หัวข้อ: ธารแห่งธรรม หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร เริ่มหัวข้อโดย: kittanan_2589 ที่ พฤศจิกายน 09, 2011, 03:06:37 pm ธารแห่งธรรม
หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 005176 โดยคุณ : mayrin [ 9 พ.ค. 2545] เนื้อความ : *********************************************************** นักปฏิบัติอย่าหลงกิเลสอย่างละเอียด ให้รู้ปัญญาอริยสัจให้มากๆ ประกอบความเท็จจริง อริยสัจและไตรลักษณ์มีขอบเขตล้างกิเลสทั้งหลายให้พินาศไป เมื่อเห็นความไม่เที่ยงแล้ว จะเห็นความเที่ยงของจิตที่กลั่นมา ความไม่เที่ยง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา ปฏิบัติทำให้เข้มแข็งต่อการทรมานจิตของตน ไม่ให้กระทบกระเทือน อัตตกิลมถานุโยคและกามสุขลลิกานุโยคโดยให้เป็นสายกลาง อยู่วิเวกคืออยู่ป่านั้นสบายที่สุด สุขที่สุด อยู่กรุงเทพ ฯ ทุกข์ที่สุด ทุกข์ทั้งกายทั้งวาจา ทุกข์ทั้งใจ จะเอาเงินมาให้วันละหมื่นๆ ก็ไม่ต้องการเสียแล้ว การที่อยู่กรุงเทพฯ เป็นการจำเป็นอดทนเพราะเห็นแก่ศาสนา การภาวนากองลม เป็นใหญ่กว่ากรรมฐาน ๔๐ ทัศ เพราะลมหายใจพัดไปทั่วสกลกาย เกิดธาตุรู้ทั่วไปของร่างกายดีกว่ากรรมฐานส่วนอื่นๆ ลมหยาบ ลมอย่างกลาง ลมอย่างละเอียด มีการเข้าออก รู้ด้วยสติสัมปชัญญะ ฟอกให้บริสุทธิ์หมดจดเป็นอย่างดี ลมเป็นอาหารของร่างกาย สติเป็นอาหารของจิต ความดีเป็นอำนาจยิ่งกว่าสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น อำนาจไตรลักษณ์ที่บุคคลชำนิชำนาญแล้ว ไม่มีเวลาดับ สว่างเรื่อยๆ เพราะกำจัดมืดคืออวิชชา กำจัดมืดเป็นสมบัติของพระอริยเจ้า จิตคงที่ จิตไม่กลับกลอก เพราะท่านมีญาณและมีปัญญา ผลิมาจากไตรลักษณ์ อมตจิตของพระอรหันต์ นิพพานธาตุตายไปแล้ว ตัวอมตะยังมีอยู่ ดุจบุคคลเขียนตัวอักษรไว้ในที่มืด จุดประทีปเสียก่อนเขียนแล้วดับไฟ มืดอยู่ก็จริง ตัวอักษรนั้นยังมีอยู่ฉันใด สิ่งที่รู้ด้วยปัญญาเอง เป็นอมตธรรม สติก็เรียกได้ เรียกนิพพานก็ได้ ต่อตายดับไปอมตธรรมยังมีอยู่ สัตว์เกิดมาในโลกมีนิมิต ๕ คือ ชีวิตนั้นกำหนดไม่ได้ พยาธิป่วยไข้กำหนดไม่ได้ ๑ กาลมรณะกำหนดไม่ได้ ๑ สถานที่ทิ้งศพกำหนดไม่ได้ ๑ คติที่จะไปเกิดภพหน้ากำหนดไม่ได้ ๑นี้แหละนักปราชญ์เขาไม่ไว้ใจในชีวิต ฯ สมบัติโลกีย์และโลกุตระเป็นของเก่าคือ พระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งหลาย โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ก็เอาของเก่ามาใช้ทั้งนั้น ๑ สมบัติของพระบรมจักรพรรดิเอาของเก่ารัตนแก้ว ๗ ประการมาใช้ทั้งนั้น ๑ สมบัติโลกีย์และโลกุตระไม่สูญไปจากโลก เป็นสมบัติประจำอยู่ในโลกนี้ทั้งนั้น สุคติ ทุคติ มีประจำอยู่เช่นนั้น ฯ ผู้เจริญภาวนาใช้อารมณ์ธรรมต่างๆ กัน แต่ละกิเลสอย่างเดียวกัน ดุจเสนาม้า