พิมพ์หน้านี้ - เพื่อส่งเสริมการอ่านครับ พี่น้อง ภาษาในศาสนพิธี

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่14"

นานาสาระ => ช่างสนทนา => ข้อความที่เริ่มโดย: eskimo_bkk-LSV team♥ ที่ ธันวาคม 23, 2023, 09:15:04 am



หัวข้อ: เพื่อส่งเสริมการอ่านครับ พี่น้อง ภาษาในศาสนพิธี
เริ่มหัวข้อโดย: eskimo_bkk-LSV team♥ ที่ ธันวาคม 23, 2023, 09:15:04 am
๑ “มรรคนายก”
ไม่ใช่ “มรรคทายก”
กรุณาอย่าอ้างว่า มรรคทายก ก็ใช้ได้

๒ “ตั้งนะโม”
เป็นคำของคนเก่า เช่นบอกกันว่า “ตั้งนะโมพร้อม ๆ กันนะครับ”
ไม่ใช่ “กล่าวนะโม” หรือ “ว่านะโม”

๓ “บูชาข้าวพระ”
ควรใช้คำว่า “บูชาข้าวพระ” เพราะเราใช้ข้าว (หมายรวมถึงอาหาร)
เป็นเครื่องบูชาพระพุทธเจ้า
ไม่ใช่ “ถวายข้าวพระ” ซึ่งจะมีความหมายว่า
ถวายเพื่อให้พระพุทธเจ้าเสวย
พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
มาเสวยข้าวที่ถวายไม่ได้

๔ “ทอดผ้าบังสุกุล”
ใช้เท่านี้ก็พอ ไม่จำเป็นต้อง “ทอดผ้าไตรบังสุกุล”
ยิ่ง “ทอดผ้ามหาบังสุกุล” หรือ
“ทอดผ้าไตรมหาบังสุกุล” ยิ่งไปกันใหญ่
“มหาบังสุกุล” ใช้เรียกผ้าสำหรับพระพุทธเจ้าเท่านั้น

๕ “ชักผ้าบังสุกุล”
เมื่อทอดผ้าแล้ว อาราธนาพระว่า “ขออาราธนาชักผ้าบังสุกุล”
ถูกต้องเหมาะสมกว่าคำว่า “พิจารณาผ้าบังสุกุล”
คำนี้ขออนุญาตอภิปรายยาว
คำของพระรุ่นเก่า-คนรุ่นเก่าใช้ว่า “ชักผ้า” ทั้งนั้น
ไม่ใช่ “พิจารณาผ้า”
สิ่งที่จะต้องพิจารณาคือศพ
“พิจารณาศพ” ได้
แต่ “พิจารณาผ้า” คือพิจารณาอะไร?
ทำไมจะต้องพิจารณาผ้าในเวลานั้น
มีผู้อธิบายแก้แทนว่า “พิจารณาผ้า” หมายถึง
พิจารณาก่อนบริโภคใช้สอย ตามหลัก “ปะฏิสังขา โย” หรือ
“ตังขณิกปัจจเวกขณะ” (ตัง-ขะ-นิ-กะ-ปัด-จะ-เวก-ขะ-นะ)
ที่พระสงฆ์จะต้องสวดพิจารณาก่อนที่จะบริโภคใช้สอยปัจจัยสี่
ดังนั้น คำว่า “พิจารณาผ้า” จึงใช้ได้ ไม่ผิด
ถ้าอธิบายอย่างนี้ ก็ต้องถามกลับไปว่า
ที่พระสงฆ์ขึ้นไป “พิจารณาผ้า” บนเมรุนั้น
พระท่านใช้บทอะไรในการพิจารณา
คำตอบคือท่านใช้บท “อะนิจจา วะตะ สังขารา”
อันเป็นบทพิจารณาศพ
ท่านไม่ได้ใช้บท “ปะฏิสังขา โยนิโส จีวะรัง”
อันเป็นบทพิจารณาผ้า (หนึ่งในปัจจัยสี่)
ถ้ายืนยันว่า คำว่า “พิจารณาผ้า” ใช้ได้ ไม่ผิด
ต่อไปนี้เวลาขึ้นไป “พิจารณาผ้า” บนเมรุ
พระก็จะต้องเปลี่ยนจากว่าบท “อะนิจจา วะตะ สังขารา”
เป็นบท “ปะฏิสังขา โยนิโส จีวะรัง”
และเมื่อว่าจบแล้วก็จะต้องครองจีวรใหม่ตรงนั้นเลย
เพราะ “ปะฏิสังขา โยนิโส จีวะรัง” เป็นบทพิจารณาก่อนจะใช้สอยจีวร
ถ้าขณะนั้นยังไม่ได้ใช้สอย จะต้องพิจารณาเพื่ออะไร
จะเห็นได้ว่า ยิ่งแก้ตัวก็ยิ่งเป็นวัวพันหลัก

