อุบายวิธีแก้จิตไม่ให้ท้อถอยในการบำเพ็ญ
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: อุบายวิธีแก้จิตไม่ให้ท้อถอยในการบำเพ็ญ  (อ่าน 1477 ครั้ง)
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« เมื่อ: พฤษภาคม 13, 2011, 09:48:19 am »



วันนี้ จะได้เล่าประวัติของพระพุทธเจ้าโดยย่อ เป็นเครื่องต่อสู้อุปสรรคที่มันจะเกิดขึ้นกับพวกเรา ทีนี้จะได้เล่าถึงอุปสรรคการออกทรงผนวชของพระพุทธเจ้าให้ฟัง เมื่อพระองค์ประสูติจากพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา พระเจ้าสุทโธทนะมหาราช ทรงเห็นพระราชกุมารแปลกว่ามนุษย์ธรรมดา พระองค์มีความสงสัยในพระทัย ต่อมาพระองค์ได้ทรงเชิญพราหมณ์ ๘ คน มาพิจารณาลักษณะของมหาบุรุษพราหมณ์ทั้ง ๗ ได้พยากรณ์เป็น ๒ นัย คือ นัยหนึ่งเขาบอกว่าถ้าพระองค์เป็นฆราวาสจะได้พระเจ้าจักรพรรดิ์ เมื่อพระองค์ทรงผนวชจะได้เป็นพระพุทธเจ้า มีอัญญาโกณทัญญะพราหมณ์ ผู้เป็นอันดับ ๘ ได้พยากรณ์เป็นคติอันเดียวว่า เมื่อพระราชกุมารทรงเจริญวัยขึ้น จะได้ทรงผนวชเป็นพระพุทธเจ้า

เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะมหาราช ผู้เป็นบิดาได้ทรงฟังคำพยากรณ์อย่างนั้นแล้ว พระองค์ทรงพิจารณาถึงประโยชน์ เมื่อพระราชกุมารได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ประโยชน์ที่พระองค์ทรงได้มีอะไรบ้าง เมื่อพระองค์ออกทรงผนวช ประโยชน์ที่ได้มีอะไรบ้าง แต่พระองค์เข้าพระทัยไม่ถึงในการที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้า พระองค์เข้าพระทัยในการเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงทรงมีความปราถนาอยากให้พระราชกุมารนั้นเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ พระองค์จึงได้ทรงหาช่องทางป้องกันการที่จะทรงผนวชของมหาบุรุษนั้น จึงได้ตรัสถามอุบายของพราหมณ์ว่า เมื่อพระราชกุมารทรงเจริญวัยขึ้นจะออกผนวชนี้ด้วยเหตุใด และจะป้องกันได้อย่างไร พราหมณ์จึงกราบทูลว่า พระองค์จะได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูต เมื่อพระองค์ได้ทรงเห็นเทวทูตก็จะออกทรงผนวช พระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงหาวิธีป้องกัน มิให้พระราชกุมารนั้นออกทรงผนวช โดยสร้างปราสาทเป็นที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม ทรงเลือกสรรสาวสนมกำนัลในที่มีรูปสมบัติ และคุณสมบัติ มาเพื่อบำรุงบำเรออะไรต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเครื่องป้องกัน

ที่เล่ามานี้ เพื่อต้องการให้เข้าใจว่า อุปสรรคเครื่องขัดขวางและสิ่งกางกั้นในการที่ทำความดีของแต่ละท่านย่อมมีอยู่อย่างนั้นเป็นธรรมดา แม้แต่พระมหาบุรุษผู้ถึงพร้อมด้วยพระบารมีก็ยังมีอยู่อย่างนี้ เมื่อพระองค์ได้โอกาสดีพระองค์ก็ออกทรงผนวช ก็ยังมีบุคคลทั้งหลายพูดกันต่าง ๆ นานา ตามแต่ทัศนะของบุคคล บางคนก็หาว่าพระราชบุตรของพระเจ้าสุทโธทนะมหาราช เป็นกาลกิณีบุคคล บางคนก็วิพากย์วิจารณ์ไปนานับปการเหลือที่จะพรรณนา แต่แล้วพระมหาบุรุษผู้ออกทรงผนวชได้แล้ว ก็ได้ทรงตั้งใจประพฤติปฏิบัติตปธรรม ในสำนักบรรดาอาจารย์ต่าง ๆ อยู่เป็นเวลาถึง ๖ พรรษา ก็หาสำเร็จไม่ ที่ได้อธิบายมานี้อยากจะให้เข้าใจว่ามีอยู่ ๒ ประการ คือ

