พิมพ์หน้านี้ - เพื่อชีวิตที่มีคุณค่า...ควรปฏิบัติตามหลักศาสนาพุทธอย่างไร? (ตอน ๗)

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่14"

นานาสาระ => ลึกลับ-เหลือเชื่อ-ธรรมะ => ข้อความที่เริ่มโดย: kittanan_2589 ที่ ตุลาคม 25, 2010, 08:45:21 pm



หัวข้อ: เพื่อชีวิตที่มีคุณค่า...ควรปฏิบัติตามหลักศาสนาพุทธอย่างไร? (ตอน ๗)
เริ่มหัวข้อโดย: kittanan_2589 ที่ ตุลาคม 25, 2010, 08:45:21 pm
(http://w6.thaiwebwizard.com/member/bogmt/images/Buddhism%20Pic/dsc037941.jpg)


ปุจฉา : ขอทราบแนวทางการปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส


ปุจฉา : ขอทราบแนวทางการปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เพื่อนำมาพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพ...จะได้มั่นคงดำรงอยู่ในโลกปัจจุบันได้อย่างไม่วุ่นวาย ไม่เร่าร้อน เพื่อความสงบสุขของชีวิต...

พระสีวลีเถระ/มหาโพธิสมาคม

พุทธคยา อินเดีย


วิสัชนา : ๑.วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย ที่เรียกว่า วิธีคิดแบบ “อิทัปปัจจยตา” ซึ่งเป็นการคิดแบบสืบสาวหาเหตุปัจจัยสัมพันธ์ เพื่อค้นหาสาเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลสัมพันธ์สืบทอดกันมา พูดให้เข้าใจว่า “ไล่เรียงกันตลอดสาย ว่า ผลนี้มาได้ด้วยเหตุอันใด หรือ เหตุนี้นำไปสู่ผลอันใด” ดังที่มีการคิดสืบสาวปัจจัยสัมพันธ์ ที่ปรากฏอยู่ในหลักปฏิจจสมุปบาทธรรมที่ว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ”

๒.วิธีคิดแบบกระจายเนื้อหา (แยกแยะส่วนประกอบ) เป็นการคิดที่มองเข้าไปหาความจริงอันเป็นที่สุด เพื่อรู้แจ้งในสภาวธรรมเหล่านั้น ในทางธรรมเป็นการคิดเพื่อมุ่งเข้าไปถึงชั้นความจริงอริยสัจ ที่เห็นถึง ความไม่มีตัวตน ความไม่มีแก่นสาร เพื่อเข้าถึงตัวกฎแห่งพระไตรลักษณ์ จะเรียกว่า เป็นการคิดแบบวิเคราะห์ ก็ว่าได้...

๓.วิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรม (แบบสามัญญลักษณะ) คือ มองตามสภาพความเป็นจริงของสภาวธรรม และรู้เท่าทันในความเป็นธรรมดา หรือความเป็นจริงนั้น ซึ่งจะต้องเป็นอย่างนั้น ตามธรรมดาของมันเอง... ดังเช่น การคิดพิจารณาเข้าไปหาความจริงของสภาวธรรมหรือสังขารธรรม อันได้แก่ นามรูปทั้งหลายว่า... เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยงแท้ ไม่คงที่ ไม่ยั่งยืน ไม่คงอยู่ตลอดไป เป็นอนิจจัง และด้วยความสัมพันธ์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงไปมาไม่คงที่ จึงนำไปสู่ความขัดแย้ง ทำให้เกิดสภาวะที่ถูกบีบคั้น กดดัน ไม่อาจคงสภาพได้ จึงมีความแปรปรวน เปลี่ยนสลาย ให้เป็นทุกข์ และด้วยความเป็นไปตามเหตุปัจจัย จึงไม่อาจถือสิทธิครอบครองเป็นเจ้าของได้ ไม่อยู่ในการควบคุมบัญชาของใคร ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา รื้อค้นพิจารณากลายเป็นความว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน เรียกว่า เป็นอนัตตา จึงได้ชื่อว่า เข้าถึงความรู้จริงในความเป็นจริงที่มีอยู่... ในธรรมชาตินี้... เพื่อนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง อันมุ่งตรงไปที่อริยสัจ... อันมุ่งหวังความปลดเปลื้องในความยึดถือที่เกิดจาก อวิชชา อันนำไปสู่ความทุกข์ไม่จบสิ้น...

๔.วิธีคิดแบบอริยสัจ เป็นกระบวนการคิดเพื่อนำไปสู่ความดับทุกข์ที่แท้จริง ซึ่งเป็นเอกแห่งวิธีการคิดที่สาธุชนควรนำไปใช้ เพื่อประโยชน์ทั้งในทางโลกและทางธรรม สืบสาวจากผลไปหาเหตุ เมื่อพบเหตุก็ให้แก้ไข ขจัดเหตุนั้นเสีย ผลนั้นก็จะจบสิ้นไป เช่น ปัญหาต่างๆ ย่อมมีที่มาของปัญหานั้นๆ สืบสาวให้ถึงจุดของที่มาแห่งปัญหา จึงจะดับปัญหานั้นได้ หรือเมื่อต้องการผลเช่นไร ก็ต้องมองหาวิธีการอันนำไปสู่ผลนั้น เมื่อเข้าถึงวิธีการที่ถูกต้อง ผลก็ย่อมปรากฏ เป็นธรรมดา...

๕.วิธีคิดตามหลักการและความมุ่งหมาย (อรรถธรรมสัมพันธ์) พึงพิจารณาให้เข้าใจถ่องแท้ในหลักการและจุดมุ่งหมาย ไล่เรียงให้เห็นชัดถึงความสัมพันธ์ก่อนจะลงมือปฏิบัติ หรือทำตามหลักการวิธีการนั้นๆ เพื่อให้ได้ผลตามความมุ่งหมาย เป็นการขจัดความเชื่ออย่างงมงาย ที่ไร้หลักการ ขาดหลักธรรม ห่างไกลความจริง เป็นการสกัดกั้นความคิดแบบเพ้อฝันของบรรดานักจิตนิยมที่ชอบขายความคิด...เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกชอบโดยธรรม สมควรแก่ธรรม...

๖.วิธีคิดแบบคุณโทษ และทางออก เป็นวิธีคิดด้วยการเปิดจิตยอมรับความจริง มองสิ่งทั้งหลายตามความจริงให้ครบทุกด้าน ทุกแง่ ทุกมุม ดุจการมองเหรียญ ๒ หน้า แถมสันเหรียญอีกส่วนหนึ่ง อันพึงรู้เห็นให้ละเอียด ไม่ผลีผลามสรุป จะผิดพลาดได้อย่างง่ายๆ กลายเป็นหมูวิ่งชนบังตอโดยไม่รู้ตัว การคิดแบบนี้มีปัญญานำสติ รู้เท่ารู้ทันกับสภาวธรรมที่ปรากฏ เป็นวิธีคิดที่ต่อเนื่องกับการปฏิบัติมาก ผู้รู้จักคิดแบบนี้ จะเป็นบุคคลที่มีความรอบคอบ เข้าใจในหลักความจริงของโลกธรรมว่า มี ๒ ส่วน แย้งกันอยู่เสมอ เช่น เมื่อมีส่วนดี (อัสสาทะ) ก็ย่อมต้องมีส่วนเสีย (อาทีนวะ) สำคัญยิ่งของหลักการคิดแบบเห็นคุณโทษนั้น จะได้ประโยชน์กับทางออกจากปัญหา ซึ่งไม่เข้าไปติดยึดในสองส่วนดังกล่าว เรียกว่า นิสสรณะ (ทางออก)