พิมพ์หน้านี้ - เตือนชายลงพุง เสี่ยงพร่องฮอร์โมน หย่อนสมรรถภาพเพศ

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่14"

นานาสาระ => สุขภาพ => ข้อความที่เริ่มโดย: แวมไพร์-LSVteam♥ ที่ มีนาคม 22, 2008, 04:02:49 pm



หัวข้อ: เตือนชายลงพุง เสี่ยงพร่องฮอร์โมน หย่อนสมรรถภาพเพศ
เริ่มหัวข้อโดย: แวมไพร์-LSVteam♥ ที่ มีนาคม 22, 2008, 04:02:49 pm
เตือนชายลงพุง เสี่ยงพร่องฮอร์โมน หย่อนสมรรถภาพเพศ
(http://www.bangkokbiznews.com/images2007/logo.jpg)
(http://www.bangkokbiznews.com/2008/03/21/thumb/240948_skinnyfatphobiathumb3.jpg)
 แพทย์รามาฯ เตือนชายวัย 40 ปีขึ้นไป อ้วนลงพุง รอบเอวเกิน 90 ซม.ป่วยเป็นโรคกลุ่มเมตาบอลิกซินโดรม ไขมันในเลือด-ความดันสูง เบาหวาน เครียด เสี่ยงพร่องฮอร์โมนเพศชาย ส่งผลซึมเศร้า ไม่มีสมาธิ เบื่อหน่าย หย่อนสมรรถภาพทางเพศ

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นท.ดร.นพ.สมพล เพิ่มพงศ์โกศล แพทย์ประจำหน่วยระบบปัสาวะ ภาควิชาศัลยกรรม โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า โรคพร่องฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนหรือภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone-Deficiency Syndrome: TDS) ส่วนใหญ่พบในเพศชายอายุ 40 ปีขึ้นไป

ปัจจัยเสี่ยง คือมีกลุ่มอาการเมตาบอลิกซินโดรมคือ เป็นความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน อ้วนลงพุง รอบเอวเกิน 90 เซนติเมตรขึ้นไป เที่ยวดึก ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ทำงานหนัก ขาดการพักผ่อน เครียด ทำให้ฮอร์โมนพร่องเร็วกว่าปกติ ทำให้ซึมเศร้า เบื่อหน่าย นอนไม่หลับ กล้ามเนื้ออ่อนแรง อ้วนลงพุง กระดูกบาง หย่อนสมรรถภาพทางเพศหรือนกเขาไม่ขัน

ดังนั้น การรักษาต้องตรวจเลือดว่าระดับฮอร์โมนเพศชายต่ำหรือไม่ หากพบว่า ต่ำจริง แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการฉีดฮอร์โมนทดแทนโดยฉีด 1 เข็มอยู่ได้ 3 เดือน ในเวลา 1 ปีต้องฉีด 4 เข็ม ซึ่งราคาฮอร์โมนค่อนแพง

อย่างไรก็ตาม การจะทำให้สุขภาพดีโดยรวม ต้องปรับพฤติกรรมร่วมด้วยไม่ใช่ให้ฮอร์โมนทดแทนเพียงอย่างเดียว โดยผู้มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม แพทย์จะไม่ให้ฮอร์โมนทดแทน

“ป้องกันการพร่องฮอร์โมนต้องลดพฤติกรรมเสี่ยง เปลี่ยนพฤติกรรม หันมาออกกำลังกาย 30 นาทีสัปดาห์ละ 5 วัน พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ คุมอาหาร พวกมันจัด หวานจัด ให้หลีกเลี่ยง ลดความเครียด” นท.ดร.นพ.สมพล กล่าว

นท.ดร.นพ.สมพล กล่าวด้วยว่า ข้อมูลการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่เข้ารับบริการที่คลีนิกสุขภาพเพศชายโรงพยาบาลรามาธิบดี 1,153 คน อายุเฉลี่ย 60  เข้ารับการรักษาโรคไขมันในเลือดสูง หย่อนสมรรถภาพทางเพศ ต่อมลูกหมากโต สภาวะพร่องฮฮร์โมนเพศชาย และโรคอื่น ๆ คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง

การติดตามผู้ป่วยที่ได้รับฮอร์โมนทดแทนพบว่า ร้อยละ 93.3 มีความพึงพอใจต่อการรักษา กลุ่มที่หย่อนสมถรรภาพทางเพศสามารถมีกิกรรมได้อย่างปกติ กลุ่มที่ใช้ยารักษาไม่ได้ผลเพราะพร่องฮอร์โมนมาก หลังได้รับฮอร์โมนทดแทน พบว่า อวัยวะเพศแข็งตัวมากขึ้นในตอนตื่นนอนตอนเช้า อีกทั้งพบว่า การควบคุมโรคกลุ่มอาการเมตาบอลิกซินโดรมพวกโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันสูงได้ผลดีด้วย

ศ.สเวตลานา คาลินเชงโค (Prof. Svetlana Kalinchenko) หัวหน้าภาควิชาบุรุษเวชศาสตร์และระบบปัสสาวะศูนย์การวิจัยต่อมไร้ท่อวิทยาแห่งชาติ สหพันธรัฐรัสเซีย และประธานของ The Russian Branch of the International Society of the Aging Male (ISSAM) กล่าวว่า ฮอร์โมนเพศชายลดลงตามอายุโดยลดร้อยละ 1 ต่อปี ยืนยันว่า การให้ฮอร์โมนทดแทนสามารถรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ โดยไม่ต้องใช้ยารักษาพวกซิลเดลนาฟิล

ส่วนจำนวนชายพร่องฮอร์โมนในเอเชียนั้นไม่สามารถบอกได้ ส่วนสหรัฐอเมริกามีคนไข้ 4-5 ล้านคนขาดฮอร์โมนต่อได้รับการรักษาเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ถือว่าภาวะพร่องฮอร์โมนจำเป็นต้องได้รับการรักษา อีกทั้งการให้ฮอร์โมนทดแทนมีผลข้างเคียงน้อยมาก