๑. ผู้ที่มีบารมีอันเต็มเปี่ยม ไม่น่าจะมีอุปสรรคแต่ก็มี

๒. เมื่อพระองค์เป็นผู้ทรงสร้างพระบารมีอันเต็มเปี่ยมแล้ว การตรัสรู้ของพระองค์ไม่น่าจะลำบากเลย แต่ทำไมจึงได้ดำเนินทำทุกรกิริยาอยู่ถึง ๖ พรรษา ก็ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้เลย ต่อเมื่อพระองค์มาพิจารณาถึงช่องทางที่พระองค์ทรงดำเนินและสิ่งที่ทรงปรารถนา สิ่งที่พระองค์ทรงปรารถนาก็คือว่า พระองค์ทรงหาช่องทางทำลายเสียซึ่งภพของจิต หรือหาช่องทางปรับปรุงจิตให้เป็นปกติ หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งให้ถึงซึ่งวิสังขารของจิต

ความปรารถนาอันนี้ของพระองค์มีอยู่อย่างนี้แล้ว พระองค์จึงได้หาช่องทางดำเนิน วิธีที่ดำเนินนั้นพระองค์เป็นผู้กำหนดถึงเรื่องภพก่อนว่า การสืบภพของจิตมันสืบอย่างไร มันต่อกันอย่างไร พระองค์พิจารณาได้รู้กระแสของจิตที่สืบต่อภพ โดยเดินไปตามสัญญาอารมณ์ พูดมาถึงเพียงนี้พวกเราก็คงเข้าใจ สำหรับพวกเราทุกท่านก็คงมองเห็นอย่างจิตของพวกเราทุกท่านที่ประหวัดไปในสัญญาที่ผ่านมาแล้ว ในคำพูดที่เราพูดมาแล้วตั้งแต่อดีต ดีก็ดี ชั่วก็ดี สิ่งที่มีสาระและไม่มีสาระก็ดี จิตของเราย่อมประหวัดเข้าไปสู่สัญญาอารมณ์เหล่านั้น เมื่อจิตของเราประวัดเข้าไปสู่อารมณ์เหล่านั้น ให้คุณหรือโทษ คือ ความสุข ความทุกข์ ความเศร้าหมอง ความร่าเริง อะไรเหล่านี้เป็นต้น อาการที่จรและประหวัดไปอย่างนั้นแหละเรียกว่า จิตเดินเข้าไปสู่ภพ คือ ภพของจิต

จะอธิบายให้เข้าใจอย่างง่าย ๆ ที่สุด อย่างบุคคลที่จะมรณะ เมื่อจิตของเขาประหวัดไปถึงอารมณ์อย่างไร การเคลื่อนไหวไปสู่ภพก็ต้องเป็นไปตามอาการอย่างนั้น สมมุติอย่างบุคคลผู้มีจิตอันเศร้าหมอง ในเมื่อคิดไปสู่อารมณ์ที่ไม่ดีแล้ว คติภพที่ไปก็ไม่ดี เมื่อบุคคลผู้มีจิตประหวัดไปในทางที่ดี คือในสิ่งที่ตัวทำดีหรือนึกถึงสิ่งที่เราประกอบไว้ เป็นไปเพื่อการทำประโยชน์ที่ดีเป็นกุศล จิตของเราก็ปีติยินดีต่อกุศล

