หัวข้อ: 'อิสราเอล-ปาเลสไตน์' เริ่มหัวข้อโดย: eskimo_bkk-LSV team♥ ที่ ตุลาคม 14, 2023, 11:05:16 am เป็นวันคล้ายวัน "สวรรคต" "พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร" รัชกาลที่ ๙ บางคนอาจลืม ก็ไม่เป็นไร แต่อยากบอกว่า "แหงนหน้าขึ้นไปมองบนฟ้าสิครับ.... ถึงไม่เห็นอะไรด้วยตา แต่โปรดรับรู้เถิดว่า มีพระเนตรคู่หนึ่ง เฝ้ามองป้องปกพสกนิกรและแผ่นดินไทยอยู่ตลอดเวลา พระเนตรคู่นั้น คือพระเนตร "พ่อบนฟ้า" ของเราทุกคน" ช่วงนี้ สังคมโลกค่อนข้างป่วยกระเสาะ-กระแสะ การตอบโต้ระหว่าง "ยิว-ปาเลสไตน์" น่าจะไม่ยุติเร็ววัน ปัญหา "ยิว-ปาเลสไตน์" จะว่าไป ก็คล้าย "ปัญหาโลกแตก" มีมายาวนาน ๔,๐๐๐ กว่าปี ฉะนั้น วันหยุด ๒ วันนี้ ที่เพจ "Histofun Deluxe" เขารวบรวม-เรียบเรียง "ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์" เป็น ฉบับรวบรัด ไว้ ผมอ่านแล้ว นอกจาก "ศรัทธา-ทึ่ง" ในอัจฉริยภาพ ที่ย่อประวัติศาสตร์ ๔ พันปี ให้อ่านกันพอเข้าใจความเป็นมาได้ภายใน ๔-๕ นาที จึงขออนุญาตนำเผยแพร่ ๒ วันครบ เป็นการ "ปูพื้นฐาน" เพื่อการตามข่าวสาร "ยิว-ปาเลสไตน์" ได้เหมือนดูหนังประวัติศาสตร์ แบบคนเคยเรียนประวัติศาสตร์เรื่องนั้นมาก่อน ................... ............... Histofun Deluxe ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ฉบับรวบรัด เนื้อหาในบทความนี้ นำเสนอในรูปแบบของไทม์ไลน์ ดังนั้น ในบางเหตุการณ์ที่มีความละเอียดซับซ้อน อาจจะไม่ได้ปรากฏอยู่ในไทม์ไลน์นี้ ** เนื้อหาจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ภาคหลักคือ ภาค I ประวัติศาสตร์อิสราเอลแบบคร่าวๆ ภาค II กำเนิดรัฐอิสราเอล ภาค III ความขัดแย้งจนถึงปัจจุบัน ----- ภาค I ประวัติศาสตร์อิสราเอลแบบคร่าวๆ ราว 2,000 ปีก่อนคริสตกาล อับราฮัม (Abraham) นำชาวฮีบรู (Hebrew) เดินทางอพยพจากดินแดน "เมโสโปเตเมีย" เข้ามาในดินแดน "คานาอัน" (Canaan) หรือดินแดนแห่งพันธสัญญา (Promise Land) ที่ "พระผู้เป็นเจ้า" ทรงประทานให้กับ "ชาวฮีบรู" ----- ราว 1,500 ปีก่อนคริสตกาล ภัยพิบัติทางธรรมชาติทำให้ชาวฮีบรู ตัดสินละทิ้งดินแดนคานาอัน และอพยพไปยังอียิปต์ แต่พวกเขาก็ได้กลายเป็นทาสที่อียิปต์ยาวนานหลายร้อยปี ----- ราว 1,300 ปีก่อนคริสตกาล โมเสส (Moses) ได้ช่วยเหลือและอพยพชาวฮีบรูออกจากอียิปต์ เกิดเหตุการณ์สำคัญอย่างเอ็กโซดัส (Exodus) ที่โมเสสได้แยก "ทะเลแดง" เพื่อให้ชาวฮีบรูสามารถหลบหนีจากทหารอียิปต์ รวมไปถึงเหตุการณ์ที่พระผู้เป็นเจ้า ทรงประทานบัญญัติ 10 ประการ (Ten Commandments) เพื่อให้โมเสสใช้สั่งสอนแก่ชาวฮีบรู เมื่อชาวฮีบรูอพยพมาถึงดินแดนคานาอัน ปรากฏว่าในขณะนั้น ดินแดน "คานาอัน" ได้ตกเป็นของชาว "ฟิลิสไตน์" (Philistine) ชื่อ "ฟิลิสไตน์" เป็นที่มาของคำว่า "ปาเลสไตน์" (Palestine) ด้วยเหตุนี้ "ชาวฮีบรู" จึงต้องทำสงครามกับ "ชาวฟิลิสไตน์" เพื่อแย่งชิงดินแดน "คานาอัน" ----- ราว 1,020 ปีก่อนคริสตกาล ซาอูล (Saul) ผู้นำของชาวฮีบรู ได้ถูกเลือกให้เป็นกษัตริย์พระองค์แรกของชาวฮีบรู ในช่วงเวลาเดียวกัน เด็กหนุ่มนามว่า "เดวิด" (David) ก็ได้สร้างวีรกรรมในการสังหารแม่ทัพ "โกไลแอธ" (Goliath) ของฟิลิสไตน์ จนเป็นที่เลื่องลือของชาวฮีบรู ----- ราว 1,010 ปีก่อนคริสตกาล ซาอูลสิ้นพระชนม์ ชาวฮีบรูได้เลือกเดวิดเป็นกษัตริย์ สถาปนา "อาณาจักรอิสราเอล" (Kingdom of Israel) โดยมีกรุงเยรูซาเล็ม (Jerusalem) เป็นเมืองหลวง ชาวฮีบรู เอาชนะชาวฟิลิสไตน์ ได้อย่างเด็ดขาด ----- 970 ถึง 931 ปีก่อนคริสตกาล อาณาจักรอิสราเอลรุ่งเรืองถึงขีดสุด ในสมัยของกษัตริย์โซโลมอน (Solomon) มีการก่อสร้าง "มหาวิหารโซโลมอน" (Solomon's Temple) อันเป็นศาสนสถานที่สำคัญของชาวฮีบรู ----- 926 ปีก่อนคริสตกาล หลังโซโลมอนสิ้นพระชนม์ เกิดความแตกแยกภายในหมู่ชาวฮีบรู จนทำให้อาณาจักรอิสราเอลแตกออกเป็น 2 ส่วน คือ "อาณาจักรอิสราเอล" เดิม ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ "กรุงซามาเลีย" (Samalia) กับ "อาณาจักรยูดาห์" หรือยิว (Kingdom of Judah) ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ "นครเยรูซาเล็ม" ----- 722 ปีก่อนคริสตกาล "อาณาจักรอิสราเอล" ล่มสลาย จากการบุกโจมตีของ "จักรวรรดิอัสซีเรีย" ใหม่ ----- 587 ปีก่อนคริสตกาล "อาณาจักรยูดาห์" ล่มสลายจากการบุกโจมตีของ "จักรวรรดิบาบิโลน" ใหม่ "มหาวิหารโซโลมอน" ถูกทำลาย ชาวฮีบรูถูกกวาดต้อนไปที่ "กรุงบาบิโลน" ----- ราว 530 ปีก่อนคริสตกาล "จักรวรรดิเปอร์เซีย" ขยายอำนาจและยึดครองบาบิโลน "พระเจ้าไซรัสมหาราช" (Cyrus the Great) กษัตริย์เปอร์เซีย ทรงปลดปล่อยชาวฮีบรูในบาบิโลน ให้เดินทางกลับมายังดินแดนบ้านเกิด ชาวฮีบรูได้ฟื้นฟูกรุงเยรูซาเล็ม และก่อสร้างมหาวิหารเฮรอด (Herod's Temple) เพื่อทดแทนมหาวิหารโซโลมอนที่ถูกทำลายไป ----- 331 ปีก่อนคริสตกาล "พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช" (Alexander the Great) แห่ง "จักรวรรดิมาชิโดเนีย" บุกยึดครองอิสราเอล ----- 64 ปีก่อนคริสตกาล "โรมัน" ได้ผนวกอิสราเอลให้เป็นส่วนหนึ่งของโรมันในชื่อ "แคว้นยูเดีย" (Judea) ซึ่งในช่วงเวลานี้เอง ที่ชาวฮีบรูได้ถูกเรียกโดยโรมันว่า "ชาวยิว" ----- ค.ศ. 5 ถึง 30 ช่วงชีวิตของพระเยซู (Jesus) ศาสดาของ "ศาสนาคริสต์" ซึ่งเป็นชาวยิวที่อาศัยอยู่ใน "แคว้นยูเดีย" ----- 66-73 ชาวยิวในแคว้นยูเดียก่อกบฏ เพื่อต่อต้านอำนาจของโรมัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ กรุงเยรูซาเล็มและมหาวิหารเฮรอด ถูกเผาทำลาย ชาวยิวถูกเข่นฆ่าเป็นจำนวนมาก ----- 131-135 ชาวยิวพยายามก่อกบฏต่อต้านโรมันอีกครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีก ในช่วงเวลานี้เองที่ชาวยิวได้เริ่มอพยพ ออกจากแคว้นยูเดีย และเดินทาง ไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วทั้งทวีปยุโรป ----- ศตวรรษที่ 5 "ดินแดนอิสราเอล" ตกอยู่ภายใต้อำนาจของ "จักรวรรดิไบแซนไทน์" มีการปราบปรามชาวยิวครั้งใหญ่ ทำให้ชาวยิวอพยพออกจากอิสราเอลมากยิ่งขึ้น ----- ศตวรรษที่ 7 "ดินแดนอิสราเอล" ตกอยู่ภายใต้อำนาจของ "จักรวรรดิอิสลาม" ชาวอาหรับที่นับถือศาสนาอิสลาม เริ่มอพยพเข้าไปอยู่ใน "ดินแดนอิสราเอล" ซึ่งพวกเขาจะกลายมาเป็น "ชาวปาเลสไตน์" ในเวลาต่อมา "ดินแดนอิสราเอล" เริ่มถูกเรียกชื่อเป็น "ดินแดนปาเลสไตน์" ----- ศตวรรษที่ 11 ถึง 13 "นครเยรูซาเล็ม" และ "ดินแดนปาเลสไตน์" ตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของ "สงครามครูเสด" ----- 1516 ดินแดนปาเลสไตน์ ตกอยู่ภายใต้อำนาจของ " จักรวรรดิออตโตมัน" ----- ศตวรรษที่ 15 จนถึง 19 ชาวยิวที่กระจัดกระจายทั่วทั้งยุโรป (รวมไปถึงทั่วโลก) ก็ได้ตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก พวกเขาอยู่อย่างเร่ร่อน ไม่มีหลักแหล่ง และเป็นที่รังเกียจของชาวยุโรป (โดยเฉพาะกับชาวคริสต์) หลังจากที่พวกเขาต้องร่อนเร่ กว่าพันปี นั่นจึงทำให้มีชาวยิวบางกลุ่ม ต้องการที่ จะเดินทางกลับมายังดินแดนอิสราเอล (หรือดินแดนปาเลสไตน์) อันเป็นดินแดนที่พวกเขาจากมา ................... ....... ครับ "จบภาค ๑" พรุ่งนี้ อ่านต่อภาค ๒ และ ๓ อ่านเที่ยวเดียวอาจยังปะติด-ปะต่อ ในความเป็น "อิสราเอล-ปาเลสไตน์" ในแผ่นดินตรงนั้นไม่ชัด ตัดเก็บไว้ ค่อยๆ อ่านซัก ๒-๓ เที่ยว ก็จะเข้าใจ ในดินแดนปาเลสไตน์ ทั้ง "อิสลาม-คริสต์-ยูดาห์" มาจากรากเหง้าเดียวกัน พอตะวันตก "ยุโรป-อังกฤษ-สหรัฐฯ" เป็นยาดำเข้าแทรก ที่เขาอยู่ร่วมแผ่นดินกันมา แบบดีบ้าง-ทะเลาะบ้าง เป็นพันๆ ปี คำว่า "สันติภาพ-สันติสุข" ที่ลงตัว "Infinity" จึงเป็นคำตอบของ "ปาเลสไตน์-อิสราเอล". คนปลายซอย โค๊ด: https://www.thaipost.net/columnist-people/465804/ 'อิสราเอล-ปาเลสไตน์' ๒ Histofun Deluxe ภาค II กำเนิดรัฐอิสราเอล 1897 "ชาวออสเตรีย" เชื้อสายยิวนามว่า "ธีโอดอร์ เฮิร์ตเซิล" (Theodor Herzl) ได้ก่อตั้งขบวนการ "ไซออนิสต์" (Zionist) องค์กรที่มีเป้าหมายสำคัญในการก่อตั้ง "รัฐของชาวยิว" ในดินแดนปาเลสไตน์ 1917 "ปฏิญญาบัลฟอร์" (Balfour Declaration) อังกฤษ สนับสนุน "ขบวนการไซออนิสต์" ในการก่อตั้ง "รัฐชาวยิว" ในปาเลสไตน์ ----- 1918 ดินแดนของ "จักรวรรดิออตโตมัน" ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ตกอยู่ภายใต้ การยึดครองของ "อังกฤษ" และ "ฝรั่งเศส" โดยดินแดน "ปาเลสไตน์" อยู่ภายใต้ "การปกครองอังกฤษ" ในสถานะ "รัฐอารักขา" ----- ทศวรรษที่ 1920 ชาวยิวเริ่มอพยพเข้าไปในดินแดนปาเลสไตน์ ก่อให้เกิดปัญหากระทบกระทั่ง กับชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ก่อนหน้านั้น ----- ทศวรรษที่ 1930 ปัญหาระหว่างชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์ เริ่มลุกลามบานปลายมากยิ่งขึ้น ทางการอังกฤษพยายามเข้ามาไกล่เกลี่ย และออกนโยบาย "จำกัดจำนวนของชาวยิว" ที่จะอพยพเข้ามาในปาเลสไตน์ ----- ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (1939-1945) ชาวยิวที่อาศัยอยู่ในทวีปยุโรปถูก "นาซีเยอรมัน" จับเข้าค่ายกักกันและถูกสังหาร เกิดเหตุการณ์ "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว" (Holocaust) ที่ทำให้มีชาวยิวล้มตายมากกว่า 6 ล้านคน ----- 1945 หลัง "สงครามโลกครั้งที่ 2" สิ้นสุด ชาวยิวนับล้านคนที่รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ได้เดินทางเข้าไปในปาเลสไตน์ ปัญหาระหว่างชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์เกิดขึ้นอีกครั้ง ----- 1947 ทางการอังกฤษไม่สามารถยุติ ความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายได้ อังกฤษจึงถอนตัวออกจากปาเลสไตน์ และนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อทาง "สหประชาชาติ" เพื่อให้เป็นผู้แก้ไขปัญหา สุดท้ายสหประชาชาติก็มีมติให้ "แบ่งดินแดน" ของปาเลสไตน์ ออกเป็น 2 ส่วนคือ "ดินแดนของชาวยิว" กับ "ดินแดนของชาวปาเลสไตน์" โดย "กรุงเยรูซาเล็ม" อยู่ภายใต้การดูแลของ "สหประชาชาติ" ----- 1948 วันที่ 14 พฤษภาคม ดินแดนของ "ชาวยิว" ในปาเลสไตน์ประกาศ "ก่อตั้งรัฐอิสราเอล" (State of Israel) โดยมี "เดวิด เบนกูเรียน" (David Ben Gurian) เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของอิสราเอล การก่อตั้ง "ประเทศอิสราเอล"..... ได้สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมาก ให้กับกลุ่มประเทศอาหรับ ดังนั้น "กลุ่มประเทศอาหรับ" ซึ่งประกอบไปด้วย อียิปต์, ซีเรีย, จอร์แดน, เลบานอน และอิรัก จึงได้ก่อตั้ง "สันนิบาตอาหรับ" (League of Arab) เพื่อต่อต้านอิสราเอล ----- 1948-1949 "สันนิบาตอาหรับ" ส่งกองทัพบุกโจมตีอิสราเอล เกิดเป็นสงคราม "อาหรับ-อิสราเอล" ครั้งที่ 1 ปรากฏว่าอิสราเอล (ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ) สามารถ "เอาชนะ" กองทัพของสันนิบาตอาหรับได้ แม้ว่าสันนิบาตอาหรับจะเป็นฝ่ายแพ้สงคราม แต่สันนิบาตอาหรับก็สามารถ ยึดครองดินแดนบางส่วนของอิสราเอลได้ โดย "อียิปต์" เข้ายึดครองดินแดนที่เรียก 'ฉนวนกาซ่า' (Gaza Strip) "จอร์แดน" เข้ายึดครองดินแดน 'เวสต์แบงก์' (West Bank) นอกจากนี้ "กรุงเยรูซาเล็ม" ยังถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ "เยรูซาเล็มตะวันตก" เป็นของ "อิสราเอล" "เยรูซาเล็มตะวันออก" เป็นของจอร์แดน ผลของสงครามในครั้งนี้ ทำให้ชาวปาเลสไตน์นับแสนคน ต้องอพยพออกจากดินแดนปาเลสไตน์ ที่บัดนี้กลายเป็นของอิสราเอล