หัวข้อ: กฏของธรรมดา หลวงพ่อฤาษีวัดท่าซุง เริ่มหัวข้อโดย: kittanan_2589 ที่ ตุลาคม 27, 2010, 07:43:05 am (http://palungjit.com/feature/data/530/medium/913.jpg)
กฎของธรรมดา 1) อารมณ์ของธรรมดาจริง ๆ นี่ฉันจะบอกให้ คนที่ยอมรับนับถือการเกิดขึ้น การเสื่อมไปของร่างกาย การดับไปของร่างกายจริง ๆ โดยมีอารมณ์ไม่หวั่นไหวมาก มีการกระทบจิตบ้างแต่ถือกฎของธรรมดา อารมณ์นี้มันจะรักพระนิพพาน เพราะอะไร เพราะมันเกลียดตัวเกิด เกิดนี่มันธรรมดาจริง ๆ แล้วมันเบื่อ เกิดขึ้นมาแล้ว ไอ้ตัวทุกข์มันตามมา ตอนนี้จะไม่พูดถึง ตัวทุกข์อริยสัจ พระพุทธเจ้าสอนตอนท้าย หาตัวธรรมดาเข้ามา แล้วมันก็แก่ บางทียังไม่ทันจะแก่เลย ความปรารถนาไม่สมหวังมันก็เกิด มันอิ่มแล้วมันก็หิวอยู่สบาย ๆ เดี๋ยวก็ร้อนหนัก ดีไม่ดีมันก็หนาวอีกแล้ว ดีไม่ดีอาการป่วยไข้ไม่สบายมันก็เกิด ตั้งแต่ตอนนี้มาเรายอมรับนับถือว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา แล้วเราไม่หนักใจในเมื่อมันหิวเราก็กิน ไม่มีก็มนหิวกันไป เพราะอยากเกิดมาทำไม ทีนี้เราเห็นว่าการเกิดมันไม่ดีอย่างนี้ หาความเที่ยงไม่ได้ เต็มไปด้วยความทุกข์ด้วยประการทั้งปวง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราไม่ต้องการให้มันเป็นอย่างนั้น แต่กฎของธรรมดา มันบังคับว่าต้องเป็น ก็เลยสบายใจว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าอาการเป็นอย่างนี้ปรากฏเราไม่หนักใจ เมื่อความแก่เกิดขึ้น ความป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้น ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเกิดขึ้น ความตายมีมาถึงไม่หนักใจถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา พอถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาก็เลยนึกว่า เอ ไอ้เกิดนี่มันไม่ดีนะ มันเป็นอย่างนี้ ทางที่ไม่เกิดมีอยู่ก็คือพระนิพพาน ถ้าเราปลดขันธ์5 เสียได้เมื่อไร ถือว่า คำว่า เตสัง วูปสโม สุโข การเข้าไปสงบกายนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นสุข 2) ถ้าหากเราไม่สนใจทุกอย่างในโลก ไม่สนใจกายของเราด้วย ไม่สนใจกายของบุคคลอื่นด้วย ไม่สนใจวัตถุธาตุใด ๆ ด้วย คำว่าไม่สนใจในที่นี้จงอย่าไปคิดว่าเราไม่สนใจในร่างกาย เราไม่กินข้าว หิวก็ไม่กิน ร้อนก็ไม่อาบน้ำ หนาวก็ไม่ห่มผ้า อันนี้ไม่ถูก คำว่าไม่สนใจคือ ไม่ติดใจในมัน ให้มีความเข้าใจตามความเป็นจริง ว่าร่างกายมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วก็มีความแปรปรวนเสื่อมไปในท่ามกลาง แล้วก็แตกสลายไปในที่สุด ให้ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แล้วก็มีอารมณ์คิดต่อไปว่าร่างกายนี้พัง เราไม่ต้องการร่างกายอย่างนี้อีก ร่างกายแห่งความเป็นคนก็ดี เทวดาก็ดี เป็นพรหมก็ดี ไม่มีความสุขจริง เราไม่ต้องการ เราต้องการจริง ๆ คือ พระนิพพาน ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัททำอารมณ์ใจของท่านก่อนหลับก็ดี หรือว่าตื่นใหม่ ๆ ก็ตาม ไม่ต้องลุกขึ้นมานั่ง นอนแบบนั้น ตื่นใหม่ ๆ ใจกำลังสบาย สร้างความรู้สึกว่าร่างกายมันเสื่อม ร่างกายเป็นของน่าเบื่อ ร่างกายต้องตายในที่สุด เราไม่ต้องการร่างกายแบบนี้อีก เราต้องการจุดเดียวคือ นิพพาน จิตหวังจริง ๆ ถ้าบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทชายหญิงทำได้อย่างนี้ก่อนหลับหรือตื่นใหม่ ๆ ไม่ต้องนั่งนอนคิดใช้ปัญญา เวลานี้เกิดอารมณ์เบื่อ ชั่วขณะจิตเดียว ไม่หวังร่างกายเพียงแค่ขณะจิตเดียว จิตก็กลับฟื้นคืนสภาพคงที่ตามเดิม เพียงเท่านี้บรรดาท่านพุทธบริษัท ขอยืนยันว่าชาตินี้ก่อนท่านจะตาย ท่านจะเป็นพระอรหันต์ไปนิพพานแน่ 3) ร่างกายเราก็ดี ร่างกายเขาก็ดี วัตถุธาตุทั้งหมด ก็ดี ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความแปรปรวนไปในท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุด และร่างกายของแต่ละร่างกาย ก็เต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก มันไม่มีอะไรเป็นจริงเป็นของเราเสียจริง ๆ 4) ธรรมะของพระพุทธเจ้า ไม่มีอะไรเกินธรรมดา ท่านสอนให้ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา วางทุกข์เสียให้รู้ว่าสิ่งนี้เป็นธรรมดา อะไรก็ตามเถอะ ถ้ามันเกิดขึ้นกับเรา มันเป็นธรรมดาของโลกทั้งนั้น ในเมื่อร่างกายเรามีอยู่ในโลกเท่านี้เอง 5) ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมันเป็นอนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ ถ้ามันไม่เที่ยง เราจะเข้าไปยุ่งกับความไม่เที่ยงให้มันเที่ยงมันก็เป็นทุกข์ อารมณ์ของคนที่เป็นทุกข์มันก็เพราะไม่ยอมรับนับถือกฎของความเป็นจริง 6) จำไว้ว่าโลกนี้ไม่มีอะไรเที่ยง ถ้าเราเกาะความไม่เที่ยงมันก็ทุกข์ แต่ทว่าจะสุขหรือทุกข์ก็ตาม อนัตตามันก็เข้ามาถึง อย่ายึดอย่าถือว่ามันเป็นเรา เป็นของเราคิดไว้เสมอว่า ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายที่เราจะอยู่กับมัน 7) ร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี นอกจากมันจะสกปรกแล้ว มันก็ไม่มีสภาวะเป็นเรา เป็นของเรา ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะร่างกายเป็นกฎธรรมดาอย่างหนึ่ง ที่มันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความแปรปรวนไปในท่ามกลาง มีการแตกสลายในที่สุด ที่เรียกกันว่า เมื่อมีเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องมีความแก่เป็นธรรมดา ไม่สามารถจะล่วงพ้นความแก่ไปได้ ต้องมีความป่วยไข้เป็นธรรมดา ไม่สามารถจะล่วงพ้นความป่วยไข้ไปได้ ต้องมีความตายเป็นธรรมดา ไม่สามารถจะล่วงพ้นความตายไปได้ ทรัพย์สินทั้งหลายที่เรามีอยู่ สิ่งที่รักอยู่ก็ต้องพลัดพรากจากกันไป 8 ) ให้พยายามพิจารณาใคร่ครวญเสมอ ๆ ว่า สังขารนี้มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้นแล้ว ต่อไปก็แตกสลายทำลายไปหมด ไม่มีสังขารประเภทใดเหลืออยู่ พยายามหาเหตุผลในคำสอนนี้ให้เห็นชัด ดูตัวอย่างคนที่เกิดแล้วตาย ของที่มีขึ้นแล้วแตกทำลาย ดูแล้วคิดทบทวนมาหาตน และคนที่รักและไม่รัก ของที่มีชีวิตและไม่มี คิดว่านี่ไม่ช้าก็ต้องตาย ต้องทำลายอย่างนั้น พิจารณาทบทวนอย่างนี้จนอารมณ์เห็นเป็นปกติ ได้อะไรมา เห็นอะไรก็ตาม แม้แต่เห็นเด็กเกิดใหม่ อารมณ์ใจก็คิดว่า นี่ไม่ช้ามันก็พัง