เสนารถ เสนาเดินด้วยเท้า เพื่อทำสงคราม แต่เอาชัยชนะอย่างเดียวกัน พระอรหันต์ไม่รู้เป็นบางสิ่งบางอย่าง หลงสิ่งที่ไม่เคยได้สดับ หลงทิศที่ไม่เคยไปก็มี ในนามบัญญัติที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังก็มี ขีณาสพท่านไม่หลงรู้ไตรลักษณ์ ทำอาสวะให้สิ้น สัตว์เดรัจฉานเมื่อพักจิตแล้วก็ปฏิบัติตามกิเลสของตัว ส่วนมนุษย์นั้นนักค้นคว้า มีเพียร มีปัญญา อคฺคํ ฐานํ มนุสฺเสสุ เรื่องอดีตอนาคตเป็นเรื่องที่ยืดยาว เป็นตัววัฏฏะ เป็นนิวรรณธรรม ทำให้จิตเศร้าหมอง เรื่องปัจจุบันเป็นเรื่องสั้นๆ มีแต่กายกับจิตที่ประกอบไปด้วยไตรทวาร เป็น ทุกฺขํ อนิจฺจํอนตฺตา พระสรรเสริญปัจจุบัน ทำให้มากๆ เพื่อตรัสรู้สวรรค์ นิพพานการภาวนาชำระในดวงจิตนั้นเป็นมหากุศล พระไตรสรณาคมน์ดับทุกข์ได้นั้น เช่น บุคคลบางคนใจไม่ดีด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่งเมื่อเข้าไปวัดฟังเทศนาก็ใจดี ไม่อย่างนั้น เข้าสมาธิภาวนา กลับเป็นคนใจดี แลเห็นคุณและโทษได้ นี่แหละพระรัตนตรัยดับทุกข์ได้จริง ไม่อย่างนั้นบุคคลมีราคะโทสะ โมหะ มีทุกข์มาก เมื่อมาบวชแล้ว ภาวนาชำระกิเลสได้ ก็เป็นอันที่ดับทุกข์ได้จริง นักปฏิบัติต้องผ่านมาร ใกล้ต่ออันตรายมาก่อนทั้งหมดทีเดียว ต่อไปจิตจึงกล้า จึงอาจหาญ ปฏิบัติเห็นความจริงของศาสนา คนจะตายนั้นจิตกับรูปปรากฏในที่อื่น ภาวนาก็ดี รักษาศีลก็ดี บำเพ็ญทานก็ดี ทำได้ ทั้งคนจนก็ทำได้ คนโง่ก็ทำได้ คนฉลาดก็ทำได้ไม่เลือกกาลไม่เลือกเวลา ไม่เลือกสถานที่ ไม่เลือกบุคคล นั่ง นอน ยืน เดิน ทำได้หมดทั้งนั้น เป็นคติที่จะประพฤติในศาสนา ภายวิเวก จิตวิเวก อุปธิวิเวก เหล่านี้ดี ไม่ได้ยึดทั้งเหตุผล เมื่อรู้แล้วปล่อยตามสภาพที่เป็นเองของมัน ก็รู้แล้วสังขารทั้งหลายเป็นไตรลักษณ์อยู่แล้ว บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องของเขา เมื่อตายก็เป็นเรื่องของเขา บุญนั้นเป็นแก้วสารพัดนึก ความทุกข์บางอย่าง ถ้าไม่มีบุญแล้วช่วยไม่ได้จริงๆ ส่วนความทุกข์ธรรมดา ทุกข์หนาว ทุกข์ร้อน เป็นต้น ดังนี้ คนจนเขาก็ช่วยตนเองได้ บุญ บุญนี้ไม่เป็นของที่จะซื้อขายได้ หรือขอกันได้ เป็นของประจำใจทุกๆ คน ไม่เหมือนสิ่งภายนอก เช่นอยู่กรุงเทพฯ บางคนขอทานทั้งผัวทั้งเมียทั้งลูกขอจนเป็นเศรษฐี บุญนี้ไม่เป็นเช่นนั้น การผิดถูกอย่างไร ข้อปฏิบัติอย่าให้ผิดธรรมวินัย ก็เป็นอันที่แล้วกัน ธรรมวินัยเป็นรากแก้วของศาสนา เป็นปฏิปทา ปฏิบัติให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวง ศาสนาเป็นของจริงตามอริยสัจ จะคดโกง ไปทางอื่นไม่ได้ ธรรมวินัยเป็นของจริงสวรรค์นิพพานเป็นของจริง นอกนั้นเป็นของปลอม ปฏิบัติไปได้ทุคติ ของจริงเป็นปรมัตถ์ ในศาสนา จริงวิมุตติ รวม ๒ อย่าง การเดินของจิตเป็นเรื่องมรรค เมื่อเดินสิ้นกิเลสแล้วเป็นวิมุตติ ผู้ที่ถือราคะ โทสะ โมหะ อยู่เช่นนี้ นับว่ายังวุ่นวายอยู่ในโลก เป็นเรื่องที่ไม่สิ้นสุด ราคะ โทสะ โมหะ เป็นเรื่องของชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ ทำให้หมุนเวียนอยู่ในวัฏสงสารไม่มีที่สุด น้ำพระทัยของพระพุทธเจ้าเป็นของที่ประเสริฐ มีพระมหากรุณาสั่งสอนสัตว์ให้สิ้นทุกข์ได้ การเทศนาของพระองค์เป็นอัศจรรย์ ไตรทวารของพระองค์เป็นอัศจรรย์กำลัง ๑๐ คือ ทศพลของพระองค์เป็นอัศจรรย์ ซึ่งได้นามตามอรรถว่า อัจฉริยมนุษย์เมื่อคราวพระองค์เปล่งสีหนาทในท่ามกลางบริษัท ไม่มีใครคัดค้านได้ ความรู้ของพระองค์เป็นอนันตนัยหาประมาณมิได้ มนุษย์ เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ นาค ครุฑ สู้พระองค์ไม่ได้ จึงได้นามตามอรรถว่า ศาสดาเอก แปลว่าหนึ่งไม่มีสอง ซึ่งเป็นพระบรมครูของโลกทั้งหลาย แม้สำเนียงเสียงของพระองค์ตรัสก็เป็นอัศจรรย์ดุจเสียงพรหม หรือ ดุจเสียงนกการเวก เพราะจับใจยิ่งหนักหนา เป็นที่ชักจูงน้ำใจของสัตว์ให้ยินดีตาม ตรงกับสำเนียงเสียง พอพริกพอเกลือ มีรสชาติ โอชะ โอชารส แก่ผู้ที่ได้สดับฟังเป็นอย่างยิ่ง เมื่อภาวนาพิจารณาแยบคายแล้ว สังขารโลกปลงให้เข้าเสียแล้วแต่เขาจะแก่ เจ็บตาย เป็นเรื่องของเขา รีบเดินมรรคให้พ้นไปจากสังขารโลก เพราะสังขารโลกเป็นภัยใหญ่โต จะอยู่ไปก็เป็นเรื่องของเขา จะตายก็เป็นเรื่องของเขา แต่ภาวนาความรู้ความเห็นในอมตธรรมนั้นให้มาก นั้นเองเป็นวิหารธรรมที่พึ่งของจิตเมื่อตายแลอันนี้เองจะไปเกิดในที่ดี แปลว่าไม่อุทธรณ์ร้อนใจในความแก่ เจ็บ ตาย นั้นเป็นเรื่องของสังขารโลก เมื่อรู้เท่าแล้ววางเฉยเป็นความสุขอย่างยิ่ง ถ้ามีความรักความชังอยู่นั้นเป็นทุกข์อย่างยิ่งเพราะยินดียินร้ายในเรื่องนั้น แปลว่า เจ็บ แสบ ร้อนไปด้วยเขาจึงเป็นทุกข์ การเดินธุดงค์เที่ยววิเวกในที่ทั้งปวง ขออย่าให้ติดตระกูล ติดอาวาส ติดอาหารติดอากาศ ฐานะทั้ง ๔ นี้เป็นเครื่องผูกมัด พระโยคาวจรเจ้า เรื่องนี้ไม่ควรสนใจ ทำเหมือนพระมหากัสสปเถรเจ้า ไม่ติดในที่ทั้งปวง พระเถระไปมาในทิศทั้งปวงไม่ขัดข้อง ดุจนกบินไปในเวหาที่มีกิจอันน้อยฉะนั้น เมื่อติดแล้วพยายามถอนตัวออกในฐานะทั้ง ๔ นี้ จิตเกษม ศีลกับสมาธิปราบกิเลสอย่างหยาบและอย่างกลางเท่านั้น แต่กิเลสอย่างละเอียดนั้นปราบด้วยปัญญา นักค้นคว้าหาเหตุผลด้วยกำลังไตรลักษณ์ ประหารกิเลสเหล่านั้นให้สิ้นไปจากสันดาน ธรรมดาของจิตติดกายว่าสวยงาม ใช้ปัญญาแยกส่วน แบ่งส่วนของกายให้เห็นเป็นปฏิกูลโสโครก ให้ชำนิชำนาญโดยยิ่ง เมื่อเหนื่อยแล้วเข้าพักในสมาธิ หายเหนื่อยแล้วก็ใช้ปัญญาค้นธาตุเรื่อยๆ ทั้งนั่ง นอน ยืน เดิน จนสิ้นราคะ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นสมุจเฉทปหาน อย่าไปติดสุขในสมาธิในฌานสมบัติอย่างเดียว อย่าไปติดปัญญาอย่างเดียว จิตฟุ้งซ่าน