ไปยังดินแดนประเทศอาหรับรอบๆ ข้างแทน ----- 1956 เกิดวิกฤตการณ์คลองสุเอซ (Suez Crisis) หรือสงคราม "อาหรับ-อิสราเอล" ครั้งที่ 2 "อังกฤษ" และ "ฝรั่งเศส" สนับสนุนอิสราเอล ทำสงครามกับ "อียิปต์" แต่ชัยชนะในสงครามตกเป็นของอียิปต์ ----- 1964 "ยัสเซอร์ อัล-อาราฟัต" (Yasser al-Arafat) ผู้นำของชาวปาเลสไตน์ก่อตั้ง "องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์" หรือขบวนการ PLO เพื่อต่อสู้กับอิสราเอล และทวงคืนดินแดนปาเลสไตน์จากชาวยิว ----- ภาค III ความขัดแย้งจนถึงปัจจุบัน ทศวรรษที่ 1960 ถึง 1980 PLO ก่อเหตุวินาศกรรมและก่อการร้ายภายในอิสราเอล ----- 1967 สงครามหกวัน (Six Day War) หรือ "สงครามอาหรับ-อิสราเอล" ครั้งที่ 3 อิสราเอลเป็นฝ่ายชนะสงคราม และยึดครองฉนวนกาซ่าและเวสต์แบงก์จากฝ่ายอาหรับได้ นอกจากนี้ อิสราเอลยังยึดครองแหลมไซนาย (Sinai) ซึ่งเป็นดินแดนของอียิปต์ได้อีกด้วย ที่สำคัญ อิสราเอลยังยึดครอง "เยรูซาเล็มตะวันออก" ที่เป็นของจอร์แดนได้ "เยรูซาเล็มทั้งหมด" จึงตกเป็นของอิสราเอล ก่อนที่ในปี 1980 อิสราเอลจะประกาศให้ "เยรูซาเล็ม" เป็นเมืองหลวงของประเทศ ----- 1973 "สงครามยมคิปปูร์" (Yom Kippur War) หรือสงคราม "อาหรับ-อิสราเอล" ครั้งที่ 4 อิสราเอลเป็นฝ่ายชนะสงคราม และยึดครองดินแดนบางส่วน ของซีเรียและอียิปต์ ----- 1978 อิสราเอลและอียิปต์ทำข้อตกลงสันติภาพ "แคมป์เดวิด" (Camp David Accord) โดยมีสหรัฐฯ เป็นตัวกลาง ----- 1982 อิสราเอลส่งกองทัพเข้าไปในเลบานอน เพื่อกวาดล้างกลุ่ม PLO ที่ซ่อนตัวอยู่ในเลบานอน ชาวเลบานอนบางส่วนจัดตั้งกลุ่มติดอาวุธ "ฮิซบอลเลาะห์" (Hezbollah) เพื่อต่อสู้กับอิสราเอล ----- 1985 กลุ่ม "ฮิซบอลเลาะห์" ขับไล่กองทัพอิสราเอล ให้ออกไปจากเลบานอนได้สำเร็จ นับแต่นั้น "ฮิซบอลเลาะห์" จะกลายเป็นกลุ่มการเมือง ที่มีอำนาจมากที่สุดในเลบานอน ----- 1988 วันที่ 15 พฤศจิกายน "ยัสเซอร์ อัล-อาราฟัต" ประกาศก่อตั้ง "รัฐปาเลสไตน์" (State of Palestine) อาราฟัตประกาศยุติการก่อร้ายของ PLO และจะใช้สันติวิธีเพื่อเจรจากับอิสราเอล PLO ยังก่อตั้งกลุ่มการเมืองที่เรียกว่า "กลุ่มฟะตะห์" (Fatah) ที่เน้นการต่อสู้แบบสันติวิธี ทำให้มีชาวปาเลสไตน์บางส่วน ไม่พอใจและก่อตั้งกลุ่ม "ฮามาส" (Hamas) ที่เน้นใช้ความรุนแรงในการต่อสู้ ----- 1993 อิสราเอลและปาเลสไตน์ทำ "สนธิสัญญาสันติภาพออสโล" (Oslo Accord) โดยมีสหรัฐฯ เป็นตัวกลาง นอกจากนี้ ยังมีการกำหนด "เส้นเขตแดน" ใหม่ โดย "ฉนวนกาซ่า" และ "เวสต์แบงก์" จะตกเป็นดินแดนของปาเลสไตน์ โดยมีเมือง "รามัลเลาะห์" (Ramallah) ในเวสต์แบงก์เป็น "เมืองหลวงของปาเลสไตน์" ----- สถานการณ์ในปัจจุบัน แม้ว่าอิสราเอลกับปาเลสไตน์จะลงนาม ในสนธิสัญญาสันติภาพมาแล้วหลายรอบด้วยกัน แต่ความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายก็ยังคงเกิดขึ้น