พิมพ์หน้านี้ - ประเพณีฟ้อนผีมด-ผีเม็ง ของชาวล้านนา

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่14"

นานาสาระ => งาน-เทศกาล => ข้อความที่เริ่มโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 09, 2022, 09:44:13 am



หัวข้อ: ประเพณีฟ้อนผีมด-ผีเม็ง ของชาวล้านนา
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 09, 2022, 09:44:13 am
https://www.pohchae.com/2022/04/09/pee-mod-pee-meng
ประเพณีฟ้อนผีมด-ผีเม็ง ของชาวล้านนา
#ประเพณีฟ้อนผีมด  #ผีเม็ง  #ชาวล้านนา
----------------
(https://www.pohchae.com/wp-content/uploads/2022/04/%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99.jpg)

ประเพณีฟ้อนผีมด-ผีเม็ง เป็นการฟ้อนรำเพื่อสังเวยผีบรรพบุรุษ ซึ่งชาวล้านนานับถือกัน เป็นพระเพณีเก่าแก่ที่สันนิษฐานกันว่ารับมาจากชาวมอญ เพราะคำว่า “เม็ง” ภาษาล้านนาหมายถึงชาวมอญ

การแต่งกายของม้าขี่ (ร่างทรง) ที่คล้ายกับลักษณะการแต่งกายของชาวมอญ (เม็ง) (ภาพม้าขี่ชาวจังหวัดเชียงราย) ในวันงานพิธีกรรมจะเริ่มแต่เช้า โดยเก๊าผีทำพิธีสักการบูชาผีบรรพบุรุษซึ่งอยู่บนแท่นบูชา ณ หอผีประจำบ้านก่อน มีการอธิษฐานขอให้ผีบรรพบุรุษคุ้มครองให้การจัดงานราบรื่น ให้คนในตระกูลอยู่เย็นเป็นสุข ประกอบอาชีพเจริญก้าวหน้า

จากนั้นจะกล่าวเชิญผีไปยังผามที่เตรียมไว้เพื่อเข้าทรง การเข้าทรงของผีมดไม่ยุ่งยากเพราะพออธิษฐานเสร็จผีก็จะเข้า ส่วนผีเม็งนั้นต้องโหนผ้าขาวที่อยู่กลางผามแล้วหมุนตัวไปรอบๆผีจึงจะเข้า ผีจะเข้าเก๊าผีก่อนเป็นคนแรก ต่อมาก็จะเข้าคนอื่นๆในตระกูล เวลาผีเข้าร่างทรงคนไหนแล้ว จะมีคนนำเครื่องบวงสรวงซึ่งมีขันข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อย และมะพร้าวอ่อนมาให้ ร่างทรงจะรับไว้..

จากนั้นร่างทรงจะลุกไปเลือกเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวที่ชอบและสวมทับ จะมีการซักถามกันเล็กน้อยโดยมีล่ามซึ่งเป็นคนที่ชอบพูดคุยซักถาม ถ้าเป็นคำตอบที่ถูกผีก็จะผงกหัว คำถามที่ใช้เช่น เป็นใคร มาจากไหน มาด้วยวิธีใด เป็นต้น จากนั้นจะเป็นการฟ้อนสังเวย มีวงปี่พาทย์บรรเลง ปี่พาทย์นี้เป็นปี่พาทย์แบบพื้นเมืองล้านนาซึ่งมีจังหวะคึกคักเร้าใจ มีการร้อง “ฮิ้วๆ” ประกอบการฟ้อนรำไปด้วยอย่างสนุกสนาน

ร่างทรงส่วนมากจะเป็นผู้หญิง มีตั้งแต่คนแก่อายุหลายสิบปีไปจนเด็กสาวรุ่นอายุสิบกว่า ถ้าเป็นผู้ชายฟ้อนจะฟ้อนดาบ พิธีกรรมจะเริ่มตั้งแต่เช้าไปจนเย็น มีการฟ้อนสังเวยไปเรื่อยๆ พอเที่ยงวันจึงหยุดพักรับประทานอาหาร จะมีการถวายอาหารให้ผีกินก่อนจากนั้นคนจึงกินต่อ เจ้าภาพจะถวายอาหารคาวหวานต่างๆที่เตรียมไว้โดยจัดใส่ขันโตกเป็นชุดๆ จากนั้นจะมอบดาบให้ร่างทรงคนละอันโดยจุดเทียนไขผูกปลายดาบ

ร่างทรงจะรับดาบไปเวียนรอบๆอาหารทุกจานจนครบเป็นอันเสร็จพิธีถวายอาหารให้ผี ในการรับประทานอาหารผีมดจะรับประทานอาหารทุกชนิดทั้งคาวและหวาน

ส่วนผีเม็งจะเลือกรับประทานเฉพาะอาหารหวานและน้ำมะพร้าวเท่านั้น

หลังจากฟ้อนมาตลอดทั้งวันแล้วก็จะถึงเวลาส่งผี จังหวะดนตรีปี่พาทย์จะช้าลงจนหยุดบรรเลง ร่างทรงจะเดินไปที่หอผีและการขับจ๊อยซอเป็นกลอนสดเสียงโหยหวน มีขันดอกไม้ธูปเทียนพร้อมอาวุธ เช่น ดาบ นำมาฟ้อนเป็นจังหวะเนิบนาบอ่อนช้อย ก่อนผีจะออกจะรับขันข้าวตอกดอกไม้ เมื่อเสร็จแล้วจะล้มฟุบลงกับพื้นถือว่าผีออกแล้ว ร่างทรงก็เข้าสู่สภาพปกติ หลังจากเสร็จพิธีแล้วผู้คนในตระกูลก็จะช่วยกันรื้อผามทำความสะอาดสถานที่ และรับประทานอาหารเย็นร่วมกัน

