หัวข้อ: ธรรมะต่ออายูได้ เริ่มหัวข้อโดย: eskimo_bkk-LSV team♥ ที่ เมษายน 22, 2008, 09:56:48 am ธรรมะต่ออายูได้
ไม่ต้องดูอื่นไกล เอาเพื่อนผู้อาวุโสของผมคนหนึ่ง เป็นมะเร็งทำครีโม (คำเต็มว่าอะไรไม่ทราบ) ตามปกติคนจะทำครีโม ร่างกายต้องแข็งแรง ไม่งั้นแพ้ยา ไปไม่รอด เพื่อนผมคนนี้ก็คิดอยู่ตลอดเวลาว่า "กูยังไม่ตาย กูจะต้องอยู่" แล้วก็กิน กินมันเข้าไป ทั้งๆ ที่ไม่อยากกิน แต่ต้องฝืนกินอาหารให้มากที่สุด เพื่อให้มีกำลังต่อสู้กับยาที่จะให้ด้วย เจตจำนงที่จะอยู่ ความพากเพียรที่จะช่วยให้มีชีวิตอยู่ ใจที่จดจ่ออยู่กับความมีชีวิตอยู่ และการกระทำการที่เกี่ยวข้องด้วยปัญญาทั้ง หมดนี้เป็นอิทธิบาทสี่ครับ แล้วแกก็สู้กับการให้ยาของหมอได้ เหนือสิ่งอื่นใด จิตใจแกแข็งแกร่ง ไม่ตก ไม่หดหู่ มีความรื่นเริงภายในตลอดเวลา ไม่นานแกก็หายจากโรคมะเร็งเป็นที่มหัศจรรย์ อีกเรื่องหนึ่ง นักมวยคนหนึ่งดูเหมือนชื่อ ปาเทียนซ่า ประสบอุบัติเหตุรถคว่ำคอหัก หมอต่อให้ไม่ตาย หมอบอกว่าชกมวยอีกไม่ได้ แต่นายคนนี้บอกตัวเองว่า "ข้าต้องชกได้" ความรักความเพียรบากบั่นเพื่อคืนสู่สังเวียนให้ได้ ความเอาใจจดใจจ่อต่อการชกมวย สั่งตัวเองว่า "เอ็งต้องหาย เอ็งต้องชกมวยได้" พยายามฝึกฝนตัวเองด้วยความเพียรและปัญญา ในที่สุดแกก็สามารถหายขาด และคืนสู่สังเวียนได้ ครับ อิทธิบาทสี่ ถ้าบำเพ็ญจนถึงที่สุดแล้วอย่าว่าแต่สามารถช่วยให้ทำงานสำเร็จได้เลย แม้ชีวิตที่จะดับมิดับแหล่ก็สามารถยืดต่อไปได้ แต่ต้องใช้กับเรื่องที่สร้างสรรค์ เป็นบุญเป็นกุศล เอื้อต่อคุณธรรมนะครับ ถ้าเป็นเรื่องทุจริต หนีภาษี คอร์รัปชั่น ถูกถอดจากตำแหน่ง ถึงจะมีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่แฝงพยาบาทว่า ข้าจะต้องเอาคืนกับคนที่ทำข้าให้ได้ อย่างนี้ต่ออายุไม่ได้ครับ มีแต่จะทำให้อายุสั้นลงอย่างเดียว กลวิธีแก้ทุกความทุกข์ (๑) "อย่าขยายทุกข์" ผู้รู้กล่าวว่า ความจริงแล้วมีแต่ทุกข์เท่านั้น ความสุขไม่มี ที่เราเรียกว่าสุขๆ นั้น มันเป็นเพียงอัตราทุกข์มันลดลงเท่านั้น ทุกข์ลดลงมากเท่าใด ก็เรียกว่าสุขมากขึ้นเพียงนั้น เหมือนทางวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ในโลกนี้มีแต่อุณหภูมิ หรือความร้อนเท่านั้น ความเย็นก็เป็นเพียงอัตราอุณหภูมิมันลดลง แม้ลดลงใต้ศูนย์เราก็ยังเรียกว่าอุณหภูมิลบเท่านั้นเท่านี้ ฉันใดก็ฉันนั้น ที่พระท่านว่า ทุกข์เท่านั้นเกิด ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นดับไป ก็เป็น "สัจธรรม" ที่ทุกคนควรทราบ ในโลกแห่งสมมตินี้ไม่มีอะไรที่เป็นสุขจริงๆ เพราะฉะนั้น เวลาเรามีความทุกข์ ไม่ว่าจะทุกข์เพราะเรื่องอะไร ก็ขอให้ตั้งสติให้ดีแล้วปฏิบัติตนตามขั้นตอนดังนี้ คือ ขั้นตอนที่๑ ยอมรับความจริง คือยอมรับว่า "นี่เป็นทุกข์จริงๆ ไม่ใช่ทุกข์หลอกๆ หรือฝันไป