มาจนถึงปัจจุบัน ไม่ใช่เฉพาะความขัดแย้ง ระหว่างชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์เท่านั้น เพราะภายในปาเลสไตน์เอง ก็ได้เกิดความแตกแยกกันเองเช่นกัน โดยภายในปาเลสไตน์ถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ โดยบริเวณ "ฉนวนกาซ่า" อยู่ภายใต้อำนาจของ "กลุ่มฮามาส" ส่วนบริเวณ "เวสต์แบงก์" อยู่ภายใต้อำนาจของ "กลุ่มฟะตะห์" ซึ่งเป็นรัฐบาลของปาเลสไตน์ ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ที่กินเวลายาวนานกว่า 70 ปี (จริงๆ อาจเรียกว่าพันปีก็ได้) ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ สงคราม ความสูญเสีย และความเกลียดชัง ก็ยังคงมีอยู่ในดินแดนแห่งนี้ ณ สถานการณ์ปัจจุบัน.... ความขัดแย้งก็ได้อุบัติขึ้นอีกครั้ง เมื่อ "กลุ่มฮามาส" ในฉนวนกาซ่า โจมตีอิสราเอล เช่นเดียวกับทางการอิสราเอล ที่ทำการตอบโต้กลุ่มฮามาสเช่นกัน นับเป็นเหตุความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 50 ปี หวังเพียงว่า สันติภาพจะนำพาความสงบสุข กลับคืนสู่ดินแดนแห่งนี้ในสักวันหนึ่ง. ................... ................... ขอบคุณเพจ "Histofun Deluxe" นะครับ ผมและท่านผู้อ่าน ต่อจากนี้.... น่าจะติดตามเหตุการณ์ในดินแดนปาเลสไตน์แบบ "รู้เรื่อง" มากขึ้น -เปลว สีเงิน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๖ วันเสาร์ที่ปลายซอย โค๊ด: https://www.thaipost.net/columnist-people/466315/ หัวข้อ: Re: 'อิสราเอล-ปาเลสไตน์' เริ่มหัวข้อโดย: eskimo_bkk-LSV team♥ ที่ ธันวาคม 14, 2023, 11:00:47 am (https://img5.pic.in.th/file/secure-sv1/409715633_371280505421434_8914411292065033939_n.jpeg)
สมัชชาแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้มีการหยุดยิง เพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม ในความขัดแย้งอิสราเอล-ฮามาส หัวข้อ: Re: 'อิสราเอล-ปาเลสไตน์' เริ่มหัวข้อโดย: eskimo_bkk-LSV team♥ ที่ ธันวาคม 14, 2023, 11:12:28 am อิสราเอล-ฮามาสสู้รบเดือด เสียชีวิตรวมกว่า 10,000 ศพ
สมัชชาแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้มีการหยุดยิง เพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม ในความขัดแย้งอิสราเอล-ฮามาส สรุปสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮามาส (14 ธ.ค. 2566) เบนจามิน เนทันยาฮู ลั่น! อิสราเอลจะไปให้สุดทาง ของชัยชนะแม้จะมีแรงกดดันจากนานาชาติ นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูกล่าวว่า อิสราเอลจะไปให้สุดทางของชัยชนะ แม้จะมีแรงกดดันจากนานาชาติ หลังจากการลงมติของสหประชาชาติเพื่อเรียกร้อง ให้มีการหยุดยิงในฉนวนกาซา รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอลกล่าวว่า อิสราเอลจะทำสงครามต่อไปไม่ว่าจะได้รับ การสนับสนุนจากนานาชาติหรือไม่ก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขของกลุ่มฮามาสระบุ มีผู้เสียชีวิต 18,608 คนในฉนวนกาซานับตั้งแต่เริ่มสงคราม ในขณะเดียวกันเมื่อ 24 ช.