สมาธิหนุนปัญญา ปัญญาหนุนวิโมกข์วิมุตติ เมื่อถึงวิโมกข์วิมุตติแล้ว จิตพ้นจากกิเลสเท่านั้น ภิกษุมีมิตรดี มีสหายดี อันนี้เป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า อสุภะแก้ราคะ เมตตาแก้โกรธ อานาปาแก้วิตกวิจารณ์ อนิจจสัญญาแก้ถอนทิฐิมานะอนัตตาพึงเห็นตั้งใจไว้โดยดี ความถอน อัสมิมานะ ขึ้นเสียได้เป็นนิพพาน ปัญญาเลิศกว่าสิ่งทั้งปวง ภาวนาให้ดูอสุภะ ไม่ให้ดูนิมิต ไม่ให้ดูพยัญชนะ ต่อนั้นพากเพียรอสุภะ ตั้งแต่อรุณขึ้นมาถึงพลบค่ำเวลา ๑ ตั้งแต่พลบค่ำไปถึงยาม ๑ ยามกลางคืนตั้งแต่ ๔ ทุ่มไปถึง ๘ ทุ่ม นั้นนอน นอกนั้นลุกขึ้นภาวนาตลอดสว่างแข่ง ๓ เวลานี้ ใช้ชีวิตเป็นไปด้วยวิธีนี้ ธรรมดาวัฏสงสารย่อมหาต้นหาปลายนั้นไม่พบ เป็นของที่ช้านานนั้นหนักหนา หาต้นหาปลายไม่ได้ มีแต่พระอริยเจ้าเพราะท่านทำวัฏฏะให้สิ้น ให้สิ้นกิเลสเกิดไม่ได้ สละชีวิตอุทิศไว้ในศาสนา เป็นปรมัตถบารมี มีธรรมอย่างอุกฤษฏ์ ควรแก่มรรคผลนิพพาน บรรดาพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าสงวนนัก เพราะสุคติเป็นของประเสริฐยิ่งกว่าทุคติ บรรดาสัปปุรุษสนใจเรื่องศาสนามากกว่าสิ่งอื่นในโลก การพักจิตของธรรมทั้งหลาย การค้นกายและจิตด้วยไตรลักษณ์เป็นกำลังของปัญญาทั้งหลายการรักษาศีลไม่ให้ด่างพร้อยเป็นกำลังของสมาธิทั้งหลาย รวมความว่ารักษาศีลดีแล้ว หนุนสมาธิ การทำสมาธิดีแล้วหนุนปัญญา ปัญญาดีแล้วหนุนวิโมกข์วิมุตติ ธรรมดาพระขีณาสพท่านไม่ถือนิมิตที่เป็นกุศลและอกุศลไว้ในดวงจิตนั้น หามิได้ ท่านประพฤติแต่อมตธรรม หาได้เดินผิดตามสมณะอื่นนั้นหามิได้ ท่านเดินตรงตามอริยสัจเท่านั้น ความรู้ของฤๅษี รู้จุติ รู้ปฏิสนธิ รู้จิตของคนอื่นก็ดี แต่ไม่รู้อริยสัจให้สิ้นกิเลส เพราะฉะนั้นความรู้ฤๅษีประกอบไปด้วยกิเลส อยู่สถานที่เป็นมงคลต้องตรวจวินัยให้บริสุทธิ์ ข้อวัตรให้เคร่งครัด แผ่เมตตาจิตถึงเทพและอมนุษย์เสมอ เพื่อหายกลัวทำความคุ้นเคยกับเจ้าถิ่น เวลาน้อมจิตเข้าไปถึงหลัก จิตสว่างไสวมุทิตาเบาจิต ตรวจปฏิภาค อุคหนิมิตแจ่มแจ้งดี จิตสู่วิปัสสนา เพื่อความรู้เท่า สังขารนำมาซึ่งความเย็นใจและความสงบ ให้รู้เท่าทันวิมุตติกับสมมุติ วางตัวเป็นกลาง ปฏิบัติรู้ธรรม โดยความเป็นจริง ไม่เหยียบย่ำอนัตตาลง ยกอัตตาขึ้น ซึ่งเป็นยกข้างออกข้าง จักรอบรู้ธรรมได้อย่างไร อย่ารู้โลกแล้วหลงธรรม ดุจข้ามแม่น้ำด้วยเรือ ถึงฝั่งแล้วปล่อยเรือ ไม่แบกหามเรือไปด้วย อัตตาเหมือนคลื่นหรือสัตว์ร้ายในน้ำ อนัตตาเหมือนเรือขี่เดินทาง เมื่อถึงฝั่งแล้วปลอดภัย ทิ้งเรือแล้วไปดังนี้ ไม่ควรยึดถือไว้โดยทั้งปวง สมบัติพระบรมจักรพรรดิได้ทั้งสาวกและพระโพธิสัตว์ที่กำลังสร้างบารมี ที่เกิดภพน้อยภพใหญ่ กว่าบารมีจะแก่กล้าตรัสรู้ การก่อสร้างบารมีก็ดี การตรัสรู้ก็ดี ล้วนแต่ทำกรรมที่ดี ในมนุษย์ทั้งนั้น