พิมพ์หน้านี้ - วิธีดับความโกรธของพระปุณณะ-พระสารีบุตร-คัมภีร์วิสุ

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่14"

นานาสาระ => ลึกลับ-เหลือเชื่อ-ธรรมะ => ข้อความที่เริ่มโดย: kittanan_2589 ที่ พฤศจิกายน 10, 2011, 07:51:28 am



หัวข้อ: วิธีดับความโกรธของพระปุณณะ-พระสารีบุตร-คัมภีร์วิสุ
เริ่มหัวข้อโดย: kittanan_2589 ที่ พฤศจิกายน 10, 2011, 07:51:28 am
วิธีดับโกรธของพระปุณณะ

พระปุณณเถระฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วต้องการไปจำพรรษาที่สุนาปรันตชนบท ถิ่นที่ชาวบ้านมีความดุร้าย ขี้โกรธ เป็นนิสัยประจำ พระพุทธเจ้าตรัสให้ตระหนักว่านิสัยคนที่นั่นดุร้าย หากเขาด่าบริภาษาเอาเธอจะทำอย่างไร?

พระปุณณะทูลตอบวิธีที่ท่านจะปฏิบัติต่อคนเหล่านั้นด้วยขันติ ทมะ อุปสมะ และการมองโลกในแง่ดี (ด้วยความเมตตากรุณา) ท่านทูลตอบดังนี้

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าผู้คนชาวสุนาปรันตะจะด่าบริภาษข้าพระองค์ ข้าพระองค์ก็จะใส่ใจว่าผู้คนชาวสุนาปรันตะเหล่านี้ เป็นผู้เจริญดีหนอ ที่ผู้คนเหล่านั้นไม่ได้ตีข้าพระองค์ด้วยมือ..."

หากตีด้วยมือก็คิดว่ายังดีที่เขาไม่ปาด้วยก้อนดิน...หากปาด้วยก้อนดินก็คิดว่ายังดีที่เขาไม่ตีด้วยท่อนไม้...หากตีด้วยท่อนไม้ก็คิดว่ายังดีที่เขาไม่แทงด้วยมีด...หากแทงด้วยมีดก็คิดว่ายังดีที่เขาไม่ถึงกับฆ่าให้ตาย...หากฆ่าให้ตายก็คิดว่าดีแล้วที่เราไม่ต้องหาอาวุูธมาปลิดชีพตัวเอง

ทรงชื่นชมว่า เธอประกอบด้วยทมะ (การฝึกตน) และอุปสมะ (ความสงบใจจากสิ่งที่เป็นข้าศึก) เธอสามารถไปอยู่ที่นั่นได้

ท่านไปถึงที่นั่น และบรรลุพระอรหัตเป็นพระอรหันต์ภายในพรรษานั้นเอง๑
___________________ ___
๑ ดู ม.อุ. ข้อ ๗๕๔-๗๖๔

วิธีดับโกรธที่พระสารีบุตรแนะ

เป็นวิธีที่เลือกมองเพื่อให้รู้ให้เข้าใจความจริงเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างบุคคล ๕ อย่าง คือ

๑.  หากความประพฤติทางกายของเขาไม่ดี แต่ความประพฤติทางวาจาเรียบร้อยหมดจดดี ก็พึงมนสิการ (ใส่ใจ) เฉพาะความประพฤติดีทางวาจา เปรียบเหมือนภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เธอเดินไปพบเศษผ้าเก่าบนท้องถนน เธอเอาเท้าซ้ายกด แล้วเอาเท้าขวาคลี่ผ้านั้นออก ส่วนใดยังดีใช้ได้อยู่ ก็ฉีกเอาแต่ส่วนนั้นไป

๒.  หากความประพฤติทางาวาจาไม่ดี แต่ความประพฤติทางกายเรียบร้อยหมดจดดี ก็พึงมนสิการเฉพาะทางกาย เปรียบเหมือนสระโบกขรณีมีสาหร่ายจอกแหนคลุมเต็มไปหมด เมื่อคนเดินทางแดดร้อน เหน็ดเหนื่อย หิวกระหายมาถึงเข้า ก็ลงไปยังสระนั้น เอามือแหวกสาหร่ายจอกแหนออกแล้วกระพุ่มมือกอบแต่น้ำขึ้นมาดื่มแล้วเดินทางต่อไป

