หัวข้อ: กำเนิดวันสงกรานต์ เริ่มหัวข้อโดย: BenQ ที่ เมษายน 12, 2007, 01:06:50 pm ได้มีเรื่องเล่าสืบกันมา น่าจดจำ ดังข้อความที่จารึกในวัดเชตุพนฯ ได้กล่าวไว้ประดับความรู้
ของสาธุชนทั้งหลาย ดังต่อไปนี้ " ..เมื่อต้นภัทรกัลป์ มีเศรษฐีคนหนึ่ง มั่งมีทรัพย์มาก แต่ไม่มีบุตร บ้านอยู่ใกล้นักเลงสุรา นักเลงสุรานั้นมีบุตร ๒ คน ผิวเนื้อดุจทอง วันหนึ่งนักเลงสุราเข้าไปในบ้านของเศรษฐี แล้วด่าเศรษฐีด้วยถ้อยคำหยาบคายต่างๆ เศรษฐีได้ฟังจึงถามว่า พวกเจ้ามาพูดหยาบคาย ดูหมิ่นเราผู้เป็นเศรษฐีเพราะเหตุใด พวกนักเลงสุราจึงตอบว่า ท่านมีสมบัติมากมายแต่หามีบุตรไม่ เมื่อท่านตายไปสมบัติก็จะ อันตรธานไปหมด หาประโยชน์อันใดมิได้ เพราะขาดทายาทผู้ปกครอง ข้าพเจ้ามีบุตรถึง๒ คน และรูปร่างงดงามเสียด้วย ข้าพเจ้าจึงดีกว่าท่าน เศรษฐีครั้นได้ฟังก็เห็นจริงด้วย จึงมีความละอาย ต่อนักเลงสุรายิ่งนัก จึงนึกใคร่อยากได้บุตรบ้าง จึงทำการบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานเพื่อขอให้มีบุตร อยู่ถึง ๓ ปี ก็มิได้มีบุตรสมดังปรารถนา เมื่อขอบุตรจากพระอาทิตย์และพระจันทร์มิได้ดังปรารถนาแล้ว อยู่มาวันหนึ่งถึงฤดูคิมหันต์จิตรมาส (เดือน ๕) โลกสมมติว่าเป็นวันมหาสงกรานต์ คือ พระอาทิตย์ยกจากราศีมีนประเวสสู่ราศีเมษ คนทั้งหลายพากันเล่นนักขัตฤกษ์ เป็นการรื่นเริง ขึ้นปีใหม่ทั่วชมพูทวีป ขณะนั้นเศรษฐีจึงพาข้าทาสบริวารไปยังต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำอันเป็นที่อยู่แห่งปักษีชาติทั้งหลาย เอาข้าวสารซาวน้ำ ๗ ครั้ง แล้วหุงบูชา รุกขพระไทรพร้อมด้วยสูปพยัญชนะอันประณีต และประโคมด้วยดุริยางค์ดนตรีต่างๆ ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตรจากรุกขพระไทร รุกขพระไทรมีความกรุณา เหาะไปขอบุตรกับพระอินทร์ให้กับเศรษฐี พระอินทร์จึงให้ธรรมบาลเทวบุตร ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ บิดามารดาขนานนามว่า ธรรมบาลกุมาร แล้วจึงปลูกปราสาทขึ้น ให้กุมารอยู่ใต้ต้นไทรริมสระฝั่งแม่น้ำนั้น ครั้นกุมารเจริญขึ้นก็รู้ภาษานกแล้วเรียนจบไตรเพทเมื่ออายุได้ ๘ ขวบ และได้เป็นอาจารย์บอกมงคลการต่างๆ แก่มนุษย์ชาวชมพูทวีปทั้งปวง ซึ่งขณะนั้นโลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหม และกบิลพรหมองค์หนึ่ง ได้แสดงมงคลการแก่มนุษย์ทั้งปวง เมื่อกบิลพรหมแจ้งเหตุที่ธรรมกุมารเป็นผู้มีชื่อเสียง เป็นที่นับถือของมนุษย์ชาวโลกทั้งหลาย จึงลงมาถาม ปัญหาแก่ธรรมกุมาร ๓ ข้อ ความว่า ๑)เวลาเช้า สิริคือราศีอยู่ที่ไหน ๒)เวลาเที่ยง สิริคือราศีอยู่ที่ไหน ๓)เวลาเย็น สิริราศีอยู่ที่ไหน และสัญญาว่าถ้าท่านแก้ปัญหา ๓ ข้อนี้ ได้เราจะตัดศีรษะเราบูชาท่าน ถ้าท่านแก้ไม่ได้เราจะตัดศีรษะของท่านเสีย ธรรมกุมารรับสัญญา แต่ผลัดแก้ปัญหาไป ๗ วัน กบิลพรหมก็กลับไปยังพรหมโลก ฝ่ายธรรมบาลกุมารพิจารณาปัญหานั้น ล่วงไปได้ ๖ วันแล้ว