พิมพ์หน้านี้ - คนไทยกลุ่มไหน?ที่อดดูฟุตบอลโลกฟรี แม้มีเงิน กสทช. 600 ล้านลิขสิทธิ์ยิงสด

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่14"

นานาสาระ => กีฬา => ข้อความที่เริ่มโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ พฤศจิกายน 22, 2022, 08:01:25 am



หัวข้อ: คนไทยกลุ่มไหน?ที่อดดูฟุตบอลโลกฟรี แม้มีเงิน กสทช. 600 ล้านลิขสิทธิ์ยิงสด
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ พฤศจิกายน 22, 2022, 08:01:25 am
www.pohchae.com/2022/11/22/true-football
คนไทยกลุ่มไหน?ที่อดดูฟุตบอลโลกฟรี แม้มีเงิน กสทช. 600 ล้านลิขสิทธิ์ยิงสด
#คนไทย #อดดูฟุตบอลโลกฟรี #กสทช   #ลิขสิทธิ์ยิงสด
-----------------------
(https://www.pohchae.com/wp-content/uploads/2022/11/%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%9F%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%9F%E0%B8%A3%E0%B8%B5.jpg)

การแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้ายที่กาตาร์ เปิดฉากนัดแรกไปแล้วเมื่อคืนวันที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา แม้ผู้ชมคนไทยจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดจากเงินกองทุนของ กสทช. 600 ล้านบาท ร่วมกับภาคเอกชน แต่กลุ่มผู้ชมบางส่วนจะไม่มีสิทธิรับชม เพราะเงื่อนไขที่ “กลุ่มทรู” ผู้ได้สิทธิ์ถ่ายทอดสดกว่าครึ่งของแมตช์ฟุตบอลโลก อ้างถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา..

ลูกค้ากล่องไอพีทีวี ระบบอินเทอร์เน็ต ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ และระบบโอทีที (OTT) อื่น จะดูถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกไม่ได้ ตามหนังสือที่ทาง “กลุ่มทรู” โดยนายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รอง ผอ. ด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ออกหนังสือ เรื่อง การแจ้งสิทธิการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย  เมื่อ 20 พ.ย.

เงินค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกที่ภาคเอกชนร่วมจ่าย 700 ล้านบาท มีบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จ่ายมากที่สุดจำนวน 300 ล้านบาท ส่วนอื่น ๆ ได้แก่ เครือบริษัทกลุ่มไทยเบฟ กลุ่มบริษัทน้ำมันและพลังงาน เช่น ปตท. บางจาก โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ รายละ 50-100 ล้านบาท

ทั้งนี้ ทรูได้สิทธิ ถ่ายทอดสดจำนวน 32 นัดจากทั้งหมด 64 นัด โดยได้สิทธิ์เลือกแมตช์ที่จะถ่ายทอดสดก่อน ซึ่งทำให้วันนี้ (21 พ.ย.) สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ยื่นหนังสือต่อกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อให้ตรวจสอบและวินิจฉัยการจัดสรรการถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022 ว่า “มีความถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่”

สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ระบุว่าการจัดสรรแมตช์ในการถ่ายทอดสดควรเป็นไปตามมติในการให้เงินสนับสนุนของ กสทช. ทั้ง 64 แมตช์ โดยแบ่งสิทธิประโยชน์ตามสัดส่วนของการสนับสนุน ซึ่งคิดเป็น 40% ของงบประมาณการซื้อลิขสิทธิ์ 1,400 ล้านบาท ไม่ใช่เพียง 32 แมตช์ ที่ได้รับหลังจากที่กลุ่มทรู ผู้สนับสนุนหลัก ซึ่งมีธุรกิจเป็นช่องทีวีดิจิทัลด้วย ได้เลือกแมตช์สำคัญไปแล้ว “ซึ่งสะท้อนถึงความไม่ทั่วถึงและไม่เท่าเทียมอย่างมาก”
กลุ่มทรู จ่าย 300 ล้าน ได้ยิงสดครึ่งหนึ่ง-สิทธิ์เลือกแมตช์ก่อนทีวีดิจิทัลอีก 13 ช่อง

ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกที่ต้องจ่ายให้กับเอเยนต์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) เมื่อรวมภาษีแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 1,400 ล้านบาท กกท. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กสทช. เป็นเงินกองทุนวิจัย และพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) 600 ล้านบาท และเงินจากภาคเอกชนรวม 700 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้สนับสนุนหลัก 300 ล้านบาท

การแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย ที่กาตาร์ มีทั้งสิ้น  64 แมตช์ การจัดสรรสิทธิ์ยิงสด กลุ่มทรู ได้สิทธิ์ถ่ายทอดสดไปครึ่งหนึ่งหรือ 32 แมตช์ โดยทรู ได้เลือกคู่ถ่ายทอดสดในรอบรองชนะเลิศก่อนให้ช่องทีวีดิจิทัลที่เหลือจับสลากแบ่งสิทธิ์

อย่างไรก็ตาม  สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ได้แจ้งต่อ กสทช. วันนี้ เพื่อยืนยันว่าการที่สถานีโทรทัศน์ดิจิทัลช่องสมาชิก 13 ช่องที่เสนอรับสิทธิ์ร่วมถ่ายทอด ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของ กกท.แต่ได้จำยอมร่วมจับฉลากไปในวันที่ 19 พ.ย. ไป

ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล กล่าวว่า ได้ “จำยอม” เพราะ คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ชมฟุตบอลโลก ที่จะมีการถ่ายทอดสดคู่แรก ในวันอาทิตย์ที่ 20 พ.ย. เวลา 23.00 น. ให้สามารถดำเนินไปได้ก่อน และได้แจ้งต่อที่ประชุมของ กกท. อย่างชัดเจนแล้ว การจับฉลากครั้งนี้สมาคมฯ ไม่ถือเป็นการยอมรับในหลักการและวิธีการ

สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) กล่าวด้วยว่า  การที่กลุ่มทรู สนับสนุน 300 ล้านบาท ได้รับสิทธิประโยชน์ครอบคลุมสิทธิ์การถ่ายทอดสดทุกช่องทาง ทุกแพลตฟอร์ม แบบ “exclusive” ได้สิทธิ์เลือกคู่แข่งขันจำนวน 32 แมตช์ และได้นาทีโฆษณาจากช่องทีวีดิจิทัลที่ร่วมถ่ายทอดจาก กกท. แต่เงินสนับสนุนจาก กสทช. 600 ล้านบาท ด้วยมติต้องจัดสรรสิทธิ์การถ่ายทอดสดให้แก่ช่องทีวีดิจิทัล ซึ่งเป็นแหล่งที่มารายได้ของกองทุน อีกทั้งยังได้สิทธิ์ในแมตช์ที่เหลือจากกลุ่มทรูเลือกไปแล้ว เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนรายเดียว

“ถือเป็นสัดส่วนที่ไม่เป็นธรรม และผิดต่อหลักการ ทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และเอื้อประโยชน์กับเอกชนรายใดรายหนึ่งอย่างชัดเจน” สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ระบุ..
ทรูแจ้งลูกค้ากล่องไอพีทีวี มือถือ โอทีทีอื่น ดูสดบอลโลกไม่ได้

กลุ่มทรู ได้สิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกผ่านทั้งทางช่องทรูวิชั่นส์ และทีวีดิจิทัล “ทรูโฟร์ยู” ซึ่งเป็นระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน แต่สำหรับการรับชมตามระบบทีวีดิจิทัล กลุ่มผู้ชมที่ใช้กล่องทีวีอินเทอร์เน็ตของผู้ให้บริการรายอื่นที่ไม่ใช่ทรู เช่น 3BB, TOT, IPTV, กล่องเอไอเอส เพลย์บ็อกซ์ รวมถึงกล่องรับสัญญาณดาวเทียม เช่น GMM Z, PSI, MVTV, DTV เป็นต้น ไม่สามารถรับชมได้