ที่เล่าสู่ฟังก์เพื่อให้เข้าใจว่าอาการที่ประหวัดไปของจิตอย่างนี้เรียกว่า “จิตเดินเข้าไปสู่ภพ” เมื่อพระองค์มารู้อาการที่จิตเข้าไปสู่ภพอย่างนี้ พระองค์จึงได้สร้างกำลังของตปธรรม คือ สติ ดังนี้ขึ้นมายับยั้งเป็นปฐมก่อน เมื่อจิตประหวัดเข้าไปสู่อารมณ์ พรองค์ก็ต้องยับยั้งอยู่ด้วยความเฉลียวระลึกรู้แล้วพิจารณาถึงโทษคุณ ในอาการที่ประหวัดไปนั้น เมื่อมันประหวัดไปอย่างนี้ มันจะให้สุขอย่างนี้ ให้ทุกข์อย่างนี้ ให้โทษอย่างนี้ ให้คุณอย่างนี้ มีผลเสียผลได้อย่างนี้ ในเมื่อสติเข้าไปยับยั้งแล้ว ปัญญาที่วิจารณ์ดังกล่าวแล้วนี้ จะต้องปรากฏมีมาในอันดับที่สองเพราะเหตุนั้น พระองค์จึงได้ทรงสร้างสติตัวนี้ยับยั้งจิตของท่าน ในเมื่อมันจะประหวัดเข้าไปสู่ภพ พยายามกระทำจนชำนิชำนาญ จนสามารถล็อคคอจิตไว้ได้ด้วยกำลังตปธรรมชนิดนี้แล้ว พระองค์ก็มองเห็นประโยชน์ว่า ในเมื่อรั้งจิตไว้อย่างนี้ด้วยกำลังตปธรรมชนิดนี้แล้ว ย่อมให้ผลดี คือ ความรู้ ความเข้าใจ ในการเคลื่อนไหวของจิตที่แสดงเข้าไปสู่ภพดังนี้ ความทุกข์หรือความเข้าใจย่อมปรากฏขึ้นอย่างช้า ๆ เป็นลำดับต่อไป

เมื่อพวกเราเข้าใจถึงอุบายวิธีที่พระองค์หาช่องทางทำลายภพของจิตนี้ พวกเราผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ก็ต้องพยายามสร้างสติ พิจารณาจิตของเราที่ประหวัดเข้าไปสู่ภพอย่างพระองค์ เมื่อเรามีสติคอยล็อคหรือรั้ง หรือค้านจิตของเราไว้ ไม่ให้จิตของเราประหวัดเข้าไปสู่ภพโดยธรรมชาติธรรมดา ด้วยกำลังของสติอย่างนี้เสมอแล้ว พวกเราทุกท่านสามารถที่หาช่องทางกางกั้นของจิต หรือกางกั้นจิตไม่ให้ไหลไปสู่ภพได้อย่างพระองค์ เมื่อสามารถรั้งหรือล็อคจิตไม่ให้ไหลสู่ภพเช่นนี้ จิตย่อมจำนนและอยู่ในอำนาจของตปธรรม คือ สติ อย่างที่พรรณนาสู่ฟังแล้ว

เมื่อเราสามารถบังคับหรือปฏิวัติจิตของเราได้อย่างนี้เต็มที่แล้ว อาการทั้งหมดที่จิตสั่งบัญชาออกมานั้น เราก็มีความสามารถที่จะรั้งหรือบังคับไว้ด้วยอำนาจของตปธรรมนี้เหมือนกัน เพราะอาการทุกอย่างที่แสดงออกมาในทางกายและวาจา มันไม่ได้เป็นไปตามธาตุขันธ์ของแต่ละส่วน มันต้องอาศัยอำนาจจิตเป็นผู้สั่งและบัญชา อาการที่แสดงทั้งหลายเป็นไปด้วยอำนาจของจิตสั่ง เมื่อหากพวกเราสร้างกำลังของสติเข้าไปยับยั้งจิตของพวกเราแล้ว อาการทั้งหมดที่เคลื่อนไหวออกไป เป็นไปโดยทางกายและวาจาก็ตามย่อมไม่เป็นไปโดยธรรมชาติ จะต้องอาศัยสติตัวเฉลียวรู้นี้เป็นตัวรั้งไว้ก่อน แล้วจึงใช้ปัญญาวิจารณ์ถึงโทษและคุณ ถึงผลเสีย ผลได้ต่อไป สมควรหรือไม่สมควรย่อมต้องญัตติด้วยกำลังของปัญหา