แม้นรกเปรตอสุรกายก็ดี ล้วนแต่ทำชั่วในมนุษยโลกนี้ทั้งนั้น พระอริยเจ้าจิตของท่านแนบสังขารในอวัยวะสังขารของท่านแปรอยู่เสมอ รู้ทั้งเกิดและดับทุกวาระจิตไม่มีเผลอ และท่านรู้เท่าสังขารทุกส่วน จึงเรียกท่านมีสติอันไพบูลย์ คือมีสติเต็มที่ ฉะนั้นภายในจิตท่านไม่มีนึกคิดในทางที่ผิด และท่านไม่ทำบาปในที่ลับและที่แจ้ง เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ทั้งหลายท่านไม่มีโทษ ท่านรู้แจ้งอริยสัจอยู่ทุกเมื่อทุกขณะ วิธีแก้บ้าคือให้ชำนิชำนาญ อนุโลมปฏิโลมของจิต ทวนกระแสเข้าจิตเดิม วางอุเบกขาต่ออารมณ์ทั้งหลาย ๑ สำคัญว่านิมิตทั้งหลายเป็นอาการของจิตนั้น ๑เป็นของไม่เที่ยง ๑ ให้ยกเป็นธรรมาธิษฐานในนิมิตนั้นสอนจิต ๑ อย่าสำคัญนิมิตทั้งหลายเป็นของดี ๑ อาการเหล่านี้แต่ละอย่างๆ ล้วนแต่แก้นิมิตบ้าทั้งนั้น หลักสำคัญแก้ได้ด้วยไตรลักษณ์ลบล้างนิมิตทั้งหลายได้ พิจาณาการตาย เมื่อตายแล้วจิตออกมาให้ปรากฏเป็นลักษณะอย่างนั้นๆ พิจารณากระดูกและลมหายใจทะลุออก ทุกเส้นขนนั้นดี เพื่อละอุปทาน จิตไม่ติดต่อกับธาตุอันอื่น รู้เฉพาะในดวงจิตอย่างเดียว โรคก็หาย นี้เป็นตบะอย่างยิ่ง ควรสนใจให้มาก บุคคลจิตไม่มีธรรมเป็นเครื่องข่มแล้ว วันหนึ่งๆ คิดไปตั้งร้อยแปด เป็นนิสัยของปุถุชน เพราะอย่างนั้นคติของปุถุชนนั้นเอาแน่ไม่ได้ เมื่อตายไปแล้วจะไปสุคติหรือทุคติ พระพุทธเจ้าในอดีต อนาคต ปัจจุบัน สามารถประดิษฐ์พระธรรมขึ้นเป็นธรรมนิยานิกธรรมพระองค์ไม่นิ่งดูดาย ได้ประกาศธรรมคำสั่งสอน ให้สัตว์ปฏิบัติตามได้มรรคผล พระองค์เพียรจาริกอนุสาสนีสั่งสอนเวไนยสัตว์ ด้วยมหากรุณาอันยิ่งแท้ที่จริงพระธรรมเกิดก่อน ตั้งแต่พระองค์ไม่ได้เกิด แต่ไม่มีใครประดิษฐ์ขึ้นได้นอกจากพระองค์ไปแล้ว ภาวนามรณสติหรือภาวนาบทอื่นๆ สติให้ระลึกทุกลมหายใจจึงไม่ประมาท ถ้าอ่อนกว่านั้นประมาท ทุกลมหายใจนั่นแหละ จึงทันกับสังขารแปรปรวนทุกลมหายใจนั้นทีเดียว พิจารณาขันธ์ ๕ เห็นว่าไม่เที่ยง เพราะเป็นอย่างนั้นแล้วก็หาเป็นอย่างนั้นอีกไม่ เป็นของยืมเขามาเป็นทุกข์ เพราะเกิดขึ้นแล้วแปรปรวนเสื่อมสิ้นไปเป็นอนัตตา เพราะไม่อยู่ใต้อำนาจบัญชาของใคร ว่างเปล่าไม่มีเจ้าของ ขันธ์ ๕ จึงเป็นของน่าเบื่อหน่าย เป็นเหมือนเรือนกำลังถูกไฟไหม้ ขันธ์ ๕ เป็นก้อนทุกข์ การได้พิจารณาเนืองๆ ในความเกิด แก่ ตาย เมื่อได้เกิดสังเวชใจอ่อน ไม่กล้าทำบาปน้อยใหญ่ รีบเร่งทำกุศลสิ่งเดียวเพราะอายุน้อย ตายเร็วพลัน ภาวนาอารมณ์นั้นๆ แก้จิตของเราแก้อยู่ พิจารณาอามรณ์นั้นให้มากๆ เพื่อความแยบคายด้วยอำนาจไตรลักษณ์ ความรู้จึงกว้างขวาง ความรู้จึงแจบจมดี พาหุลีกโต ทำให้มากๆ ให้เป็นสันทิฐิโก เห็นธรรมความแปรปรวนด้วยญาณทัสนะเห็นด้วยปัจจัตตัง เฉพาะในดวงจิตเมื่อเห็นพระนิพพานนั้นแล้ว จิตสงบเอง ไปเอง รู้เอง ละเอง วางเอง