มติชน รายงานรายละเอียดของหนังสือชี้แจงจากกลุ่มทรู ดังกล่าว ซึ่งบีบีซีไทย คาดว่า เป็นการแจ้งต่อผู้ให้บริการรายอื่น

หนังสือชี้แจงจากกลุ่มทรู ระบุว่า กกท. ได้ตกลงมอบสิทธิและประโยชน์ต่าง ๆ ให้แก่กลุ่มทรู ซึ่งรวมถึงการให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ผ่านระบบเคเบิล ระบบดาวเทียม  ระบบไอพีทีวี  ระบบอินเทอร์เน็ต ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ และระบบโอทีที และยังให้สิทธิแบบไม่จำกัดแต่เพียงผู้เดียวผ่านช่องทางโทรทัศน์ ภาคพื้นดิน

หนังสือดังกล่าว บอกด้วยว่า เป็นการแจ้งให้ทราบถึงสิทธิการถ่ายทอดสดของทรู และขอให้ดำเนินการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก “โดยไม่ละเมิดสิทธิของกลุ่มทรูเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการถ่ายทอดสดการแข่งขันบนระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน” หรือระบบทีวีดิจิทัลที่ปัจจุบันมีอยู่ 19 ช่อง..
สิทธิการรับชม เมื่อแมตช์ฟุตบอลโลกครึ่งหนึ่ง ยิงสดผ่านช่อง SD

อีกประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกต  คือ  ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดจำนวน 32 แมตช์ที่ถ่ายทอดสดผ่ายช่องทรูโฟร์ยู 24 เป็นที่คุณภาพความคมชัดเป็นระดับ SD (Standard Definition) ในขณะที่ช่องทีวีดิจิทัลหลายช่องเป็นความคมชัดสูงหรือ HD (High Definition)

นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เปิดประเด็นนี้ผ่านเพจเฟซบุ๊กของเขา โดยบอกว่า “ซื้อแพงขนาดนี้ ก็ควรได้ดูคุณภาพดี ๆ หรือว่าไงครับ”

“การที่ทรูช่อง 24 (ทรูโฟร์ยู 24) ได้สิทธิ์ถ่ายทอดสด 32 คู่ เป็นช่อง SD (Standard Definition) ซึ่งการได้สิทธิ์ถ่ายทอดสดแบบ Exclusive ช่องเดียว ก็เท่ากับคนทั่วไปจะได้ดูถ่ายทอดในคุณภาพความคมชัดระดับ SD เท่านั้น เช่นเดียวกับคู่ที่ช่อง SD อื่นๆ ได้ถ่ายทอดช่องละ 2 นัด”

นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล และที่ปรึกษา บริษัท เนชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โพสต์เฟซบุ๊กด้วยว่า ระบบการจับสลาก 32 คู่ ที่มีการจับแบ่งเป็นรอบ ๆ ทำให้ช่อง HD ได้แก่ ช่อง7, PPTV, 9MCOT ที่ได้สิทธิ์ถ่ายทอดสดช่องละ​ 1 คู่เท่านั้น​ ในขณะที่มีบางช่องได้​ 2-3 คู่

“รวม ๆ กัน (ช่อง HD) ไม่น่าเกิน​ 20​ คู่ จาก 64 คู่​ ทั้งที่ถ้าใช้เกณฑ์​ 64​ คู่กับช่องแจ้งความจำนง แบบ HD 10 ช่อง… ช่องแบบ HD น่าจะได้ถ่ายช่องละ 3-4 คู่​ รวม ๆ แล้วจะเกินครึ่ง” นายอดิศักดิ์ กล่าว.

ติดตามคลิปภาพและเนื้อหาทั้งหมดได้ที่นี่ >  https://www.pohchae.com/2022/11/22/true-football/