเกินไปก็จะเกิดผลเสียหายแก่พืชอัตราการใช้ปุ๋ยพ่นทางใบแต่ละสูตรขึ้นอยู่กับ

                 1.   ธาตุอาหารหลักที่สูตรปุ๋ยนั้น ๆ   ถ้าใช้เกินความทนได้ของพืชแล้ว   จะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงลำดับมากไปหาน้อย  คือฟอสฟอรัส ไนโตรเจน และโพแทสเซียม
                2.   ชนิดของพืชที่แนะนำให้ใช้ แบ่งพืชออกเป็น 3 กลุ่ม ตามความสามารถที่ทนได้ต่อความเข้มข้นของธาตุอาหารหลัก
                      2.1  พืชกลุ่มที่ 1  พวกแตงต่าง ๆ  ถั่วฝักยาว  ถั่วลันเตา  มะเขือต่าง ๆ  ผักกาดหอม   ไม้ดอกไม้ประดับ และไม้ผลพืช ในกลุ่มนี้มีความทนต่อความเข้มข้นของธาตุอาหารหลักได้ต่ำสุด
                      2.2  พืชกลุ่มที่ 2 พวกพืชตระกูลกระหล่ำ มีความทนได้ปานกลาง
                      2.3  พืชกลุ่มที่ 3 พืชหัว หอม กระเทียม แครอท มันฝรั่ง มันต่าง ๆ สับปะรด มีความทนได้สูง
               3.   การกำหนดอัตรา    เพื่อเขียนลงในเอกสารกำกับปุ๋ยเคมี  เพื่อจัดหาให้แก่เกษตรกร  กำกับปุ๋ยสูตรที่ขอขึ้นทะเบียน และจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน   ได้กำหนดอัตราการใช้เพียงครึ่งหนึ่งของความทนได้   ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า   การใช้ปุ๋ยพ่นทางใบ   ของเกษตรกรนั้น   ส่วนใหญ่ใช้ประมาณคร่าว ๆ และมักใช้เกินอัตราแนะนำ ดังนั้นการลดอัตราการใช้จากความทนได้ลงมาครึ่งหนึ่งก็เพื่อความปลอดภัยของพืชนั่นเอง

เวลาที่เหมาะแก่การพ่นทางใบ

     ควรพ่นในช่วงที่มีอุณหภูมิต่ำ แดดไม่จัด และความชื้นสัมพัทธ์สูง เพื่อให้คงสภาพเป็นสารละลายนานที่สุด เนื่องจากพืชจะได้รับประโยชน์จากปุ๋ยที่ให้ทางใบก็ต่อเมื่อปุ๋ยนั้นอยู่ในรูปของสารละลาย การดูดซึมปุ๋ยทางใบจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉพาะเมื่อปุ๋ยยังอยู่บนผิวใบในรูปของสารละลาย