ยังไม่เห็นอุบายที่จะตอบปัญหาได้ จึงคิดว่าพรุ่งนี้แล้วสิหนอ เราจะต้องตายด้วยอาญาของท้าวกบิลพรหมเราหาต้องการไม่ จำจะหนีไปซุกซ่อนตนเสียดีกว่า คิดแล้วลงจากปราสาทเที่ยวไปนอนที่ต้นตาล ๒ ต้น ซึ่งมีนกอินทรี ๒ ตนผัวเมีย ทำรังอยู่บนต้นตาลนั้น ขณะที่ธรรมบาลกุมารนอนอยู่ใต้ต้นตาลนั้น ได้ยินเสียงนางนกอินทรีถามผัวว่า พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารที่ไหน นกอินทรีผู้ผัวตอบว่า พรุ่งนี้ครบ ๗ วันที่ท้าวกบิลพรหมถามปัญหาแก่ธรรมบาลกุมาร แต่ธรรมบาลกุมารแก้ไม่ได้ ท้าวกบิลพรหมจะตัดศีรษะเสีย ตามสัญญา เราทั้ง ๒ จะได้กินเนื้อมนุษย์ คือ ธรรมบาลกุมารเป็นอาหาร นางนกอินทรีจึงถามว่าท่านรู้ปัญหาหรือ? ผู้ผัวตอบว่ารู้ แล้วก็เล่า ให้นางนกอินทรีฟังตั้งแต่ต้นจนปลายว่า ๑)เวลาเช้าราศีอยู่ที่ หน้า คนทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า ๒)เวลาเที่ยงราศีอยู่ที่ อก คนทั้งหลายจึงเอาน้ำและแป้งกระแจะจันทร์ลูบไล้ที่อก ๓)เวลาเย็นราศีอยู่ที่ เท้า คนทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า ธรรมบาลกุมารนอนอยู่ใต้ต้นไม้ได้ยินการสนทนาของทั้งสองก็จำได้ จึงมีความโสมนัสปีติยินดีเป็นอันมากแล้ว จึงกลับมาสู่ปราสาทของตน ครั้นถึงวาระเป็นคำรบ ๗ ตามสัญญา ท้าวกบิลพรหมก็ลงมาถามปัญหาทั้ง ๓ ข้อ ตามที่นัดหมายกันไว้ ธรรมบาลกุมาร ก็วิสัชนาแก้ปัญหาทั้ง ๓ ข้อตามที่ได้ฟังมาจากนกอินทรีนั้น ท้าวกบิลพรหมยอมรับว่าถูกต้องและยอมแพ้แก่ธรรมบาลกุมาร และจำต้องตัดศีรษะของตนบูชาตามที่สัญญาไว้ แต่ก่อนที่จะตัดศีรษะ ได้ตัดเรียกธิดาทั้ง ๗ อันเป็นบาทบริจาริกาของพระอินทร์ คือ ๑. นางทุงษะเทวี ๒. นางรากษเทวี ๓. นางโคราคเทวี ๔. นางกิริณีเทวี ๕. นางมณฑาเทวี ๖. นางกิมิทาเทวี ๗. นางมโหธรเทวี อันโลกสมมุติว่าเป็นองค์มหาสงกรานต์ กับทั้งเทพบรรษัทมาพร้อมกัน แล้วจึงบอกเรื่องราวให้ทราบและตรัสว่า พระเศียรของเรานี้ ถ้าตั้งไว้บนแผ่นดินก็จะเกิดไฟไหม้ไปทั่วโลกธาตุ ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศฝนก็จะแล้ง เจ้าทั้ง๗ จงเอาพานมารองรับเศียร ของบิดาไว้เถิด ครั้นแล้วท้าวกบิลพรหมก็ตัดพระเศียรแค่พระศอส่งให้นางทุงษะ เทวีธิดาองค์ใหญ่ในขณะนั้น โลกธาตุก็เกิดโกลาหลอลเวงยิ่งนัก เมื่อนางทุงษะมหาสงกรานต์เอาพานรองรับพระเศียรของท้าวกบิลพรหมแล้ว ก็ให้เทพบรรษัทแห่ประทักษิณเวียน รอบเขาพระสุเมรุราช๖๐นาที แล้วจึงเชิญเข้าประดิษฐานไว้ในมณฑป ณ ถ้ำคันธธุลี เขาไกรลาศกระทำบูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่างๆ พระวิษณุกรรมเทพบุตร ก็เนรมิตโลงแก้ว อันแล้วไปด้วยแก้ว ๗ ประการ ชื่อภัควดีให้เทพธิดาและนางฟ้า แล้วเทพยดาทั้งหลาย ก็นำมาซึ่งเถาฉมุนาตลงล้างน้ำในสระอโนดาต ๗ ครั้ง แล้วแจกกันสังเวยทั่วทุกพระองค์ ครั้นได้วาระกำหนดครบ ๓๖๕ วัน โลกสมมุติว่าปีหนึ่งเป็นวันสงกรานต์นางเทพธิดาทั้ง ๗ ก็ทรง เทพพาหนะต่างๆ ผลัดเปลี่ยนเวียนกันมา เชิญพระเศียรกบิลพรหม ออกแห่พร้อมด้วยเทพบรรษัทแสนโกฏิ ประทักษิณเวียนรอบเขาพระสุเมรุราชบรรษัททุกๆ ปี แล้วกลับไปยังเทวโลก.. " ** ขอบคุณแหล่งที่มา : http://sd1.sd.ac.th/~super/mission3/workstudent/montri/index3.html หัวข้อ: Re: กำเนิดวันสงกรานต์ เริ่มหัวข้อโดย: BenQ ที่ เมษายน 12, 2007, 01:08:18 pm เทศกาลสงกรานต์
