พิมพ์หน้านี้ - "ไทย" เสียภาษีเงินได้สูงกว่า "นิวซีแลนด์" แต่ "รัฐสวัสดิการพัง"!! กูรูช่วยขุด

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่14"

นานาสาระ => หน้าที่พลเมือง => ข้อความที่เริ่มโดย: eskimo_bkk-LSV team♥ ที่ พฤษภาคม 09, 2023, 09:32:45 am



หัวข้อ: "ไทย" เสียภาษีเงินได้สูงกว่า "นิวซีแลนด์" แต่ "รัฐสวัสดิการพัง"!! กูรูช่วยขุด
เริ่มหัวข้อโดย: eskimo_bkk-LSV team♥ ที่ พฤษภาคม 09, 2023, 09:32:45 am
ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ “งบไม่พอ” แต่คือ “ลำดับความสำคัญ” ผิดพลาดต่างหาก!!
เจาะปัญหา “รัฐสวัสดิการไทย” ทำไมไม่ตอบโจทย์ชีวิตประชาชน?

สวัสดิการหลายระดับ แต่ใช้จริงแค่ไหน?

จากพิษเศรษฐกิจและวิกฤตโรคร้ายที่ผ่านมา
ทำให้คนหลายคนต้องแบกภาระมากมายในชีวิตเยอะขึ้น
จึงเป็นที่มาของคำถามว่า รัฐช่วยอะไรเราได้บ้าง ?
อ๋อ..เรามี “สวัสดิการสังคม” ไง! แล้วมันใช้ได้จริงหรือเปล่านะ ?

ไทยมีสวัสดิการสังคมใหญ่ๆ อยู่ 6 ตัว

1) สวัสดิการเด็กยากจน ช่วยเหลือเงินและเครื่องอุปโภคบริโภค
เด็กในครอบครัวยากจน 1,000-3,000 บาท ตามเกณฑ์ที่กำหนด
----------------------------------------------------------------
2) สวัสดิการเรียนฟรี ระบุไว้ว่าฟรี 15 ปี
โดยรัฐจะช่วยหนุนค่าหนังสือ อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบ
ค่ากิจกรรมพัฒนานักเรียน ตั้งแต่ชั้นอนุบาล- ม.ปลาย
แบบถ้วนหน้า ทั้งการศึกษาในระบบ และนอกระบบ(เอกชน)
----------------------------------------------------------------
3) บัตรคนจนช่วยค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น 300 บาท/เดือน
ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 80 บาท/เดือน
ค่าเดินทางขนส่งสาธารณะ 750 บาท/เดือน
อุดหนุนค่าไฟฟ้าต่อครอบครัว 315 บาท และค่าน้ำ 100 บาท
-----------------------------------------------------------------
4) เบี้ยผู้สูงอายุ ช่วยเหลือคนสูงอายุตั้งแต่ 60-90 ปี
ได้รับเบี้ยยังชีพ 600-1,000 บาท/เดือน
จำนวนเงินจะเพิ่มตามอายุของผู้รับสิทธิ
เช่น อายุ 60-69 ปี ได้ 600 บาท/เดือน
-----------------------------------------------------------------
5) ประกันสังคม เป็นการออมเงินภาคบังคับที่รัฐบาลสนับสนุน
ให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันในการใช้ชีวิต
-----------------------------------------------------------------
6) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิทธิบัตรทอง หรือ “30 บาทรักษาทุกโรค”
เป็นสิทธิตามกฎหมายที่รัฐบาลจัดให้คนไทยทุกคนตั้งแต่แรกเกิด
เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล
-----------------------------------------------------------------

“สวัสดิการส่วนใหญ่ของไทย เป็นแบบสวัสดิการสงเคราะห์
คุณต้องพิสูจน์ว่า คุณจน คุณน่าสงสาร คุณขาดแคลน คุณถึงจะได้มัน”