จะยกเหตุผลให้พวกเราได้เข้าใจ สมมุติว่าพวกเราผู้มองเห็นไฟ เราคุ้ยเคยอยู่กับไฟ เรารู้จักคุณโทษของไฟได้ดี เมื่อมองปั๊บเราก็รู้ว่า ถ้าเราจับเข้าไปจะให้โทษอย่างนี้ ๆ คุณค่าของไฟเป็นอย่างนี้ ๆ โดยที่เรามิได้พิจารณากำหนดแต่เรารู้เอง อาการที่ว่องไวเป็นไปนี้เรียกว่า “ชวนะ” ต้องอาศัยความคุ้ยเคยฉันใดก็ดี ในเมื่อเรามีสติเข้าไปรับรู้ในอาการเคลื่อนไหวของจิตอยู่เสมออย่างนั้น เราก็รู้เรื่องโทษและคุณ ในเมื่อจิตเคลื่อนไปอย่างนั้น เหมือนกับที่เรามองเห็นไฟ เมื่อหากอาการของจิตที่เคลื่อนไปอย่างนี้เรารู้ชัดในโทษและคุณ แล้วอาการปล่อยวางอารมณ์ของจิต ก็เหมือนกับเรา ไม่มีความสามารถจะเอื้อมมือเข้าไปจับไฟฉันนั้นเหมือนกัน และเมื่อเรามองเห็นประโยชน์ในการที่จิตเคลื่อนไปอย่างนี้ เมื่อประกอบและดำเนินไปจะมีคุณค่าประโยชน์อย่างนี้ จิตก็ไม่มีช่องทางใดที่จะมาค้านในอาการคิดอย่างนั้น ย่อมสามารถจะทำไปได้ เพราะจิตยอมจำนนกำลังของตปธรรมอยู่แล้ว


บันทึกการเข้า

kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: พฤษภาคม 13, 2011, 09:50:16 am »

สมมุติอย่างพวกเราที่จะทำอย่างนี้ ๆ บางทีไม่มีความสามารถกระทำลงไปได้ เพราะอาการของจิตมันเปลี่ยนแปลงอาการที่เป็นอยู่อย่างนี้ เนื่องจากจิตไม่จำนนของกำลังตปธรรมนั่นเอง เมื่อพวกเรามีความสามารถสร้างกำลังชนิดนี้เข้ามาบังคับจิตแล้ว สิ่งทั้งปวงที่เรามองเห็นว่าจะเป็นไปเพื่อคุณค่าประโยชน์สามารถที่จะน้อมจิตกระทำไปได้อย่างง่ายดาย ไม่มีทางใดที่จิตจะลุกขึ้นมางอแงต่อสู้กับอาการที่รู้เห็นอันนั้นเลย เมื่อหากพวกเราดำเนินให้เป็นไปอย่างนี้ ประโยชน์มีอยู่ ๒ ประการ คือ

