พิมพ์หน้านี้ - อย.ห้ามใช้ 13 ยี่ห้อเครื่องสำอางอันตรายทำหน้าพัง

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่14"

นานาสาระ => เตือนภัย => ข้อความที่เริ่มโดย: P-LSV team ที่ ตุลาคม 26, 2007, 09:21:50 pm



หัวข้อ: อย.ห้ามใช้ 13 ยี่ห้อเครื่องสำอางอันตรายทำหน้าพัง
เริ่มหัวข้อโดย: P-LSV team ที่ ตุลาคม 26, 2007, 09:21:50 pm
อย.ห้ามใช้ 13 ยี่ห้อเครื่องสำอางอันตรายทำหน้าพัง
 
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 26 ตุลาคม 2550 17:17 น.
 
 
       สธ.ระบุ อย. ตรวจพบเครื่องสำอางผสมสารห้ามใช้ ทั้งปรอทแอมโมเนีย กรดวิตามินเอ และไฮโดรควิโนน สาเหตุทำหน้าพัง อีก 13 ยี่ห้อ นอกจากนี้ยังพบเครื่องสำอางที่มีสารควบคุมพิเศษโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับอีก 4 ยี่ห้อ เตือนร้านค้าหากนำเครื่องสำอางผิดกฎหมายมาจำหน่ายจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด
       
       นพ.มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางตามแหล่งจำหน่าย เช่น ร้านค้า และแผงลอย ส่งตรวจวิเคราะห์หาสารห้ามใช้ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดตรวจพบเครื่องสำอางมีสารห้ามใช้เพิ่มอีก 13 ยี่ห้อ โดยพบกรดเรทิโนอิกหรือกรดวิตามินเอ ปรอทแอมโมเนีย หรือสารประกอบของปรอท และไฮโดรควิโนน สารห้ามใช้ทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว ทำให้เกิดการแพ้ และระคายเคืองต่อผิวหน้าเป็นสาเหตุทำให้หน้าพังได้
       
       นอกจากนี้ตรวจพบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแสดงฉลากไม่ถูกต้อง บางผลิตภัณฑ์ ที่ฉลากไม่มีการระบุผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่าย เลขที่ผลิต วันที่ผลิตหรือวันหมดอายุ โดยรายชื่อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางผิดกฎหมายทั้ง 13 ยี่ห้อ ได้แก่

1.สมุนไพรรักษาสิวฝ้า
2.TALEENA CREAM ครีมสมุนไพร ว่านหางจระเข้
3.ครีมสมุนไพรหมอตะวัน ทั้ง 3 ยี่ห้อ พบปรอทแอมโมเนีย ฉลากไม่ระบุผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย ไม่มีเลขที่ผลิตและวันที่ผลิต
4.KARME Whitenting Cream Night Cream
 5.Hymera Night Cream
6. WEiJiAO Double Night Cream ทั้ง 3 ยี่ห้อ พบกรดวิตามินเอ ฉลากไม่ระบุผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย ไม่มีเลขที่ผลิต
 7.ครีมหมอตะวัน พบไฮโดรควิโนนและกรดวิตามินเอ ฉลากไม่ระบุผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย ไม่มีเลขที่ผลิตและวันที่ผลิต
 8.JIAO LING ครีมสำหรับกลางวันเพื่อปรับผิวขาวขึ้น จุดด่างดำดูจางลง
 9. JIAO LING ครีม-สำหรับกลางคืนเพื่อผิวขาวใสขึ้น จุดด่างดำดูจางลง
10.CAI NI YA (ที่กระปุกมีรูปพระอาทิตย์)
11. CAI NI YA (ที่กระปุกมีรูปพระจันทร์) ทั้ง 4 ยี่ห้อ พบปรอทแอมโมเนีย ฉลากไม่ระบุผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย และไม่ระบุ วันที่ผลิต
 12. Hymera Day Cream
13. WEiJiAO Whitening Essence พบปรอทแอมโมเนีย ฉลากไม่ระบุ ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย และไม่ระบุเลขที่ผลิต

       
       นอกจากนี้ยังพบเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารควบคุมพิเศษ ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับให้ถูกต้อง และฉลากไม่ถูกต้องอีก 4 ยี่ห้อ ได้แก่ EAGLE’S BROWN HENNA ตรวจพบสารพารา เฟนิลีนไดเอมีน 0.608 % แต่แจ้งไว้ที่ฉลากว่ามี 1% ฉลากไม่ระบุผู้นำเข้า และเลขทะเบียน จัดเป็นเครื่องสำอางปลอมจึงอาจไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเครื่องสำอางยี่ห้อ SPA สมุนไพรขมิ้นชันเปลี่ยน สีผิว, SPA สมุนไพรน้ำแร่เปลี่ยนสีผิวสปา และ SPA ครีมน้ำนมมะขามเปลี่ยนสีผิวสปา โดยทั้ง 3 ยี่ห้อสำหรับตัวผลิตภัณฑ์พบสารไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ เป็นสารควบคุมพิเศษ ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับให้ถูกต้อง พบในปริมาณที่เกินอัตราส่วนสูงสุดที่กฎหมายกำหนด และที่ฉลากไม่มีการระบุผู้ผลิต เลขทะเบียน เลขที่ผลิตและวันที่ผลิต จัดเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค จึงขอเตือนผู้บริโภคอย่าซื้อเครื่องสำอางยี่ห้อดังกล่าวมาใช้อย่างเด็ดขาดเพราะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายได้
       
       “เมื่อจะซื้อเครื่องสำอางต้องระมัดระวัง ซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน มีฉลากภาษาไทยที่มีข้อความบังคับครบถ้วนได้แก่ ชื่อและประเภท ผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบสำคัญ วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งแหล่งผลิต วันเดือนปีที่ผลิต ปริมาณสุทธิ ที่สำคัญไม่ควรซื้อเพียงเพราะเชื่อคำโฆษณา ขณะที่ร้านค้าที่ซื้อเครื่องสำอางมาจำหน่ายจะต้องซื้อจากผู้มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ และมีหลักฐานการซื้อขายที่ระบุชื่อและที่ตั้งของผู้ขายอย่างชัดเจน และขออย่าได้นำเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมายดังกล่าวมาจำหน่าย หากเจ้าหน้าที่ อย. ตรวจพบจะดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างเข้มงวด โดยผู้ขายจะต้องมีความผิดเช่นเดียวกับผู้ผลิต ส่วนบทลงโทษผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้นำเข้าเพื่อขาย และผู้ขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้จะต้องถูกระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”