หัวข้อ: วันมาฆบูชา เริ่มหัวข้อโดย: b.chaiyasith ที่ กุมภาพันธ์ 04, 2009, 06:36:15 pm (http://www.vcharkarn.com/uploads/127/127728.png)วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน 3 เนื่องในโอกาสคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์
ความหมายของคำว่า มาฆบูชา คำว่า มาฆะ เป็นชื่อของเดือน 3 คำว่า มาฆบูชา ย่อมาจาก คำว่า มาฆปุรณมี บูชา แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ หรือ เดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ หรือเดือนมีนาคม แต่หากเป็นปีอธิกมาส คือ ปีที่มีเดือน 8 สองครั้ง จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ความสำคัญของวันมาฆบูชา คือ วันที่มีการประชุมสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพุทธศาสนา ที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต และเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดง โอวาทปฎิโมกข์ แก่พระสงฆ์สาวกเป็นครั้งแรก ณ เวฬุวันวิหาร (วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาที่พระเจ้าพิมพิสาร อุทิศพระราชอุทยานให้เป็นสังฆาราม เป็นที่ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ และให้การอุปสมบทพระอัครสาวก คือ พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ) กรุงราชคฤห์ เพื่อให้พระสงฆ์นำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะยังพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป ความหมายของคำว่า จาตุรงคสันนิบาต คำว่า จาตุร แปลว่า 4 องค์ แปลว่า ส่วน สันนิบาต แปลว่า ประชุม ดังนั้น จาตุรงคสันนิบาต จึงหมายความว่า การประชุมด้วยองค์ 4 กล่าวคือ มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันนี้ คือ 1. เป็นวันที่พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย 2. พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น เอหิภิกขุอุปสัมปทา คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น 3. พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปที่ได้มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผู้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุกรูป 4. เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ์ โอวาทปาฏิโมกข์ ในมาฆบูชา พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นทั้งหลักการอุดมการณ์และวิธีการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาที่นำไปใช้ได้ทุกสังคม มีเนื้อหา โดยสรุป คือ ให้ละความชั่วทุกชนิด ทำความดี ให้ถึงพร้อมและทำจิตใจให้ผ่องใส กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา 1. ทำบุญใส่บาตรในตอนเช้า หรือไม่ก็จัดหาอาหารคาวหวานไปทำบุญฟังเทศน์ที่วัด 2.ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม และฟังพระธรรมเทศนา 3.ไปเวียนเทียนที่วัด ในตอนกลางคืน รอบพระอุโบสถ พร้อมกับพระภิกษุสงฆ์ โดยเจ้าอาวาสจะนำว่า นะโม 3 จบ จากนั้นกล่าวคำ ถวาย ดอกไม้ธูปเทียน ทุกคนว่าตาม จบแล้วเดิน เวียนขวา ตลอดเวลาให้ระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ จนครบ 3 รอบ แล้วนำดอกไม้ ธูปเทียนไปปักบูชาตามที่ทางวัด เตรียมไว้ เป็นอันเสร็จพิธี 4.ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ ความเป็นมาของวันมาฆบูชา ส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ 9เดือน ขณะนั้น เมื่อเสร็จพุทธกิจแสดงธรรมที่ถ้ำสุกรขาตาแล้ว เสด็จมาประทับที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ เดือนมาฆะหรือเดือน 3 ในเวลาบ่ายพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า มาประชุม พร้อมกัน ณ ที่ประทับของพระพุทธเจ้า นับเป็นเหตุอัศจรรย์ ที่มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ ดังที่กล่าวแล้ว การถือปฏิบัติวันมาฆบูชาในประเทศไทย พิธีวันมาฆบูชานี้ เดิมทีเดียวในประเทศไทยไม่เคยทำมาก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายไว้ว่าเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยทรงถือตามแบบของโบราณบัณฑิตที่ได้นิยมกันว่า วันมาฆะปุรณมี พระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะเต็มบริบูรณ์เป็นวันที่พระอรหันต์สาวกของ พระพุทธเจ้า 1,250 รูป ได้ประชุมกันพร้อมด้วยองค์ 4 ประการ เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาตพระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาโอวาทปาฏิโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เป็นการประชุมใหญ่ และเป็นการอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนา นักปราชญ์ จึงถือเอาเหตุนั้นประกอบการสักการบูชาพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวก 1,250 รูปนั้น ให้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสการประกอบพิธีมาฆะบูชา ได้เริ่มในพระบรมมหาราชวังก่อน กล่าวคือ ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีพิธีการพระราชกุศลในเวลาเช้า พระสงฆ์ วัดบวรนิเวศวิหารและวัดราชประดิษฐ์ 30 รูป ฉันในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำ เสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องมนัสการแล้ว พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว สวดมนต์ต่อไปมีสวดคาถาโอวาทปาฏิโมกข์ด้วยสวดมนต์ จบทรงจุดเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ 1,250 เล่ม มีการประโคมอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงมีการเทศนาในเบื้องต้นทรงโปรดให้มีการประกอบพระราชพิธีคล้ายกับวันวิสาขบูชา คือมีการบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ มีการพระราชทานจุดเทียนตามประทีปเป็นพุทธบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระอารามหลวงต่าง ๆ เป็นต้น โดยในช่วงแรกพิธีมาฆบูชาคงเป็นการพระราชพิธีภายใน ยังไม่แพร่หลายทั่วไป จนต่อมาความนิยมจัดพิธีมาฆบูชาจึงได้ขยายออกไปทั่วราชอาณาจักร หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติ หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติได้แก่ โอวาทปาฏิโมกข์ หมายถึงหลักคำสอนคำสำคัญของพระพุทธศาสนาอันเป็นไปเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น หรือคำสอนอันเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา หลักธรรมประกอบด้วย หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 วิธีการ 6 ดังนี้ หลักการ 3 1.การไม่ทำบาปทั้งปวง ได้แก่การงดเว้น การลด ละเลิก ทำบาปทั้งปวง ซึ่งได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 ทางแห่งความชั่ว มีสิบประการ อันเป็นความชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ ความชั่วทางกาย ได้แก่ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม ความชั่วทางวาจา ได้แก่ การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดเพ้อเจ้อ ความชั่วทางใจ ได้แก่ การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม 2.การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ การทำความดี ทุกอย่างซึ่งได้แก่ กุศลกรรมบถ 10 เป็นแบบของการทำฝ่ายดีมี 10 อย่าง อันเป็นความดีทางกาย ทางวาจาและทางใจ การทำความดีทางกาย ได้แก่ การไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทำร้ายเบียดเบียน ผู้อื่นมีแต่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และการไม่ประพฤติผิดในกาม การทำความดีทางวาจา ได้แก่ การไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ และไม่พูดเพ้อเจ้อพูดแต่คำจริง พูดคำอ่อนหวาน พูดคำให้เกิดความสามัคคีและพูดถูกกาลเทศะ การทำความดีทางใจ ได้แก่ การไม่โลภอยากได้ของของผู้อื่นมีแต่คิดเสียสละการไม่ผูกอาฆาตพยาบาทมีแต่คิดเมตตาและปรารถนาดีและมีความเห็นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว 3.การทำจิตให้ผ่องใส ได้แก่ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ปราศจากนิวรณ์ซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางจิตไม่ให้เข้าถึงความสงบ มี 5 ประการ ได้แก่ 1.ความพอใจในกาม (กามฉันทะ) 2.ความอาฆาตพยาบาท (พยาบาท) 3.ความหดหู่ท้อแท้ ง่วงเหงาหาวนอน (ถีนะมิทธะ) 4.ความฟุ้งซ่าน รำคาญ (อุทธัจจะกุกกุจจะ) และ 5.ความลังเลสงสัย (วิกิจฉา) เช่น สงสัยในการทำความดี ความชั่วว่ามีผลจริงหรือไม่ วิธีการทำจิตให้ผ่องใส ที่แท้จริงเกิดขึ้นจากการละบาปทั้งปวงด้วยการถือศืลและบำเพ็ญกุศล ให้ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา จะเกิดเป็นความผ่องใสที่แท้จริง (http://www.vcharkarn.com/uploads/127/127753.gif) 1.ความอดทน ได้แก่ ความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งทางกายวาจา ใจ 2.ความไม่เบียดเบียน ได้แก่ การงดเว้นจากการทำร้ายรบกวน หรือ เบียดเบียนผู้อื่น 3.ความสงบ ได้แก่ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย ทางวาจาและทางใจ 4.นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้จาการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ 8 วิธีการ 6 1.ไม่ว่าร้าย ได้แก่ ไม่กล่าวให้ร้ายหรือ กล่าวโจมตีใคร 2.ไม่ทำร้าย ได้แก่ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น 3.สำรวมในปาติโมกข์ ได้แก่ ความเคารพระเบียบวินัย กฎ กติกา กฎหมาย รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีของสังคม 4.รู้จักประมาณ ได้แก่ รู้จักความพอดีในการบริโภคอาหาร หรือการใช้สอยสิ่งต่าง ๆ 5.อยู่ในสถานที่ที่สงัด ได้แก่ อยู่ในสถานที่สงบมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม 6.ฝึกหัดจิตใจให้สงบ ได้แก่ ฝึกหัดชำระจิตให้สงบมีสุขภาพ คุณภาพและประสิทธิภาพที่ดี ในวันมาฆบูชานอกจากไปทำบุญหรือปฏิบัติธรรม รักษาศีล ไหว้พระ ฟังธรรม เวียนเทียน ที่วัดแล้ว ควรประดับธงชาติและธงธรรมจักร ละเว้นอบายมุข ทำจิตใจให้ผ่องใส จะทำให้เกิดความศรัทธา ซาบซึ้ง และตระหนักในความสำคัญของพระพุทธศาสนา เพื่อให้ศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ในการทำความดีตลอดไป ผู้เขียน: panchee http://www.vcharkarn.com/ (http://www.vcharkarn.com/) หัวข้อ: Re: วันมาฆบูชา เริ่มหัวข้อโดย: sirirrin ที่ กุมภาพันธ์ 08, 2009, 02:45:05 pm (http://everyoneweb.com/WA/DataFilesDhammaram/buddha-moi.gif) http://img27.imageshack.us/img27/9610/51534277om7.swf |