พิมพ์หน้านี้ - พระพุทธศาสนาในสายตาของชาวโลก

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่14"

นานาสาระ => ลึกลับ-เหลือเชื่อ-ธรรมะ => ข้อความที่เริ่มโดย: kittanan_2589 ที่ พฤศจิกายน 09, 2011, 02:57:43 pm



หัวข้อ: พระพุทธศาสนาในสายตาของชาวโลก
เริ่มหัวข้อโดย: kittanan_2589 ที่ พฤศจิกายน 09, 2011, 02:57:43 pm


ในปีที่ครบรอบ ๒๕ ศตวรรษแห่งพุทธศาสนานี้ บรรดาประเทศที่นับถือพุทธศาสนาต่างถือเป็นมงคล
สมัยอันสำคัญ และจัดให้มีการเฉลิมฉลองกันเป็นการใหญ่ เพื่อแสดงความยินดีต่อการที่พุทธศาสนาเจริญ ยั่งยืนมาตลอดเวลาอันยาวนาน ๑ เพื่อบูชาพระพุทธองค์ ผู้ให้กำเนิดพุทธศาสนาด้วยการบูชาเป็นพิเศษ ๑ เพื่อเรียกร้องให้ชาวโลกหันมาสนใจในพุทธธรรม ๑

จุดประสงค์ประการสุดท้ายนี้ จัดว่ามีความสำคัญที่สุด เพราะเป็นไปเพื่อสันติสุขแก่คนหมู่มาก                 การที่สำนักงานไทยพาณิชย์นิเทศ ได้จัดให้มีการประกวดบทความนี้ขึ้น คงมีจุดประสงค์เพื่อคัดเลือกเอาบทความที่ดีเยี่ยมไปพิมพ์เผยแพร่ เพื่อสันติสุขของโลกเป็นจุดสำคัญ จึงเป็นการกระทำที่ควรได้รับการสนับสนุน

พุทธศาสนาในอดีต

พุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาอันยิ่งใหญ่ศาสนาหนึ่งในโลกปัจจุบัน มีกำเนิดขึ้นในประเทศอินเดียภาคเหนือ โดยผู้ให้กำเนิด คือ พระโคตมะพุทธะ เจ้าชายชาวศากยะเมื่อก่อน คริสตกาลประมาณ ๖๓๓ ปี พุทธศาสนาอุบัติขึ้นมาท่ามกลางศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดู อันแตกแยกเป็นลัทธินิกาย           มากหลาย จนสามัญชนตกอยู่ในภาวะลังเล ไม่ทราบว่าจะนับถือลัทธิใดดี (ตามนัยกาลามสูตร)

พุทธศาสนาอุบัติขึ้นมาท่ามกลางสังคมฮินดู ที่เต็มไปด้วยการแบ่งแยกและความเหลื่อมล้ำต่ำสูงอย่างมาก ในฐานะเป็นศาสนาใหม่ที่อาศัยความจริงและเหตุผลเป็นรากฐาน มุ่งประสานรอยร้าว และขจัดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคม พุทธศาสนาจึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและรวดเร็ว ในชั่วชีวิตของพระพุทธองค์นั่นเอง พุทธศาสนาก็อยู่ในอาณาจักรไม่ต่ำกว่า ๗ อาณาจักรแห่งอินเดียภาคเหนือ

ภายหลังพุทธปรินิพพาน โดยการทำงานอย่างเข้มแข็งของศาสนทูต ทั้งฝ่ายคฤหัสถ์และบรรพชิต พุทธศาสนาก็แพร่ขยายไปจนทั่วอินเดีย และจากอินเดีย อันเป็นแหล่งกำเนิดสู่ลังกา (๓๐๖ ก่อน ค.ศ.) และมีหลักฐานแสดงว่า พุทธศาสนาได้ไปถึงซีเรีย อียิปต์ เมซีดอน ไซรีน และเอมเรุสด้วย ตามหลักฐานในสมันตปาสาทิกา และสารัตถทีปนี พุทธศาสนทูตได้ไปถึงอาณาจักรทั้ง ๕ ของจีน          ในราวศตวรรษที่ ๒ หรือที่ ๓ ก่อนคริสตกาลจากจีนสู่เกาหลี ในปี ค.ศ.๓๗๒ จากเกาหลีสู่ญี่ปุ่น  (ค.ศ.๕๕๒) ในคริสต์ศตวรรษที่ ๔ หรือที่ ๕ พุทธศาสนาก็ไปถึงอินโดจีน ชวา มองโคเลีย                ยาร์กันต์บัลก์ โมขะรา แอฟกานิสถาน แคชเมียร์ ทิเบต เนปาล และประเทศต่าง ๆ ในเอเชียกลาง

