ปลูกชมพู่
LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่14"
พฤศจิกายน 28, 2024, 06:26:52 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ปลูกชมพู่  (อ่าน 1514 ครั้ง)
คนเกษตร
วีไอพี
member
***

คะแนน41
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 45


« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 19, 2016, 12:18:09 pm »




ชมพู่

  
    การปลูกชมพู่
ชมพู่ เป็นไม้ผลเขตร้อนซึ่งมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย เป็นพืชจัดอยู่ตระกูลเดียวกับฝรั่ง หว้า ยูคาลิปตัส เป็นพืชที่ชอบน้ำ จัดเป็นไม้ผลที่มีลำต้นขนาดใหญ่ ดอกมีกลิ่นหอมคล้ายกุหลาบ ผลมีรสชาติหวานกรอบ คนไทยจึงนิยมปลูกเป็นไม้มงคลประจำบ้าน
ชมพู่เป็นผล ไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ ผลนอกจากจะใช้รับประทานสดแล้ว ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้เช่น เยลลี่ แยม และแช่อิ่ม เป็นต้น
 
 
 
 
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
ชมพู่เป็นไม้ผล ที่สามารถเจริญเติบโตได้ในทุกสภาพพื้นที่ แต่จะเจริญเติบโตได้ดีที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ ดินที่เหมาะสมคือดินร่วนปนทราย ดินร่วนเหนียว ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคตะวันตก สภาพความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ระหว่าง 6.5 – 7
 
 
 
 
พันธุ์
1. พันธุ์ดั้งเดิม
1.1 ชมพู่มะเหมี่ยว เป็นชมพู่ที่ทีขนาดลำต้นใหญ่ ใบกว้างหนาเป็นมัน ดอกสีแดง ก้านดอกสั้น ออกดอกเป็นกลุ่มตามกิ่ง ผลแก่จะมีสีแดงเข้ม มีกลิ่นหอมเหมือนดอกกุหลาบ เนื้อนุ่มฉ่ำน้ำ เมล็ดโต รสชาติหวานอมเปรี้ยว
1.2 ชมพู่สาแหรก เป็นชมพู่ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับชมพู่มะเหมี่ยว แตกต่างกันที่ ชมพู่สาแหรกมีสีแดงอมชมพูมีริ้วจากขั้วมาที่ก้นผล เนื้อผลสีขาวนุ่ม รสชาติหอมหวาน ลำต้นและใบคล้ายชมพู่มะเหมี่ยว กิ่งแขนงตั้งฉากกับลำต้น
1.3 ชมพู่น้ำดอกไม้ เป็นชมพู่ที่ทรงพุ่มขนาดปานกลาง ใบเล็กเรียวยาว สีเขียวเข้มเป็นมัน ดอกสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอม ผลเมื่อแก่มีสีขาวอมเหลืองหรือมีสีชมพูปนบ้าง รสชาติหวานเนื้อบางกรอบ มีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นดอกกุหลาบ เมล็ดโต ปัจจุบันมีปลูกเป็นการค้าอยู่ไม่มาก
2. พันธุ์ทางการค้า
2.1 ชมพู่เพชรสายรุ้ง เป็นชมพู่มีทรงพุ่มขนาดปานกลาง ตัวใบบางทรงรี ดอกสีขาว ผลแก่จะมีสีเขียวมีริ้วสีชมพู ถ้าหากห่อผลจะทำให้ผลมีสีขาวริ้วอมชมพู ผลทรงระฆังมีเมล็ดอยู่ภายใน รสชาติหวานจัด เนื้อกรอบแข็ง เป็นพันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้าในแถบจังหวัดเพชรบุรี
2.2 ชมพู่พันธุ์ทูลเกล้า เป็นชมพู่ในกลุ่มเดียวกันกับชมพู่เพชร ทรงผลยาวรีให้ผลเร็ว ออกดอก ติดผลง่าย รสชาติไม่หวานจัด ปลูกมากแถบจังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร และราชบุรี
2.3 ชมพู่เพชรสามพราน ซึ่งมีลักษณะคล้ายชมพู่เพชร แต่ผลโตผิวมันสีเขียวอมชมพู เนื้อกรอบรสชาติหวาน เป็นพันธุ์ใหม่ ปัจจุบันมีปลูกเป็นการค้าโดยทั่วไปแถบจังหวัดนครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร
2.4 ชมพู่เพชรน้ำผึ้ง เป็นชมพู่สีแดง ที่นำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย ทรงผลยาว ก้นผลปิดมีช่องว่างสำหรับเมล็ดน้อย ไม่มีเมล็ด เนื้อกรอบฉ่ำน้ำ รสชาติหวานซึ่งความหวานประมาณ 10.4 องศาบริกซ์ สีผลเมื่อแก่แดงเข้มผิวเป็นมัน
2.5 พันธุ์ทับทิมจันทร์เป็นพันธุ์ที่นำมาจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นชมพู่ที่มีสีแดงเข้ม ทรงผลยาวคล้ายเพชรน้ำผึ้ง พันธุ์ทับทิมจันทร์ มีลักษณะดีกว่าพันธุ์เพชรน้ำผึ้งคือ ผลโต เนื้อแน่นกรอบกว่า และมีความหวานสูงถึง 14 องศาบริกซ์ ซึ่งสูงกว่าเพชรน้ำผึ้งมาก การออกผลทะวายทั้งปี
 