ม้าขี่ที่ส่วนมากจะเป็นเพศหญิง หน้าที่ของผู้เข้าร่วมพิธีกรรมเนื่องจากเป็นงานที่จัดกันในวงศ์ตระกูล ลูกหลานแต่ละคนจะมีหน้าที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้

“ม้าขี่” หรือบางครั้งเรียกว่า “ที่นั่ง” หมายถึงผู้ทำหน้าที่เป็นร่างทรงนั่นเอง ส่วนมากจะเป็นเพศหญิง หน้าที่นี้จะเป็นหน้าที่ประจำ ถ้าจะเปลี่ยนต้องขออนุญาตจากผีเสียก่อน จะเปลี่ยนโดยพลการไม่ได้
“ควาญ” คือ ผู้มีหน้าที่ปรนนิบัติผี มีหน้าที่ช่วยกันแต่งองค์ทรงเครื่อง จัดหาน้ำดื่ม น้ำมะพร้าว สุราหรือเครื่องดื่ม หมาก เมี่ยง บุหรี่ ฯลฯ ตามแต่ผีจะเรียกหา เวลาผีจะไปงานฟ้อนที่ผามอื่นๆ ควาญก็จะติดสอยห้อยตามทำหน้าที่หิ้วข้าวของเครื่องใช้ตามไปด้วย
“กำลัง” หรือ “กำลังผาม” หมายถึง พลังของวงศ์ตระกูลที่มีอยู่ในรูปของ “กำลังกาย” หรือแรงงานจากคนและ “กำลังทรัพย์” ที่สามารถระดมได้จากลูกหลานในตระกูลนั่นเอง คำว่า กำลัง มักใช้กับบรรดาลูกหลานเพศชาย ซึ่งทำหน้าที่ต่างๆ เช่น ปลูกสร้างผาม แบกขนอุปกรณ์ ประกอบอาหาร ยกสำรับ ตักน้ำ ผ่าฟืน ฯลฯ

ความหมายในอีกแง่หนึ่ง “ผีมด” หมายถึงผีระดับชาวบ้าน สืบเชื้อสายจากชาวไทใหญ่

ส่วนผีเม็ง หมายถึงผีระดับแม่ทัพนายกอง สืบเชื้อสายจากชาวมอญ

ลูกหลานจะทำที่สถิตย์ของผีบรรพบุรุษที่เรียกว่า “หอผี” ไว้ทางทิศหัวนอนของบ้านผู้เป็น”เก๊าผี” หมายถึงผู้หญิงที่เป็นใหญ่ที่สุดในวงศ์ตระกูล ด้วยเหตุนี้เมื่อถึงเวลาอันสมควร ก็จะต้องจัดพิธีเพื่อสังเวยผีบรรพบุรุษ อาจจะจัดเป็นรอบทุกๆ2ปีหรือ3ปีแล้วแต่จะกำหนด

ประเพณีการฟ้อนผีจะจัด 2 วัน วันแรกเรียกว่า “วันข่าว” หรือ “ป่าวข่าว” เป็นการบอกให้ญาติพี่น้องในสายตระกูลมาร่วมชุมนุมกันที่บ้านงานเพื่อเตรียมงานก่อนจะถึงวันงาน

ส่วนอีกวันเป็นวันจริงที่มีการเชิญผีเข้าทรงและมีพิธีกรรมการฟ้อน โดยหอผีแต่ละหอหรือตระกูลผีแต่ละตระกูลจะจัดงานฟ้อนผีไม่ให้ซ้ำกับวันงานของตระกูลอื่น เพราะจะมีการเชิญคนทรงและผีจากตระกูลอื่นมาร่วมงานด้วย

ข้อพึงปฏิบัติ-ข้อห้ามในพิธีกรรม

●ในการสร้างผามต้องระมัดระวังในการผูกโครงหลังคา เรียงหัวไม้ท้ายไม้ให้ไปในทางเดียวกัน

●การประกอบอาหารสำหรับเลี้ยงผี ห้ามหยิบเครื่องปรุงต่าง ๆ มากิน แม้แต่การปรุงรสก็ห้ามชิมต้องแสดงถึงความเป็นผู้มีสัมมาคารวะต่อร่างทรงทั้งหลาย

●ม้าขี่ ที่เป็นร่างทรงของผีอาจเป็นภรรยา พี่ น้อง ลูกหลาน หรือเพื่อนก็ตาม ห้ามทำเล่นหัว ล้อเล่น หรือแสดงกิริยาไม่เป็นการเคารพบุคคลภายนอกเมื่อต้องการเข้าไปชม

●ควรขออนุญาตเจ้าของงานหรือญาติพี่น้องเสียก่อน

●อุปกรณ์เครื่องใช้ในการสร้างผามเมื่อนำมาปลูกสร้างแล้วถือเป็นของผี หากต้องการนำมาใช้เพื่อสร้างผามอีกหรือต้องการเอาไปทำประโยชน์อื่นใด ต้องขออนุญาตจากผีเสียก่อน

ติดตามคลิปภาพและเนื้อหาทั้งหมดได้ที่นี่ > https://www.pohchae.com/2022/04/09/pee-mod-pee-meng/