พิมพ์หน้านี้ - มารวมข้อมูล มังคุด กันเถอะ

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่14"

สารพัดช่าง-แนวทางอาชีพ => ●การเกษตร => ข้อความที่เริ่มโดย: worathep-LSV team ที่ มกราคม 29, 2007, 12:54:42 pm



หัวข้อ: มารวมข้อมูล มังคุด กันเถอะ
เริ่มหัวข้อโดย: worathep-LSV team ที่ มกราคม 29, 2007, 12:54:42 pm
               
         
มังคุด

   
   


สถานการณ์ทั่วไป
มังคุดเป็นไม้ผลที่ตลาดมีความต้องการสูงมากทั้งตลาดภายในและส่งออก ราคาผลผลิตมังคุดคุณภาพดีที่เกษตรกรขายได้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เกษตรกรจึงขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้มังคุดเป็นไม้ผลอีกชนิดหนึ่งที่ถูกกำหนดให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ที่จะต้องเร่งรัดเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อการส่งออก
 
 
 
 
ลักษณะทั่วไปของพืช
มังคุดเป็นไม้ผลยืนต้นขนาดใหญ่ชอบอากาศร้อนชื้น อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 25–30° C ความชื้นสัมพัทธ์สูงประมาณ 75–85% ดินควรมีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ของดินประมาณ 5.5–6.5 และที่สำคัญควรเลือกพื้นที่ปลูกที่มีน้ำเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง มังคุดเป็นไม้ผลที่มีระบบรากหาอาหารค่อนข้างลึก ประมาณ 90–120 ซม. จากผิวดิน ดังนั้นจึงต้องการสภาพแล้งก่อนออกดอกค่อนข้างนาน โดยต้นมังคุดที่สมบูรณ์ใบยอดมีอายุระหว่าง 9 –12 สัปดาห์เมื่อผ่านช่วงแล้งติดต่อกัน 21–30 วัน และมีการกระตุ้นน้ำถูกวิธีมังคุดจะออกดอก
 
 
 
 
อายุการเก็บเกี่ยว
มังคุดจะให้ผลผลิตในปีที่ 7 หลังปลูก แต่ผลผลิตต่อต้นในระยะแรกจะต่ำ ช่วงที่ให้ผลผลิตดีประมาณ 13 ปีขึ้นไป โดยเฉลี่ย 60 กก./ต้น (น้ำหนักผลเฉลี่ย 80 กรัม/ผล)
 
 
 
 
ระยะเก็บเกี่ยว
ช่วงพัฒนาการของดอก (ผลิตตาดอก – ดอกบาน) ประมาณ 30 วัน ช่วงพัฒนาของผล (ดอกบาน – เก็บเกี่ยว) ประมาณ 11–12 สัปดาห์ ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมคือ เริ่มมีสายเลือดได้ 1–2 วัน ผลมังคุดที่มีสีม่วงแดงเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 10–13° C ความชื้นสัมพัทธ์ 90–95 % เก็บรักษาได้นานประมาณ 2–4สัปดาห์
 
 
 
 
ฤดูกาลเก็บเกี่ยว
ฤดูกาลเก็บเกี่ยวของภาคตะวันออกอยู่ในช่วงเดือน พฤษภาคม–มิถุนายน ภาคใต้ กรกฎาคม – กันยายน
 
 
 
 
พื้นที่ปลูก
- แหล่งผลิตที่สำคัญ คือ ภาคใต้ (พื้นที่ปลูก 61.23 % ผลผลิต 62.34 %) ภาคตะวันออก(พื้นที่ปลูก 37.90 % ผลผลิต 62.34)
- จังหวัดที่สำคัญ คือ จันทบุรี(ผลผลิต 32 %) ชุมพร(26%) นครศรีธรรมราช(13 %) ตราด(9 %) ระนอง(8 %) ระยอง (4 %) และนราธิวาส(3 %)
พื้นที่ปลูก ประมาณ 300,000 ไร่ ( พื้นที่ให้ผลแล้ว 160,000 ไร่)
 
 
 
 
พันธุ์ที่ส่งเสริม
พันธุ์พื้นเมือง (เกสรตัวผู้ของดอกมังคุดเป็นหมัน เมล็ดเจริญจากเนื้อเยื่อของต้นแม่โดยไม่ได้รับการผสมเกสร ดังนั้นจึงเชื่อกันว่ามังคุดมีพันธุ์เดียว)
 
 
 
 
ต้นทุนการผลิต
 เฉลี่ยประมาณ 14,471 บาท/ไร่/ปี หรือ 15.79 บาท/กก.
 
