โดย ชาติชาย ศิริพัฒน์ 6 ก.พ. 2558
เข้าสู่ฤดูร้อน แล้งเต็มตัว…ปัญหาหมอกควันจากการเผาป่า ในพื้นที่ภาคเหนือมีให้เห็นเป็นประจำทุกปี
แม้จะมีข้ออ้างเกิดจากชาวบ้านเผาเพื่อหาของป่ามากิน แต่ยุคสมัยนี้ สาเหตุนี้ไม่น่าจะก่อปัญหามากเท่าเผาไร่เตรียมพื้นที่รอการเพาะปลูกฤดูใหม่ โดยเฉพาะการเผาไร่ข้าวโพด เผาวัสดุเหลือใช้ที่ผ่านการสีแยกเปลือกออกจากเมล็ดข้าวโพด…รถสีข้าวโพดไปจอดรับจ้างตรงไหน ตรงนั้นพะเนินเทินทึกไปด้วยเปลือกข้าวโพด
“
มีมากเสียจนชาวบ้านไม่รู้จะกำจัดยังไง สุดท้ายก็ต้องเผากลายเป็นมลพิษ เฉพาะที่ จ.พะเยา มีปัญหาทุกปี เพราะมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากถึง 3 แสนไร่ ติดอันดับ 1 ใน 20 จังหวัดแรกของประเทศ มหาวิทยาลัยพะเยาร่วมกับสถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์พะเยา กรมปศุสัตว์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช.ภาคเหนือ ทำการศึกษาวิจัยการนำเปลือกข้าวโพดที่มีมากมายในพื้นที่มาใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงโคเนื้อทดแทนฟางอัดก้อนที่มีราคาแพงและหาซื้อได้ยากในฤดูแล้ง”
เปลือกข้าวโพดหมักดร.ขรรค์ชัย ดั้นเมฆ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา เผยถึงที่มาของการนำเปลือกข้าวโพดมาใช้ประโยชน์แบบ 3 IN 1
1.ชาวบ้านได้อาหารเลี้ยงโคเนื้อด้วยต้นทุนต่ำ ในฤดูฟางอัดก้อนแพง
2.ได้ลดปัญหาหมอกควันจากการเผาเปลือกข้าวโพด
3.ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายเปลือกข้าวโพดที่ต้องเผาทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์
ลดการเผาป่า“ในฤดูแล้งอาหารโคในธรรมชาติมีน้อย เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาฟางอัดก้อนเป็นหลัก แต่ราคาจะค่อนข้างสูง ฟ่อนละ 15 กก. ต้องซื้อกันในราคา 30 บาท ในขณะที่เปลือกข้าวโพดอัดก้อนนั้น ราคาแค่ 10 บาทเท่านั้นเอง ราคาต่างกันถึง 3 เท่า แถมยังให้โปรตีนพอๆกับฟางแห้ง แต่เกษตรกรก็ยังไม่นิยมนำไปให้วัวกิน สาเหตุคงมาจากความเคยชินที่ให้แต่ฟางเป็นแบบเดิมๆ เพื่อหาวิธีปรับปรุงเปลือกข้าวโพดให้มีประโยชน์สูงขึ้น เราจึงนำมาทดลองหมักแบบไร้อากาศ ปรากฏว่าเปลือกข้าวโพดหมักมีโปรตีนเพิ่มสูงกว่า 3 เท่าตัว จาก 1.8% เพิ่มขึ้นมาเป็น 5.8% โดยที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นมาเพียง กก.ละ 75 สตางค์เท่านั้นเอง เมื่อรวมกับต้นทุนซื้อเปลือกข้าวโพด มีค่าใช้จ่ายแค่เพียง กก.ละ 1.40 บาท แต่ในอาหารคุณภาพดีกว่าฟางในราคา กก.ละ 2 บาท”
อาหารโค-แพะส่วนผสมขั้นตอนการหมัก ดร.ขรรค์ชัย บอกว่า
ใช้เปลือกข้าวโพด 100 กก. รำ 1 กก. กากน้ำตาล 1 กก. ลูกแป้ง 0.5 กก. ใส่ในถังหมัก เติมน้ำพอหมาดๆ (ส่วนผสมที่ใส่ลงไปบีบปั้นได้แบบพอเป็นก้อน) จากนั้นปิดฝาถังหมักให้สนิท ทิ้งไว้ 15 วัน เพียงแค่นี้…สามารถเปิดฝาถังออกมาตักไปให้วัว-แพะกินได้แล้ว.
จาก
http://www.108kaset.com/goat/index.php/topic,82.0.html