หัวข้อ: การปลานิล เริ่มหัวข้อโดย: yongyut ที่ เมษายน 17, 2007, 11:03:39 am ปลานิล ปลาที่เลี้ยง
ปลานิลเป็นปลาน้ำจืด มีถิ่นกำเนิดในประเทศแอฟริกาและลุ่มน้ำจอร์แดน เป็นปลาพื้นเมืองที่พบได้ทั่วไปตามลำคลอง หนอง บึงทั่วไป รูปร่างลักษณะของปลานิลคล้ายกับปลาหมอเทศ แต่มีสีจางกว่า ลำตัวมีความยาว 45-50 เซนติเมตร มีริมฝีปากบนและล่างเสมอกัน บริเวณแก้มมีเกล็ด 4 แถว และมีเกล็ดสีเข้มอยู่จุดหนึ่ง มีลายพาดขวางลำตัว 9-10 แถบ ธรรมชาติของปลานิลนั้นเป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงอยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย อดทนต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี เป็นปลาที่กินอาหารจำพวกพืช มีไข่ดกและขยายพันธุ์ได้ตลอดปี ใช้เวลาเลี้ยงสั้นเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ทั้งยังมีรสชาติดี จึงเป็นที่นิยมเลี้ยงและบริโภคกันอย่างแพร่หลาย ปลานิลเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2508 โดยเจ้าฟ้าอากิฮิโต มกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้จัดส่งปลานิลจำนวน 50 ตัว ขนาด 9 เซนติเมตร มาทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2508 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เลี้ยงปลานิลในบ่อดินขนาด 10 ตารางเมตร ในบริเวณสวนจิตรลดา ปรากฏว่าปลานิลขยายพันธุ์ได้เร็วมากเพียง 5 เดือนเศษ มีลูกปลานิลเกิดขึ้นมากมาย จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่ขุดบ่อขนาด 70 ตารางเมตร เพิ่มขึ้นอีก 6 บ่อ แล้วได้ทรงย้ายปลาจากบ่อเดิมไปปล่อยในบ่อใหม่ด้วย พระองค์ทรงมีรับสั่งให้นักวิชาการจากรมประมงคอยตรวจสอบการเจริญเติบโตของปลาเป็นประจำทุกเดือน ทรงเห็นว่าปลาชนิดนี้เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ออกลูกดก และเติบโตเร็วในเวลาเพียง 1 ปี มีความยาวถึง 1 ฟุต และมีน้ำหนักประมาณครึ่งกิโลกรัม จึงได้พระราชทานปลาจำนวนหนึ่งให้แก่กรมประมงนำไปเพาะขยายพันธุ์เพื่อแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรนำไปเพาะเลี้ยง พร้อมกับพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า ปลานิล บ่อเลี้ยงปลานิล ขนาดของบ่อขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้เลี้ยง แต่โดยทั่วไปบ่อเลี้ยงมีขนาดตั้งแต่ 400 ตารางเมตร ถึง 1,000 ตารางเมตร ลึก 1 เมตร ถึง 1.5 เมตร ระดับน้ำในบ่อควรลึกประมาณ 1 เมตรต่อปี ทั้งนี้เพื่อจะได้ใช้เลี้ยงปลาซึ่งมีขนาดโต และใช้สำหรับกรณีที่จะเพาะลูกปลาพร้อมกันไปด้วย เพราะถ้าเป็นบ่อที่มีขนาดเล็กแล้วลูกปลาที่เกิดใหม่จะทวีจำนวนแน่นบ่ออย่างรวดเร็ว ทำให้ลูกปลาเหล่านี้ไม่โต คันบ่อต้องสร้างให้มีความลาดเอียงเพื่อป้องกันดินพัง จะลาดเอียงแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับชนิดของดิน อีกประการหนึ่งปลานิลเป็นปลาที่วางไข่โดยการขุดหลุมตามก้นบ่อ ดังนั้น จึงควรมีชานบ่อหรือทำให้ตามขอบบ่อมีส่วนลาดเทมาก ๆ ซึ่งจะเป็นแอ่งตื้น ๆ สำหรับให้แม่ปลาวางไข่ บ่อใหม่ ถ้าเป็นบ่อใหม่ซึ่งดินมีคุณภาพเป็นกรดควรใช้ปูนขาวปรับความเป็นกรดเป็นด่าง