๑. เป็นผู้หักห้ามทำลายซึ่งภพของจิต หรือกางกั้นจิตไว้ไม่ให้ถึงภพ

๒. เป็นการทรมานหรือปฏิวัติซึ่งจิตของเราไม่ให้เป็นไปตามธรรมชาติ

นี่พูดถึงประวัติของพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งปฏิปทาที่พวกเราจะได้ดำเนินให้เป็นไป ทีนี้มานึกถึงคุณค่าประโยชน์อันที่ประพุทธเจ้าดำเนิน เมื่อพระองค์เป็นผู้มีขัติธรรม ต่อสู้เหตุการณ์ภายนอกและภายใน พวกเราทุกท่านให้ลองนึกถึงพระพุทธเจ้า ความเป็นอยู่ของพระองค์ และการกล้ายอมเสียสละ พร้อมทั้งขันติธรรมของพระองค์ที่ต่อสู้กับเหตุการณ์ต่าง ๆ พระองค์มีความสุขอย่างที่พวกเราทุกท่านได้เห็น หรือได้ฟังในพุทธประวัติ พระองค์มีความสุขเหลือเกิน แต่พระองค์มาพิจารณาถึงเรื่องความสุขที่เป็นไปในทางกาว เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค หรือ ความสุขที่เป็นไปในทางโลกีย์ พระองค์มองเห็นความสุขอันนี้ไม่เป็นว่าจะมีความสุขยืดยาวสักแค่ไหน ความสุขอันนี้จะประกอบให้เราได้รับเพียงแค่ที่มีชีวิตอยู่ ในเมื่อมรณภาพแล้ว ความสุขอันนี้จจจะติดตามไปไม่ได้

เมื่อพระองค์มาพิจารณาอย่างนี้แล้ว พรองค์จึงกล้ายอมเสียสละออกทรงผนวช พร้อมทั้งพระองค์มาทรงพิจารณาถึงคุณค่าประโยชน์ อันที่พระองค์ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ประโยชน์ที่พระองค์จะดำเนินไปนั้น ย่อมจะแผ่ไพศาลไปยังสัตว์และบุคคลทั้งหลาย ให้ได้รับความสุขตามพระองค์ พระองค์จึงกล้าออกทรงผนวช แต่เมื่อพูดถึงอุปสรรคอันตรายต่าง ๆ พระองค์ไม่น่าจะดำเนินให้เป็นไปได้ แต่แล้วพระองค์ผุ้ทรงมีขันติธรรมอย่างแรงกล้า จึงสามารถดำเนินประโยชน์อันนี้ให้สำเร็จไปได้

เพราะฉะนั้น พวกเราทุกท่านต้องหาช่องทางพิสูจน์ถึงประวัติของพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งหาช่องทางสร้างกำลังของขันติธรรมอันนี้มาต่อสู้เหตุการณ์ต่าง ๆ บางคนเขาอาจพูดเยาะเย้ยเราว่า เราเป็นผู้มีความสุขไม่น่าจะออกมาอย่างนี้ มันเป็นเพราะกรรมอะไรเหล่านี้ เขาอาจจะพูดได้ แต่ในเมื่อเราไม่มีขันติธรรมและไม่พิจารณาถึงคุณค่าประโยชน์ที่ดวเรายอมเสียสละออกมาปฏิบัติและเมื่อเราได้ความดีสมดังปรารถนาของเราแล้ว ความสุขของพวกเรา เราเองย่อมเป็นผู้ได้รับดังนี้ และอาจสามารถนำประโยชน์อันนี้แผ่ไพศาลไปยังหมู่คณะที่ต้องการ

เมื่อเราพิจารณาถึงคุณค่าประโยชน์อย่างนี้ เราไม่ต้องฟังเสียงบุคคลที่พูดเยาะเย้ยเหล่านั้นเลย ตลอดจนกำลังของกรรมทั้ง ๒ ที่นำพา บางทีกรรมดี คือ บารมีธรรมของพวกเราเข้ามาบันดาล เราจะทำอะไรเป็นไปด้วยความสะดวกสบาย อาการที่ทำอะไรไปทั้งหมดไม่บกพร่อง บางทีอกุศลที่เราประกอบไว้มันมีกำลังเข้ามาบันดาล ทำอะไรก็รู้สึกว่าไม่สะดวกสบายทางร่างกายก็อาจจะมีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน สิ่งกระทบต่าง ๆ ที่เป็นส่วนภายนอกก็อาจจะมี เมื่อเราไม่มีขันติธรรมหรือไม่พิจารณาวิจารณ์ถึงประโยชน์ดังกล่าวมาแล้วนั้น พวกเราทุกท่านก็อาจจะท้อใจ น้อยใจ หรืออาจจะถอยอะไรเหล่านี้ เป็นต้น

เมื่อพวกเรามาพิจารณาถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระราชบิดา ซึ่งพวกเราจะดำเนินตามรอยพระยุคลบาทของพระองค์ พวกเราก็ต้องหาช่องทางพิจารณาพิสูจน์เอาอุบายเหล่านี้มาแก้จิตใจของพวกเรา ในเมื่อกำลังกรรมทั้ง ๒ มันเข้ามาบันดาลซึ่งเป็นไปในส่วนอกุศลกรรม เราย่าท้อแท้ อย่าน้อยใจ ให้นึกว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้มีพระบารมีอันยิ่งใหญ่ ในเมืองพระองค์ออกทรงผนวช พระองค์ก็มิได้ทรงสะดวกสบาย รู้สึกว่ามีอุปสรรคขัดข้องหลายสิ่งหลายอย่าง นับแต่พระราชบิดาหาวิธีป้องกันมิให้พระองค์ออกทรงผนวช โดยนึกถึงคุณค่าประโยชน์ในการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าไม่ถึง ว่าจะได้ประโยชน์กว้างขวางอะไร มองเห็นเพียงแค่ใกล้ ๆ ว่าเมื่อพระองค์ได้เป็นพระเจ้าจักพรรดิ์แล้วก็มีหน้ามีตา ความสุข ความเจริญ ของพระมหาบุรุษที่เป็นพระราชบุตรของเรานี้ จะได้รับผลประโยชน์อย่างนี้ ๆ มองเห็นเพียงแค่นี้ ด้วยความมองเห็นการณ์ไกลของพระองค์ จึงได้หาอุบายวิธีป้องกัน

อุปสรรคอันตรายทั้งหมดเหล่านี้ของพวกเราก็ได้มองเห็นอยู่ชัด ๆ เราก็ต้องพิสูจน์พิจารณาอย่างพวกเราที่มีบารมีแก่กล้าพอสมควร ได้บันดาลให้พวกเราออกบำเพ็ญตปธรรมในป่า โดยไม่ติดและไม่ห่วงใยในวัตถุต่าง ๆ อย่างบรรดาคนทั้งหลายเขาติด หรือบุคคลที่ยังไม่ถึง เขาหาช่องทางดิ้นรนเข้าไปหา หรือบุคคลเข้าถึงแล้วเขาติด เขาจม เขาหมอบ ไม่มีทางใดที่จะหลีกออกจากความสุขมาได้ อันพวกเราผู้มีความสุขอย่างที่ได้มองเห็นกัน อาศัยอำนาจบารมีธรรมของพวกเราช่วยบันดาลไม่ให้พวกเราติดหรือหลงไหลในสิ่งนั้น ให้พวกเราออกมาเสาะแสวงหาสถานที่ประกอบตปธรรม เป็นการสร้างบารมีเพิ่มเติม หรืออาจจะหาช่องทางดำเนินตัวของตัวเองให้หมดภพ หมดชาติ หมดทุกข์ เข้าไปสู่อมตมหานฤพาน “เหลือแต่ดวงจิตวิญญาณที่บริสุทธิ์” เข้าไปอยู่รวมกับวิญญาณของท่านผู้บริสุทธิ์ ไม่มีความอิจฉาเบียดเบียนซึ่งกันและกัน มีความสุขความเจริญไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่มีโรคมีภัยอะไรต่าง ๆ เหล่านี้