จากลังกา พุทธศาสนาได้แพร่เข้าสู่พม่า (ค.ศ.๔๕๐)  ไทย (ค.ศ.๖๓๘) และเขมรโดยลำดับ ประชากรหลายร้อยล้านในประเทศเหล่านี้ ได้ยอมรับ และปฏิบัติตามพุทธธรรมในการดำเนินชีวิต ได้รับสันติสุขสืบมาหลายชั่วอายุคน นอกจากพุทธธรรมแท้ ๆ แล้ว พุทธศาสนายังให้วัฒนธรรม ศิลปกรรม วรรณคดีอันล้ำค่าประชากรในดินแดนเหล่านี้ด้วย อาจกล่าวได้ว่า พุทธศาสนาได้มีบทบาทอย่างสำคัญในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของประเทศเหล่านี้
พุทธศาสนาในปัจจุบัน

แม้ว่าพุทธศาสนาจะเสื่อมสิ้นไปจากดินแดนบางแห่งเฉพาะอย่างยิ่งจากอินเดียอันเป็นถิ่นกำเนิดเอง เพราะเหตุผลทางจิตใจ ทางสังคม หรือทางการเมืองก็ตาม พุทธศาสนาก็ยังครองตำแหน่งเป็นศาสนาชั้นนำอยู่ในโลก

ปัจจุบัน ประชากรประมาณ ๑ ใน ๓ ของโลกยังคงถือพระพุทธเจ้า เป็นผู้นำทางจิตใจของเขาอยู่เป็นอย่างดี พุทธศาสนามิได้จำกัดขอบเขตอยู่เฉพาะในเอเชียเท่านั้น แม้ในยุโรปและอเมริกา จำนวน           ผู้หันมาเลื่อมใสในหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ก็เพิ่มทวีขึ้นทุก ๆ ปีที่ผ่านไป

มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาได้เกิดขึ้นแล้วในญี่ปุ่น ไทย และกำลังจะเกิดขึ้นในพม่า ลังกา และเขมร สมาคมเผยแพร่พุทธศาสนามีอยู่ทั่วไปในอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และในประเทศต่าง ๆ แห่งยุโรป สมาคมเหล่านี้ ทำงานอย่างเข้มแข็งและได้ผลดี มีฝรั่งหลายคนได้นำตนเข้ามาบวชในพุทธศาสนา แล้วกลับไปทำงานเผยแพร่ในประเทศของตน

พุทธอาณาจักรกำลังขยายขอบเขตออกไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่งานเผยแพร่ของชาวพุทธ เมื่อเปรียบเทียบกับงานอย่างเดียวกันของศาสนาอื่นแล้ว ยังนับว่าล้าหลังอยู่มาก อาจกล่าวได้ว่า พุทธศาสนาแพร่หลายไปเพราะความดีเด่นแห่งพุทธธรรมเองเป็นส่วนใหญ่ เพราะความสามารถของศาสนทูตเป็นส่วนน้อย ดังนั้น จึงควรจะได้นำลักษณะเด่น ๆ ของพุทธศาสนามาแสดงไว้ในบทความนี้ เพื่อเป็นการแนะนำให้ผู้สนใจมีความรู้ขั้นมูลฐานเกี่ยวกับพุทธศาสนา
พุทธศาสนาเคารพต่อเหตุผล

สัตว์ชั้นต่ำอาศัยสัญชาตญาณ (instinct) เป็นเครื่องดำรงชีวิต สัตว์เดียรัจฉานชั้นสูง อาศัยอารมณ์หรืออาเวค (emotions) แต่มนุษย์อาศัยสติปัญญา (intelligeuce) หรือความรู้จักเหตุผล (Reasoning) เป็นเครื่องดำเนินชีวิตความรู้จักคิดเหตุผล ทำให้มนุษย์ฉลาดสามารถครองความเป็นใหญ่เหนือสัตว์ทุกชนิดในโลก และเหนือหมู่มนุษย์ที่ฉลาดน้อยกว่าตน ความรู้จักคิดเหตุผล ทำให้สังคมมนุษย์เจริญรุดหน้าไปเรื่อยๆ ในขณะที่สังคมของสัตว์ชนิดอื่นๆ ยังอยู่คงที่

