หัวข้อ: หนุนขึ้นแรงงานจี้รัฐปรับนโยบายคุมสินค้า เริ่มหัวข้อโดย: Nattawut-LSV Team ที่ กุมภาพันธ์ 28, 2011, 05:10:52 pm (http://www.dailynews.co.th/content/images/1102/28/labour.jpg)
สภาพัฒน์หนุนขึ้นแรงงานขั้นต่ำ ชี้ที่ผ่านมาค่าแรงงานที่แท้จริงเพิ่มเพียง 2% เท่านั้น จี้รัฐปรับนโยบายคุมสินค้าใหม่ เมื่อวันที่ 29 ก.พ. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึง กรณีที่นายกรัฐมนตรีได้ส่งสัญญาณให้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ว่า การปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำอีกครั้งในปี 54 นี้ ยังสามารถดำเนินการได้ หากเป็นการปรับเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงานเพื่อการแข่งขัน เพราะเศรษฐกิจไทยยังเติบโตต่อเนื่องที่ระดับ 3.5-4.5% ส่วนการปรับค่าแรงเพื่อดูแลค่าครองชีพ เนื่องจากต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นนั้น ต้องดูตามความเหมาะสม และขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี ที่ประกอบด้วยฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล ที่ต้องเข้าไปพิจารณาเหตุผลตามความจำเป็น แต่ต้องยอมรับว่า แม้ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว 8-17 บาท หรือเฉลี่ย 6.35% และในวันที่ 1 เม.ย.นี้ จะมีการขึ้นเงินเดือนข้าราชการอีก 5% แต่ค่าแรงที่แท้จริงนั้น กลับเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 2% เท่านั้น เนื่องจากราคาสินค้าได้ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ขณะเดียวกัน ภาครัฐจำเป็นต้องปล่อยให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่แท้จริง เพื่อดึงดูดให้เอกชนหันมาทำการผลิต เพื่อสนองความต้องการบริโภคให้เพียงพอ เพราะถ้าเอกชนสามารถทยอยปรับราคาสินค้าได้ตามต้นทุนที่แท้จริง จะช่วยลดแรงกดดันในเรื่องของราคาสินค้าได้มากกว่าที่จะปล่อยให้มีการปรับราคาน้อยครั้ง แต่เป็นราคาที่สูงมาก จนทำให้ตลาดเกิดอาการช็อค และเกิดผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือ ภาครัฐต้องมีศักยภาพในการติดตามข้อมูลด้านต้นทุนที่แท้จริงของภาคเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ เพื่อนำมาบริหารจัดการให้ราคาสินค้าเป็นไปตามต้นทุนที่แท้จริงได้อย่างเป็นระบบ เพราะเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวตามปกติ การที่เอกชนจะปรับราคาสินค้าให้สอดคล้องกับต้นทุนนั้น จึงถือเป็นเรื่องปกติที่ทำได้ แต่ในปัจจุบันต้องยอมรับว่า การติดตามข้อมูลต้นทุนของเอกชนนั้น ยังมีการใช้ข้อมูลของเอกชนเป็นหลัก นายอาคม กล่าวด้วยว่า แม้ในปี 54 ภาคเอกชนต้องประสบกับปัญหาต้นทุนสูง ทั้งจากค่าน้ำมัน ค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้น แต่เศรษฐกิจที่ยังขยายตัวต่อเนื่องทำให้การจ้างงานยังมีมากขึ้น เพราะในปัจจุบันตลาดแรงงานอยู่ในภาวะตึงตัว หรือหาคนงานในบางสาขาไม่ได้ หรือในบางสาขาอาจมีสมรรถนะไม่ตรงกับความต้องการ แต่ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจที่เติบโตในระดับ 3.5-4.5% นี้ สามารถรองรับตลาดแรงงานที่เหลืออยู่ได้ โดยเฉพาะแรงงานที่ว่างงานอยู่ประมาณ 370,000 คน แม้ว่าเอกชนยังต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนในหลายด้าน จนอาจทำให้ชะลอการจ้างงานก็ตาม แต่เป็นเพียงบางสาขาเท่านั้น ซึ่งในภาพรวมแล้ว ไม่ได้ทำให้การจ้างงานลดลงจากปีที่ผ่านมา เพราะยังมีสินค้าที่ต้องการใช้แรงงาน เพื่อผลิตเพื่อการส่งออกเป็นจำนวนมาก แต่จากโครงสร้างแรงงานไทยในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยแรงงานไทยได้หันไปทำงานในภาคบริการ เช่น บริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว หรือพนักงานตามห้างสรรพสินค้า มากกว่าที่จะทำงานในโรงงาน ทำให้เอกชนหันไปจ้างแรงงานต่างด้าวเพิ่มมากขึ้น นายอาคม กล่าวด้วยว่า สำหรับปี 53 พบว่า การจ้างงาน และรายได้แรงงานไทยตลอดปี โดยเฉลี่ยแล้วดีขึ้นมาก เพราะเป็นช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจจากภาวะวิกฤติ ธุรกิจส่วนใหญ่กลับมาฟื้นตัว ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น จากการมีงานทำมากขึ้น ปัญหาการว่างงานหมดไป โดยมีการจ้างงานเฉลี่ย 38.02 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 52 ประมาณ 0.8% และมีการว่างงานเฉลี่ยต่ำพียง 1.1% แต่จากโครงสร้างแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป และต้นทุนของนายจ้างที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีการหันไปใช้แรงงานต่างด้าวเพิ่มมากขึ้น โดยเห็นได้จากปี 53 ที่มีแรงงานชาวพม่าเข้าเมืองผิดกฎหมายกว่า 800,000 คน คิดเป็น 85% ของแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ และความต้องการแรงงานค่าจ้างต่ำที่ยังคงมีอยู่ ขณะเดียวกัน ก็ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในระยะยาว และแรงงานไทยบางกลุ่มที่พร้อมจะทำงานก็อาจถูกแย่งงานโดยแรงงานต่างด้าว. (http://www.dailynews.co.th/newstartpage/includes/images/logo.gif) |