เมื่อพวกเรามองเห็นคุณค่าบารมีที่บันดาลให้แก่พวกเราทุกท่านมาแล้ว พวกเราอย่าเข้าใจว่าบารมีธรรมของพวกเราที่สร้างสมอบรมมานี้จะบันดาลให้พวกเราสำเร็จเข้าไปสู่มรรคผล โดยไม่ต้องประกอบอะไร เราต้องนึกถึงพระพุทธเจ้าอย่างที่เล่าสู่ฟังว่า เมื่อพระองค์ออกทรงผนวชแล้ว ทำทุกรกิริยาถึง ๖ พรรษา ก็ไม่เป็นไปเพื่อการตรัสรู้ ต่อเมื่อพระองค์ทรงดำเนินถูก จึงเป็นไปเพื่อความสำเร็จมรรคผล

เพราะเหตุนั้น พวกเราก็เหมือนกันอาศัยบารมีของพวกเราอย่างเดียว แต่เมื่อพวกเราประกอบทางปฏิปทาของพวกเราไม่เป็นไปเพื่อมรรคผล ก็ไม่มีช่องทางใดที่จะเป็นไปเพื่อมรรคผล กำลังของบารมีก็เพียงแค่พวกเรามองเห็นว่า บันดาลไม่ให้พวกเราลุ่มหลงในวัตถุต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วนั้น

เพราะฉะนั้น พวกเราที่ต้องการดำเนินเข้าไปสู่มรรคผลนั้น ต้องเอาอย่างพระพุทธเจ้าว่าพระองค์ทรงดำเนินไปอย่างไร ที่พระองค์ปรารถนาต้องการจะทำลายภพทำลายชาติ เพราะภพชาติเป็นสาเหตุใหญ่แห่งความทุกข์ ภพชาติเป็นต้นเหตุสิ่งต่าง ๆ มันมาจากภพทำลายชาติ ภพของจิตอยู่ที่ไหน เมื่อพระองค์พิจารณาเห็นว่าการเดินจนของจิตเข้าไปสู่สัญญาอารมณ์ต่าง ๆ มีความดีใจ มีความเสียใจ ในเมื่อจิตประหวัดไปตามอารมณ์สัญญานั้นเป็นธงของภพชาติ การจรเข้าไปสู่ภพเรียกว่า ทางไต่เต้าเข้าไปหาภพ พระองค์จึงได้สร้างกำลังของตปธรรม คือ ตัวเฉลียวระลึกรู้เป็นเบื้องต้น เข้าไปกางกั้นจิต แล้วใช้ปัญญาพิจารณาถึงประโยชน์ให้เห็นชัด อย่างที่พวกเรามองเห็นไฟดังกล่าวแล้วนั้น จิตของเราจะไม่มีความสามารถเดินเข้าไปสู่ภพ จิตของพวกเราจะไม่ปรารถนาภพ จิตของพวกเราจะปรารถนาความบริสุทธิ์ผุดผ่อง คือ พระนิพพาน

ด้วยเหตุนั้น พวกเราได้ยินได้ฟังสัมโมทนียกถา โดยอุบายวิธีแนะนำให้พวกเราทุกท่านได้มีความปลื้มปีติในธรรมะที่พระองค์ได้ทรงดำเนินตลอด เล่าถึงเรื่องอุบายวิธีที่พระองค์ทรงหาช่องทางดำเนินเข้าไปสู่การทำลายภพของจิต หรือปฏิบัติจิตไม่ให้เป็นไปโดยธรรมชาติ พร้อมที้งหาช่องทางเอาธรรมะเข้ามาเป็น “วิหารธรรม” ของพวกเรา จะได้เอาธรรมะเข้ามาเป็นเครื่องอยู่ ให้พวกเราได้มีความปลาบปลื้มใจต่อคุณค่าของธรรมะที่พวกเราผู้ประพฤติปฏิบัติตาม เมื่อหากพวกเราได้มีความปลาบปลื้มใจแล้ว และเข้าใจแล้ว จงพากันหาช่องทางดำเนินประพฤติปฏิบัติตามพวกเราทุกท่านก็จะได้รับความสุข ความเจริญงอกงามไพบูลย์ในบวรพระพุทธศาสนาต่อไป เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้ฯ




www.khaosukim.org/dharma/ubai_t_bumpen.html
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป: