หัวข้อ: เทคโนโลยี millimeter wave เริ่มหัวข้อโดย: b.chaiyasith ที่ พฤศจิกายน 03, 2010, 08:05:50 pm ในปัจจุบันมีการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีไร้สายที่หลากหลายเพื่อการใช้งานในชีวิตประจำวันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นเทคโนโลยีระบบแลนไร้สาย (WLAN) ที่มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย หรือแม้แต่เทคโนโลยีบลูทูธ ที่ในทุกวันนี้มีการใช้งานในอุปกรณ์พกพา หลายคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีบลูทูธเป็นสิ่งที่เริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น เช่นการขับยานพาหนะก็จำเป็นต้องใช้ชุดหูฟังบลูทูธ หรือแม้แต่การถ่ายข้อมูลระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์สู่เครื่องคอมพิวเตอร์อีกเครื่องหนึ่งก็ล้วนแต่ต้องใช้เทคโนโลยีบลูทูธแต่ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีนี้ที่มีแบนวิธต่ำ จึงทำให้มีความสามารถในการรับ-ส่งข้อมูลที่ช้าตามไปด้วย นอกจากนี้คลื่นความถี่ในช่วงนี้มีการใช้งานของหลากหลายอุปกรณ์ เช่น ระบบแลนไร้สาย จึงทำให้เกิดสัญญาณรบกวนกันมาก
จากข้อจำกัดของเทคโนโลยีบูลทูธ จึงทำให้มีผู้วิจัยคิดค้นเทคโนโลยีที่จะสามารถนำมาแทนที่เทคโนโลยีเก่า จนได้เทคโนโลยีใหม่ที่ชื่อว่า Millimeter-wave โดยมีความสามารถในการรับส่งข้อมูลสูงในระดับ multi gigabit เนื่องจากมีแบนวิธสูงถึง 7GHz นอกจากนี้จากการที่เทคโนโลยีนี้อยู่ในช่วงความถี่ 30-300 GHz และเหตุจากความยาวคลื่นที่สั้นประมาณ 1-10 มิลลิเมตรเท่านั้น จึงเป็นที่มาของการตั้งชื่อเทคโนโลยีนี้ว่า Millimeter-wave MM-Wave คืออะไร หลายคนคงไม่เคยได้ยินคำว่า mm โดย mm นั้นคือ มิลลิเมตร นั่นเอง ซึ่งชื่อของเทคโนโลยีนี้มาจากความยาวคลื่นที่มีความยาวที่ประมาณ 1-10 มิลลิเมตร Millimeter wave หรือเทคโนโลยีคลื่นความถี่ระดับมิลลิเมตร คือเทคโนโลยีไร้สายที่จะเป็นรุ่นถัดไปที่สามารถให้บริการในการเชื่อมต่อไร้สายที่มีความเร็วสูงโดยมีอัตราการรับส่งข้อมูลอยู่ที่ระดับ multi Gigabit per second สำหรับอุปกรณ์ในระยะทางสั้นๆ ระหว่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยี Millimeter wave นี้เป็นเทคโนโลยีการเชื่อมต่อภายในแบบไร้สายที่มีเร็วสูงในการถ่ายโอนข้อมูล โดยสามารถนำไปใช้ได้กับอุปกรณ์สื่อสาร หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เช่นโทรทัศน์ ด้วยการเปลี่ยนจากการใช้สายที่ซับซ้อนมาเป็นวงจรภายในมีการเชื่อมต่อแบบไร้สายแทน เพื่อลดความซับซ้อนภายในอุปกรณ์ เช่นโทรทัศน์แบบแขวน ที่นับวันจะมีความบางลงเรื่อยๆ โดยเทคโนโลยีนี้จะช่วยลดขนาดและค่าใช้จ่ายของ IC และส่วนประกอบอื่นๆ ที่ใช้ในอุปกรณ์สื่อสาร หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยข้อดีของเทคโนโลยีคลื่นความถี่ระดับมิลลิเมตรมีดังนี้ - ข้อดีหลักๆ ของเทคโนโลยีความถี่ระดับมิลลิเมตรเลยคือความเร็วของมันอย่างที่ได้เกริ่นนำไว้แล้วนั่นเอง โดยทางแล็บ IBM ได้มีการยืนยันมาแล้วว่าความเร็วของมันจะอยู่ที่ประมาณ 40-100 เท่าของระบบ Wireless LAN ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยยกตัวอย่างง่ายๆ คือคุณสามารถที่จะส่งข้อมูลทั้งหมดใน DVD 1 แผ่นในเวลาประมาณ 15 วินาทีเท่านั้นเอง - การใช้พลังงานที่ต่ำในการรับส่งข้อมูล โดยตัวอุปกรณ์จะใช้พลังงานที่ต่ำและเหมาะสมเพียงพอต่อการเชื่อมต่อ ปกติแล้วอุปกรณ์คลื่นความถี่ระดับมิลลิเมตรนี้จะใช้พลังงานในการรับส่งข้อมูลสูงสุดเพียง 70 มิลลิวัตต์ ซึ่งถือว่าใช้กำลังไฟที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีบลูทูธที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่ใช้กำลังไฟสูงสุดที่ 100 มิลลิวัตต์ - ขนาดของชิพที่มีขนาดเล็ก โดยในขณะนี้บริษัททางบริษัท SONY ได้ทำการพัฒนาชิพเซ็ตคลื่นความถี่ระดับมิลลิเมตรเพื่อใช้งานจริงแล้ว โดยชิพเซ็ตตัวนี้มีขนาดเพียง 0.13 ตารางมิลลิเมตร และเนื่องจากเทคโนโลยีคลื่นความถี่ระดับมิลลิเมตรเป็นคลื่นความถี่สูง ช่วงคลื่นจึงสั้น ทำให้มีเสาอากาศที่มีขนาดเล็กเพียง 1 มิลลิเมตรเท่านั้น จึงทำให้สามารถทำการฝังเสาสัญญาณลงไปในชิพเซ็ตได้เลย MM-Wave ทำงานอย่างไร Millimeter-Wave หรือเทคโนโลยีคลื่นความถี่ระดับมิลลิเมตรนี้เป็นเทคโนโลยีไร้สายที่ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่คลื่นที่ 30GHz ถึง 300GHz โดยในช่วงคลื่นนี้จะสามารถเรียกได้อีกอย่างหนึ่งคือ Extremely high frequency ซึ่งปกติแล้ว Millimeter-wave จะมีความยาวคลื่นระหว่าง 1 mm ถึง 10 mm โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญของเทคโนโลยีนี้คือชิปเซต Millimeter-Wave และเสาอากาศในการส่งสัญญาณแบบไร้สายโดย ใช้ช่วงความถี่พาหะที่ 60 GHz เป็นหลัก ซึ่งช่วงความถี่นี้มีความถี่สูงเกือบ 1,000 เท่าของคลื่นที่ใช้สำหรับวิทยุเอฟเอ็มทั่วไป และเนื่องจากการส่งข้อมูลความเร็วสูงของระบบเทคโนโลยีไร้สายรูปแบบ Millimeter-wave นี้สามารถทำการโอนถ่ายข้อมูลได้สูงในระดับ multi gigabit per second จึงทำให้มีความจำเป็นในการเข้ารหัสข้อมูลที่มีการรับส่งเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของข้อมูล แต่ด้วยความเร็วที่มีสูงมากจึงไม่สามารถใช้ระบบการเข้ารหัสแบบเดียวกับเทคโนโลยี wire line แบบในปัจจุบันได้ และที่แย่ไปกว่านั้นระบบไร้สายความเร็วสูงนี้ยังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการรบกวนต่างๆ เช่น การสะท้อน การดูดซับคลื่น และอื่นๆในพื้นที่ว่าง