 
 
 
การขยายพันธุ์

1. การตอนกิ่ง เป็นวิธีที่นิยมใช้ขยายพันธุ์ชมพู่มาช้านาน และยังใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยการตอนนี้เริ่มจากการคัดเลือกกิ่งกระโดงหรือกิ่งที่แข็ง ช่วงอายุเพสลาดคือ กิ่งอ่อน กิ่งแก่ สีเขียวอมน้ำตาล และควั่นรอบกิ่ง 2 รอย หางเท่ากับเส้นรอบวงของกิ่ง และกรีดลอกเปลือกระหว่างควั่นออก ขูดเยื่อเจริญออกมาให้หมด หุ้มด้วยขุยมะพร้าวชุ่มน้ำในถุงที่ผ่ากลางถุงแล้ว มัดด้วยเชือกเป็น 2 เปลาะประมาณ 30 - 45 วัน ก็จะเริ่มออกราก เมื่อรากแก่เป็นสีน้ำตาลแล้วจึงตัดกิ่งไปชำต่อไป
2. การปักชำ เป็นวิธีที่นิยมกันเช่นเดียวกับฝรั่ง โดยตัดกิ่งอ่อนสีเขียวที่มีใบ 3 คู่ แล้วปลิดคู่ล้างออก แล้วจุ่มในฮอร์โมนเร่งราก IBA ชนิดเข้มข้นสำหรับเร่งราก ปักชำไว้ในถุงขี้เถ้าแกลบ ประมาณ 1 เดือน ก็จะออกราก แล้วย้ายไปชำต่อในภาชนะต่อไป ปัจจุบันมีผู้รับจ้างชำกิ่งละ 4 - 5 บาท
3. การต่อกิ่งแบบไซด์วีเนียร์ เป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่ใช้สำหรับการเปลี่ยนยอดพันธุ์ชมพู่จากพันธุ์หนึ่ง ไปอีกพันธุ์หนึ่งตามที่ต้องการ วิธีการนี้ต้นพันธุ์ที่จะต้องเปลี่ยนควรลอกเปลือกออกได้ง่าย มีขั้นตอนดังนี้
3.1 กรีดเปลือกต้นที่ต้องการจะเปลี่ยนพันธุ์ลงตามยาว 2 แนวขนานกัน แต่ละแนวห่างกันพอที่จะสอดกิ่งยอดพันธุ์ดีที่จะนำมาเปลี่ยนได้พอดี โดยลอกเปลือกออกจากบนลงล่างตัดเหลือเป็นบ่า
3.2 นำยอดพันธุ์ดีซึ่งมีตาที่พักตัว (แก่) ตัดเป็นแนวยาวเอียงเป็นรูปปากฉลาม และตัดอีกด้านหนึ่งเล็กน้อย โดยยอดพันธุ์ดีควรมีตาดหลืออยู่อย่างน้อย 2 ตา แล้วสอดยอดตาพันธุ์ดีลงในแผลต้นที่ต้องการจะเปลี่ยน
3.3 พันด้วยพลาสติกให้แน่นจากล่างขึ้นบนแบบมุงหลังคา โดยพลาสติกต้องหุ้มรอยแผลและยอดพันธุ์ที่สอดไว้แล้วทั้งหมดประมาณ 15 วัน จึงทำการตรวจสอบการติดของเนื้อเยื่อยอดตา พันธุ์ดีกับรอยแผล ถ้าติดยอดตาพันธุ์ดีจะมีสีเขียว ให้กรีดพลาสติกที่อยู่เหนือและข้างยอดตาพันธุ์ดีแล้วจึงตัดยอดต้นที่ต้องการ เปลี่ยนทิ้ง เพื่อให้ตาพันธุ์ดีพัฒนาเป็นกิ่งหรือลำต้นใหม่ต่อไป
 
 
 