หลังจากใส่ปูนขาวแล้วจึงปล่อยน้ำเข้าให้ท่วมพื้นก้นบ่อเล็กน้อย ทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน จนปูนขาวหมดฤทธิ์ก็ใส่ปุ๋ยตามลงไป พวกศัตรูปลานิล ได้แก่ ปลากินเนื้อ เช่น ปลาช่อน ปลาดุก กบ เขียด และงู ต้องจับสัตว์เหล่านี้ออกเสียก่อน การใส่ปุ๋ยในบ่อ ปลานิลเป็นปลากินพืชหรือกินอาหารธรรมชาติพวกแพลงค์ตอนในน้ำเพียงอย่างเดียวก็เติบโตได้ แต่ปริมาณอาหารพวกนี้ในบ่ออาจไม่เพียงพอ ทำให้ปลาโตช้า ดังนั้นจึงต้องช่วยเพิ่มปริมาณอาหารในบ่อให้มากขึ้นอยู่เสมอ โดยการใส่ปุ๋ยลงไป ใส่ได้ทั้งปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมี เช่น พวกมูลวัว มูลสุกร หรือมูลไก่ แม้กระทั่งปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยพืชสด การใส่ปุ๋ยต้องใส่ในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากไม่น้อยจนเกินไป หากมากไปทำให้การเกิดแพลงค์ตอนเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำในบ่อขาดออกซิเจนจนเป็นอันตรายต่อปลาได้ การเพาะพันธุ์ปลา พ่อแม่พันธุ์ปลานิลที่จะนำมาเพาะขยายพันธุ์ควรเป็นปลาที่สมบูรณ์ทั้งสภาพร่างกายและระบบสืบพันธุ์ ดังนั้นการเลี้ยงพ่อแม่ปลาต้องเลี้ยงในบ่อที่กว้างและมีน้ำถ่ายเทได้สะดวก บ่อเลี้ยงพ่อแม่ปลามีขนาดตั้งแต่ 400-1,000 ตารางเมตร ลึก 1.5-2 เมตร พ่อแม่ปลาต้องเลี้ยงแยกบ่อเพื่อไม่ให้ปลาผสมพันธุ์กันเอง อัตราการปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาควรปล่อยในอัตรา 1 ตัวต่อตารางเมตร เพื่อไม่ให้แน่นบ่อเกินไป การเลือกเพศ โดยทั่วไปแล้วรูปร่างกายภายนอกของปลานิลทั้งตัวผู้และตัวเมียไม่ค่อยแตกต่างกันมาก ในด้านสีตัวผู้อาจมีสีเข้มกว่าตัวเมีย แต่ถ้าสังเกตที่อวัยวะเพศตัวผู้จะมีอวัยวะเพศเรียวยาวยื่นออกมา การสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ใต้คางของปลาตัวผู้จะมีสีเข้มกว่าตัวเมีย การผสมพันธุ์ปลานิล ขนาดพ่อแม่ปลาที่จะทำการผสมพันธุ์ได้นั้นควรเป็นปลาที่มีอายุ 4 เดือนขึ้นไป มีความยาวของลำตัวไม่ต่ำกว่า 10 เซนติเมตร เลือกปลาตัวที่สมบูรณ์ ตัวเมียที่สมบูรณ์พร้อมที่จะวางไข่ ส่วนท้องจะป่องนิ่ม รูเพศขยายใหญ่มีสีแดง ร่องเกล็ดบริเวณท้องขยายออกมา การฟักไข่ของแม่ปลานิล การฟักไข่เป็นหน้าที่ของแม่ปลา โดยแม่ปลาจะอมไข่ไว้ในปาก เพื่อป้องกันไข่ให้พ้นจากศัตรูต่าง ๆ จึงทำให้การฟักเป็นตัวของลูกปลานิลรอดสูงมาก ในขณะที่แม่ปลานิลอมไข่อยู่ถ้าหากอุณหภูมิของน้ำสูงไข่ก็จะฟักออกเป็นตัวเร็วกว่าปกติ แต่โดยทั่วไปไข่จะฟักออกเป็นตัวภายใน 4-5 วัน หลังจากที่ลูกปลาฟักออกมาเป็นตัวใหม่ ๆ แล้ว ลูกปลาจะยังไม่กินอาหาร ในระยะนี้ลูกปลาจะได้รับอาหารจากถุงไข่แดงที่ติดอยู่ที่ท้อง เมื่อถุงไข่แดงยุบหลังจากนี้แล้ว 3 วัน ลูกปลาจึงจะเริ่มเติบโตและเริ่มกินอาหารจำพวกพืชและไรน้ำเล็ก ๆ ที่มีอยู่ในน้ำ ระยะต่อไปลูกปลาก็จะเจริญขึ้นและว่ายน้ำรวมตัวเป็นฝูง สามารถเลี้ยงตัวเองรอด ลูกปลาที่มีอายุ 15 วัน จะมีขนาด 1 เซนติเมตรขึ้นไป การอนุบาลลูกปลา ทำการรวบรวมลูกปลาในตอนเช้าตรู่จะสะดวก เพราะในช่วงนี้ลูกปลามักจะขึ้นมาอยู่ที่ขอบบ่อ ใช้อวนตาถี่ช้อนลูกปลาขึ้นมาจากบ่อเพื่อไปทำการอนุบาลในบ่ออนุบาลต่อไป บ่อเพาะพันธุ์ที่ใช้ขยายพันธุ์นี้ มีผู้แนะนำว่าหลังจากที่รวบรวมลูกปลาได้แล้ว ก็ให้ตีอวนเอาลูกปลาที่เหลือขึ้นมาให้หมด แล้วใช้โล่ติ๊นสาดให้ทั่วบ่อเพื่อทำลายลูกปลาที่ตกค้าง ด้วยเหตุผลที่ว่าลูกปลานี้เมื่อโตขึ้นมันจะไล่กินลูกปลาที่จะเพาะในรุ่นต่อไปได้ การอนุบาลลูกปลาในช่วงหลังนี้ก็เพื่อที่จะทำให้ปลามีขนาดโตพอที่จะนำไปขายลูกพันธุ์หรือไปเลี้ยงต่อได้ หลักใหญ่ของการอนุบาลคือทำให้ปลาเติบโตและมีอัตรารอดสูงสุด อาจจะทำการอนุบาลในบ่อที่ใช้อนุบาลลูกปลาโดยตรงหรืออนุบาลในกระชังได้ การอนุบาลในบ่อมักใช้บ่อที่มีขนาด 200 ตารางเมตร สามารถอนุบาลลูกปลาขนาด 2 เซนติเมตร ได้ประมาณ 500,000 ตัว ใช้เวลาในการอนุบาล 5-6 สัปดาห์ บ่ออนุบาลควรผ่านการเตรียมบ่อเหมือนกับการเตรียมบ่อทั่ว ๆ ไป คือการทำการกำจัดวัชพืชในบ่อ ตากบ่อ สาดโล่ติ๊น และใส่ปูนขาวเพื่อเปิดน้ำเข้าบ่อ ทำการปล่อยลูกปลาลงบ่ออนุบาลในตอนเช้าตรู่หรือเวลาเย็น คอยเปลี่ยนน้ำและให้อาหารชนิดผงให้กินวันละ 3 ครั้ง จำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลา หรือบ่อขนาด 200 ตารางเมตร ให้กินวันละ 1 กิโลกรัม และปรับปริมาณอาหารให้ทุกอาทิตย์ สูตรอาหารที่ให้ในช่วงนี้ประกอบด้วย ปลาป่นอัดน้ำมัน 30 เปอร์เซ็นต์ รำละเอียด 45 เปอร์เซ็นต์ กากถั่วป่น 25 เปอร์เซ็นต์ วิตามินและเกลือแร่ 1 เปอร์เซ็นต์ หลังจากที่ได้อนุบาลลูกปลาผ่านไป 1 เดือนครึ่ง ก็จะได้ลูกปลาขนาด 5 เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่สามารถนำไปเลี้ยงในบ่อได้ การให้อาหารปลานิล แม้ว่าปลานิลจะเจริญเติบโตได้ตามปกติ จากการกินอาหารตามธรรมชาติที่มีอยู่ในบ่อ แต่เพื่อให้ปลาโตเร็วก็ควรให้อาหารสมทบพวกรำ ปลายข้าว กากถั่วด้วย การให้อาหารจะให้วันละ 1 ครั้ง หรือ 2 ครั้ง แล้วแต่ความสะดวกของผู้เลี้ยง ควรกะปริมาณให้พอดีไม่ควรให้มากจนเกินไป ส่วนมากจะให้ราว 4 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลาที่เลี้ยง ถ้ามีการให้อาหารอัดเม็ดโปรตีน 25 เปอร์เซ็นต์ ก็ให้ได้วันละ 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว แล้วปรับปริมาณอาหารเพิ่มขึ้นได้ตามขนาดของน้ำหนักปลาที่เพิ่มขึ้น การใช้อาหารถ้าให้มากเกินไปปลาก็จะกินไม่หมด และจะทำให้น้ำในบ่อเสียได้ การเจริญเติบโต ปลานิลเป็นปลาที่โตเร็ว มีอัตราการรอดของลูกปลาสูง การเลี้ยงปลานิลจึงไม่ควรปล่อยให้มีปลาแน่นบ่อเกินไป หากปลาแน่นบ่อมากส่วนใหญ่ก็จะไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร ในกรณีที่เห็นว่าปลาแน่นบ่อมากก็ทยอยจับไปขายบ้าง ควรที่เลี้ยงปลานิลชำนาญแล้ว อาจเลี้ยงปลานิลร่วมกับปลากินเนื้อได้ โดยการให้ปลากินเนื้อได้กำจัดลูกปลาที่เกิดใหม่ออกเสียบ้าง วิธีนี้จะเริ่มเลี้ยงปลานิลให้มีขนาดโตพอที่จะผสมพันธุ์วางไข่ได้เสียก่อน จึงปล่อยปลากินเนื้อลงไป ลูกปลากินเนื้อจะกินแพลงค์ตอนไรน้ำก่อน แล้วเมื่อโตพอที่จะจับลูกปลานิลกินได้ก็จะจับลูกปลานิลกินประโยชน์ของการเลี้ยงโดยวิธีนี้นอกจากจะเป็นการลดจำนวนปลาแล้วยังมีผลพลอยได้จากปลากินเนื้อที่เติบโตในบ่อด้วย |