คำว่า "สงกรานต์ " มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า การผ่าน หรือ การย้าย โดยการนับระยะเวลา ที่ เส้นทางของดวงอาทิตย์โคจรผ่านกลุ่มดาวฤกษ์จักราศีทั้ง 12 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มดาวราศี เมษ พฤษภ เมถุน กรกฎ สิงห์ กันย์ ตุลย์ พิจิก ธนู มังกรกุมภ์ และ มีน การโคจรผ่านผ่านกลุ่มดาวแต่ละกลุ่ม จะใช้ระยะเวลา ประมาณ 30 วัน เมื่อ ดวงอาทิตย์โคจรผ่าน กลุ่มดาวเหล่านี้ครบทั้ง 12 กลุ่ม ก็จะได้ระยะเวลา 1 ปี พอดี เป็นวิธีการนับเดือนที่ใช้กัน ในประเทศอินเดีย และกลุ่มประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมมาจากอินเดีย เช่น ไทย พม่า เขมร ลาว เป็นต้น วันที่ 13 เมษายน เป็นวัน"มหาสงกรานต์" หรือ วันเริ่มต้นปีใหม่ ทั้งนี้เป็นเพราะเป็นจากช่วงเวลา ที่ดวงอาทิตย์โคจร ผ่านจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษนั้นโลกโคจรเป็นมุมฉากกับดวงอาทิตย์ จึงมีกลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันพอดี วันสงกรานต์เป็นวันทำบุญใหญ่ประจำปี มี 3 วันคือวันมหาสงกรานต์หรือวันส่งท้ายปีเก่า(วันที่ 13 เมษายน) วันกลางหรือวันเนา (วันที่ 14 เมษายน) และวันขึ้นปีใหม่ หรือวันเถลิงศก (วันที่ 15 เมษายน) ตำนานเกี่ยวกับนางสงกรานต์ เมื่อวันสงกรานต์ตรงกับวันใดในแต่ละปี ก็จะมีนางสงกรานต์ประจำวันนั้นๆ นางสงกรานต์มีชื่อดังนี้ วันอาทิตย์ ชื่อนางทุงษ วันจันทร์ชื่อนางโคราค วันอังคารชื่อนางรากษส วันพุธชื่อนางมณฑา วันพฤหัสชื่อนางกิริณี วันศุกร์ชื่อนางกิมิทา วันเสาร์ชื่อนางมโหทร นางสงกรานต์เป็นธิดาของท้าวมหาสงกรานต์ หรือ ท้าวกบิลพรหม มีหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันดูแลเศียรของท้าวกบิลพรหม ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพานแว่นฟ้า เนื่องจากท้าวกบิลพรหมแพ้พนันการตอบปัญหาแก่ธรรมบาลกุมาร จึงต้องตัดเศียรของตน บูชาแก่ธรรมบาลกุมาร ก่อนจะตัดเศียรท้าวกบิลพรหมาได้เรียกธิดาทั้ง 7 ซึ่งเป็นนางฟ้าบนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ให้เอาพานมารอง รับเนื่องจากเศียรของท้าวกบิลพรหมเป็นที่รวมแห่งความร้อนทั้งปวง ถ้าวางไว้บนแผ่นดินไฟจะไหม้โลก ถ้าโยนขึ้น ไปบนอากาศ ฝนจะแล้ง ถ้าทิ้งลงในมหาสมุทร น้ำจะแห้ง ธิดาทั้ง 7 จึงผลัดเปลี่ยนกัน ถือพานรองเศียร ของท้าวกบิลพรหมไว้ คนละ 1 ปี ** ขอบคุณแหล่งที่มา : http://www.muangthai.com/pages/place/subplace/songkran.html |