หัวข้อ: พบปลาจระเข้ในแม่น้ำโขงหวั่นกินปลาพื้นเมืองเกลี้ยง เริ่มหัวข้อโดย: แวมไพร์-LSVteam♥ ที่ มิถุนายน 03, 2008, 05:58:30 am (http://www.komchadluek.net/images2007/komchadluk_r1_c3.jpg)
ชาวหนองคายแตกตื่น พบปลาจระเข้ในแม่น้ำโขง หวั่นกินปลาพื้นเมืองตายเกลี้ยง ประมงจังหวัดเผยเป็นปลาอันตราย กินเนื้อเป็นอาหารชนิดเดียวกับปลาช่อนอะโรไพม่า หากขยายพันธุ์จะทำลายระบบนิเวศของแม่น้ำได้ เหตุการณ์พบปลาอันตรายสายพันธุ์นี้ เปิดเผยขึ้นโดยนางชฎาพร โปตาเวชย์ เจ้าของร้านอาหารครัวตาแขก บ้านท่าดอกคำ ต.เมืองหมี อ.เมือง จ.หนองคาย ว่า ลูกจ้างในร้านได้ไปวางเบ็ดดักปลาที่แม่น้ำโขง โดยใช้ปลาหมึกเป็นเหยื่อล่อ และพบว่ามีปลามากินเบ็ดตัวหนึ่ง มีลักษณะคล้ายจระเข้ ขนาดความยาว 90 เซนติเมตร หนัก 5 กิโลกรัม มีเกล็ดแข็งสีเทาเป็นมันวาว ฟันแหลมคม ครีบหางเป็นลายจุดสีดำ จึงนำกลับมาให้ดู ครั้งแรกคิดว่าเป็นปลาสะทงยักษ์ ซึ่งมีคนตกได้บ่อยๆ แต่เมื่อสอบถามคนเฒ่าคนแก่กลับบอกว่าไม่เคยเห็นปลาชนิดนี้มาก่อน จึงได้เก็บปลาไว้เพื่อนำไปสตัฟฟ์ไว้ให้คนที่สนใจมาศึกษา นายจิรพงศ์ นุตะศะริน ประมงจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ปลาที่ชาวบ้านจับได้เรียกว่าปลาจระเข้ หรือชื่อทางการว่า ATRACTOSTEUS SPATULA เป็นปลาตระกูลเดียวกันกับปลาปิรันย่า แต่ไม่ทำร้ายคน มีถิ่นที่อยู่ในแถบทวีปอเมริกาเหนือ เจริญเติบโตได้ดีในน้ำจืด สภาพอุณหภูมิ 28-30 องศาเซลเซียส ลักษณะเด่นที่ปากคล้ายจระเข้มาก มีฟันแหลมคม ขากรรไกรทรงพลัง กินเนื้อเป็นอาหารคล้ายปลาช่อนอะโรไพม่า กินอาหารคราวละมากๆ ตัวโตเต็มที่ยาว 3 เมตร หนักมากถึง 130 กิโลกรัม เป็นปลาอันตราย เพราะกัดไม่เลือก แต่ไม่ทำร้ายคน ส่วนใหญ่ใช้เป็นปลาในเกมตกปลา อีกทั้งเป็นปลาที่มีผู้ซื้อมาเลี้ยงเป็นปลาตู้ที่มีราคาแพงประมาณหลักหมื่นบาท คาดว่าที่มาพบปลาชนิดนี้ในแม่น้ำโขง อาจเป็นเพราะเจ้าของที่เลี้ยงเป็นปลาตู้เลี้ยงไม่ไหว แล้วนำมาปล่อยในแม่น้ำโขง หรือแหล่งน้ำธรรมชาติอื่น ซึ่งไม่มั่นใจว่าปลาชนิดนี้จะมีการแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำธรรมชาติได้หรือไม่ อย่างไร นายจิรพงศ์กล่าวว่า ปลาชนิดนี้คาดว่าน่าจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแม่น้ำโขง เนื่องจากปลาในตระกูลเหล่านี้กินเนื้อหรือกินปลาเป็นอาหาร อาจทำให้ปลาพื้นเมืองในแม่น้ำโขงถูกรบกวนและตกเป็นอาหารของปลาชนิดนี้ จนอาจส่งผลให้ลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว แต่ถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่า มีปลาแม่น้ำโขงชนิดใดสูญพันธุ์ไปบ้าง แต่เท่าที่สังเกตและตรวจสอบพบว่า ปริมาณปลาในแม่น้ำโขงลดจำนวนลง ซึ่งสาเหตุอาจมาจากหลายปัจจัย ทั้งการดูดทรายในแม่น้ำโขงซึ่งกระทบต่อแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำโขงโดยตรง รวมทั้งสภาพการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศในแม่น้ำโขงเอง หรือแม้แต่การพบปลาที่เป็นอันตรายในลักษณะปลาจระเข้หรือปลาช่อนอะโรไพม่าในแม่น้ำโขง จึงขอแจ้งเตือนไปยังผู้ที่เลี้ยงปลาสวยงามหรือปลาตู้ทั้งหลายว่า หากไม่ต้องการเลี้ยงปลาที่มีอยู่ ให้นำส่งเจ้าหน้าที่ประมงในแต่ละพื้นที่เพื่อจัดสรรแหล่งที่อยู่ให้ตามความเหมาะสม ไม่ควรนำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะปลาบางสายพันธุ์เป็นอันตรายและกระทบต่อระบบนิเวศของปลาชนิดอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ ได้ (http://www.matichon.co.th/news-photo/khaosod/2008/06/p0103030651p1.jpg) |