๓.  หากความประพฤติทั้งทางกายและวาจาไม่ดี แต่ทางใจมีความปลอดโปร่งดีงามผ่องใสเป็นครั้งคราว ก็พึงมนสิการเฉพาะทางใจที่ผ่องใสเป็นครั้วคราวนั้น เปรียบเหมือนมีน้ำขังอยู่เล็กน้อยในรอยเท้าโค คนผู้หนึ่งเดินทางผ่านความร้อนและความหิวมาถึงเข้า เขาคิดว่าถ้าเอามือวักหรือเอาภาชนะตักก็จะทำให้น้ำขุ่น จึงนั่งคุกเข่าเอามือยันพื้น ก้มลงเอาปากดื่มอย่างโค เสร็จแล้วก็หลีกไป

๔.  หากความประพฤติทางกายและวาจาก็ไม่ดี อีกทั้งทางจิตใจก็ไม่ปลอดโปร่งดีงาม ในเวลานั้นก็ควรตั้งความเมตตาการุณย์ ควรคิดอนุเคราะห์ช่วยเหลือต่อเขา ขอให้เขาทำดี ทำสุจริต ตายแล้วอย่าได้ถึงทุคติเลย เปรียบเหมือนคนเจ็บไข้ป่วยหนัก กำลังเดินทางไกล ไม่พบบ้านเรือน จึงไม่ได้อาหารที่เหมาะ ไม่ได้ยาและพยาบาลที่เหมาะ เป็นต้น มีคนผู้หนึ่งเดินทางไกลผ่านมาพบเข้า เขาตั้งจิตเมตตาการุณย์คิดอนุเคราะห์ว่า โอ้หนอ ขอให้คนผู้นี้พึงได้อาหารและยา เป็นต้น ที่เหมาะขออย่าได้ถึงความพินาศเลย

๕.  หากความประพฤติทางกาย ทางวาจาดี ทั้งทางจิตใจก็ปลอดโปร่งผ่องใสอยู่เนือง ๆ ก็พึงมนสิการได้ทั้ง ๓ ทาง เพราะจะพาให้ผู้มนสิการมีจิตผ่องใสไปด้วย เปรียบเหมือนสระโบกขรณีมีน้ำใสเย็นฉ่ำน่าชื่นใจ ชายฝั่งก็เรียบร้อยน่ารื่นรมย์ ปกคลุมด้วยหมู่ไม้นานาพรรณ คราวนั้นบุรุษคนหนึ่งเดินทางไกล ร้อน หิว กระหาย อ่อนล้า ผ่านมาพบเข้า เขาลงไปในสระนั้น ดื่ม อาบ หรือจะนั่งจะนอนตรงไหนก็น่าชื่นใจทั้งนั้น๑
___________________ ____
๑ องุ. ปญฺจ. ข้อ ๑๖๒


วิธีดับโกรธตามคัมภีร์วิสุทธิมรรค

คัมภีร์วิสุทธิมรรคแสดงอุบายในการปฏิบัติเพื่อแก้ไขความคิดแค้นเคืองใจไว้หลายอย่าง ซึ่งเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมกับอุปนิสัยของบุคคล ดังนี้

๑.  พึงระลึกถึงโทษของความโกรธ ด้วยการระลึกถึงคำสอนที่ให้ระงับความโกรธ เช่น

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้หากพวกใจรป่าจะพึงจับไปแล้วเอาเลื่อยผ่ากาย หากผู้ใดทำจิตให้คิดร้ายในพวกโจรนั้น ผู้นั้นก็ไม่ชื่อว่าทำตามคำสอนของเรา" หรือ "ผู้ใดโกรธตอบผู้โกรธก่อน ผู้นั้นเลวกว่าผู้ที่โกรธก่อน ส่วนผู้ที่ไม่โกรธตอบ ผู้นั้นชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยาก"

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ภิกษุจะจับชายสังฆาฏิติดตามไปข้างหลังเรา แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้มีอภิชฌา (ความเพ่ง อยากได้) มีความกำหนดแรงกล้าในกามทั้งหลาย มีจิตพยาบาท...ภิกษุนั้นย่อมอยูห่างไกลเราทีเดียว และเราก็อยู่ห่างไกลภิกษุนั้น เพราะภิกษุนั้นไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรมย่อมชื่อว่าไม่เห็นเรา"๑
___________________ _______
๑ ขุ.อิติ. ข้อ ๒๗๒