มันเกิดขึ้นกับเราจริงๆ" การยอมรับนี้ต้องเป็นการยอมรับด้วยสติและปัญญา มิใช่ยอมรับเพราะ "จนปัญญา" ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว นึกหวาดผวาไปต่างๆ นานา ขั้นตอนที่๒ เมื่อยอมรับความจริงแล้ว อย่าขยายทุกข์ที่มีนั้นให้ใหญ่โตเกินความจริง คนเราส่วนมากมีทุกข์กันนิดเดียว แต่ชอบขยายทุกข์ให้ใหญ่โตโดยใช่เหตุ เท่ากับเป็นการ "เพิ่มทุกข์" อื่นเข้าไปทับถมจิตใจยิ่งขึ้น เหมือนเอากล้องขยายมด เห็นมดตัวโตก็ขนลุกขนพอง "โอ...ทำไมมดมันตัวใหญ่น่ากลัวอะไรเช่นนี้" ทั้งๆ ที่มดก็คือมด ตัวไม่โตอะไรนักหนา ที่มันโตก็เพราะเราเอากล้องไปขยาย ถ้าทิ้งกล้องขยายเสีย มดมันก็จะตัวเล็กเท่าเดิม เท่ากับความเป็นจริงของมัน แล้วความน่ากลัวที่เราเผชิญอยู่มันก็หมดไปเอง ความทุกข์ที่ทับถมเราอยู่ก็เช่นกัน เนื้อแท้ของทุกข์จริงๆ มันไม่เท่าไหร่ดอก ยอมรับความจริงมันเสีย แล้วอย่าขยายให้มันใหญ่ด้วยความวิตกกังวล หวาดกลัวล่วงหน้าไปต่างๆ นานา ตั้งใจดูเจ้าความทุกข์นั้นอย่างใจเย็น แล้วทุกข์ที่เราคิดว่ามันมากเกินกำลังก็จะเหลือน้อยลง สอบตกก็คือ "สอบตก" อกหักก็คือ "อกหัก" อย่าขยายทุกข์เล็กน้อยนี้ให้มันใหญ่โตจนแบกรับไม่ไหว กลวิธีแก้ทุกความทุกข์ (๒) "อย่าตีตนก่อนไข้" คนบางคนนั้นวิตกทุกข์ร้อนถึงเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น นึกวาดภาพที่น่ากลัวไปต่างๆ นานา วาดภาพแล้วก็กลัวเสียเอง คนอย่างนี้โบราณเรียกว่า "ตีตนก่อนไข้" คือยังไม่ป่วยเลย แต่คิดว่าตนป่วยเสียแล้ว สุภาพสตรีท่านหนึ่งเป็นคนต่างจังหวัด ย้ายตามสามีซึ่งเป็นข้าราชการมาอยู่กรุงเทพฯ มารดาของนางยังคงอยู่ต่างจังหวัดด้วยความคิดถึงมารดาซึ่งแก่แล้วไม่มีใครดูแล สุภาพสตรีท่านนี้ ก็วิตกไปต่างๆ นานา บางคืนนอนฝันเห็นมารดานอนเจ็บป่วย กลัวมารดาจะเจ็บป่วยจริงๆ ก็โทรศัพท์ทางไกลถามไถ่อยู่เสมอ แม้ทางโน้นจะยืนยันว่าไม่เป็นอะไรก็อดห่วงกังวลมิได้ วันหนึ่งนางอยู่บ้านคนเดียว เพราะสามีไปราชการต่างจังหวัดมีบุรุษไปรษณีย์มาตะโกนเรียกที่ประตูบ้าน "โทรเลขครับ" ได้ยินคำว่า "โทรเลข" เท่านั้น นางก็นึกว่า "ตายแล้ว โทรเลขแจ้งข่าวการตายของคุณแม่แน่เลย" ลงจากบ้านพลางร้องไห้ไปรับโทรเลข รับมาแล้วก็ไม่ได้เปิดอ่าน วางมันไว้บนโต๊ะ นั่งร้องห่มร้องไห้จะเป็นลมให้ได้ วิ่งไปบอกเพื่อนบ้านเรือนเคียงที่รู้จักคุ้นเคยว่า มารดาเสียชีวิต จะต้องขึ้นไปทำศพแม่ที่ต่างจังหวัด ถ้าสามีกลับมาจากราชการให้บอกด้วยและให้ตามขึ้นไป ขณะเตรียมจัดเสื้อผ้าใส่กระเป๋าจะออกเดินทาง นึกถึงโทรเลขขึ้นมาได้ ไปหยิบขึ้นมาฉีกอ่าน เพื่อดูว่ามารดาเสียชีวิตเมื่อใดด้วยโรคอะไร กลายเป็นว่า โทรเลขฉบับนั้นเป็นโทรเลขจากสามีบอกว่าจะกลับกรุงเทพฯ เย็นวันนั้น ให้ไปรับที่สถานีรถไฟ นี่คือตัวอย่างของคนที่ชอบ "ตีตนก่อนไข้" เพราะการคิดวาดภาพไปเอง โดยมิได้ดูก่อนว่าอะไรเป็นอะไร จึงทำให้เธอผู้นี้ต้องร้องห่มร้องไห้เสียน้ำตาเป็นอันมาก เป็นทุกข์โดยใช่เหตุ กระต่ายตื่นตูมมันวิ่งหนีเพราะได้ยินเสียง "ตูมๆ" ทำให้น่าคิดว่าแผ่นดินถล่มทลาย แต่คนที่ "ตีตนก่อนไข้" ไม่มีสัญญาณหรือ "วี่แวว" อะไรบอกเหตุ กลับคิดมากไปเอง โง่ยิ่งกว่ากระต่ายตื่นตูมเสียอีก และคนเช่นนี้ ถึงทุกข์ไม่มี ก็หาเรื่องสร้างทุกข์เล่นงานตัวเองน่าสงสารจริงๆ กลวิธีแก้ทุกความทุกข์ (๓) "ลดความอยากลง" สารพัดทุกข์ที่เรามีนั้น แม้มันจะมาจากสาเหตุต่างๆ นานานับไม่ถ้วน แต่สรุปรวบยอดแล้วมันมาจากสาเหตุใหญ่อย่างเดียว คือ "ความอยาก" ผู้รู้กล่าวว่า ความอยากเปรียบเสมือนน้ำมันที่เราจุดไฟให้เกิดแสงสว่าง ถึงเรามีน้ำมันก๊าดเต็มปี๊บ แต่เวลาใช้ต้องแบ่งออกมาเติมพอเต็มตะเกียง เมื่อเติมตะเกียงแล้วเวลาจะใช้แสงสว่างจริงก็ใช้ไส้ตะเกียงค่อยๆ ดูดน้ำมันขึ้นมาพอเหมาะกับความต้องการเท่านั้น น้ำมันที่หล่ออยู่ปลายไส้ตะเกียงขณะหนึ่งๆ นั้นประมาณหยดสองหยดเท่านั้น ไม่ใช่ว่ามีน้ำมันเท่าใดก็โหมเข้าใส่ไฟเท่านั้น เพราะถ้าทำเช่นนั้นนอกจากจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรแล้วไฟยังอาจลุกไหม้บ้านเรือนเสียหายได้ ความอยากก็เหมือนกัน เราต้องควบคุมหรือจำกัดขอบเขตให้พอเหมาะพอควร ไม่ต่างกับควบคุมและใช้น้ำมันเชื้อเพลิงนั้นแหละ วิธีควบคุมความอยากแบ่งทำเป็นชั้นๆ ดังนี้ ขั้นที่๑ ตัดความอยากที่ไม่จำเป็นออก สำรวจดูว่ามีความอยากอะไรบ้างที่ไม่จำเป็น พิจารณาให้เห็นชัดว่าถึงไม่มีความอยากชนิดนั้น ชีวิตเราก็ไม่ถึงกับเดือดร้อน เช่น อยากบุหรี่ อยากดื่มสุรา อยากซื้อเพชรนิลจินดา หรือเสื้อผ้าแพงๆ ตัดความอยากชนิดที่ไม่จำเป็นออกเสียบ้าง ขั้นที่๒ ในความอยากที่จำเป็นนั้น เช่น การกิน การนุ่งห่ม ก็พยายามตัดที่มันเกินจำเป็นลงเสียบ้าง เช่น ตัดการกินจุบกินจิบ กินอวดมั่งอวดมี กินไม่เป็นเรื่องเป็นราว เหลือแต่กินเพื่อสุขภาพ การนุ่งห่มก็ตัดการนุ่งห่มประกวดประชันอวดร่ำอวดรวยยังกับแต่งแฟนซีหรือตู้เพชรเคลื่อนที่ออกเสียบ้าง ขั้นที่สาม อย่าตั้งความอยากไว้ไกลเกินไป ให้ตั้งความอยากให้ใกล้และระยะถี่ขึ้น เช่น เป็นแค่เสมียน อย่าตั้งเป้าไว้ว่าอยากเป็นอธิบดี เพราะความอยากระยะห่างมาก กว่าจะเขยิบจากเสมียนไปถึงอธิบดีไม่ใช่ระยะใกล้ๆ บางทีอยากจนตายก็ไม่ได้เป็น เป็นเสมียนผู้น้อยก็อยากเป็นเสมียนผู้ใหญ่ก่อน พอได้เป็นเสมียนผู้ใหญ่แล้วค่อยตั้งความอยากเป็นหัวหน้าแผนก อยากเป็นหัวหน้ากอง อยากเป็นอธิบดีตามลำดับ พูดง่ายๆ ว่าทำสถานีความอยากให้กระชั้นหรือถี่เข้า ความปรารถนาที่จะก้าวหน้าไปให้ไกลที่สุด ดีที่สุด ไม่มีอะไรเสียหาย ข้อสำคัญให้ซอย "สถานีความอยาก" ตามเส้นทางนั้นให้ถี่หรือกระชั้นเข้า แล้วทำตามที่อยากที่หวังนั้นให้สำเร็จเป็นระยะๆ ชีวิตก็จะลดทุกข์ลงได้ ข้อมูลจาก :ข่าวสด |