 
การปลูก
1. การเตรียมแปลงปลูก
ใน การปลูกชมพู่สามารถปลูกได้ทั้งแบบยกร่องในที่ราบลุ่มภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ซึ่งการปลูกแบบยกร่องนี้ส่วนหลังร่องกว้างประมาณ 3 เมตร ร่องน้ำกว้าง 1 - 1.50 เมตร มีแนวชายร่องข้างละ 0.50 เซนติเมตร ซึ่งหลังยกร่องแล้วควรตากดินไว้ 1 เดือน แล้วจึงพลิกหน้าดินให้ดินล่างลงไปอยู่ด้านล่างและดินบนซึ่งถูกทับขณะขุด ร่องกลับมาอยู่ด้านบนตามเดิม ช่วงพลิกดินนี้เองชาวสวนสามารถทำการปรับสภาพดินโดยใส่ปูนขาวและใส่ปุ๋ยคอกลง ไปในดินได้เลย
สำหรับพื้นที่ดอนควรไถพรวนพร้อมทำการปรับสภาพดินและใส่ปุ๋ยคอกไปเลย
2. กำหนดระยะปลูก
2.1 แบบยกร่องนั้น ส่วนใหญ่ใช้ระยะห่างระหว่างต้น 4 เมตร
2.2 บนพื้นที่ดอนใช้ระยะ 4 * 4 เมตร หรือ 6 * 6 เมตร แล้วแต่สภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วย ถ้าดินอุดมสมบูรณ์ควรปลูกระยะ 6 * 6 เมตร
3. การเตรียมหลุมปลูก
โดย ทั่ว ๆ ไปหลุมปลูกจะใช้ขนาด 50 * 50 * 50 กว้าง * ยาว * ลึก โดยแยกดินหน้าไว้ข้างหนึ่งและดินล่างไว้อีกข้างหนึ่ง แล้วเอาปุ๋ยคอกประมาณ 50 กิโลกรัม ผสมกับหน้าดินอัตราส่วน 1 : 1 และปุ๋ยร็อคฟอสเฟต 500 กรัม กลบลงไปในหลุมจนพูน
4. การปลูก
นำต้นพันธุ์ชมพู่ที่คัดเลือกไว้แล้ว นำมาถอดภาชนะเพาะชำออกแล้ว ตรวจดูว่ามีรากขดหรือไม่แล้วขยายรากออก หันทิศทางของกิ่งให้เหมาะสม แล้วฝังลงในดินในหลุมที่เตรียมไว้ โดยให้ระดับสูงกว่าระดับดินเดิมเล็กน้อย แล้วนำดินล้างมาเติมบนปากหลุมจนพูน แล้วอัดดินให้แน่นปักไม้และผูกเชือกยึดลำต้น พร้อมปักทางมะพร้าวพรางแสงในทิศทางตะวันออกและตะวันตก เสร็จแล้วรดน้ำให้ชุ่มทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นชมพู่ที่ปลูกใหม่เหี่ยวเฉาได้ หลังจากชมพูตั้งตัวได้แล้วจึงค่อยนำทางมะพร้าวออก
 
 
 