ฉะนั้น ความรู้จักคิดเหตุผลจึงเป็นเครื่องมือที่วิเศษ ที่ธรรมชาติประทานให้แก่มนุษย์ประเภทเดียว

เหตุผลกับวิทยาศาสาตร์ (Science)

วิทยาการ ที่เคารพต่อหลักเหตุผลอย่างเคร่งครัด คือวิทยาศาสตร์ ซึ่งมุ่งศึกษาให้ทราบความจริงของสิ่งต่าง ๆ แล้วตั้งหลักทฤษฏีอันแน่นอนไว้ จากทฤษฏีเหล่านี้ประดิษฐกรรมอันประหลาดมหัศจรรย์ต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นอำนวยความสะดวกสบายให้แก่มนุษย์อย่างมหาศาล

ฉะนั้น วิทยาศาสตร์จึงเป็นวิทยาการที่ได้รับความนิยมแพร่หลายที่สุดในโลกปัจจุบัน ศาสตร์อื่น ๆ ต้องพยายามปรับปรุงตัวเองให้เข้ากับหลักวิทยาศาสตร์ มิฉะนั้นจะถูกมองในแง่เป็นเรื่องราวปรัมปราหาสาระมิได้ทันที วิทยาศาสตร์จะไม่ยอมรับเชื่อสิ่งใดง่าย ๆ นอกจากจะได้พิสูจน์สอบสวนดูด้วยเครื่องมือ และวิธีการอย่างถี่ถ้วนอย่างน้อยวันละ ๓ ครั้งแล้ว ฉะนั้น วิทยาศาสตร์จึงตั้งอยู่บนรากฐานเหตุผลโดยตรง
วิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนา

นักศึกษา ผู้กำลังตื่นต่อความถูกต้องแน่นอนของวิทยาศาสตร์ และยังมิได้ศึกษาพุทธศาสนาให้เข้าใจถ่องแท้ มักจะเห็นไปว่าพุทธศาสนาขัดกับหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งจัดว่าเป็นความเห็นที่ยังไม่ถูกต้อง

ความจริง พุทธศาสนาไม่ขัดต่อหลักวิทยาศาสตร์ ตรงกันข้าม กลับเข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์อย่างสนิทที่สุด ผู้เข้าใจพุทธศาสนาและหลักวิทยาศาสตร์ อาจอธิบายเปรียบเทียบพุทธศาสนา กับวิทยาศาสตร์ได้อย่างสะดวกใจยิ่ง ในการศึกษาและการปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ต้องใช้สติปัญญาตลอดสาย จึงจะสามารถทราบความจริงแท้แห่งปรากฏการณ์นั้นๆ

เมื่อทราบความจริง จนสามารถตั้งเป็นหลักอันแน่นอนได้แล้ว ในการที่จะประยุกต์หลักนั้น เพื่อความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ ก็ต้องอาศัยสติปัญญาอีกเหมือนกันในวงการวิทยาศาสตร์ ไม่มีการใช้อารมณ์เป็นเครื่องมือเลย

พุทธศาสนา คือกระบวนการปราบอารมณ์โดยตรง พระพุทธเจ้าทรงใช้สติปัญญาในการค้นหาสัจธรรม จนทรงพบ แล้วตั้งเป็นหลักไว้ เรียกว่าอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นหัวใจของพุทธศาสนา ทุกข์ซึ่งเป็นสัจธรรมประการแรกได้แก่ ปรากฏการณ์ธรรมชาติ มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสำคัญ ปรากฏการณ์เหล่านี้ เป็นสิ่งประจักษ์ที่รู้เห็นกันอยู่ในชีวิตประจำวัน เป็นส่วนผลอันไม่ชอบใจ

พระพุทธเจ้าทรงค้นคว้าต่อไปตามหลักเหตุผล ถึงเหตุอันแท้จริงของปรากฏการณ์อันนี้ แม้ในยุคของพระองค์ จะได้ทฤษฏีแสดงถึงเหตุแห่งปรากฏการณ์เหล่านี้แล้วอย่างมากมาย พระองค์ก็ไม่ยอมรับเชื่อง่าย ๆ เพราะทรงเคารพต่อเหตุผลตามแบบวิทยาศาสตร์ในที่สุดก็ทรงพบว่า ตัณหาเป็นเหตุอันแท้จริงของทุกข์ หาใช่เทวดาฟ้าดินหรืออำนาจลึกลับใด ๆ ไม่

