พิมพ์หน้านี้ - สุดยอด "พระผู้ทรงจำพระไตรปิฎก" ของโลก

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่14"

นานาสาระ => ลึกลับ-เหลือเชื่อ-ธรรมะ => ข้อความที่เริ่มโดย: kittanan_2589 ที่ มกราคม 05, 2011, 04:12:25 pm



หัวข้อ: สุดยอด "พระผู้ทรงจำพระไตรปิฎก" ของโลก
เริ่มหัวข้อโดย: kittanan_2589 ที่ มกราคม 05, 2011, 04:12:25 pm
(http://palungjit.com/feature/data/502/553000019285201.jpg)

(http://pics.manager.co.th/Images/553000019285204.JPEG)

พระพุทธศาสนาในพม่านั้น ชาวพม่ามีความเชื่อว่าพุทธศาสนาเข้ามาสู่ประเทศพม่า เมื่อคราวที่พระเจ้าอโศกมหาราช แห่งอินเดียได้อุปถัมภ์การสังคายนา ครั้งที่ 3 เมื่อพ.ศ. 236 ได้มีการส่งพระสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแถบประเทศต่างๆ รวม 9 สายด้วยกัน พม่าก็อยู่ในส่วนของสุวรรณภูมิด้วย และชาวพม่ายังเชื่อว่าสุวรรณภูมิ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองสะเทิม สุธรรมวดี ทางตอนใต้ของพม่า

• การจารึกพระไตรปิฎกบนเสาหิน

นักประวัติศาสตร์พม่า ได้บันทึกไว้ว่า “พระเจ้าอโศกได้ส่งสมณทูตเก้าสายไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา พระโสณะและพระอุตตระไปสุวรรณภูมิคือบริเวณเมืองสะเทิมของพม่าและเมืองไทย ตลอดแหลมมลายู ในคัมภีร์มหาวงศ์ของลังการะบุว่าสุวรรณภูมิประเทศอยู่ห่างจากลังกา 700 โยชน์ พงศาวดารพม่าและตำนานพุทธศาสนาเถรวาทกล่างอ้างว่า พ่อค้ามอญสองนายจากบริเวณพม่าตอนล่างได้เส้นพระเกศาของพระพุทธเจ้า นำมาประดิษฐานไว้ในวัดเล็กๆวัดหนึ่ง ต่อมาเป็นที่สร้างเจดีย์พระเกศธาตุ (ชเวดากอง) อันมโหฬาร มอญสองพี่น้องนั้นมีชื่อจารึกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาคือตปุสสะและภัลลิ กะ

ชาวโอกกลปะชนบท กล่าวถึงพ่อค้าสองพี่น้องไว้ว่า “ครั้นล่วง 7 วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น แล้วเสด็จจากควงไม้มุจจลินท์ เข้าไปยังต้นไม้ราชายตนะ แล้วประทับนั่งด้วยบัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้ราชายตนะตลอด 7 วัน สมัยนั้น พ่อค้าชื่อตปุสสะและภัลลิกะเดินทางไกลจากอุกกลชนบท ถึงตำบลนั้น ครั้งนั้นเทพยดาผู้เป็นญาติสาโลหิตของตปุสสะ ภัลลิกะ สองพ่อค้าได้กล่าวคำนี้กะ 2 พ่อค้านั้นว่า ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้แรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงไม้ราชายตนะ ท่านทั้งสองจงไปบูชาพระผู้มีพระภาคนั้น ด้วยสัตตุผง และ สัตตุก้อน การบูชาของท่านทั้งสองนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ท่านทั้งหลาย ตลอดกาลนาน”

พ่อค้าชื่อตปุสสะและภัลลิกะจึงถือสัตตุผงและสัตตุก้อนเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระ ภาคแล้วถวายบังคม ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง สองพ่อค้านั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่งแล้ว ครั้นแล้วได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า

“พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับสัตตุผง สัตตุก้อนของข้าพระพุทธเจ้าทั้งสอง ซึ่งจะเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายตลอดกาล นาน”

ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคได้ทรงปริวิตกว่า พระตถาคต ทั้งหลายไม่รับวัตถุด้วยมือ เราจะพึงรับสัตตุผง และสัตตุก้อนด้วยอะไรหนอ ขณะนั้นท้าวมหาราชทั้ง 4 องค์ทรงทราบพระปริวิตกแห่งจิตของพระผู้มีพระภาคด้วยใจของตนแล้ว เสด็จมาจาก 4 ทิศ ทรงนำบาตรที่สำเร็จด้วย ศิลา 4 ใบ เข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า “ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับสัตตุผงและสัตตุก้อนด้วยบาตรนี้ พระพุทธเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคทรงใช้บาตรสำเร็จด้วยศิลาอันใหม่เอี่ยมรับสัตตุผงและสัตตุ ก้อนแล้วเสวย ครั้งนั้น พ่อค้าตปุสสะและภัลลิกะ ได้ทูลพระผู้มีพระภาคว่า

“พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองนี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคและพระธรรมว่า เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ” จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป นายพาณิชสองคน นั้นได้เป็นอุบาสกกล่าวอ้างสองรัตนะ เป็นชุดแรกในโลก

ในพระไตรปิฎกไม่ได้บันทึกไว้ว่าพ่อค้าทั้งสองได้รับเส้นพระเกศาจาพระ พุทธเจ้า แต่ในอรรถกถาพระวินัยปิฎก มหาวรรค หน้า 29 มีบันทึกไว้ว่า

“สองพานิชนั้นครั้นประกาศความเป็นอุบาสกอย่างนั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ตั้งแต่วันนี้ไป ข้าพระองค์พึงทำการอภิวาทและยืนรับใครเล่าพระเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงลูบพระเศียร พระเกศาติดพระหัตถ์ ได้ประทานพระเกศาเหล่านั้นแก่เขาทั้งสองด้วย ตรัสว่า “ท่านจงรักษาผมเหล่านี้ไว้” สองพานิชนั้นได้พระเกศธาตุราวกะได้อภิเษกด้วยอมตธรรม รื่นเริงยินดีถวาย บังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วหลีกไป

พ่อค้าสองพี่น้องเป็นชาวอุกกลปะชนบท “อุกกา” ตามศัพท์ภาษาบาลีแปลว่าประทีป คบเพลิง โคม ตะเกียงหรืออาจหมายรวมถึงพระอาทิตย์ แสงสว่าง หากจะหมาย ถึงดินแดนที่อยู่ทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นชื่อเมืองเดิมก่อนที่จะมาเป็นย่างกุ้ง โดยเป็นนครหลวงของชนชาติมอญ ก่อนที่จะมาเปลี่ยนเป็นย่างกุ้ง ซึ่งมีความหมายว่า ปราศจากศัตรู ในปัจจุบัน

จากยุคพระเจ้าอโนรธาเป็นต้นมา พระมหากษัตริย์ พม่าองค์ต่อๆมา ทรงให้ความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาต่อมาพระเจ้ามินดงโปรดให้จารึกพระไตรปิฎกทั้งชุดรวมทั้งคำอธิบายลงบนเสาหินกว่า 5,000 ต้น และทรงสนับสนุนพระสงฆ์ผู้เคร่งวินัยให้อพยพไปพม่าตอนล่าง

• การสังคายนาพระไตรปิฎกในพม่า

ประเทศพม่ามีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกสองครั้ง ซึ่งเป็นการกระทำร่วมกันของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท ดังหลักฐานบันทึกไว้ว่า

“ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทได้มีเหตุการณ์สำคัญทางพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นในพม่าร่วมกันคือการสังคายนาพระไตรปิฎก ณ เมืองมัณฑะเลย์ เมื่อ พ.ศ. 2414 เป็นการสังคายนาครั้งแรกในพม่า แต่พม่านับ ว่าเป็นครั้งที่ 5 ต่อจากครั้งจารึกลงในใบลานของลังกา สังคายนาครั้งนี้มีการจารึกพระไตรปิฎกลงในแผ่นหินอ่อน 429 แผ่น ณ เมืองมันฑะเลย์ ด้วยการอุปถัมภ์ของพระเจ้ามินดง ใน พ.ศ. 2414 (ค.ศ. 1871) พระมหาเถระ 3 รูป คือ พระชาคราภิวังสะ พระนรินทาภิธชะ และพระสุมังคลสามี ได้ผลัดเปลี่ยนกันเป็นประธานโดยลำดับ มีพระสงฆ์และพระอาจารย์ผู้แตกฉานในพระปริยัติธรรมร่วมประชุม 2,400 ท่าน กระทำอยู่ 5 เดือนจึงสำเร็จ