 
การปฏิบัติดูแลรักษา
1. การให้น้ำ เนื่องจากชมพู่เป็นพืชชอบน้ำ ดังนั้นในการผลิตชมพู่จึงจำเป็นต้องมีการให้น้ำชมพู่อย่างสม่ำเสมอ วิธีการให้น้ำย่อมแตกต่างไปตามวิธีการปลูก และสภาพพื้นที่ซึ่งจำแนกออกเป็น 3 วิธี ใหญ่ ๆ ดังนี้
1.1 เรือพ่นน้ำ วิธีนี้เป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับการให้น้ำในร่องสวนในที่ราบลุ่มภาคกลาง ภาคตะวันตกและภาคตะวันออก วิธีนี้ต้องคำนึงถึงความแรงน้ำที่จะพ่นออกมา ถ้าแรงเกินไปจะทำให้หน้าดินแน่นและเกิดการชะล้างปุ๋ยไปจากหน้าดิน
1.2 สายยาง วิธีนี้เหมาะสำหรับการปลูกชมพู่ในที่ดอนและเป็นสวนขนาดเล็ก เป็นวิธีที่สะดวกแต่ต้องคอยเปลี่ยนตำแหน่ง และหลุมปลูกเป็นระยะ ๆ ไป ต้องคำนึงถึงแรงดันน้ำและปริมาณที่ให้ โดยต้องคำนึงถึงการชะล้างที่อาจจะเกิดที่บริเวณหน้าดินได้
1.3 แบบหัวพ่นฝอย แบบมินิสปริงเกอร์ (Mini springker) วิธีนีนิยมกันมากวิธีหนึ่ง เพราะประหยัดแรงงานและเวลา และยังเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง ลดการชะล้างของแรงน้ำที่มีต่อปุ๋ยในแปลง อีกทั้งสามารถควบคุมปริมาณน้ำได้ถูกต้อง นอกจากนี้วิธีนี้ยังสามารถให้ปุ๋ยผสมไปกับน้ำได้เลย แต่อย่างไรก็ตาม ในการใช้ระบบน้ำต้องเสียค่าติดตั้งมากกว่าวิธีอื่น ๆ
ในการผลิตชมพู่ เป็นการค้าเพื่อให้ได้ชมพู่มีคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาด เกษตรกรจำเป็นต้องมีการให้ปุ๋ยอย่างถูกต้อง และเหมาะสมกับความต้องการของต้นชมพู่ สามารถจำแนกเป็น 2 ประเภท
1. ปุ๋ยคอก ซึ่งนอกจากใส่เตรียมหลุมปลูกแล้ว เกษตรกรควรใส่ปุ๋ยคอกอีกประมาณ 5 - 10 กก. / ต้น ชนิดปุ๋ยคอกแล้วแต่จะสามารถจัดหามาได้ เช่น ปุ๋ยมูลไก่ มูลหมู และมูลวัว เป็นต้น แต่ที่สำคัญของการให้ปุ๋ยคอกนั้น ปุ๋ยคอกทุกชนิดต้องสลายตัวเรียบร้อยแล้ว
2. ปุ๋ยเคมี สำหรับการใส่ปุ๋ยเคมีนี้เกษตรกรควรพิจารณาตามระยะการเติบโต และอายุของต้นชมพู่และปริมาณผลผลิตที่ให้ในฤดูกาลที่ผ่านมาด้วย ก็จะช่วยให้สามารถคำนวณปริมาณได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น จึงแบ่งออกเป็น
2.1 สำหรับต้นชมพู่ที่ยังไม่ให้ผล ช่วงนี้ชมพู่ต้องการปุ๋ยเพื่อการเจริญเติบโตทางด้านลำต้น กิ่ง ใบ เป็นหลัก ปุ๋ยเคมีควรใช้สูตรเสมอ เช่น 15 - 15 - 15 หรือ 16 - 16 - 16 โดยให้ปริมาณครึ่งหนึ่งของอายุต้น ดังนั้นชมพู่ที่ปลูกปีแรกควรให้ปุ๋ยเคมีประมาณ 500 กรัม โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ในช่วงต้นฤดูฝน 1 ครั้ง และปลายฤดูฝนอีก 1 ครั้ง
2.2 ในต้นที่ให้ผลแล้วอายุ 2 ปี ขึ้นไป
ช่วง ก่อนหลังเก็บผล ต้องมีการบำรุงต้น กิ่ง ก้าน ใบ ควรใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15 - 15 - 15 หรือ 16 - 16 - 16 ในอัตราครึ่งหนึ่งของอายุต้นหรือประมาณ 500 กรัม / ต้น
ช่วงก่อนออกดอก เพื่อให้ชมพู่ออกดอกมากขึ้นนั้น ควรใส่ปุ๋ยที่มีตัวกลางสูง เช่น 12 - 24 - 12 หรือ 8 - 24 - 24 ในอัตราส่วน 200 - 300 กรัม / ต้น
ช่วงพัฒนาผล หลังจากชมพู่ติดผลแล้วนั้น ผลจะมีการพัฒนาในระยะแรก จะมีการขยายขนาดใหญ่ขึ้น เกษตรกรควรใส่ปุ๋ยสูตร 15 - 15 - 15 หรือ 16 - 16 - 16 ปริมาณ 200 - 300 กรัม / ต้น หลังผลใหญ่ขึ้นแล้วก่อนที่เก็บผล 1 เดือน เกษตรกรควรใส่ปุ๋ยตัวท้ายสูงเช่น สูตร 13 - 13 - 21 ปรือ 14 - 14 - 21 ปริมาณ 200 - 300 กรัม / ต้น
3. ปุ๋ยทางใบ เป็นปุ๋ยที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว ของการเจริญเติบโตของชมพู่ เช่น การใช้ไทโอยูเรีย เพื่อการเร่งให้ชมพู่แตกใบอ่อนพร้อมกัน หรือการพัฒนาผลชมพู่ให้มีคุณภาพดี ในพื้นที่บางแห่งที่มีน้ำไม่เพียงพอก็สามารถใช้ปุ๋ยทางใบสูตร 15 - 30 - 30 อัตรา 20 กรัม / น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 2 ครั้ง ควรห่างกันครั้งละ 7 วัน และไม่ควรงดการให้ปุ๋ยก่อนเก็บเกี่ยว 2 สัปดาห์
วิธีการใส่ปุ๋ย
1. ปุ๋ยคอก นอยมหว่านในบริเวณทรงพุ่มและนอกทรงพุ่มเล็กน้อย ซึ่งควรมีการพรวนดินห่างจากชายทรงพุ่มออกไปเล็กน้อย ประมาณ 30 เซนติเมตร
2. ปุ๋ยเคมี ขุดเป็นวงแหวนรอบชายทรงพุ่ม หรือเจาะเป็นหลุม ๆ ตามแนวทรงพุ่ม แล้วโรยปุ๋ยลงไปแล้วกลบดินเพื่อป้องกันการสูญเสียปุ๋ยไป โดยการระเหิดหรือถูกชะล้างโดยน้ำที่ให้หรือฝนตก
3. ปุ๋ยทางใบ ควรผสมปุ๋ยตามฉลากแนะนำ ควรผสมสารจับใบ และควรทำการฉีดพ่นในช่วงเช้าก่อนแดดจัด ไม่ควรใช้ปุ๋ยทางใบในอัตราที่เข้มข้นมากเกินไป เพราะจะทำให้ชมพู่ใบไหม้ได้
 