หรือแม้กระทั่งการดูดซับสัญญาณที่เกิดจากออกซิเจนในอากาศเอง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเข้ารหัสและถอดรหัส และการตรวจสอบข้อมูลอย่างเหมาะสมโดยยังคงอัตราการรับส่งข้อมูลที่ multi gigabit อยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยเหตุนี้ IBM จึงได้พัฒนาจนสามารถสามารถรับส่งข้อมูลได้อย่างมีความน่าเชื่อถือและมีการสูญเสียข้อมูลระหว่างการโอนถ่ายที่ต่ำ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงความถี่ที่ 38.6-40 GHz ได้รับการอนุญาตการเชื่อมต่อความเร็วสูงสำหรับไมโครเวฟ และในช่วง 60 GHz นั้น สามารถนำไปใช้โดยไม่ต้องรับการอนุญาตสำหรับการใช้งานในช่วงสั้นๆ ที่มีระยะทางสูงสุด 1ไมล์ หรือ 1.7 กิโลเมตร โดยการรับส่งข้อมูลจะมีทรูพุทสูงสุดถึง 2.5GHz เลยทีเดียว ซึ่งมีการใช้งานทั่วไปในสถานที่ที่มีภูมิประเทศราบเรียบ ในช่วงคลื่น 71-76, 81-86 และ 92-95 GHz ในช่วงนี้เคยถูกนำไปใช้ในการรับส่งข้อมูลไร้สายแบบจุดต่อจุด (Point-to-Point) เป็นการเชื่อมต่อที่มีแบนด์วิธสูง แต่ในช่วงความถี่ดังกล่าวนี้ตรงกันข้ามกับความถี่ 60 GHz ที่ไม่ต้องการใบอนุญาตการส่งสัญญาณ จากหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่มีหน้าที่ควบคุมในเรื่องการสื่อสาร โดยเฉพาะการควบคุมสัญญาณความถี่ของคลื่นวิทยุ หรือ Federal Communications Commission (FCC) แต่ที่ช่วงคลื่น 71-76, 81-86 และ 92-95 GHz ได้รับความนิยมในการใช้งานเนื่องจากในช่วงนี้จะไม่ได้รับผลกระทบจากการดูดซับสัญญาณของออกซิเจนในอากาศ นอกจากนี้ในช่วงความถี่ 60 GHz นี้ได้รับการพัฒนามาเพื่อการใช้งานที่หลากหลาย โดยมีความคิดหลักๆ คือการรับส่งข้อมูลที่มีความเร็วสูงจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง (Point to Point) สำหรับการใช้งานในระบบแลนไร้สายและอินเตอร์เน็ตบอร์ดแบรนด์อีกด้วย รูปที่ 1 ตารางแสดงการเปรียบเทียบระหว่างเทคโนโลยี mm-wave และเทคโนโลยีไร้สายอื่นๆ (http://www.vcharkarn.com/uploads/219/219303.jpg) จากรูปที่ 1 ได้มีการแสดงการเปรียบเทียบระหว่างเทคโนโลยี mm-wave และเทคโนโลยีไร้สายต่างๆ ในด้านความถี่และความเร็ว ยกตัวอย่างเช่น การจำแนกจากความถี่ เรียงจากความถี่ต่ำไปยังความถี่สูงเริ่มจาก Zigbee ที่มีความถี่ในย่าน 915 MHz และย่าน 868 MHz และมีความเร็วในการรับส่งอยู่ที่ประมาณ 20250kbps ตามมาด้วยเทคโนโลยีบลูทูธที่มีความถี่ในย่าน 2.4 GHz โดยมีความเร็วในการรับส่งข้อมูลประมาณ 721 kbps 2 mbps ตามมาด้วยเทคโนโลยีแลนไร้สายมาตรฐาน 802.11b ที่ทำงานในย่านความถี่ 2.4 GHz และมีความเร็วประมาณ 11 mbps และจากนั้นจะเป็นเทคโนโลยีแลน ไร้สายอีกมาตรฐานซึ่งมีความเร็วมากกว่าโดยที่มาตรฐาน 802.11g จะทำงานที่ย่านความถี่ 2.4 GHz และ 5GHz สำหรับมาตรฐาน 802.11a โดยทั้ง 2 มาตรฐานนี้จะทำงานได้สูงสุดที่ 54 Mbps และต่อด้วยมาตรฐานล่าสุดของระบบแลนไร้สายที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบันคือ 802.11n ที่ใช้ย่านความถี่ 5GHz และมีความเร็วในการรับส่งสูงสุดที่ 54 Mbps ถึง 600 Mbps นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีอุลตร้าไวด์แบรนด์ (UWB) ที่มีช่วงความถี่สูง จึงมีความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงตามไปด้วย แต่จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยี mm-wave จะมีย่านความถี่สูงมากถึง 60 GHz และมีความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่สูงที่สุดอีกเช่นกัน นอกจากนี้ในช่วงคลื่นความถี่ที่ 60 GHz ยังเป็นช่วงที่ไม่ต้องการการขออนุญาตการใช้สิทธิ์ในการใช้งานคลื่นความถี่ โดยช่วงว่างมีพื้นที่สูงถึง 7 GHz ซึ่งหมายความว่าที่ช่วงนี้ สามารถมีแบนด์วิธที่สูงมากถึง 7 GHz อีกเช่นกัน โดยสามารถดูได้จาก รูปที่ 2 ซึ่งแสดงช่วงคลื่นที่ได้รับผลกระทบจากการสะท้อน การดูดซับคลื่น และอื่นๆ ในพื้นที่ว่าง หรือแม้กระทั่งการดูดซับสัญญาณที่เกิดจากออกซิเจนในอากาศเอง (http://www.vcharkarn.com/uploads/219/219304.jpg) รูปที่ 2 ตารางแสดงช่วงความถี่ที่ไม่ต้องการการขออณุญาติในการใช้งานและย่านความถี่ที่ถูกดูดซับคลื่นในอากาศ MM-Wave แตกต่างจากระบบไร้สายอื่นๆ อย่างไร โดยทั่วไประบบแลนไร้สายจะมีความถี่อยู่ที่ 2.5 GHz หรือ 5 GHz ส่วน Millimeter-wave จะใช้ประโยชน์จากแบนด์วิธที่ทั่วโลกยังไม่ได้ทำการจดทะเบียนคือช่วงความถี่ 30GHz 300GHz ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ความถี่สูงยังหมายถึงค่าเฉลี่ยความยาวคลื่นที่สั้นกว่า เป็นผลให้ระบบเสาอากาศสามารถมีขนาดขนาดเล็กในระดับมิลลิเมตร ในบางครั้งยังสามารถบรรจุเสาอากาศไว้ในตัวชิปเซตในการรับส่งสัญญาณก็สามารถทำได้เช่นกัน มากไปกว่านั้นตัวอุปกรณ์มีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับระบบไร้สายอื่นๆ โดยเทคโนโลยี Millimeter-wave ได้รับการพัฒนามานานแล้ว แต่เนื่องจากตัวรับส่งสัญญาณเองเป็นตัวตัวที่มีความถี่สูงมาก จึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีของสารกึ่งตัวนำที่มีราคาแพงมากซึ่งเป็นทางเลือกเดียวในขณะนั้นในการพัฒนาตัวรับส่งสัญญาณ ทำให้อุปกรณ์มีราคาแพง จึงทำให้ Millimeter-wave ไม่เป็นที่ต้องการในตลาดมากนัก แต่ในปัจจุบันทาง IBM และ SONY ได้ทำการผลิตชิปเซตนี้ด้วยเทคโนโลยีซิลิกอนเพื่อลดราคาและทำให้มีการใช้ไฟฟ้าต่อบิตลดลง นอกจากนี้ยังทำให้อุปกรณ์มีฟอร์มแฟคเตอร์หรือผลิตภัณฑ์มีขนาดเล็กลงมาก โดยทั้งนี้ IBM และ SONY ได้ทำการพัฒนาเทคนิคการประมวลผล