หรือผู้ใดโกรธก็เท่ากับผู้นั้นทำตัวให้ประสบผลร้ายต่าง ๆ เช่น มีผิวพรรณทราม ใบหน้าหม่นหมอง และนอนเป็นทุกข์ เป็นต้น

๒.  พึงระลึกถึงความดีของเขา คือ ยกเอาแต่แง่ดีของเขา แง่ใดแง่หนึ่งขึ้นมาพิจารณา ถ้าไม่พบความดีของเขาเลย ก็พึงตั้งจิตเกื้อการุณย์ เอาใจช่วยให้เขาทำความดี เพื่อพ้นจากทุคติ

๓.  พิจารณาว่าความโกรธคือการสร้างทุกข์ให้ตัวเอง และศัตรูก็สมใจ พึงสอนตนเองให้รู้ว่า

"ตัวเจ้าเมื่อออกบวช ต้องละมารดาบิดาผู้มีอุปการะมาก ละหมู่ญาติออกมาได้ แล้วทำไมเจ้าจึงละความโกรธที่เป็นศัตรูทำความพินาศใหญ่ให้มิได้ล่ะ" หรือ "คนที่ถูกโกรธเขาไม่รู้เรื่องด้วย เขาก็อยู่ของเขาตามสบาย แต่เราสิอยู่เป็นทุกข์เสียเอง, ศัตรูต้องการให้เจ้าเป็นทุกข์ เมื่อเราโกรธตอบเขา ก็เท่ากับเราเป็นทุกข์สมใจเขาแล้ว" ดังนี้เป็นต้น

๔.  พิจารณาตามหลักกรรมว่า แต่ละคนมีกรรมเป็นของตน เตือนตัวเองว่า

"ความโกรธนี้เป็นปัจจัยให้ทำอกุศลกรรมต่าง ๆ กรรมเหล่านั้นจักเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ตัวเรา เพราะเราเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน เป็นผู้รับมรดกของกรรม กรรมที่เกิดจากความโกรธนั้น ไม่เป็นไปเพื่อให้เราบรรลุธรรม หรือความเป็นพระราชา เป็นต้น ที่แท้มีแต่ทำให้เราเคลื่อนจากพระศาสนา และเข้าถึงทุกข์ในนรก เป็นต้น การโกรธเขาก็เป็นเหมือนการที่เราเอามือกอบอุจจาระหมายไปโปะใส่ผู้อื่น ตัวเรานี่แหละเหม็นก่อน"

๕.  พิจารณาพระจริยาวัตรในปางก่อนของพระพุทธเจ้า คือ ระลึกถึงตัวอย่างความเสียสละของพระองค์ ตั้งแต่ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ เช่น ในชาดกหลายเรื่องพระองค์ได้ทรงสละชีวิต ช่วยเหลือแม้ผู้เป็นศัตรู ทรงชนะใจเขาด้วยความดี

เช่น สมัยเป็นพระเจ้าสีลวโพธิสัตว์ ทรงถูกยึดพระราชอำนาจ ศัตรูจับพระองค์ฝังดินให้เหลือแค่คอ ทรงใช้อุปบายให้สุนัขจิ้งจอกคุ้ยดินจนหลุดรอดมาได้ ต่อมา พระองค์ก็ลอบเข้าห้องบรรทมของพระราชาผู้เป็นศัตรูด้วยอานุภาพของยักษ์ แต่พระองค์ก็ไม่ทรงทำร้าย ทรงปลุกให้ตื่นแล้วสัญญาเป็นพระสหายกัน

หรือสมัยเป็นขันติวาทีดาบส (บำเพ็ญขันติบารมี) ถูกพระราชากลาพุโบยด้วยหวาย ตัดมือและเท้าด้วยดาบ ก็ไม่ทำความโกรธให้เกิดขึ้นแก่พระราชา