ไม่ช้ามันก็ทำลาย แม้แต่ร่างกายเรา ไม่ช้ามันก็สิ้นลมปราณ อะไรที่ไหน ที่เราคิดว่ามันจะยั่งยืนถาวรตลอดกาลไม่มี รักษาอารมณ์ให้เป็นอย่างนี้ 9) ถ้ารู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมดาเสียแล้ว ความอาลัยในชีวิตมันก็ไม่มี เราศึกษาพระธรรมวินัยกัน ปฏิบัติสมถวิปัสสนาธุระกันก็เพื่อความดับไม่มีเชื้อ คือการตัดอาลัยในชีวิตเท่านั้น อารมณ์ที่จะตัดอาลัยในชีวิตได้ ก็มีอารมณ์รักธรรมดา คือ ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา อย่าไปสนใจกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้มากนัก ไอ้เรื่องที่จะทำให้ถูกใจเราทุกอย่างมันไม่มีถ้าใจเราเลว แต่ว่าถ้าใจเราดีเสียอย่างเดียว ทุกอย่างในโลกมันไม่มีอะไรผิดใจเรา เพราะว่าเราทราบว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา 10) พิจารณาจนกว่าจะเกิดอารมณ์เป็น เอกัคคตารมณ์ คือ จิตมีอารมณ์ยอมรับนับถือกฎธรรมดา เห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องด้วยตน หรือคนอื่นเป็นของธรรมดาไปหมด สิ่งกระทบเคยทุกข์เดือดร้อน ก็ไม่มีความทุกข์ความเร่าร้อน ไม่ว่าอารมณ์ใด ๆ ทั้งที่เป็นเหตุของความรัก ความโลภ ความโกรธ ความผูกพัน ยอมรับนับถือกฎธรรมดาว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ อาการอย่างนี้เป็นเรื่องธรรมดาแท้ ท่านว่า ครอบงำความเกิด ความดับ ความตายได้ เป็นต้น คำว่า ครอบงำ หมายถึงความไม่สะทกสะท้านหวั่นไหว ใครจะตายหรือเราจะตาย ไม่หนักใจ เพราะรู้อยู่แล้วว่าจะต้องตาย ใครทำให้โกรธ ในระยะแรกอาจหวั่นไหวนิดหนึ่ง นอกจากระงับความหวั่นไหวที่เคยเกิด เคยหวั่นไหวได้แล้ว จิตยังมีความรักในพระนิพพานยิ่งกว่าสิ่งใด สามารถจะสละวัตถุภายนอกทุกอย่างเพื่อพระนิพพานได้ทุกขณะ มีความนึกคิดถึงพระนิพพานเป็นปกติ 11) การที่เราจะได้ดีหรือไม่ได้ดี มันอยู่ที่ความจริงใจของเราเท่านั้น การเจริญพระกรรมฐานที่บอกว่าทำแล้วไม่ได้ดี ก็เพราะคนเราหาความจริงไม่ได้นั่นเอง ไม่ใช่มีอะไรยากลำบากอะไรที่ไหน เป็นของธรรมดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ทรงหาอะไรมาสอนเรา นอกจากนำกฎธรรมดาที่เรามีอยู่ ให้เรามาใช้ปฏิบัติให้ถูกทางเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาธิจิต เราก็ใช้กันอยู่เป็นปกติ แต่ว่าองค์สมเด็จพระชินสีห์เห็นว่า สมาธิแบบนั้นเป็นโลกียสมาธิ ไม่เป็นทางหมดทุกข์ องค์สมเด็จพระบรมครูต้องการให้เรามีความสุข จึงให้ใช้สมาธิด้านกุศลจิต คิดหากุศลเข้าใส่ใจไว้เป็นประจำ ให้จิตมันจำไว้เฉพาะด้านกุศลอย่างเดียวจนเป็นเอกัคคตารมณ์ เมื่อจิตทรงสมาธิได้ดีแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็สอนวิปัสสนาญาณ มีอริยสัจ เป็นต้น ให้พิจารณาเห็นทุกข์ เหตุแห่งความทุกข์ ที่มันจะพึงมีขึ้นมาได้ ก็เพราะอาศัยตัณหา มีความผูกพันในร่างกาย ซึ่งมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราก็วางร่างกายเสีย เพื่อพระนิพพาน เครดิต:wara43(http://board.palungjit.com/images/misc/buddha_s.png) (http://board.palungjit.com/images/palungjit_logo.gif) lsv-smile |