มีการเขียนโปรแกรมแก้ความผิดพลาดและการกู้คืนแพคเก็ตแบบฝังไว้ในชิปเซต เพื่อช่วยให้มีประสิทธิภาพในการส่งข้อมูลมากขึ้น และคาดว่าจะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้เป็นอุปกรณ์ฝังตัวอย่างแพร่หลายภายในปี 2012 (http://www.vcharkarn.com/uploads/219/219305.jpg) รูปที่ 3 แสดงตัวอย่างชิพเซตจาก IBM ความสามารถในการประยุกต์ใช้ MM-Wave ความสามารถในการประยุกต์ใช้ Millimeter-wave มาใช้ในชีวิตประจำวันและมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในอนาคตอันใกล้ โดยที่คาดว่าจะมีความนิยมเป็นอย่างมากได้แก่ - การนำมาใช้งานอย่างกว้างขวางในบ้านและสำนักงาน โดยเทคโนโลยีไร้สายนี้สามารถนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งที่บ้านและในสำนักงานเพื่อการใช้งานต่างๆเช่น การดาวน์โหลดเนื้อหามัลติมีเดีย การสตรีมทีวีที่มีความคมชัดสูง (HDTV) และการคัดลอกข้อมูล สามารถดาวน์โหลดและทำการซิงค์โคไนซ์ข้อมูลกับ iPod แบบไร้สาย นอกจากนี้ยังสามารถสตรีมเพลง ภาพ และ วีดีโอใน iPod เพื่อมาเล่นกับ LCD TV แบบไร้สายได้ในไม่กี่วินาทีโดยไม่จำเป็นต้องหาสายอะไรมาทำการเชื่อมต่อเพิ่มเติมอีกต่อไป ตามตัวอย่างในรูปที่ 6 - เนื่องจากเทคโนโลยี Millimeter-wave มีความปลอดภัยมากขึ้นเนื่องจากเป็นการกระจายสัญญาณระยะสั้น ไม่มีความทะลุทะลวง และจะไม่รบกวนการทำงานของเทคโนโลยีไร้สายอื่นๆ เนื่องจากคลื่นมีความถี่สูงถึง 60GHz จึงสามารถนำมาใช้แทนที่เทคโนโลยีไร้สายแบบเดิมในสถานที่ที่ไม่สามารถใช้งานได้ ตัวอย่างเช่น สามารถนำไปใช้กับระบบความบันเทิงในเที่ยวบิน โดยการกระจายคลื่นจะไม่รบกวนกับการควบคุมการบินหรืออุปกรณ์นำทาง เป็นต้น - การกระจายสื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ทำได้ง่ายและรวดเร็ว เนื่องจากเทคโนโลยี millimeter-wave จะทำการกระจายมีเดียไปยังผู้ใช้ปลายทาง ยกตัวอย่างเช่น สามารถดาวน์โหลดไฟล์เนื้อหามัลติมีเดียไปยังโทรศัพท์มือถือได้ทันทีเพียงแค่เดินผ่านประตูทางเข้าหรือป้ายโฆษณาสินค้าที่สนใจ - นอกจากนี้เทคโนโลยี Millimeter-wave ยังช่วยให้การส่งข้อมูลจำนวนมากในหุ่นยนต์ขนาดเล็ก เพื่อให้สามารถควบคุมระยะไกลได้โดยไม่ต้องทำการเชื่อมต่อกับสายเคเบิล ยกตัวอย่างเช่น ทีมงานหุ่นยนต์สามารถค้นหาสิ่งของและได้รับภาพที่คมชัดแบบเรียลไทม์ โดยระบบนี้จะสามารถช่วยในการค้นหาคนสำหรับการช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉินหรือค้นหาสิ่งของในสถานที่อันตรายได้ นอกจากนี้เทคโนโลยี Millimeter-wave ยังได้รับความสนใจในการนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์อีกด้วย (http://www.vcharkarn.com/uploads/219/219306.jpg) รูปที่ 4 แสดงการนำมาใช้งานอย่างกว้างขวางในบ้านและสำนักงาน อนาคตของ MM-Wave