นี่คือมุมมองปัญหาสวัสดิการไทยที่
“จั๊ก-รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี”
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเฉพาะทาง รัฐสวัสดิการและความเป็นธรรมศึกษา
วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ช่วยสะท้อนเอาไว้

กลายเป็นว่า
คนทั่วไปที่ไม่ได้จนมาก
หรือไม่ได้เป็นราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ
จะไม่ได้รับสวัสดิการอะไรจากรัฐ

ถ้าเราพูดถึง
“สวัสดิการถ้วนหน้า” ที่ประชาชนคนธรรมดาได้นั้น
มันจึงน้อยมากที่จับต้องได้

อย่างเช่น “สิทธิการเรียนฟรี” แต่มันก็มีปัญหาอยู่
เพราะก็ไม่ได้ฟรีจริง ที่พอจะเห็นเป็นรูปธรรมคือ
“หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” (บัตรทอง)
อันนี้สามารถลดค่าใช้จ่ายให้กับคนได้มากในเรื่องการเจ็บป่วย
กับอีกเรื่องคงจะเป็น “เบี้ยผู้สูงอายุ”

[ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ผอ.ศูนย์วิจัยเฉพาะทาง รัฐสวัสดิการฯ ]
“เรียกได้ว่า เป็นส่วนที่พัฒนามาแล้วสามารถจับต้องได้
แต่ก็ยังคงมีปัญหาอยู่ ฉะนั้นประเทศไทยเรายังพอมี
 สวัสดิการให้สำหรับ คนธรรมดาอยู่”

แล้วสวัสดิการสำหรับคนไทยที่มีอยู่ตอนนี้
มันตอบโจทย์หรือเพียงพอต่อการใช้ชีวิตในยุคสมัยนี้หรือเปล่า?

ผู้เชี่ยวชาญรายนี้บอกว่า ถ้าดูโดยรวมแล้ว มันไม่สอดคล้องกัน
เพราะว่า “ค่าใช้จ่ายพื้นฐานในชีวิตของคน”
ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าเล่าเรียนของลูกหรือของตัวเอง
 เงินที่ต้องใช้เลี้ยงดูพ่อแม่ แม้กระทั่งกินอยู่ในแต่ละวัน
จะพบว่า สวัสดิการที่เราได้รับ
มันไม่สามารถไปลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้
ซึ่งมันสูงขึ้นทุกปีอีกด้วย

“เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าสังคมไทยไม่มีการปรับเปลี่ยน
เรื่องสวัสดิการให้ก้าวหน้ามากกว่านี้
ผลกระทบจะไม่ใช่แค่ เรื่องความยากจน ความเหลื่อมล้ำ
แต่มันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ
ที่เราจะไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ด้วย”

คุ้มค่า คุ้มภาษี?

เมื่อมีคนเรียกร้องให้มี รัฐทำสวัสดิการต่างๆ ให้ดีขึ้น
ก็มักจะได้ยินตอบที่ว่า

“บ้านเรายังมีรายได้ต่ำ ทำแบบชาติพัฒนาแล้วไม่ได้หรอก เงินไม่พอ”

ในทางกลับกันในฐานะคนที่ต้องเสียภาษีร้อยแปดพันอย่าง
ก็ชวนให้ตั้งคำถามว่า ทำไมคนไทยถึงจะมีรัฐสวัสดิการดีๆ ไม่ได้?


ทีมข่าวพบข้อมูลของ “บริษัท KPMG”
ผู้ตรวจสอบบัญชีรายใหญ่ของโลกแจกแจง
“อัตราภาษีเงินได้” ของประเทศไทยและต่างประเทศเอาไว้ดังนี้

ไทยเสียภาษีเงินได้สูงสุด 35%,
นิวซีแลนด์เสียภาษีเงินได้สูงสุด 33%,
สิงคโปร์เสียภาษีเงินได้สูงสุด 22%


นี่เป็นเพียงแค่ “ภาษีทางตรง”
ที่รัฐจัดเก็บจากรายได้และทรัพย์สินต่างๆ
จากบุคคลและนิติบุคคลเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้ว
ภาษีก้อนใหญ่ของประเทศ คือ “ภาษีทางอ้อม”
ที่เรียกเก็บจากผู้บริโภค
เมื่อมีการซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศไทย
ที่เราคุ้นหูก็ คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

มาดูตัวอย่าง สวัสดิการจากสิงค์โปร์
เรื่องเกี่ยวกับเด็กกัน
รัฐจะจ่ายเงินช่วยเหลือการตั้งครรภ์และเลี้ยงดูลูก
ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 9-12 ไม่เกิน 233,369 บาท
สำหรับลูกคนที่ 1-2 และสำหรับลูกคนที่ 3-4
จะได้รับเงินช่วยเหลือไม่เกิน 700,108 บาท

ส่วนของไทยเราก็มี “สวัสดิการเลี้ยงดูบุตร” คือ
รัฐช่วยคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท
โดยจะได้เงินอุดหนุนที่ 600 บาท/เดือน
ส่วนใครที่เป็น
ผู้ประกันตน ม.33 จะได้ 800 บาท/เดือน
จนลูกอายุ 6 ปี

[ สัดส่วนรายได้ จากการเก็บภาษี ]
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเฉพาะทาง
รัฐสวัสดิการฯ ได้แสดงความคิดเห็นว่า
ในประเทศเรามีงบประมาณเพียงพอในการทำสวัสดิการ
หลายคนบอกว่า เศรษฐกิจต้องใหญ่ก่อน
ต้องเก็บภาษีให้ได้มากมายมหาศาล เพื่อทำรัฐสวัสดิการ

ทั้งที่จริงๆ แล้วคนไทยก็เสียภาษีเยอะ
เมื่อเทียบกับรายได้ ภาษีมูลค่าเพิ่มก็ดี
ภาษีสรรพสามิต เราเสียภาษีทั้งทางตรง
และทางอ้อมกันเยอะมาก

“สวัสดิการที่เรากำลังพูดถึง คือเรื่องพื้นฐาน
เงินบำนาญ การเลี้ยงดูเด็ก การศึกษาที่ครอบคลุม
มันไม่ได้ใช้เงินเยอะ”

ถ้าเราดูประเทศที่ เสียภาษีและมีขนาดเศรษฐกิจใกล้ๆ เรา อย่าง
มาเลเซียหรือไต้หวัน ระบบสวัสดิการและค่าแรง
ความเท่าเทียบทางเศรษฐกิจ ของเขาดีกว่าเรามาก
ไม่ต้องพูดในยุโรปที่เขาพัฒนากันมาอย่างต่อเนื่อง

“ในมาเลเซีย เรื่องเงินระหว่างการทำงาน การชดเชยรายได้
ไปถึงเงินบำนาญ เขาดีกว่าเรา
ส่วนไต้หวัน ค่าเดินของเขาถูกกว่าเรา 30-40%
ระบบขนส่งสาธารณะดีมาก
และค่าครองชีพก็ใกล้เคียงกับบ้านเรา
แต่ค่าแรงขั้นต่ำเขาอยู่ 30,000 กว่าบาท”

ฟังดูดี แต่ไม่มีเงินทำ?

“เงินทั้งแต่บาทแรกถึงบาทสุดท้าย
อันดับ 1
ต้องมาทำ สวัสดิการให้ประชาชนก่อน”


นี่คือนิยามของคำว่า “รัฐสวัสดิการ” ที่ควรจะเป็นที่สุด
ในความเห็นของ ดร.ษัษฐรัมย์ กูรูผู้ช่วยวิเคราะห์รายเดิม
ซ้ำยังกล่าวต่ออีกว่า ไม่ใช่เรื่องอื่นไม่สำคัญ
แต่ต้องเติมเรื่องสวัสดิการของคนให้เต็มก่อน
เอามาเป็นค่าดูแลเด็ก คนสูงอายุ ค่ารักษาพยาบาล