ม. ที่ผ่านมา ทหาร IDF 10 นายถูกสังหารในฉนวนกาซาตอนเหนือ นับเป็นวันที่สูญเสียมากที่สุดของกองทัพอิสราเอล ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการภาคพื้นดิน สำนักนายกรัฐมนตรีอิสราเอล ระบุว่า ทัล ชิมี อายุ 41 ปี ตัวประกันที่คาดว่ายังมีชีวิตอยู่ในฉนวนกาซา ถูกประกาศว่าเสียชีวิตแล้ว ด้านกลุ่มฮามาสก็ไม่ตอบสนองต่อการทาบทาม เพื่อเริ่มต้นการเจรจาเรื่องตัวประกันอีกครั้ง สหรัฐและอังกฤษประกาศมาตรการคว่ำบาตร โดยมุ่งเป้าไปที่ตัวบุคคลที่เชื่อมโยงกับกลุ่มฮามาส ในขณะที่ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปเรียกร้องให้คว่ำบาตร ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอิสราเอลหัวรุนแรง ซึ่งมีส่วนในการโจมตี ชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์ ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของผู้ตั้งถิ่นฐานหัวรุนแรงสร้าง ความทุกข์ทรมานมหาศาลให้กับชาวปาเลสไตน์ เป็นบ่อนทำลายโอกาสที่จะเกิดสันติภาพที่ยั่งยืน และอาจทำให้ความไม่มั่นคงในภูมิภาคมีมากขึ้น สหประชาชาติและหลายประเทศระบุว่า การตั้งถิ่นฐานของชาวอิสราเอลในเขตเวสต์แบงก์นั้นผิดกฎหมาย ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งชาวอิสราเอลจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่นั้นต่างโต้แย้งอย่างรุนแรง การเสริมสร้างความเข้มแข็งและการขยายตัว ของการตั้งถิ่นฐานในเขตเวสต์แบงก์ถือเป็นประเด็นสำคัญ ของรัฐบาลเนทันยาฮู และเป็นหนึ่งในเรื่องที่มีการถกเถียงกันมากที่สุด ระหว่างอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ ซึ่งเมื่อต้นปีนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐแอนโทนี บลินเกน วิจารณ์ถึงการตั้งถิ่นฐานของอิสราเอลในเขตเวสต์แบงก์ ว่าเป็นอุปสรรคต่อสันติภาพ ฟิลิปเป้ ลัซซารินี หัวหน้าหน่วยงานผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์แห่งสหประชาชาติ UNRWA กล่าวว่าหน่วยงานให้ความช่วยเหลือกำลังใกล้จะล่มสลาย มีเจ้าหน้าที่มากกว่า 130 คนเสียชีวิตในฉนวนกาซา ในขณะเดียวกัน โฆษกของกาชาดปาเลสไตน์นีบาล ฟาร์ซัค กล่าวว่า การขาดแคลนเสบียงขั้นพื้นฐานและบริการด้านสาธารณสุข กำลังทำให้ชาวกาซาตกอยู่ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยอันตราย ทั้งหมดนั้นกำลังทุกข์ทรมานจากความหิวโหย ผู้คนขาดแคลนอาหาร น้ำ ไฟฟ้า และยารักษาโรครวมถึงเชื้อเพลิง พายุเมื่อคืนนี้ทำให้สภาพความเป็นอยู่ของชาวปาเลสไตน์ หลายแสนคนที่ต้องหนีออกจากบ้านย่ำแย่ลง ขอขอบคุณบีบีซีและซีเอ็นเอ็น |