 
 
 
การพรวนดิน
การ พรวนดินนั้นจะทำให้ดินร่วน รากชมพู่สามารถแผ่ขยายไปหาอาหารได้กว้างขึ้นจากเดิม อีกทั้งช่วยให้เก็บปุ๋ยที่ใส่ลงไปในดิน ในการพรวนนั้นควรทำปีละ 1 - 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งควรพรวนห่างแนวชายทรงพุ่มเดิมออกไปอีกประมาณ 30 เซนติเมตร การพรวนแบบนี้ควรใช้จอบใบพรวนในระดับหน้าดินตื้น ๆ
 
 
 
 
การกำจัดวัชพืช
การกำจัดวัชพืชช่วยให้ชมพู่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ลดปริมาณโรคแมลงที่อาศัยอยู่กับวัชพืชได้ สามารถจำแนกออกเป็น 3 วิธี ดังนี้
1. วิธีกล โดยการถอน ดาย ถาง วัชพืชออกจากทรงพุ่ม และแปลงปลูกชมพู่ วิธีนี้ควรหมั่นทำตั้งแต่วัชพืชมีขนาดเล็กไปเรื่อย ๆ เหมาะสมกับการปลูกชมพู่แปลงเล็ก วิธีนี้นอกจากจะไม่ต้องลงทุนมากแล้ว ยังช่วยลดปัญหาสารพิษตกค้างได้อีกด้วย
2. วิธีทางเขตกรรม วิธีนี้เป็นวิธีใช้การปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการสะสมของวัชพืชในแปลงปลูก สามารถใช้ได้กับชมพู่ที่มีขนาดเล็ก พืชที่นิยมปลูกกันได้แก่ พืชผักต่าง ๆ รวมทั้งพืชตระกูลถั่ว ซึ่งจะทำให้ดินมีไนโตรเจนมากขึ้น เมื่อชมพู่มีขนาดใหญ่ขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องปลูกพืชหมุนเวียนอีกต่อไป
3. วิธีทางเคมี เป็นวิธีหนึ่งที่สะดวกรวดเร็ว อาจจะส่งผลให้มีสารพิษตกค้างในดินและน้ำได้ การกำจัดวัชพืชวิธีเคมีสามารถจำแนกเป็น 2 ระยะ
3.1 ก่อนทำการปลูกชมพู่ ซึ่งสามารถใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชได้
3.2 ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชชนิดเลือกทำลาย ในช่วงชมพู่โตแล้วควรฉีดนอกชายพุ่ม ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้สารเคมีกำจัดวัชพืชนั้น อัตราความเข้มข้นควรเป็นไปตามคำแนะนำ
 
 
 