ตัวอย่างเหล่านี้ เป็นกำลังใจให้สามารถดำรงตนอยู่ในความดีคือความไม่โกรธได้

๖.  พิจารณาถึงความที่เคยเกี่ยวข้องกันในสังสารวัฏ ดังที่ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ผู้ไม่เคยเป็นมารดา ไม่เคยเป็นบิดา ไม่เคยเป็นพี่น้องชาย ไม่เคยเป็นที่น้องหญิง ไม่เคยเป็นบุตร ไม่เคยเป็นธิดากันนั้นหาได้ยาก" พึงนึกว่าเขากับเราก็คงเป็นญาติพี่น้อง มีอุปการะกันา ไม่ควรจะมาโกรธกัน

๗.  พึงพิจารณาอานิสงส์แห่งเมตตา คือ พึงมีเมตตาจิตต่อกันและกัน ดีกว่าโกรธอาฆาตมาดร้ายกัน ทั้งเมตตานี้ก็มีอานิสงส์มาก เช่น ทำให้หลับและตื่นเป็นสุข เป็นต้น

๘.  พิจารณาแบจำแนกแยกธาตุ คือ มองให้เห็นความจริงว่า ที่เราโกรธกันวุ่นวายไปนั้น ความจริงแล้วมีแต่สิ่งที่คิดสมมติกันว่าเป็นสัตว์ บุคคล เป็นผู้นั้นผู้นี้ แท้จริงแล้วมีแต่เพียงอาการ ๓๒ เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น มีแต่ธาตุต่าง ๆ เช่น ธาตุดิน และธาตุไฟ เป็นต้น มีแต่ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ประชุมกัน เราโกรธอะไรล่ะ? โกรธผมหรือ? ขนหรือ? หรือว่าโกรธธาตุดิน? ดังนี้เป็นต้น จะเห็นว่าความโกาธไม่มีฐานที่ตั้งอะไรเลย

๙.  พึงให้ทานหรือการแบ่งปันสิ่งของแก่กัน คือ พึงให้และแบ่งปันสิ่งของของตนแก่คนที่ไม่ถูกกันกับตน และพึงรับสิ่งของจากคู่ปรปักษ์นั้น เพื่อเป็นการแสดงไมตรีจิตต่อกัน ช่วยให้จิตอ่อนโยน เข้าใจ เห็นใจกัน ความโกรธเลือนหาย ความรักเกิดแทน ศัตรูก็มาเป็นมิตร๑
___________________ ______
๑ ดูวิสุทธิมรรค ๒/๑/๑๕๗-๑๘๐


วิธีดับโกรธที่สมเด็จพระสังฆราชทรงแนะ

...วิธีที่จะแก้ความโกรธให้เกิดผลรวดเร็ว ไม่ชักชามีอยู่ว่า ให้พยายามทำสติให้รู้ตัวเมื่อความโกรธเกิดขึ้น คือ เมื่อโกรธก็ให้รู้ว่าโกรธ และเมื่อรู้ว่าโกรธแล้ว ก็ให้พิจารณารูปร่างหน้าตาของความโกรธ ให้เห็นว่าเป็นความร้อน เป็นความทุกข์ จนกระทั่งถึงให้รู้ว่าเป็นอารมณ์ที่ไม่พึงปรารถา

ให้มีสติพิจารณาอยู่เช่นนั้น อย่าให้ขาสติ เพราะเมื่อขาดสติเวลาโกรธจะไม่พิจารณาเรื่องดังกล่าว แต่จะต้องออกไปพิจารณาเรื่องหรือผู้ที่ทำให้มีความโกรธ และก็จะไม่เป็นการพิจารณาเพื่อให้ความโกรธลดน้อย แต่จะกลับเป็นการพิจารณาให้ความโกรธมากขึ้น เหมือนเป็นการเพิ่มเชื้อให้แก่ไฟ จึงต้องพยายามทำสติ ควบคุมสติให้พิจารณาเข้ามาแต่ภายในใจเท่านั้น ให้เห็นความโกรธ ดูอยูแต่รูปร่างหน้าตาของความโกรธเท่านั้น

การทำเช่นนั้น ท่านเปรียบว่าเหมือนขโมยที่ซุกซ่อนอยู่ เมื่อมีผู้มาดูหน้าตาก็จะซุกซ่อนอยู่ต่อไปไม่ได้ ต้องหนีไป ฉันใด ความโกรธก็เช่นกัน เมื่อเกิดขึ้นแล้วถูกจ้องมองดูอยู่ ก็เหมือนขโมยที่มีผู้มาดูหน้า จะต้องหลบไป เมื่อความโกรธหลบไป หรือระงับลง ความร้อนก็จะไม่มี ใจก็จะสบายได้โดยควร