ประหารเอง มีปฏิภาณเอง นี้เป็นความรู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมทั้งปวง เมื่อเห็นเช่นนั้นก็เกิดความเบื่อหน่ายไม่ถือมั่นในสังขารทั้งปวง จิตเกษม ของจริงมีอยู่ โลกเดินอยู่ ในโลกปรากฏอยู่ ในโลกมีเกิดตายอยู่ ในโลกไม่มีที่สิ้นสุดโดยไม่รู้ต้นไม่รู้ปลาย เป็นของเที่ยงเวียนว่ายอยู่ในโลกเรื่อยๆ เป็นของตักเตือนจิตโดยไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์ ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา หวั่นไหวแปรทั้งภายนอกภายในอยู่อย่างนั้น ทั้งยืนเดิน นั่งนอน ทั่วสากลพิภพ ไม่มีเวลาจบสิ้น อริยสัจมีแทบทุกทิศทุกทาง มีข้างบนข้างล่าง ระหว่างกลาง สะท้อนสะเทือนอยู่อย่างนั้นไม่มีเวลาหยุดยั้ง กล้องถ่ายรูปต้องถ่ายในที่สงัด จึงแจ่มแจ้งดี เพราะสภาพทั้งหลายเป็นของนิ่ง เป็นของสงบวิเวก เห็นแต่ความแปรปรวน ของสังขาร เป็นธรรมเทศนา การภาวนาเป็นเครื่องจูงใจในอารมณ์ที่คุ้นเคยในกรรมฐาน กระดูกและลมหายใจเป็นคู่กันมีสมาธิเป็นแนวหน้า มีปัญญาเกิดทีหลัง ด้วยค่อยแก้ค่อยไขส่วนร่างกายให้เห็นไตรลักษณ์เป็นขันธ์แปรปรวนอยู่เสมอ ลมฟิ๊ดออกพิจารณาหาอาสวกิเลสพิจารณา กระดูกให้เห็นแยกออกจากกันเป็นส่วนๆ ด้วยญาณทัสนะ ด้วยความจริงใจในสังขารทั้งปวง ให้เห็นใจมาตั้งอยู่ในอมตธรรม ให้เดินอารมณ์ทั้งสองอย่างนี้เป็นนิจ จิตภาวนาไตรลักษณ์ได้รอบคอบไว้ดีแล้ว ไม่มีอาการส่งจิตไปนอกกาย ไม่อย่างนั้นจิตส่งไปอื่น หาปัญญาทางอื่นนอกกายแล้ว ไม่แน่นแฟ้นเหมือนหาปัญญาทางภายใน เห็นระยะใกล้ ดีกว่าเห็นไกล เห็นไกลเป็นวิปัสสนู เห็นใกล้เป็นวิปัสสนา น้อมไปน้อมมานั้นเป็นจิตหยาบอยู่พิจารณาเห็นโดยเห็นภายใน ภายในนั้นเป็นจิตละเอียด ใกล้ต่อมรรคผล เมื่อเห็นภายในแล้ว น้อมไปนอกไปในได้เสมอกัน แต่ให้เห็นภายในจนชินเสียก่อน จึงน้อมไปเห็นนอกจึงไม่มีสัญญาอารมณ์มาก คนตระหนี่ย่อมเกิดในสภาพที่ยากจน คนไม่ตระหนี่บำเพ็ญทานเสมอ ย่อมเกิดในสภาพที่มั่งคง กามทั้งหลายตระการหวานชื่นใจ ย่อมย่ำยีจิตให้ผิดรูป บุคคลเห็นโทษของกามแล้ว พึงอยู่คนเดียวดุจนอแรด ทรมานตนตบะอย่างยิ่งให้ถึงอมตธรรม กามทั้งหลายมีทุกข์มาก มีความสุขน้อย ทุกข์จะน้อยกว่ากามไปไม่มี ผู้ใดชอบเสพกามผู้นั้นย่อมเข้าถึงนรก บุคคลทำบุญทำบาปนี้เป็นตัวกรรมติดตามตัวต่อไปข้างหน้าดุจเงาติดตามตัว ดุจเกวียนติดตามรอยเท้าโคฉะนั้น เพราะฉะนั้นเกรงกลัวกรรมที่เป็นบาป สมบัติของมนุษย์ไม่เป็นของสำคัญ คนโง่ คนขโมย คนมิจฉาทิฐิเขาหาได้ แต่มนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติ คนไม่มีศีล นั้นหาไม่ได้ ภาวนากองลมทำงาน จิตก็ทำงาน ให้รู้อยู่ในกองลม ทุกข์สอนร่างกาย มี ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา ปรากฏเรื่อยๆ ได้ชื่อว่าฟังธรรมเรื่อยๆ รู้เรื่อยๆ จิตทำความดิ้นรนคิดจะต้องพ้นเรื่อยๆ คือพ้นทุกข์ พระโยคาวจรเจ้า ควรเพ่งกายเป็นไตรลักษณ์ เป็นโรค ดุจหัวฝี เป็นลูกศร เป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ เป็นของลำบาก เป็นของแปรปรวน เป็นของแตกหัก เป็นของจัญไร เป็นอุบาทว์ เป็นภัย เป็นอุปสรรค เป็นของหวั่นไหว เป็นของผุพัง เป็นของไม่ยั่งยืน เป็นของไม่มีที่หลบหลีกไม่ต้านทาน ไม่เป็นที่พึ่งอาศัย เป็นของว่างเปล่าเป็นของมีโทษ เป็นของแปรปรวนเป็นธรรมดา เป็นเหยื่อแห่งมาร เป็นของน่าสงสาร อานิสงค์แผ่เมตตาจิต หลับตื่นเป็นสุข ไม่ฝันร้าย มนุษย์เทวดารักใคร่ เทวดาย่อมรักษา พิษสาตราวุธทั้งหลายทำร้ายไม่ได้ กลิ่นปากหอม ผิวพรรณวรรณะงาม ไม่หลงตาย ตายแล้วไปพรหมโลก จิตเป็นสมาธิเร็ว ราคะ โทสะ โมหะ ดุจดื่มน้ำเค็ม ดื่มเข้าไปมากเท่าไร ยิ่งกระหายน้ำฉันใด ความพอใจของมนุษย์ไม่มีเขตแดน ร่างกายนี้เป็นฐานะที่ยืมเขามาประกอบ แก่ชรา มรณะส่งคืนเขาไป เช่น ยืมเขามาค้าขายหากำไร ในบุญและบาป และไม่รู้กำหนดที่จะต้องตายในเวลาใด แปลว่าส่งเขาคืน กายในโลกต้องมีขี้เยี่ยวด้วยกันแห่งความสกปรก ไม่แปลกอะไรกัน ใครอยู่ในโลกต้องเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน กายนี้ทุกข์มาก ได้สมหวังก็เป็นทุกข์ ไม่ได้สมหวังก็เป็นทุกข์ การเปลี่ยนแปลงของธาตุขันธ์ทุกข์ หนาวร้อนเย็นทุกข์ พยาธิทุกข์ กลัวภัยภายนอกมีคนอื่นเขาฆ่าตีต่างๆ ชีวิตนี้อยู่ด้วยความฝืดเคืองยิ่งนัก หาความสุขแทบไม่มีเลย นี้พระอริยเจ้าเบื่อนักเบื่อนักยิ่งทำความเพียรให้ถึงนิพพาน ให้ใช้ปัญญาเร่งความเพียรไม่หยุดยั้ง ขอให้ประกอบด้วยไตรลักษณ์ กิเลสมันจะอยู่ ณ ที่ไหนกิเลสอยู่ ณ ที่ใจ ปัญญา ก็อยู่ ณ ที่ใจ ไตรลักษณ์เป็นธรรมอุกฤษฏ์ชำระกิเลสจากจิตได้ เดินมรรคพอแล้วมันแก้เอง ธรรมะทั้งหลายเป็นธรรมชาติทรงคุณภาพไว้อย่างสมบูรณ์ และพระธรรมประกาศความจริงอยู่เรื่อยๆ ศาสนาธรรมออกจากพระโอษฐ์ของพระองค์ผู้เดียว พระองค์ฉลาดในธรรมทั้งปวง ดุจน้ำมหาสมุทร ฉลาดประกาศพระธรรมให้เหมาะกับจริตของพุทธบริษัท ขณะที่พระองค์แสดงธรรมอยู่ บริษัทจึงพากันสำเร็จเป็นชั้นๆตามวาสนาของตน สาวกแสดงธรรมทรมานบริษัทมีคุณภาพที่ ๒ ของพระพุทธเจ้า สมัยทุกวันบุคคลแสดงไม่สะอาด จิตเปื้อนด้วยกิเลส จึงไม่มีปาฏิหาริย์เหมือนครั้งพุทธกาล เช่นเดียวกับอาหารที่สะอาดพลัดตกมือ เปื้อนดินไม่น่ารับประทานฉันนั้น คือผู้แสดงก็ไม่สะอาดผู้รับธรรมก็ไม่สะอาด โดยทำนองนั้น มัชฌิมาคือความพอดีพองาม มีความกว้างขวาง เดิน อยู่ หลับ นอน ก็ให้เป็นกลางไปมา ก้าวหน้า ถอยหลังก็ให้พอดีพองาม ข้อปฏิบัติ ปฏิบัติทุกอย่างให้พอดีพองาม ความรู้เห็นก็ให้เป็นมัชฌิมา การทำ การพูด การกิน ทุกกิริยาเคลื่อนไหว ก็ให้เป็นมัชฌิมา ปานกลาง แม้ความแม้ความบริสุทธิ์ของจิตก็ให้เป็นมัชฌิมาสัมปยุตด้วยญาณ แต่ (คนเรา) ไม่ใช้ กลางคือมรรค สรุปเรียกว่ากลางสมมุติกับวิมุตติ สมมุติก็รู้เท่า วิมุตติก็รู้เท่า ปล่อยวางทั้ง ๒ เงื่อนไว้ตามเป็นจริงเพราะศาสนาธรรมเป็นมัชฌิมา ไม่เข้าใคร ไม่ออกใคร ผู้ปฏิบัติจะรู้ธรรมด้วยความเป็นจริง จะเหยียบย่ำอนัตตาลงยกอัตตาขึ้น ซึ่งเป็นการยกข้างนี้ออกข้างโน้น ไม่รู้จักธรรมรอบได้เลย เพราะส่วนที่ตนสำคัญว่าเป็นอนัตตายังถือไว้อยู่ ก็เรียกว่า รู้โลกแล้วกลับหลงธรรม คนทั้งโลกขี่เรือข้ามน้ำถึงฝั่งแล้วปล่อยเรือ เพราะอาศัยเรือชั่วคราวเป็นธรรมที่ควรปล่อยวางโดยแท้ ไม่ควรถือมั่นด้วยประการใด จิตทรงความเป็นยถาภูตญาณทัสนานุตริยะตลอดกาล คือ ความเห็นจริงทั้งธรรมฝ่ายอนัตตา ทั้งฝ่ายอัตตา พุทธะ ธรรมะ ไม่มีช่องว่าง ซึ่งไม่พอลุ่มหลงสังขารแต่น้อยเรียกว่ามัชฌิมาโดยธรรมชาติเป็นกลาง ระหว่างธรรมทั้งหลายกับจิต ระหว่างจิตกับธรรมทั้งหลาย ระหว่างจิตกับจิตอีกวาระหนึ่งเป็นสุดท้าย เปลี่ยนบทบาทพลิกสันเป็นคมจากมีดเล่มเดียว พิจารณาที่ประชุมแห่งขันธ์หรือที่รวมแห่งสภาวะอันนี้ ถ้าปัญญาไม่รอบคอบจริงๆ จิตเกิดความสำคัญขึ้นในตนว่าเป็นพระอรหันต์ ข้องอยู่เพียงเท่านี้ ก็ให้ไม่รอบคอบอันนี้ อาจไม่ระบายกิเลสละเอียดยิ่ง แล้วสอนคนอื่นเกิดความสำคัญผิดไปตามๆ กัน ก็ได้ ขอยกตัวอย่างให้ฟัง คือ บุคคลมองเห็นสิ่งอื่นๆ ข้างนอกได้ไม่มีประมาณ แต่ไม่มองเห็นหน้าของตน ฉะนั้นต้องนำกระจกเงามองหน้าตัวเอง ย่อมเห็นสภาวะได้ทั่วไป จิตดวงนี้แหละสำคัญมากเป็นอนุสัยนอนอยู่ในสันดาน ขอให้นักปฏิบัติค้นคว้ามากๆ จิตดวงนี้มีอัศจรรย์หลายอย่างคือมีความองอาจ มีสติสัมปชัญญะ ความสว่างไสวความฉลาดอาจหาญ แต่ขอถามว่า อาสวะสิ้นแล้วหรือยัง สำคัญของนักปฏิบัติว่าสำคัญตัวถึงนิพพาน ขออย่านอนใจรีบเร่งปฏิบัติเข้าไปให้สิ้นอาสวะนี้พระอริยเจ้าบางองค์ยังไม่สิ้นสำคัญตัวมีจำนวนมากองค์ ปัญญาอบรมสมาธิ คือ ปัญญาแวดล้อมเพื่อปลอบให้จิตอยากเป็นสมาธิ เพราะจิตมันวิ่งไปตามกระแสของเจตสิก ต้องให้มีปัญญาห้ามจิตเดิน เมื่อจิตไม่เดินแล้ว จิตก็เป็นสมาธิสงบเป็นอารมณ์อันเดียวเท่านั้น คฤหัสถ์เพียงมีศีล ๕ เป็นนิจนั้น ดีอยู่แล้ว เป็นผู้ทรงพระวินัยที่ดีปิดอบายภูมิ ๔ ได้สำหรับผู้ครองเรือนเป็นสุข ศีลทุกประเภทดัดกายวาจาไม่ให้คะนอง จึงรักษาตัวเป็นปกติดี แม้คนทั้งหลายเห็นว่าศีลไม่จำเป็นจะต้องรักษา หมายความว่า เขาไม่อยากเป็นคนดีด้วยโลกเขา คนเช่นนี้ล้างผลาญโลกให้ฉิบหาย ศีลเป็นสมบัติของมนุษย์ทุกกาลทุกสมัยที่ประพฤติได้เป็นการดี คนติดอวิชชาดุจเขาเลี้ยงสุกรด้วยแกลบรำไว้ฆ่าเพื่อเป็นอาหาร การมีปัญญาอบรมสมาธินั้น หมายความว่า ไม่ให้ติดสมาธิอย่างเดียว ปัญญาเพื่อแก้สมาธิให้สิ้นกิเลสอาสวะเท่านั้น *********************************************************** คัดลอกจาก: จันทสาโรนุสรณ์ |