เนื่องจากความสามารถในการโอนถ่ายข้อมูลสูงจึงคาดว่าจะมีการใช้งานในบ้าน และสำนักงานมากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการบันเทิงที่ต้องการใช้การรับส่งข้อมูลความเร็วสูง เช่น การสตรีม vdo ที่มีความละเอียดสูงมากที่ระดับความละเอียดระดับ 4K (4096x3072) หรือเป็นสี่เท่าของ Full HD ซึ่งความละเอียดระดับนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่นัก แต่ด้วยความที่ต้องการแบนวิธในการโอนถ่ายข้อมูลมากกว่า Full HD มาก ยกตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ เช่นโรงหนังที่ใช้ความเอียดระดับ 4k ในปัจจุบันนี้คือโรงภาพยนตร์ IMAX แต่ ในโรง IMAX ยังมีปัญหาด้านความเร็วของระบบจัดเก็บข้อมูลและระบบ network จึงยังต้องใช้เครื่องเล่น ระดับ 2k จำนวน 2 เครื่องเพื่อทำการฉายหนังอยู่ นอกจากนี้ ในขณะนี้ได้มีการวิจัยการปรับปรุงความเร็วและการเพิ่มความเร็วให้กับ millimeter-wave โดยการทำงานจะมีการส่งข้อมูลสูงสุดที่ 20 gigabit ที่ระยะห่างจากจุดปล่อยสัญญาณที่ 800 เมตร โดยงานวิจัยนี้ยังเป็นเพียงต้นแบบโดยได้รับการพัฒนาจากหน่วยวิจัยและพัฒนาโคลัมบัส และคาดว่าจะนำมาใช้แทนระบบบันทึกไฟล์ vdo จากกล้อง vdo ระบบ Super Hi-Vision หรือที่ความระเอียด 16 เท่าของ Full HD หรือที่ความละเอียด 7680x4320 โดยคาดว่าที่ความละเอียดนี้จะถูกใช้งานจริงในโอลิมปิก 2012 ที่ลอนดอน และคาดว่าจะออกอากาศได้จริงในปี 2020 และสุดท้ายคือการพัฒนาให้มีระยะการรับส่งได้กว้างขึ้นและทำการเชื่อมต่อแบบ backhaul ring เพื่อใช้เป็นระบบสื่อสารไร้สายที่มีการใช้งานได้อย่างกว้างขวาง (http://www.vcharkarn.com/uploads/219/219308.jpg) รูปที่ 5 แสดงการกระจายสัญญาณเป็นวงกว้าง สรุป เทคโนโลยี Millimeter-wave เป็นเทคโนโลยีไร้สายที่อยู่ในย่านความถี่ 60GHz และในย่านความถี่นี้เองจึงไม่ต้องการใบอนุญาตการส่งสัญญาณ และช่วงกว้างของย่านนั้นสูงถึง 7GHz จึงทำให้มีแบนด์วิธสูงมาก ทำให้มีความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงระดับ Multi-Gagabit และด้วยที่มีความถี่สูง ความยาวคลื่นจึงสั้นจนมีการตั้งชื่อเทคโนโลยีนี้ว่า Millimeter-wave และจากความสามารถที่หลากหลายของเทคโนโลยีจึงสามารถนำมาประยุกต์การทำงานได้อย่างหลากหลายและเป็นเทคโนโลยีที่คาดว่าจะได้รับความนิยมในอนาคต ขอขอบคุณที่มา พ.อ.รศ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ settapong_m@hotmail.com ประจำกรมข่าวทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย กรรมการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ กรรมการกำหนดนโยบายการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ภายใต้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) |