 
การตัดแต่งกิ่ง
การ ตัดแต่งกิ่งนอกจากทำให้ได้ทรงพุ่มตามต้องการแล้ว ยังช่วยลดปริมาณโรคแมลง อีกทั้งทำให้ชมพู่ออกดอกติดผลดีมีคุณภาพอีกด้วย สามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
1. การตัดแต่งเพื่อบังคับทรงพุ่ม ควรเริ่มทำเมื่อชมพู่มีขนาดเล็กหลังจากปลูกใหม่ โดยการเลี้ยงลำต้นประธานเพียงต้นเดียว และที่ความสูงจากพื้นดิน 50 เซ็นติเมตร ให้ตัดยอดชมพู่จะทำให้กิ่งที่แตกแขนงมาใหม่ 2 กิ่ง ที่ระยะ 6 - 12 นิ้ว ให้ตัดกิ่งทั้ง 2 แล้ว ให้แตกเพิ่มเป็น 4 กิ่ง ทำอย่างนี้ไปจะได้กิ่งแขนง 8 ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้ต้นชมพู่มีโครงสร้างแข็งแรง และไปรอแสงส่องผ่านกิ่งโคนต้นได้ การปฏิบัติงานใต้ทรงพุ่มสะดวก
2. การตัดแต่งเพื่อการออกดอกและติดผลที่มีคุณภาพ การตัดแต่งแบบนี้จะใช้ในชมพู่ที่ให้ผลแล้ว ซึ่งควรทำปีละ 2 ครั้ง โดยเลือกตัดแต่งกิ่ง ดังนี้
2.1 กิ่งแก่ที่เคยให้ผลแล้ว และไม่สามารถให้ผลอีกต่อไป
2.2 กิ่งแซมในทรงพุ่มขนาดเล็ก
2.3 กิ่งไขว้ หรือกิ่งซ้อนทับกัน ให้เลือกกิ่งที่เป็นโครงสร้างหลักไว้
2.4 กิ่งที่โรคแมลงหรือกาฝากอาศัย
2.5 กิ่งฉีกหัก หรือกิ่งแห้ง
2.6 กิ่งน้ำค้างหรือกิ่งกระโดงที่เจริญเติบโตจากในทรงพุ่มทะลุออกเหนือทรงพุ่ม
2.7 ส่วนยอดที่สูงจากพื้นดินเกิน 2 เมตร
 
 
 
 
การปลิดผล
ใน การออกดอกชมพู่จะออกบริเวณกิ่ง ในทรงพุ่มหลังจากดอกได้รับการผสมแล้วก็จะติดเป็นผล ที่มีขนาดเล็กมีลักษณะคล้ายถ้วย หลังจากนั้นผลจะขยายใหญ่มีสีเข้มขึ้น เกษตรกรควรทำการปลิดผลที่ถูกโรคแมลงทำลาย ผลที่มีขนาดเล็กหรือรูปร่างผิดปกติออก โดยเหลือไว้ช่อละ 3 - 4 ผลเท่านั้น กรณีที่ช่อผลอยู่ติดกันมากไม่ควรเก็บไว้ ให้เลือกปลิดช่อที่มากเกินไปออกเสียบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งอาหารกันเองทำให้ผลมีขนาดเล็ก
 
 
 
 
การห่อผล
การ ห่อนี้ควรจะทำควบคู่กับการปลิดเลยในเวลาเดียวกัน ในการห่อผลนี้เกษตรกรจะเลือกถุงพลาสติกกรอบแกรบสีขาวขุ่นเจาะ 2 รู เพื่อให้น้ำออก ก่อนห่อควรพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงก่อน แล้วจึงห่อด้วยถุงพลาสติกดังกล่าว โดยผูกปากถุงด้วยเงื่อนชั้นเดียว ขนาดถุงควรเป็นขนาด 6 * 11 นิ้ว
ในบางกิ่งที่ผลชมพู่อาจได้รับอันตราย จากแสงแดดเผาให้ผิวเสียหาย ควรห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ด้านนอกอีกชั้นหนึ่งด้วย
 
 
 
 
เทคนิคช่วยให้ชมพู่มีคุณภาพดี
1. ตัดแต่งช่อผลตั้งแต่เริ่มติดผล โดยไว้ผลประมาณ 3 - 4 ผลต่อช่อ และจำนวนช่อดอกไม่ควรมากเกินไป โดยให้สัมพันธ์กับทรงพุ่มและความสมบูรณ์ของต้น
2. การใช้จีเอพ่นประมาณ 1 - 3 ช่วง คือช่วงเริ่มออกดอก ดอกเริ่มบาน และหลังดอกบานแล้ว 2 สัปดาห์ เพื่อทำให้ทรงผลยาวและขยายขนาดขึ้น
3. การให้ปุ๋ยทั้งทางดินและทางใบอย่างเพียงพอ มิฉะนั้นอาจทำให้ผลร่วงได้ง่าย
4. การห่อผลทำให้ผิวสวยป้องกันการทำลายของแมลงอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือแมลงวันทอง
5. ควรงดการให้น้ำช่วงก่อนการเก็บเกี่ยว 3 - 5 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพดิน ถ้าดินเหนียวควรงดการให้น้ำนานกว่านี้อาจเป็น 5 - 7 วัน
 
 
 