การใช้คำว่า “ขออาราธนาชักผ้าบังสุกุล” นับว่าถูกต้องตามข้อเท็จจริง
และพระสงฆ์ก็ยังว่าบท “อะนิจจา วะตะ สังขารา”
อันเป็นบทพิจารณาศพได้เหมือนเดิม ไม่มีข้อขัดข้องแต่ประการใด

นั่นคือ พิจารณาศพที่อยู่ในโลงในหีบ แม้จะมองไม่เห็นก็น้อมจิตพิจารณาได้
อนึ่ง การพิจารณาศพนั้นไม่จำเป็นต้องอาราธนาให้พิจารณา
เพราะเป็นกิจที่พระพึงปฏิบัติตามปกติอยู่แล้ว ไม่ต้องไปบอกท่าน
พิจารณาศพแล้วก็ “ชัก” คือดึงผ้าออกมาจากที่ทอดไว้
ตรงกับคำที่พูดว่า “ชักผ้า”
การชักผ้านั้นต้องอาราธนา
เป็นการแสดงเจตนาของผู้ทอดว่าเอาผ้าไปทอดไว้ทำไม
พระท่านจะได้สนองเจตนาถูก
ถ้าไม่อาราธนา อาจ (สมมุติตลก ๆ ว่า)
มีคนหัวหมอทักท้วงพระขึ้นมาว่า
ท่านเอาผ้าของโยมเขาไปได้ยังไง
เขายังไม่ได้บอกให้เอาไปสักหน่อย
แต่เมื่อบอกพระว่า “ขออาราธนาชักผ้าบังสุกุล” ก็เป็นอันเรียบร้อย
นี่คือที่บอกว่า-เป็นการแสดงเจตนาของผู้ทอด

สรุปว่า บท “อะนิจจา วะตะ สังขารา”
เป็นบทพิจารณาศพแล้วชักผ้า
แต่ไม่ใช่บทพิจารณาผ้า
ดังนั้น ถ้อยคำที่อาราธนา จึงควรพูดว่า
“ขออาราธนาชักผ้าบังสุกุล”
ไม่ใช่ “ขออาราธนาพิจารณาผ้าบังสุกุล”
................... .......
ภาษาในศาสนพิธีที่ผมเสนอแนะมานี้ คงอีกนานครับ-กว่าพิธีกรทั้งหลายท่านจะยอมปรับเปลี่ยนแก้ไข เพราะ -
๑ ผม-ผู้เสนอแนะ-ไม่ได้มีอิทธิพลอะไรที่ใครจะต้องทำตาม
๒ อ้างได้เต็มปากว่า-ที่ไหน ๆ เขาก็ใช้แบบนี้แบบนั้น
เช่น-“พิจารณาผ้าบังสุกุล”-เป็นต้น กันทั้งนั้น
๓ ทิฐิมานะ ข้อนี้สำคัญที่สุด-กูจะใช้ของกูอย่างนี้
เรื่องอะไรจะเปลี่ยนให้เสียศักดิ์ศรี
จบเลย
................... ................... ...................
หมายเหตุ: ขอให้สังเกตข้อความในภาพประกอบซึ่งเป็นภาพจาก
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔
ความหมายของคำว่า “ชัก” ข้อ (๓) ที่ว่า “ดึงเอามา เช่น ชักผ้าป่า ชักผ้าบังสุกุล”
เป็นทั้งหลักฐานที่อ้างอิงได้
เป็นทั้งหลักวิชาที่ควรศึกษาเรียนรู้และใช้ให้ถูก
................... ................... ...................
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา
๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๖
๑๖:๑๒