ส่วนการทำสังคายนาครั้งที่ 2ในพม่า หรือที่พม่านับว่า เป็นครั้งที่ 6 ที่เรียกว่าฉัฏฐสังคายนา เริ่มกระทำเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 จนถึงวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 เป็นอันปิดงาน ในการปิดงานได้กระทำร่วมกับการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ (การนับปีของพม่าเร็วกว่าไทย 1 ปี จึงเท่ากับเริ่ม พ.ศ. 2498 ปิด พ.ศ.2500 ตามที่พม่า นับ) พม่าทำสังคายนา ครั้งนี้มุ่งพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นข้อแรก แล้วจะจัดพิมพ์อรรถกถา (คำอธิบายพระไตรปิฎก) และคำแปลเป็นภาษาพม่าโดยลำดับ

มีการโฆษณาและเชิญชวนพุทธศาสนิกชนหลายประเทศไปร่วมพิธีด้วย โดยเฉพาะประเทศเถรวาท คือ พม่า ลังกา ไทย ลาว เขมร ทั้งห้าประเทศนี้ถือว่าสำคัญสำหรับการสังคายนาครั้งนี้มาก เพราะใช้พระไตรปิฎกภาษาบาลีอย่างเดียวกัน จึงได้มีสมัยประชุม ซึ่งประมุขหรือผู้แทนประมุขของทั้งห้าประเทศนี้เป็นหัวหน้า เป็นสมัยของไทย สมัยของลังกา เป็นต้น ได้มีการก่อสร้างคูหาจำลองทำด้วยคอนกรีต จุคนได้หลายพันคน มีที่นั่งสำหรับพระสงฆ์ไม่น้อยกว่า 2,500 ที่ บริเวณที่ก่อสร้างประมาณ 200 ไร่เศษ เมื่อเสร็จแล้วได้แจกจ่ายพระไตรปิฎกฉบับอักษรพม่าไปในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

• การศึกษาพระปริยัติธรรมในพม่า

การศึกษาพระปริยัติธรรมในพม่านั้น สมัยพระเจ้ามินดงมีการสอบพระปริยัติธรรม วิชาที่สอบแบ่งเป็นสี่ชั้นคือ ชั้นต้น ต้องสอบท่องคัมภีร์กัจจายนไวยากรณ์ 8 กัณฑ์ ด้วยปากเปล่า อภิธานนัปปทีปิกา 1203 คาถา วุตโตทัย ฉันโทปกรณ์ สุโพธาลังการ อภิธรรมมัตถสังคหะ 9 ปริจเฉท มาติกา ธาตุกถา 14 นัย ยมก 5 ชั้นกลาง สอบท่องปากเปล่าคัมภีร์ในชั้นต้นทั้งหมดโดยเพิ่มยมกเป็น 10 ยมก ชั้นสูง สอบแบบชั้นกลาง แต่เพิ่มคัมภีร์ปัฎฐานแต่ต้นจนจบกุสลติกะ และชั้นสูงสุดจะต้องสอบแข่งขันกันทั้งหมดเพื่อให้ได้ที่ 1 โดยได้วุฒิการศึกษาธรรมจริยะ

การสอบของพระสงฆ์คงเป็นวิธีการที่น่าเชื่อถือ จนกษัตริย์ต้องนำเอาวิธีการสอบไปใช้ ใน การศึกษาพระไตรปิฎกของพม่าจะมีสถาบันที่ให้การศึกษาโดยเฉพาะแห่งเดียวใน ประเทศพม่าและแห่งเดียวของโลก ซึ่งอยู่ในจังหวัดเมงกุน เมืองโมเมะกงเม ซึ่งเรียกชื่อว่า ตรีปิฎะกะนิกายะเมงกุนธรรมนาถ ซึ่งเป็นสถาบันสุงสุดในการศึกษาพระไตรปิฎกของประเทศ โดยจะรับภิกษุผู้มีความสามารถ จากหลักสูตรพุทธศาสนาขั้นต้นธรรมจริยะ เมื่อผ่านการเรียนขั้นเตรียมความพร้อมการเรียนพระไตรปิฎก เป็นเวลา ๑ ปี พร้อมทำการสอบให้ผ่านในระยะเวลา ๑ ปี จึงจะเข้าสู่รูปแบบการเรียนศึกษาพระไตรปิฎก โดยเริมต้นจากการศึกษาพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก เป็นเวลาเรียนพร้อมสอบโดยลำดับ เป็นเวลารวม ๑๐ ปี จากนั้นจะทำการสอบท่องปากเปล่า โดยเริ่มจากพระวินัยปิฎก หากทรงจำได้โดยไม่ผิดพลาดแม้แต่อักขระเดียว จะเรียกว่าพระวินัยธร (วินัยธะระ) จะมีการสอบข้อเขียนบรรยายให้ครบถ้วนตามพระวินัยปิฎก เมื่อผ่านแล้วจะแล้วเรียกว่าวินัยโกวิทะ

จากนั้นจะเริ่มศึกษาพระสูตร ตามลำดับ เมื่อสอบปาก เปล่าทรงจำพระสูตรได้แล้วจะเรียกว่าทีฆะปานะกะ และต้องสอบข้อเขียนบรรยายให้ครบถ้วน เมื่อสอบผ่านจะเรียกว่าฑีฆะนิกายะโกวิทะ จากนั้นจึงมาเริ่มศึกษาพระอภิธรรมปิฏกและทำการสอบเช่นเดิมที่ผ่านมาอีก หากผ่านการสอบปากเปล่าจะเรียกว่ามูลอภิธรรมมิกะ และผ่านข้อเขียนจะเรียกว่า อภิธรรมโกวิทะ ซึ่งต้องใช้เวลาอีก ๑ ปี เมื่อสำเร็จและจะศึกษาพระคัมภีร์อภิธรรมอีก คือ ยมกะ ๓ เล่ม ปัฏฐาน อีก ๕ เล่ม รวม ๔,๐๐๐ หน้า เมื่อสอบปากเปล่าผ่านจะเรียกว่า ตรีปิฏกธร ซึ่งหมายถึงการเป็นผู้ทรงจำพระไตรปิฏก และ ต้องสอบข้อเขียนบรรยายอีก รวม ๔,๐๐๐ หน้า จะได้วุฒิเป็นตรีปิฏกโกวิทะ ในพระไตรปิฏกฉบับฉฏฐสังคยนา ๔๐ เล่มนั้น ๒๐ เล่มจะเรียนกับพระอาจารย์ ส่วนอีก ๒๐ เล่มจะเป็นการศึกษาวิจัยด้วยตนเอง ซึ่งต้องใช้เวลาการเรียน สอบทั้งท่องและบรรยาย ทั้งหมดเป็นเวลา ๑๐ ปี การศึกษาดังกล่าวจะไม่มีการศึกษาในวิชาอื่นๆ นอกจากพระไตรปิฎกเลย

ต่อจากนั้นอีก ๕ ปี จะทำการสอบใหม่เหมือนข้างต้นทั้งหมดและยังตรวจสอบความประพฤติ 4 ข้อคือ

1. ทำให้วัตรปฏิบัติของพระภิกษุสามเณรดีงาม
2. ทำให้มีการศึกษาพระไตรปิฎกอย่างถี่ถ้วน
3. ทำให้เกิดความแตกฉานและเชี่ยวชาญในภาษาบาลี
4. ทำให้เข้าใจวิธีการใช้ภาษาและสามารถเขียนบทประพันธ์ด้วยตนเองได้

ในการสอบยังมีการสอบปิฎกธระหรือพระภิกษุที่สามารถทรงจำพระไตรปิฎกได้ ผู้สอบผ่านจะมีนามพิเศษ ว่า “เตปิฎกธรธรรมภัณฑาคาริกะ” โดยมีพัดงาเป็นสัญลักษณ์

• พระไตรปิฎกธร สุดยอดพระผู้ทรงจำพระไตรปิฎก สุดยอดแห่งความศรัทธาของชาวพม่า

พุทธ ศาสนิกชนชาวพม่าจะให้การนับถือ พระไตรปิฎกธร (พระที่สามารถท่องพระไตรปิกฎได้ทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ทั้งบาลีและคำแปลโดยปากเปล่า) เป็นอย่างยิ่ง การได้พบนมัสการ กราบไหว้ครั้งหนึ่งในชีวิต ถือเป็นโอกาสสำคัญในชีวิต ซึ่งเดิมที่มีเพียง ๑๑ รูป แต่ได้มรณภาพไปแล้ว ๔ รูป

การสอบผ่านเป็นพระผู้ทรงจำพระไตรปิฎกยากมาก ตรงที่ต้องท่องจำพระไตรปิฎกได้ทั้งหมด ยากยิ่งกว่าการท่องพระปาติโมกข์เป็น ๑๐๐ เท่า ผู้จะสอบคัดเลือกต้องเตรียมตัวสอบเป็นอย่างดี ไม่ต่ำกว่า ๑๐ ปี ถ้าสอบผ่านแล้ว รัฐบาลจะประกาศเกียรติยศ และถวายค่านิตยภัตพอสมควร พร้อมทั้งอุปถัมภ์ค่าพาหนะ เช่น ขึ้นเครื่องบิน ขึ้นรถฟรี และสวัสดิการอื่นๆ

สำหรับพระไตรปิฎกธรที่มีชื่อเสียง คือ พระอาจารย์ภัททันตะ วิจิตตะ สาราภิวังสะปฐมตริปิฏกะธร ตรีปิฎกโกวิทะ ตรีปิฎกะธรรมภัณฑาคาริกะ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปฐมเมิงกุน สยาดอ เมืองสะกาย ท่านสามารถจำได้ทุกหน้าทุกบรรทัดราวกับเปิดข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ ถึงขนาดที่ว่าหนังสือกินเนสส์บุ๊ก พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งตีพิมพ์ในสหราชอาณาจักรอังกฤษ ได้บันทึกความทรงจำที่น่ามหัศจรรย์ ของท่านไว้ว่า “พระอาจารย์ใหญ่เมงกุนสียาดอ ประเทศพม่า มีความทรงจำท่องพระไตรปิฎก ๑๖,๐๐๐ หน้า (๒๔๐,๐๐๐ ตัวอักษร)ได้ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๗(ค.ศ.๑๙๕๔) ซึ่งเป็นตัวอย่างของความทรงจำของมนุษย์ที่หาได้ยากมาก”

• 2 พระไตรปิฎกธรเยือนไทย
ชาวพม่านับแสนแห่ฟังธรรม

พระอาจารย์ใหญ่ภัททันตะวิจิตรสาราภิวังสะ ได้มีศิษย์ ผู้สำเร็จในการเป็นผู้ทรงจำพระไตรปิฎกถึงปัจจุบัน จำนวน ๙ รูป อาทิ พระอาจารย์ภัททันตะ วังสะ ปาละ ลังการะตรีปิฏกะธร ตรีปิฎกโกวิทะ ตรีปิฎกะธรรมภัณฑาคาริกะ อายุ ๕๐ ปี ๓๐ พรรษา เป็นชาวเมืองมินหมู่ ฐานะยากจน บรรพชาตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ อุปสมบทศึกษาพระไตรปิฏก ณ วัดเมงกุนธรรมนาถ ตั้งแต่อายุ ๒๐ปี สำเร็จการศึกษาพระไตรปิฎก เมื่ออายุ ๓๔ ปี ปัจจุบันเป็นประธานวัดตรีปิฎกนิกายมหาวิหาร

พระอาจารย์ภัททันตะศีละขันธะ ตริปิฎกะธร ตรีปิฎกโกวิทะ ตรีปิฎกะธรรมภัณฑาคาริกะ แห่งสำนักนิเกยาราม ย่างกุ้ง เป็นชาวเมืองมอจุน ใกล้อิรวดี บรรพชาตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ อุปสมบทศึกษาพระไตรปิฏก ณ วัดเมงกุนธรรมนาถ ตั้งแต่อายุ ๒๐ ปี สำเร็จการศึกษาพระไตรปิฎก เมื่ออายุ ๓๓ ปี ปัจจุบันเป็นอาจารย์สำนักปริยัติศาสนานิเกย่างกุ้ง

เมื่อเร็วๆนี้ พระอาจารย์ไตรปิฎกธรฯทั้งสองรูปได้มาเยี่ยมและแสดงธรรมเทศนาแก่ชาวพม่าที่ อาศัยอยู่ในประเทศไทย อาทิ มหาชัย จ.สมุทรสาคร โดยมีชาวพม่ากว่า ๑ แสนคน มาฟังพระธรรมเทศนา ณ สนามกีฬามหาชัย รวมทั้งที่ภูเก็ต และระนอง เป็นต้น


 (จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 122 มกราคม 2554 โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อภิณัฏฐ์ กิติพันธุ์)

http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9530000183172


หัวข้อ: Re: สุดยอด "พระผู้ทรงจำพระไตรปิฎก" ของโลก
เริ่มหัวข้อโดย: mr.ton003 ที่ มกราคม 06, 2011, 05:39:08 am
ไม่น่าเชื่อเลยครับว่า จะมีคนจำได้เยอะขนาดนี้
ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ  :D  smiley4  HAPPY2!!