เมื่อทรงพบเหตุแห่งทุกข์แล้วเช่นนี้ พระองค์ยังทรงค้นคว้าต่อไปด้วยสติปัญญาอันบริสุทธิ์ ว่าจะมีวิธีการใดบ้าง ที่สามารถขจัดตัณหาให้หมดสิ้นไปอย่างสิ้นเชิง ในที่สุดที่ทรงพบว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ คือวิธีการที่สามารถดับตัณหาได้อย่างแน่นอน พระองค์เองได้ทรงทดลองตามทางนี้ และสามารถปราบตัณหาได้จริง จึงทรงตั้งเป็นหลักไว้ให้ผู้หวังพ้นทุกข์ปฏิบัติตาม

คนเป็นอันมากเชื่อพระองค์ปฏิบัติตาม และได้บรรลุถึงความพ้นทุกข์สมประสงค์ อริยสัจ ๔ อันเป็นหลักใหญ่แห่งพุทธศาสนานี้ เมื่อสรุปแล้วก็มีเพียง ๒ คือ เหตุกับผลเท่านั้น ทุกข์เป็นส่วนผล สมุทัยเป็นส่วนเหตุ นิโรธ-ความดับทุกข์เป็นผล มรรคคือทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์เป็นเหตุ ถ้าจะเปรียบเทียบหลักพระพุทธศาสนา กับกระบวนการวิทยาศาสตร์ทางแพทย์ง่าย ๆ จะได้ดังนี้

ทุกข์เปรียบเหมือนความเจ็บป่วย สมุทัยเปรียบเหมือนตัวเชื้อโรค นิโรธเปรียบเหมือนความหายป่วย มรรคเปรียบเหมือนตัวยา หรือวิธีการรักษาโรค จากเหตุผลดังกล่าวมานี้ จึงเห็นได้ว่า โดยหลักใหญ่พุทธศาสตร์กับวิทยาศาสตร์เข้ากันได้อย่างสนิท เพราะเคารพหลักเหตุผลเช่นเดียวกัน วิทยาศาสตร์ด้วยสิ่งประจักษ์ ซึ่งอาจพิสูจน์ทดลองได้ พุทธศาสตร์ก็ว่าด้วยสิ่งประจักษ์ หรือไม่ประจักษ์แต่เป็นไปได้ ที่อาจทดลองให้เห็นได้โดยการปฏิบัติ

ธรรมะของพระพุทธเจ้า มิใช่สิ่งที่จะต้องซ่อนเร้นปิดบัง แต่เป็นเอหิปัสสิโก คือสามารถเรียกให้ใคร ๆ มาพิสูจน์ดูได้ทุกเมื่อ เป็นสัจธรรม หรือความจริงซึ่งใช้ได้ทุกกาลสมัย มรรคมีองค์ ๘ นั้น ผู้ใดปฏิบัติตามเมื่อใดได้ผลเมื่อนั้น ปฏิบัติน้อยได้ผลน้อย ปฏิบัติมากได้ผลมาก ปฏิบัติได้สมบูรณ์เต็มที่ ก็บรรลุถึงผลอันสมบูรณ์ คือความดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง หรือนิพพาน

คุณสมบัติข้อนี้เอง คือลักษณะที่เด่นที่สุดของพุทธศาสนา ชาวตะวันตกผู้มีการศึกษาดีหนักแน่นต่อเหตุ เมื่อได้มีโอกาสศึกษาพุทธศาสนา จึงเกิดความเลื่อมใส ถึงกับออกบวชเป็นภิกษุมากต่อมาก
เสรีภาพทางจิตใจ

เสรีภาพเป็นอุดมการณ์อันสูงสุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ ถ้าสามารถมีเสรีภาพได้ทั้ง ๓ ทาง คือทางกาย ทางวาจา ทางใจ ก็เป็นความดีอย่างเลิศ แต่ถ้าจำเป็นต้องเสียเสรีภาพทางกายทางวาจาไป ขอให้มีเสรีภาพทางใจเหลืออยู่เพียงอย่างเดียวก็ยังดี ถ้าหมดเสรีภาพทางใจไปอีก ชีวิตก็ไม่มีความหมาย เป็นทาสเขาทางกายวาจายังพอทนได้ แต่เป็นทาสทางใจนี่เหลือทน

