ไฟดับภาคใต้ 14 จังหวัด ข่าวไฟดับทั่วภาคใต้ เกิดจากสายส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปภาคใต้ขัดข้อง เผย ภาคใต้ไฟดับ ครั้งใหญ่ในรอบ 30 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 รมว.พลังงาน ระบุ กำลังผลิตไม่พอกับความต้องการ เนื่องจากภาคใต้เป็นเมืองท่องเที่ยว การใช้ไฟพุ่งสูงขึ้นทุกปี
สืบเนื่องจากเมื่อวานนี้ (21 พฤษภาคม 2556) ไฟดับภาคใต้ 14 จังหวัด เมื่อเวลา 18.52 น. จนสร้างความตื่นตกใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก รวมทั้งมีการเดาสาเหตุไปต่าง ๆ นานานั้น ล่าสุด นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้อำนวยการรายงาน เหตุไฟดับ 14 จังหวัดภาคใต้ ได้ออกชี้แจงข้อมูลดังนี้
ตามที่เกิดเหตุไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้ เมื่อเวลา 18.52 น. ของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ได้แก่ จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต กระบี่ ระนอง สตูล สงขลา สุราษฎร์ธานี ตรัง และยะลา สาเหตุจากสายส่งขนาด 500 KV ซึ่งเป็นสายส่งจอมบึง-ประจวบคีรีขันธ์ ที่เป็นสายส่งหลักที่ส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปภาคใต้เกิดขัดข้องนั้น ต่อมา ในเวลา 21.50 น. สถานการณ์ไฟดับภาคใต้ ก็สามารถแก้ไขติดครบทั้ง 14 จังหวัดแล้ว แต่ยังไม่เต็มระบบทั้งพื้นที่ บางพื้นที่ยังไม่สามารถใช้การได้ 100% บางพื้นที่ยังมีอาการดับสลับติดเป็นช่วง ๆ รวมระยะเวลาที่ไฟฟ้าดับประมาณ 3 ชั่วโมง โดยจังหวัด สุราษฎร์ธานี ไฟฟ้ายังคงใช้การไม่ได้ในบางพื้นที่
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือโดยเร่งด่วน กระทั่งในเวลาประมาณ 23.00 น. กฟผ. จึงสามารถกู้สถานการณ์กลับมาได้ทั้งหมด 100% เต็ม
ขณะที่ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการพลังงาน เปิดเผยว่า ในวันนี้ (22 พฤษภาคม 2556) จะหารือร่วมกับ กฟผ. ถึงกรณีดังกล่าวเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากเหตุใด รวมถึงจะหาทางป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่า ภาคใต้ผลิตไฟไม่พอใช้กับความต้องการ กฟผ. จึงต้องส่งไฟผ่านระบบส่งจากภาคกลางไปช่วยเป็นการสำรอง แต่การส่งผ่านสายส่งไปในระยะไกล ๆ อาจเกิดปัญหานี้ขึ้นได้ตลอดเวลา ส่วนกรณีที่มีคนมองว่าไฟดับเพราะต้องการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มที่ภาคใต้นั้นคงไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะถ้าเขาสร้างโรงไฟฟ้าไม่ได้ก็มีหน้าที่จ่ายไฟผ่านสายส่งจากภาคกลางอยู่ดี
อนึ่ง ปัจจุบันภาคใต้มีความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าอยู่ที่ 2,500 เมกะวัตต์ และมีแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น 6%ต่อปี แต่กำลังการผลิตไฟฟ้าสามารถรองรับการใช้งานได้เพียง 2,100 เมกะวัตต์เท่านั้น โดยมีโรงไฟฟ้าที่ผลิตอยู่ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าขนอม 824 เมกกะวัตต์, โรงไฟฟ้ากระบี่ 340 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้ารัชชประภา 240 เมกกะวัตต์, โรงไฟฟ้าบางลาง 73.3 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้ากลัฟ์ยะลา กรีน 20.2 เมกะวัตต์ และ โรงไฟฟ้าจะนะ 731 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ สาเหตุที่ไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง 14 จังหวัดภาคใต้ เนื่องจากสถานีไฟฟ้าแรงสูงที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ขัดข้อง
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์ไฟดับภาคใต้ครั้งนี้ คนส่วนใหญ่ได้รับรู้และทราบว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตไฟฟ้า หลังพม่าหยุดจ่ายก๊าซให้ไทย จนเกรงกันว่า อาจเกิดปัญหาไฟตกหรือไฟดับ เพราะอยู่ในช่วงหน้าร้อน ที่มีการทำลายสถิติการใช้ไฟฟ้าสูงสุด แต่อุบัติเหตุไฟดับ 14 จังหวัดภาคใต้ในครั้งนี้ ก็ทำให้หลายฝ่ายหวั่นใจว่า เป็นฝีมือของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ต้องการก่อเหตุโจมตีหรือไม่ บ้างก็ลือว่าอาจเกิดการปฏิวัติขึ้นในไทยอีกครั้ง แต่ที่แน่ ๆ การที่ไฟดับในวงกว้างเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบและสร้างความสูญเสียในพื้นที่เศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยวแน่นอน
แต่เพื่อไม่ให้วิตกกังวลกันจนเกินไปนัก ผู้สื่อข่าวได้จึงได้รวบรวมข้อมูลเหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในประเทศมานำเสนอกันอีกครั้ง เพื่อให้ทราบว่าเหตุการณ์ไฟดับเช่นนี้เคยเกิดขึ้นแล้ว โดยย้อนไปเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2521 เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั่วประเทศไทย ภาษาอังกฤษเรียกว่า Blackout และกินระยะเวลายาวนานที่สุด นับตั้งแต่ก่อตั้งการไฟฟ้าขึ้นในเมืองไทย สาเหตุเกิดจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ซึ่งเป็นกำลังการผลิตสำคัญของประเทศ เกิดเหตุขัดข้องขึ้น ทำให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าอื่น ๆ ทั่วประเทศ ที่มีระบบการทำงานต่อเนื่องกันจึงขัดข้องตามไปด้วย
โดยเหตุการณ์ดังกล่าวได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อเวลา 07.40 น. สำหรับในเขตภาคเหนือ ไฟดับประมาณ 1 ชั่วโมง เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไฟดับประมาณ 15 นาที เขตภาคกลาง ไฟดับประมาณ 1 ชั่วโมง และเขตนครหลวง ไฟดับประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นจึงสามารถกลับมาเริ่มจ่ายไฟฟ้าได้ในบางพื้นที่ จนกระทั่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศในเวลา 17.00 น. รวมระยะเวลานานกว่า 9 ชั่วโมง ซึ่งหลังจากคราวนั้น ก็ไม่เคยเกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นอีกจนกระทั่งเมื่อช่วงค่ำวานนี้ (21 พฤษภาคม 2556)
ทั้งนี้ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีข้อมูลระบุว่า เหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั่วประเทศ มีสาเหตุจากระบบการผลิตไฟฟ้า คล้ายคลึงกับการแข่งขันชักเย่อที่มีผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจำนวนเท่า ๆ กัน ต่างดึงด้วยกำลังใกล้เคียงกันจนทำให้การดึงนั้นอยู่ในสภาวะสมดุล แต่ถ้าผู้เล่นฝ่ายใดล้มลงกะทันหันเพียงคนเดียวก็จะทำให้ผู้เล่นทั้งหมดของฝ่ายนั้นถูกกระชากไป ซึ่งการผลิตไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาจะต้องสมดุลกับความต้องการใช้ในขณะนั้น ถ้าโรงไฟฟ้าแห่งใดแห่งหนึ่งเกิดความขัดข้องและหลุดออกจากระบบการผลิตโดยมิได้คาดคิด หากไม่มีระบบป้องกันที่ดีและมีประสิทธิภาพก็อาจทำให้ระบบการผลิตของโรงไฟฟ้าทั้งหมดหลุดออกจากระบบจนเกิดเป็นความเสียหายในวงกว้าง หรือถึงกับเกิดไฟฟ้าดับทั่วประเทศ
สำหรับประเทศไทยค่อนข้างโชคดีกว่าประเทศอื่น ๆ เพราะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 หรือเป็นปีที่ก่อตั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ก็มีเหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั้งประเทศเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2521 เพียงครั้งเดียว ขณะที่ในต่างประเทศก็มีเหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั่วประเทศเช่นเดียวกันและค่อนข้างจะรุนแรงกว่าเหตุการณ์ในประเทศไทย ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2539 มาเลเซีย เกิดกระแสไฟฟ้าดับทั่วประเทศ เป็นเวลานานถึง 16 ชั่วโมง สร้างความเสียหายไม่น้อยกว่า 1,250 ล้านบาท โดยเกิดความขัดข้องของโรงไฟฟ้า PAKAR ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่มีกำลังผลิต 900 เมกะวัตต์ เกิดหลุดออกจากระบบขณะกำลังจ่ายไฟ จนทำให้การจ่ายไฟล่มทั้งระบบ ประชาชนจำนวนมากต้องอยู่ท่ามกลางความมืด บ้างก็ติดอยู่ในลิฟต์โดยสาร บ้างก็เสียชีวิตเนื่องจากเครื่องช่วยชีวิตในโรงพยาบาลไม่ทำงาน ความเสียหายที่เกิดขึ้นส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของ ประเทศที่เกิดขึ้น และหากเกิดเหตุฉุกเฉิน กฟผ. ก็ได้จัดให้มีกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่าย (Spinning Reserve) ที่มีขนาดเท่ากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในระบบ นอกจากนี้ยังมีระบบป้องกันอัตโนมัติ (Under Frequency Load Shedding) ซึ่งดำเนินการร่วมกับ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อเลือกตัดการจ่ายกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ที่มีผลกระทบน้อยที่สุดออกบางส่วน เพื่อรักษาเสถียรภาพส่วนใหญ่ของระบบให้คงอยู่
จากสถิติที่ผ่านมา พบว่า มีการตัดการจ่ายกระแสไฟฟ้าออกไปไม่ถึงร้อยละ 10 ของทั้งประเทศ เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่า ระบบป้องกันอัตโนมัติดังกล่าว สามารถรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนกรณีการขัดข้องที่มีสาเหตุมาจากเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะปัญหาการขัดข้องในระบบการจ่ายก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักนั้น โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงสามารถเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลได้ทันที โดยปัจจุบัน กฟผ. มีการสำรองน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลให้เพียงพอต่อการใช้งานได้นานถึง 3 วัน
ดังนั้นแม้ว่า กฟผ. จะไม่สามารถรับประกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า จะไม่เกิดไฟฟ้าดับทั้งประเทศขึ้นอีกครั้ง แต่จากสภาพของระบบส่งไฟฟ้า โรงไฟฟ้า และแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่ได้มีการฝึกซ้อมสถานการณ์อยู่เป็นประจำ เพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากรและอุปกรณ์ที่ใช้ โอกาสที่จะเกิดไฟฟ้าดับขึ้นทั่วประเทศไทยจึงมีน้อยมาก หรือถ้าเกิดขึ้นจริง กฟผ. ก็พร้อมที่จะกู้ระบบไฟฟ้ากลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
http://www.108yim.com/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B9%83%E0%B8%95%E0%B9%89-14-%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94-%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B1/