 
 
 
ผลผลิต
ผลผลิตรวมทั้งประเทศ ประมาณปีละ 160,000 - 190,000 ตัน
ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,098.12 กก./ไร่/ปี เฉลี่ยระหว่างปี 2537 - 2541
ผลผลิตเฉลี่ยของมังคุดในแต่ละปีที่ผ่านมา แตกต่างกันในช่วง 981 – 1,227 กก./ไร่
ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อการออกดอกและติดผล
ปริมาณการใช้ภายในประเทศประมาณ 96 %
 
 
 
 
ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปี 2542

                    ปริมาณ : ตัน              มูลค่า : ล้านบาท
ผลสด                   5,000                       104.83
แช่แข็ง                  281                          25.89
รวม                      5,281                       130.72
 
 
 
 
ราคา
ราคาผลผลิตที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยตลอดฤดูกาล 21.68 บาท/กก.
เฉลี่ยเดือนที่ออกมาก 12.80 บาท/กก.
เฉลี่ยในเดือนที่เริ่มออก(ต้นฤดู) 41.71 บาท/กก.
 
 
 
 
ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น
1. สภาพภูมิอากาศแปรปรวน ประกอบกับการจัดการการผลิตที่ไม่เหมาะสม จึงมีปัญหาการออกดอกน้อยหรือไม่ออกดอกในบางปีและ/หรือออกดอกช้า ผลแก่ในช่วงฝนตกชุก มีปัญหาเนื้อแก้วยางไหล
2. การระบาดของโรคแมลงศัตรูมังคุดที่สำคัญ เช่น เพลี้ยไฟ ไรแดง
3. ปัจจัยการผลิตมีราคาแพงและมีปัญหาด้านแรงงานซึ่งต้องใช้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานเก็บเกี่ยว
4. การขาดแคลนน้ำในแหล่งปลูกมังคุดในบางพื้นที่ บางปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มังคุดกำลังติดผลมีผลต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิต
5. การขยายพื้นที่ปลูกมังคุดใช้เงินลงทุนมาก เนื่องจากเป็นไม้ผลที่ให้ผลช้า
6. การส่งออกยังไม่ขยายตัวเท่าที่ควร โดยเฉพาะเงื่อนไขการกักกันพืชของบางประเทศ
 
 
 
 
การปลูก
วิธีการปลูก ทำได้ทั้งการขุดหลุมปลูกซึ่งเหมาะกับพื้นที่ที่ยังไม่มีการวางระบบน้ำไว้ก่อนปลูก วิธีนี้ดินในหลุมจะช่วยเก็บความชื้นได้ดีขึ้น ส่วนการปลูกโดยไม่ต้องขุดหลุม (ปลูกแบบนั่งแท่นหรือยกโคก) เหมาะกับพื้นที่ฝนตกชุก วิธีนี้การระบายน้ำดี น้ำไม่ขังโคนต้น แต่ต้องมีการวางระบบน้ำไว้ก่อนปลูก ซึ่งต้นมังคุดจะเจริญ เติบโตเร็วกว่าการขุดหลุม ทั้งนี้จุดเน้นที่สำคัญในการปลูก คือ ควรใช้ต้นกล้าที่มีระบบรากดี ไม่ขดงอในถุง แต่ถ้าจะใช้ต้นกล้าขนาดใหญ่ก็ให้ตัดดินและรากที่ขดหรือพันตรงก้นถุงออก
ระยะปลูก เนื่องจากมังคุดเป็นไม้ผลที่มีทรงพุ่มขนาดใหญ่ เจริญเติบโตช้า ระยะปลูกที่ แนะนำ คือ 8 – 9 X 8 – 9 เมตร สำหรับสวนที่จะใช้เครื่องจักรกลแทนแรงงาน ควรเว้นระยะระหว่างแถวให้ห่างพอที่เครื่องจักรกลจะเข้าไปทำงานแต่ให้ระยะระหว่างต้นชิดขึ้น
จำนวนต้น/ต่อไร่ 20 – 25 ต้น/ไร่
 