เพราะฉะนั้น เสรีภาพทางใจจึงสำคัญที่สุด พุทธศาสนาเล็งเห็นความสำคัญของเสรีภาพทางใจ            จึงเปิดให้ทุกคนใช้เสรีภาพทางใจอย่างเต็มที่ หมายความว่าก่อนจะนับถือพุทธศาสนา ท่านแนะให้ใช้ปัญญาพิจารณาดูให้ถี่ถ้วนทุกแง่ทุกมุมอย่างรอบคอบ ถ้าเป็นที่พอใจจึงรับนับถือ ถ้าไม่เป็นที่พอใจ ไม่ยอมรับนับถือก็ไม่เป็นไร นี้เป็นลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งของพุทธศาสนา ที่ชาวตะวันตกรู้สึกทึ่ง เพราะในศาสนาอื่นบางศาสนา มีบทบัญญัติห้ามคิดวิพากษ์วิจารณ์คำสอนในศาสนาเป็นอันขาด           พระคัมภีร์สอนไว้อย่างใด ต้องเชื่ออย่างนั้น ใครขืนคิดวิพากษ์วิจารณ์ ถือว่าเป็นบาปอันหนัก                      นี้เท่ากับเป็นการตัดเสรีภาพทางใจโดยตรง

แต่ในพุทธศาสนาไม่มีบทบัญญัติเช่นนั้นเลย ตรงกันข้ามท่านกลับสอนให้ใช้เสรีภาพทางใจอย่างเต็มที่ จะเห็นได้ว่า ในหมวดธรรมต่างๆ นั้น ถ้ามีศรัทธาความเชื่ออยู่ที่ใด จะต้องมีปัญญาความคิดเหตุผลกำกับอยู่ด้วย หมายความว่า เมื่อจะเชื่อสิ่งใด ต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้รอบคอบก่อนเสมอ ฉะนั้นในพุทธศาสนา จึงไม่มีความเชื่ออย่างตาบอด (Blind Faith) เป็นศาสนาแห่งเสรีภาพ เหมาะสมกับระบอบประชาธิปไตยและมนุษย์ที่เจริญแล้ว
พุทธศาสนาส่งเสริมความเสมอภาค

ในสังคมทั่วไปทุกยุคทุกสมัย มนุษย์มักนิยมแบ่งแยกกันเองออกเป็นชั้นวรรณะ สูงต่ำต่างกัน                    ตั้งข้อรังเกียจเหยียดหยามกัน อันเป็นเหตุให้เกิดการเบียดเบียนเข่นฆ่ากันระหว่างพวก                           แต่พุทธศาสนาไม่ยอมรับความแตกต่างภายนอกใด ๆ ทั้งสิ้น คนทุกคน สัตว์ทุกตัว อยู่ในฐานะเป็น             ”สัตว์โลก” ด้วยกัน เสมอเหมือนกันหมด โดยเป็นอนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังเป็นทุกข์ อนัตตาไม่มีตัวตน จะสูงต่ำกว่ากันก็โดย “กรรม” คือการกระทำของเขาเอง

มรรคผลในพุทธศาสนา คนทุกชั้นอาจปฏิบัติเอาได้ แม้ตำแหน่งพระพุทธเจ้า ก็มิได้ผูกขาดตัดตอนไว้เพื่อคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะใคร ๆ ก็อาจเป็นพุทธเจ้าได้ ในเมื่อมีความตั้งใจและปฏิบัติจริง

พุทธศาสนาสอนให้รับผิดชอบตัวเอง

หลักใหญ่อีกอันหนึ่งของพุทธศาสนา คือ “หลักธรรม” ซึ่งเป็นคู่กับหลักแห่งเหตุผล ผลทุกอย่างเกิดมามีเหตุ มิได้เกิดขึ้นลอย ๆ สุขทุกข์ที่เราได้รับอยู่เกิดขึ้นจากเหตุคือการกระทำของเราเอง ไม่มีเทพเจ้าหรืออำนาจใดๆ หยิบยื่นให้เราได้ เราเป็นผู้ลิขิตโชคชะตาของตนเอง เป็นผู้รับผิดชอบอนาคตของตนเอง ผู้ใดต้องการจะให้ชีวิตของตนเป็นไปในแนวใด ย่อมสร้างเอาเองทั้งสิ้น นี้คือหลักพุทธศาสนา ซึ่งสอนให้คนรู้จักรับผิดชอบตนเอง ต่างกับศาสนาอื่นบางศาสนาซึ่งสอนว่า คนเราไม่มีสิทธิ์จัดการกับตนเอง ต้องแล้วแต่เทพเจ้าเบื้องบนจะกรุณา ถ้าท่านกรุณา ท่านก็อาจจะดลบันดาลให้มีความสุขความเจริญ ถ้าท่านไม่กรุณา ท่านก็อาจจะดลบันดาลให้ประสบทุกข์ ฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุด ก็คือการยอมตกลงเป็นทาสของเทพเจ้า เพื่อให้ท่านกรุณา แต่ถึงกระนั้นก็หาได้รับความกรุณาเสมอไปไม่
พุทธศาสนาส่งเสริมสันติภาพ

พุทธศาสนา สอนมิให้เบียดเบียนคนอื่น สัตว์อื่น แม้ด้วยความคิด สอนให้เอาชนะความชั่วด้วยความดี สอนให้มีเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ จึงเป็นศาสนาแห่งสันติ

ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานแห่งพุทธศาสนาไม่เคยมีใคร หรือกลุ่มคนใดถูกเบียดเบียนเข่นฆ่าในนามพุทธศาสนา ไม่เคยมีสงครามในนามพุทธศาสนาเลยแม้แต่ครั้งเดียว

นอกจากนี้ พุทธศาสนายังมีลักษณะเด่นๆ อีกมาก อันเป็นเหตุให้ชาวโลกเริ่มหันมามองพุทธศาสนาด้วยความสนใจ พุทธอาณาจักรเกิดขึ้นเมื่อ ๒๕๐๐ ปีเศษมาแล้ว บัดนี้ยังคงอยู่บริบูรณ์ และนับวันแต่จะขยายอาณาเขตออกไป พุทธอาณาจักรแผ่ไปถึงไหน ก็นำเอาความร่มเย็นเป็นสุขไปถึงนั่น

อาณาจักรนักการเมือง นักการทหารผู้ยิ่งใหญ่ของโลก เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นใหม่แล้วก็ดับไป ไม่รู้กี่ร้อยอาณาจักร แต่พุทธอาณาจักร ยังคงอยู่ตลอด ๒๕ รอบร้อยปี ตัวอย่างเหล่านี้ทำให้เราจับหลักได้ว่า อาณาจักรใดสร้างขึ้นมาบนน้ำตาและเลือดเนื้อของมวลชน อาณาจักรนั้นแม้จะยิ่งใหญ่           สักเพียงใด ก็หายั่งยืนไม่ ในไม่ช้าอาณาจักรนั้นก็สลายไป พร้อมกับชื่อเสียงของจอมจักรพรรดิผู้สร้างอาณาจักรนั้น

พระพุทธเจ้า แม้จะปรินิพพานไปแล้วตั้ง ๒๕๐๐ ปี แต่ประชากรทั่วโลกยังเคารพกราบไหว้บูชา             อย่างสูง แต่จอมจักรพรรดิทั้งหลายหามีใครสักการะ เคารพไม่ แม้แต่ได้ยินชื่อ ก็เกิดความหวาด สะดุ้งขยะแขยงเสียแล้ว

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ นี้ ชาวพุทธทั่วโลกได้ทำการเฉลิมฉลองเป็นการใหญ่ แต่มีข้อควรระลึกไว้ว่า พิธีกรรมทั้งหลาย เป็นแต่เพียงการแสดงออก ซึ่งความเคารพบูชาต่อองค์พระบรมศาสดาเท่านั้น            จัดเข้าในประเภทอามิสบูชา ซึ่งพระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญ เพราะไม่ใช่ทางแห่งความบริสุทธิ์            ทางที่ถูกควรฉลองด้วยการปฏิบัติ ปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระพุทธองค์ การฉลองด้วยพิธีกรรมอาจเรียกร้องให้คนมาสนใจในพุทธศาสนา แต่เมื่อเขามาเห็นความแหลกเหลวของผู้เป็นเจ้าของศาสนาแล้ว เขาจะปลงสังเวชกลับไป แทนที่จะเป็นการยกย่องศาสนากลับจะเป็นการทำลายไป ฉะนั้นควรฉลองด้วยการทำดี

โดย  พี่เณร...นำมาฝาก