การเก็บเกี่ยวและการจัดการผลชมพู่หลังการเก็บเกี่ยว

หลัง จากชมพู่อายุพร้อมที่จะเก็บเกี่ยว คือ มีอายุ วันผลเต่งอวบ สีซีด ในบางพันธุ์มีสีขาว บางพันธุ์มีสีแดงหรือชมพู ผิวเป็นมันเงา มีความหวานสูง เกษตรกรควรทำการเก็บ หากทิ้งไว้เกินอายุการเก็บเกี่ยว จะทำให้ผลชมพู่แตกหรือร่วงเสียหายได้ การเก็บควรใช้กรรไกรตัดขั้ว จะสะดวกและรวดเร็ว
การเก็บนั้นเกษตรกรควรเก็บมาทั้งถุงที่ห่อชมพู่แล้ว ใส่เข่งที่กรุด้วยกระสอบปุ๋ย เพื่อป้องกันความคมของภาชนะที่จะทำให้ผิวชมพู่บอกช้ำได้ จากนั้นจึงนำผลชมพู่มายังโรงพักผลผลิต แล้วทำการคัดเลือกชมพู่ โดยเริ่มที่
1. แกะถุงห่อชมพู่ออก
2. คัดคุณภาพโดยคัดผลแตก ผลเป็นโรคและแมลงทำลาย ทั้งนี้รวมทั้งผลที่มีรูปร่างผิดปกติออก
3. คัดขนาด
4. บรรจุลงเข่งไม้ไผ่ หรือตะกร้าพลาสติกที่ด้านข้ากรุด้วยใบตองหรือกระดาษ แล้วปิดทับด้านหน้าด้วยพลาสติก เพื่อรักษาความชื้นของชมพู่ไว้
5. ชั่งน้ำหนักพร้อมเขียนป้ายประจำเข่ง หรือตะกร้าพลาสติก เพื่อบอกน้ำหนัก ชื่อพันธุ์ และขนาดผล เก็บไว้ในที่ร่มพร้อมที่จะขนส่งสู่ตลาดต่อ
 
 
 
 
การผลิตชมพู่นอกฤดู
ในประเทศไทยชมพู่จะออกดอกเป็น 2 รุ่นใหญ่ ๆ ดังนี้
รุ่นแรก ประมาณปลายเดือนธันวาคม - มกราคม เก็บผลในเดือน กุมภาพันธ์ ถึงมีนาคม
รุ่นที่ 2 จะออกดอกในเดือนกุมภาพันธ์และเก็บผลในเดือน เมษายน - พฤษภาคม
แต่เดิมเกษตรกรได้พยายามคิดค้นวิธีการทำนอกฤดู เช่น การตัดแต่งกิ่ง การกักน้ำ การใส่ปุ๋ย ตลอดจนการใช้สารเคมี
 
 
 

การใช้สารเคมี

สำหรับ การใช้สารเคมี กฤษฎา ทัสนารมย์ (2537) รายงานว่า มีการทดลองใช้สารพาโคลบิวทราโซล กับชมพู่พันธุ์ทูลเกล้าอายุ 3 ปี โดยใช้สารเข้มข่น 1, 2 และ 4 กรัม ของสารออกฤทธิ์ และพ่นทางใบระดับความเข้มข้น 0.5, 1.0 และ 2 ซีซี. / น้ำ 20 ลิตร ที่ใบมีอายุ 40 - 90 วันหลังการตัดแต่งกิ่ง ทำให้ดอกในช่วง 60 วัน หลังให้สาร โดยระดับความเข้มข้น 4 กรัม / ต้น โดยราดลงดิน 2 ซีซี. / น้ำ 1 ลิตร ฉีดพ่นทางใบให้ดอกสูงกว่าความเข้มข้นระดับอื่น ๆ
ในชมพู่เพชร ประทีป กุณาศล ได้ทำการทดลองใช้สารพาโคลบิวทราโซล กับชมพู่เพชรอายุ 7 ปีขึ้นไป และ 2 - 4 ปี โดยใช้สารจำนวน 30 ซีซี. ผสมน้ำ 2 ลิตร กับทรงพุ่มที่มีขนาดผ่าศูนย์กลาง 2 - 3 เมตร โดยราดสารในเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม ชมพู่แทงช่อในเดือนสิงหาคม - ตุลาคม ซึ่งต้นที่ได้รับสารจะออกดอก 90% ขณะที่ต้นที่ไม่ได้รับสาร ออกเพียง 5% ชมพู่ไม่แสดงอาการผิดปกติ ยกเว้นข้อใบสั้นลงเท่านั้น อย่างไรก็ตามหลังให้สารแก่ต้นชมพู่แล้วประมาณ 1 เดือน ควรให้ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสสูงได้แก่ 12 - 24 - 12 , 8 - 24 - 24 หรือ 9 - 24 - 24 เพื่อให้ต้นชมพู่เตรียมพร้อมในการสร้างตาดอก ซึ่งอาจจะทำให้ชมพู่สามารถออกดอกได้มากยิ่งขึ้น
 
 
 
 
โรคและแมลงศัตรูชมพู่
1. โรคชมพู่ สำหรับโรคที่สำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชมพู่ได้แก่
1.1 โรคแอนแทรคโนส เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา โดยจะพบการทำลายบนผลชมพู่ที่ห่อไว้เป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่ต้นและใบไม่ค่อยพบร่องรอยการทำลาย ลักษณะที่ปรากฏบนผลจะมีการเน่าสีดำ แผลจะยุบตัวเล็กน้อย มีวงสปอร์สีดำเป็นวง ๆ ซ้อนกันบางครั้ง อาจพบเมือกสีแสดด้วย
การป้องกันกำจัด ควรฉีดพ่นผลก่อนห่อด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เบนโนมิล แคบแทน ค็อปเปอร์อ๊อกซี่คลอไรด์
2. แมลงศัตรูชมพู่
2.1 แมลงค่อมทอง เป็นด้วงงวงชนิดงวงสั้น ลำตัวสีเขียวเหลืองทอง รูปไข่ ขนาดลำตัวกว้าง 0.5 มิลิเมตร ยาว 1.30 - 1.50 เซนติเมตร มักพบอยู่เป็นคู่ ๆ การทำลายตัวแก่ชอบกัดกินใบอ่อนยอดอ่อน ทำให้เว้าแหว่ง
การป้องกันกำจัด โดยเขย่าต้น เก็บตัวแก่ทำลาย กรณีระบาดอย่างรุนแรง พ่นสารเคมีคาร์บาริล (เซฟวิน 85% WP) อัตรา 60 กรัม / น้ำ 20 ลิตร หรือ เมธาไมโดฟอส (ทามารอล 600 56% WP) อัตรา 20 มิลิลิตร / น้ำ 20 ลิตร หรือโมโนโครโตฟอส อัตรา 30 มิลิลิตร / น้ำ 20 ลิตร
2.2 ด้วงม้วนใบ เป็นด้วงงวงชนิดส่วนคอยาว ขนาดเล็กลำตัวสีน้ำตลา มีจุดสีเหลืองบนปีกทั้ง 2 ข้าง ส่วนงวงยาวเกือบเท่าลำตัว
การทำลาย ตัวเมียจะกัดใบเป็นรูเล็ก ๆ แล้ววางไข่ 2 - 3 ฟองในใบม้วน ตัวอ่อนเจริญกัดกินในใบ และเข้าเป็นดักแด้ในใบม้วน
การ ป้องกันกำจัด เก็บใบม้วนเผาทำลาย กรณีระบาดรุนแรง ควรพ่นด้วยสารเคมีคาร์บาริล(เซฟวิน 85% WP) อัตรา 60 กรัม / น้ำ 20 ลิตร หรือ เมธาไมโดฟอส (ทามารอล 600 56% WP) อัตรา 20 กรัม / น้ำ 20 ลิตร
2.3 เพลี้ยไฟ เป็นแมลงปากดูดขนาดเล็กมาก รูปร่างคล้ายเข็ม ตัวแก่มีปีก มักจะเข้าทำลายยอดอ่อน ใบอ่อน โดยดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ใบแห้งตาย หรืองิก บิดเบี้ยว แคระแกร็น
การป้องกันกำจัด โดยการใช้สารเคมีคาร์บาริล(เซฟวิน 85% WP) อัตรา 60 กรัม / น้ำ 20 ลิตร หรือ โมโนโครโตฟอส 30 กรัม / น้ำ 20 ลิตร
2.4 แมลงวันทอง เป็นแมลงวันที่ทำลายผลไม้ชินิดหนึ่ง ลำตัวมีสีดำปนเหลือง
การทำลาย ตัวเมียจะวางไข่ไว้ที่มีผลแก่ และตัวหนอนเข้ากัดกินเนื้อในผล ทำให้ผลเน่าและร่วงหล่นในที่สุด
การ ป้องกันกำจัด ห่อผลด้วยถุงพลาสติด หรือใช้เมธิลยูจินอล ล่อแมลงวันตัวผู้ หรือใช้เหยื่อพิษ โปรตีนไฮโดรไลเสท 100 กรัม + น้ำตาล 20 กรัม / น้ำ 4 ลิตร + มาลาไธออน 1.5 กรัม หรือใช้ไดอะซิโนน หรือเฟนิโตไธออนแทนมาลาไธออน ผสมเป็นเหยื่อพิษอีกชนิดหนึ่ง


http://www.108kaset.com/board/index.php?topic=79.0


บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media

lsv2555Please follow the new website at https://www.pohchae.com

Valid CSS!