 
 
 
การดูแลรักษา (สำหรับต้นที่ให้ผลผลิตแล้ว)
การใส่ปุ๋ย
- เพื่อบำรุงต้นหลังการเก็บเกี่ยว ปุ๋ยอินทรีย์ 20 – 50 กก./ต้น ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 1 – 3 กก./ต้น
- เพื่อส่งเสริมการออกดอก (ช่วงปลายฝน) ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24 หรือ 9-24-24 2 – 3 กก./ต้น
- เพื่อบำรุงผล (หลังติดผล 3 – 4 สัปดาห์) ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 2 – 3 กก./ต้น

การให้น้ำ
ให้น้ำสม่ำเสมอช่วงเจริญทางใบและงดให้น้ำช่วงปลายฝน ต้นมังคุดที่มีอายุ 9 – 12 สัปดาห์และผ่านสภาพแล้ง 21–30 วัน เมื่อแสดงอาการใบตก ปลายใบบิด ก้านใบและกิ่งที่ปลายยอดเริ่มแสดงอาการเหี่ยว ให้กระตุ้นการออกดอก โดยการให้น้ำอย่างเต็มที่ในปริมาณมาก จากนั้นให้หยุดดูอาการ 7 – 10 วัน เมื่อพบว่าก้านใบและกิ่งที่ปลายยอดเริ่มเต่งขึ้นก็ให้น้ำเป็นครั้งที่ 2 ในปริมาณ ½ ของครั้งแรก หลังจากนั้น 10–14 วัน ตาดอกจะผลิออกมาให้เห็น และควรมีการจัดการน้ำเพื่อควบคุมปริมาณดอกให้มีเพียงร้อยละ 35 – 50 ของยอดทั้งหมดเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยหลังจากมังคุดออกดอกแล้ว 10–15 % ของตายอดทั้งหมด ควรให้น้ำปริมาณมาก ๆ ทุกวัน จนพบว่าในยอดที่ยังไม่ออกดอกเริ่มมียอดอ่อนแทนตาดอกจึงค่อยให้น้ำตามปกติ และจะต้องให้น้ำในปริมาณนี้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องทุกวัน เพื่อให้ผลมังคุดมีพัฒนาการที่ดี
 
 
 
 
การปฏิบัติอื่นๆ
-การเตรียมสภาพต้นให้พร้อมต่อการออกดอกในฤดูกาลถัดไป
 คือ การจัดให้มีการแตกใบอ่อนในเวลาที่เหมาะสม และพัฒนาเป็นใบแก่ได้พอดีกับช่วงที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม ปกติต้นมังคุดที่ตัดแต่งกิ่งและใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำจะแตกใบอ่อนตามเวลาที่เหมาะสม แต่ต้นที่ไว้ผลมากและขาดการบำรุงที่ดีในฤดูที่ผ่านมาก แม้จะจัดการต่างๆ แล้วก็มักจะไม่ค่อยแตกใบอ่อนหรือแตกใบอ่อนช้า จึงควรกระตุ้นการแตกใบอ่อนโดยฉีดพ่นปุ๋ยยูเรีย อัตรา 100 – 200 กรัม/น้ำ 20 ลิตร แต่ถ้าพ่นยูเรียไปแล้วมังคุดยังไม่ยอมแตกใบอ่อนก็ให้ใช้ไทโอยูเรีย 20-40 กรัม ผสมน้ำตาลเด็กกซ์โตรส 600 กรัม ในน้ำ 20 ลิตร (ไทโอยูเรียมีความเป็นพิษต่อพืชสูงจะทำให้ใบแก่ร่วงได้จึงต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง) เมื่อมังคุดแตกใบอ่อนแล้วให้ดูแลรักษาใบอ่อนที่แตกออกมาให้สมบูรณ์ โดยการหมั่นตรวจสอบและป้องกันการระบาดของหนอนกัดกินใบและโรคใบจุดอย่างใกล้ชิด
-การจัดการเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตที่มีคุณภาพ
(มังคุดคุณภาพ หมายถึง ผลมังคุดที่มีผิวลายได้ไม่เกิน 5 % ของผิวผลและมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 80 กรัม ปราศจากอาการเนื้อแก้ว ยางไหลภายในผลและจะต้องเป็นผลที่เก็บเกี่ยวถูกวิธี) : ควบคุมปริมาณดอก มังคุดทุกดอกจะเจริญเป็นผลได้โดยไม่ต้องผสมเกสร ถ้าปล่อยให้ออดอกมากเกินไปผลที่ได้มีขนาดเล็กราคาไม่ดี และยังมีผลต่อความสมบูรณ์ของต้นในปีถัดไป นอกจากจะจัดการน้ำตามที่กล่าวแล้ว ในกรณีที่พบว่ามังคุดออกดอกมากเกินไปแล้วให้หว่านปุ๋ยทางดินสูตร 16-16-16 หรือ 15-15-15 ปริมาณ 2 เท่าของปกติควบคู่กับการให้น้ำจะทำให้ผลที่มีอายุ 2 – 3 สัปดาห์ร่วงได้บางส่วน : ตรวจสอบและป้องกันกำจัดศัตรูเพลี้ยไฟ ไรแดง อย่างใกล้ชิด ในช่วงดอกใกล้บาน และติดผลขนาดเล็ก
-การเก็บเกี่ยว
เก็บเกี่ยวในระยะที่แก่พอเหมาะคือ เมื่อผลเริ่มเป็นระยะสายเลือด คือ ผลมีสีเหลืองอ่อนปนเขียวมีจุดประสีชมพูกระจายทั่วผล เน้นให้เก็บเกี่ยวด้วยตะกร้อผ้าเพื่อป้องกันผลตกกระแทกและป้องกันรอยขีดข่วนที่ผิว
 