การพิจารณาดูหน้าตาของความโกรธจึงเป็นวิธีแก้ที่ตรงที่สุด และจะให้ผลรวดเร็วที่สุด เป็นการบริหารจิตที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่งประการหนึ่ง

เริ่มต้นที่ความตั้งใจ
ขั้นต้น ต้องพยายามไม่ให้โทสะเกิดขึ้นอีกง่าย ๆ เช่น พยายามไม่ให้เกิดโทสะในเวลาขับรถ ต้องอาศัยสติเป็นสำคัญ คือก่อนจะขึ้นประจำที่นั่งในรถทุกครั้ง ต้องตั้งใจทำสติให้ได้ว่าจะไม่โกรธเลยในระหว่างที่ขับรถอยู่ จะใจเย็น เช่นนี้แล้วขณะที่ขับรถอยู่ แม้จะมีอะไรมาทำให้โกรธ ก็จะสามารถรักษาจิตไม่ให้โกรธได้ดีกว่าการไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อนเลยว่าจะไม่โกรธ ถึงแม้ว่าจะโกรธบ้าง ก็จะโกรธน้อยกว่าไม่ตั้งใจไว้ก่อน ดังนั้น ก่อนจะขึันรถทุกครั้งจึงควรทำสติให้เกิดขึ้น...

แต่ถ้ามีเหตุผลประกอบการตั้งใจว่าจะไม่โกรธด้วย ก็จะได้ผลดียิ่งขึ้น เพราะเหตุผลสำคัญเสมอ เมื่อประกอบด้วยเหตุผลที่ถูกต้องแล้ว ย่อมยอมรับด้วยดี ไม่คำนึงถึงอย่างอื่น เช่น เมื่อตั้งใจจะไม่โกรธเวลาขับรถ ก็ให้ยกเหตุผลขึ้นประกอบด้วยว่า บรรดาคนที่ขับรถคับคั่งอยู่ในถนนทั้งหลายนั้น บางคนอาจจะกำลังมีธุระร้อนจริง ๆ ใครสักคนอาจจะกำลังต้องการความช่วยเหลืออย่างรีบด่วนจากเขา เขาอาจจะกำลังไปตามหมอเพราะมีคนเจ็บหนัก...ดังนี้เป็นต้น

อภัยได้ก็หายโกรธ
...ผู้มีธรรมถือเหตุผลเป็นสำคัญเสมอ ไม่ว่าใครจะทำผิดมาแล้วมากน้อยเพียงไหน หากเห็นเหตุผลที่กระทำไปเช่นนั้น จักอภัยให้ได้อย่างง่ายดาย การตั้งใจที่จะไม่โกรธขณะขับรถ พร้อมกับใช้ปัญญาหาเหตุผลมาประกอบเพื่อไม่ให้เกิดความโกรธ ก็คือการตั้งใจจริงที่จะเข้าใจเหตุผลความจำเป็นของคนที่ขับรถอย่างชวนให้โกรธ เมื่อเห็นเหตุผลความจำเป็นของเขาแล้ว ก็จะอภัยให้ได้ ไม่โกรธ การฝึกใจไม่ให้โกรธ จึงเท่ากับเป็นการฝึกให้อภัยในความผิดของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่รู้จักหรือไม่รู้จักก็ตาม นับเป็นการบริหารจิตอย่างยิ่งวิธีหนึ่ง ที่จะให้ผลดีแก่ผู้บริหารเอง..๑
___________________ ___
๑ ความสุขหาได้ไม่ยาก / ๗๐-๗๕


ฟัง...นักปราชญ์พูดถึงความโกรธ

"ความโกรธเกิดจากความไม่อดทนทีแรกเป็นของน้อย แต่ภายหลังเป็นของมาก ย่อมเจริญขึ้นโดยลำดับ ความโกรธมักทำความเกี่ยวข้อง มีความคับแค้นมาก เพราะฉะนั้น ขัาพเจ้าจึงไม่ชอบใจความก่อน วาจาของผู้ประกอบด้วยโทสะ เป็นวาจาหยาบคาย ถัดจากนั้นก็เกิดปรามาส ถูกต้องกัน ต่อจากนั้นก็ชกต่อยกันด้วยมือ ต่อไปก็จับท่อนไม้เข้าทุตีกันจนถึงจับศัสตราเข้าฟันแทงกันเป็นที่สุด โทสะเกิดจากความโกรธ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ชอบใจความโกรธ"
โพธิสัตว์ภาษิต กัณหชาดก ข้อ ๑๓๓๔-๕

"พระองค์อย่าทรงละเลยกุศล อย่าทรงปล่อยพระทัยให้เกรี้ยวกราดนัก เพราะว่าสกุลที่มั่นคงเป็นอันมาก ได้ถึงความไม่เป็นสกุลเพราะความโกรธ"
เตสกุณชาดก ข้อ ๒๔๔๒

"ที่ไหนความโกรธ จะพึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่โกรธ ผู้ฝึกตนแล้ว...ถ้าความโกรธเกิดขึ้น จงระลึกถึงพระโอวาทอันอุปมาด้วยเลื่อย (แม้ใจจะเลื่อยตัวเรา ก็ไม่ทำความโกรธใส่โจร) ถ้าตัณหาเกิดในรส (อาหาร) จงระลึกถึงพระโอวาทอันอุปมาด้วยเนื้อบุตร (ที่ตายระหว่างเดินข้ามทางกันดาร มาดรบิดาต้องกินเนื้อบุตรนั้น เพื่อให้ข้ามพ้นไปได้) ถ้าจิตของท่านแล่นไปในกามและภพทั้งหลาย จงรีบข่มเสียด้วยสติ เหมือนคนห้ามสัตว์เลี้ยงดื้อที่ชอบกินข้าวกล้า ฉะนั้น"
พรหมทัตเถรคาถา ข้อ ๓๕๘

"นับแต่เราออกบวชเป็นบรรพชิต เราไม่รู้สึกถึงความดำริไม่ประเสริฐอันประกอบด้วยโทษเลย ในระยะกาลนานที่เราบวชอยู่นี้ เราไม่มีความดำริขอให้สัตว์เหล่านั้นจงถูกฆ่า ถูกเบียดเบียน หรือได้รับทุกข์ เรารู้สึกแต่การเจริญเมตตาอันหาประมาณมิได้..."
เรวตเถรคาถา ข้อ ๓๘๑

"จิตของใครตั้งมั่นไม่หวั่นไหวดังภูเขา ไม่กำหนดแล้วในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนด ไม่ขัดเคืองในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง ผู้ใดอบรมจิตได้อย่างนี้ ทุกข์จักมาถึงผู้นั้นแต่ที่ไหน?"
ขิตกเถรคาถา ข้อ ๒๙๓

"เราเป็นผู้มีจิตอันโทสะไม่กระทบกระทั่ง เป็นผู้อันมารนำไปไม่ได้ง่าย เราไม่โกรธมานานแล้ว ความโกรธย่อมไม่ตั้งอยู่ในเรา ถึงเราโกรธก็ไม่กล่าวคำหยาบ และไม่กล่าวคำไม่ชอบธรรม เห็นประโยชน์ของตน จึงข่มตนไว้"
พุทธพจน์ สํ.ส. ข้อ ๙๙๙

ความหมายอักษรย่อ
ขุ.อิติ. - ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ    ขุ.ธ. - ขุททกนิกาย ธรรมบท    ขุ.ชา. - ขุททกนกาย ชาดก   ขุ.เถร. - ขุททกนิกาย เถรคาถา    สํ.ส. - สังยุตตนิกาย สคาถวรรค   สํ.ลฬ. - สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค   ม.มู. - มัชฌมนิกาย มูลปัณณาสก์   ม.อุ. - มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์   องุ.ติก. - อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต   องุ.จตุกุก. -  อังคุตตรนิกาย จตุกุกนิบาต   องุ.ปญฺจก. - อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต   องุ.ทสก. - อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต   อภิ.วิ. - อภิธรรมปิฎก วิภังค์   ที.อ. - อรรถกถาทีฆนิกาย   สุตฺต.อ. - อรรถกถาสุตตนิบาต   องุ.อ. - อรรถกถาอังคุตตรนิกาย...

ที่มา ธรรมะออนไลน์