“หลายประเทศสิ่งที่เขาทำอันดับแรกคือ
การยกระดับผู้คน ถ้าคนได้เรียนมหาวิทยาลัยฟรี
ขนส่งสาธารณะดี พ่อแม่ไม่ต้องเป็นหนี้นอกระบบ
คนแก่มีบำนาญ คนรุ่นใหม่เติบโต
กลายเป็นนักธุรกิจเปิด SME ได้ทำงานที่ชอบ
เขาก็จะกลายเป็น ชนชั้นกลางที่เสียภาษีคืนกลับสู่รัฐเอง”

รัฐสวัสดิการฟังแล้วก็ดูดี แต่ที่ยังไม่เกิดในไทย
หลายคนบอกว่า ก็บ้านเราเงินไม่พอ ปัญหาของ
รัฐสวัสดิการคือ เราไม่มีเงินที่จะทำจริงๆ เหรอ?

“เรามีเงิน และขนาดของเศรษฐกิจของบ้านก็ใหญ่พอที่จะเริ่มต้นทำเรื่องพวกนี้”

อาจารย์ยังอธิบายต่อว่า เราไม่ได้พูดถึงเงินอะไรที่มากมายเลย
เช่น เงินเลี้ยงดูเด็ก 1,000-2,000 บาท/เดือน
ให้แม่ไม่ต้องไปกู้หนี้มาจ่ายค่านมลูก
เราพูดถึงการยกระดับให้ มหาวิทยาลัยเรียนฟรี
ซึ่งก็ไม่ได้หรูหราอะไรเลย

แค่ให้คนทั่วไปมีสิทธิเท่า
ราชการที่สามารถเบิกค่าเรียนให้ลูกได้
ปีละ 25,000 บาท ซึ่งใช้งบ 4 หมื่นล้านบาท
“คิดเป็นแค่ 1 % ของงบรายจ่ายประจำปี”


งบประมาณประจำปี เรามี 3.2 ล้านล้านบาท
และเขียนเป็นงบในปี 66 ว่าด้วยเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ
ใช้งบ 7 แสนล้านบาท
แต่เงินถูกส่งให้ราชการเป็นคนจัดการ
ไม่ได้ส่งตรงให้ประชาชน

“เคยคิดว่า งบประมาณคือปัญหา แต่พอศึกษาจริงๆ ไม่ใช่เลย
หลายครั้งในการพิจารณางบ สมมติว่า
คุณจะขึ้นเงินสัก 1 บาทให้กับค่าอาหารเด็ก
ต้องเขียนเอกสารเป็นร้อยเป็นพันหน้า
แต่บางกระทรวงของบพันล้าน เขียนแจงแค่ 4 หน้า”

ปัญหาไม่ได้มาจากงบประมาณหรือเทคนิคทางเศรษฐศาสตร์เลย
มองว่าปัญหามันอยู่ที่

“ความคิด” และ “การลำดับความสำคัญของประเทศ”

คือเรายังมีคนที่ไม่เชื่อว่าคนเท่ากัน
มีคนบางกลุ่มคิดว่าคนเหล่าไม่ควรได้
มันเป็นสวัสดิการที่มากเกินไปสำหรับคนจน

“มันเป็น สิทธิพื้นฐานที่ทุกคนจะมีชีวิตที่ดี
รัฐสวัสดิการไม่ได้ทำให้คนรวย
แต่มันทำให้คนได้เริ่มต้นเท่ากัน
มีทางเลือกเท่ากัน และยังทำอาชญากรรมและความรุนแรงในสังคมลดลง
ซึ่งพิสูจน์แล้วในประเทศรัฐสวัสดิการ
และที่สำคัญเศรษฐกิจก็จะเติบโตและหลากหลายขึ้น”

โค๊ด:
https://mgronline.com/live/detail/9660000042458