 
 
 
การป้องกันกำจัดศัตรูที่สำคัญ (เน้นการป้องกันกำจัดแบบผสมผสาน)
 ช่วงแตกใบอ่อน
- หนอนกินใบ : สุมหญ้าใต้โคนต้นมังคุดเพื่อให้ตัวหนอนมาหลบซ่อนตอนกลางวันและเผาทำลาย ถ้าพบการทำลายมากให้ฉีดพ่นด้วย คาร์บาริล
- หนอนชอนใบ : เก็บใบอ่อนที่มีหนอนเผาทำลาย ถ้าพบการทำลายมากให้ฉีดพ่นด้วย คาร์บาริล
- โรคใบจุด : ในระยะที่แตกใบอ่อนให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมี แมนโคเซบ คาร์เบนดาซิมหรือเบนโนมิล
ช่วงดอกใกล้บานและติดผลอ่อน
- เพลี้ยไฟ : ฉีดพ่นสารคาร์โบซัลแฟนหรือฟิโปรนิลหรืออิมิลาโคล
พริดให้ทั่วทั้งภายในและภายนอกทรงพุ่ม จากนั้น 5 – 7 วัน ถ้าพบว่ามีเพลี้ยไฟให้ฉีดซ้ำแต่ควรสลับชนิดสารเคมี
- ไรแดง : พ่นด้วยกำมะถันผงหรือสารเคมีโอไมท์ผง
 
 
 
 
ปฏิทินการปฏิบัติดูแลรักษามังคุด
ภาคใต้


มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ม.ค. ก.พ.
ระยะดอกบานและติดผล ระยะพัฒนาของผล ระยะผลแก่และเก็บเกี่ยว ระยะแตกใบอ่อนและเจริญทางใบ ระยะใบแก่เตรียมพักตัว ระยะพักตัวเตรียมออกดอก ระยะออกดอก
- ป้องกันกำจัด เพลี้ยไฟไรแดง
- ให้น้ำ สม่ำ เสมอ - ให้น้ำสม่ำเสมอ
- ตัดแต่งผล
- ใส่ปุ๋ย 13-13-21 หลังติดผล 3 – 4สัปดาห์ เก็บเกี่ยวด้วยตะกร้อผ้าอย่างระมัดระวัง - ตัดแต่งกิ่ง
- ใส่ปุ๋ย 15-15-15,16-16-16
- กำจัดวัชพืชและป้องกันกำจัดหนอนกัดกินใบและโรคใบจุด
- ให้น้ำถ้าฝนทิ้งช่วง - ใส่ปุ๋ย8-24-24หรือ12-24-12
- ควบคุมน้ำ - ควบคุมน้ำ -ควบ คุมน้ำ
–ป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟไรแดง