ที่พึ่งอันสูงสุด
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ที่พึ่งอันสูงสุด  (อ่าน 1244 ครั้ง)
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« เมื่อ: เมษายน 23, 2011, 07:18:22 am »



ที่พึ่งอันสูงสุด

วันนี้เป็นวันพระซึ่งนับเนื่องมาจากองค์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราว่า เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพุทธศาสนา เป็นวันที่พวกเราชาวพุทธจะมาทำความเข้าใจกันในธรรมะ ซึ่งให้เกิดประโยชน์แก่พุทธบริษัททั้งหลาย เป็นธรรมะซึ่งเป็นสัจธรรมนำชีวิตของประชาชนชาวพุทธทั้งหลายนั้น ให้ลุถึงความสงบระงับให้รู้จักดี ชั่ว บาป บุญ คุณ โทษ พอที่จะรักษาตัวได้ในชีวิตที่เป็นอยู่

ความเป็นจริงนั้น วันพระทุกวันนี้ เกือบจะไม่เป็นวันพระ เพราะว่าคนเราไม่สนใจ ไม่ยอมรับธรรมะคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ได้ยินอยู่แต่ไม่รู้ รู้อยู่แต่ไม่เห็น หรือเห็นอยู่แต่ว่ามันไม่รู้ ก็หมายความว่ามันทั้งไม่รู้ทั้งไม่เห็น เห็นอะไร? เห็นความจริง เห็นสัจธรรมความเป็นจริง

อันความจริงนั้น จะทำอยู่คนเดียวมันก็จริง จะทำอยู่หลายคนมันก็จริง เราทำที่มันจริงแล้วถึงคนอื่นจะว่าไม่จริง มันก็ยังเป็นของจริง อันนั้นเรียกว่าของจริง ไปทำอยู่ที่บนอากาศ มันก็เป็นความจริง จะไปทำอยู่ในน้ำ มันก็เป็นความจริง จะทำอยู่บนบกมันก็เป็นความจริง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าของเราท่านจึงว่าธรรมะนั้นน่ะเป็นความจริง จริงทุกกาลทุกเวลาที่ผ่านมาแล้ว ตั้งแต่วานนี้มันก็เป็นความจริง ในปัจจุบันนี้มันก็เป็นความจริง อนาคตมันก็ยังเป็นความจริง หมายความว่าเราทำความผิดไม่มีใครเห็น มันก็ยังเป็นความจริง เราจะทำความถูกอยู่ไม่มีใครเห็นมันก็เป็นความจริง

ฉะนั้นคนเราเมื่อจะทำความดีนั้นน่ะ ไม่ต้องให้คนอื่นเห็น บางคนทำคุณงามความดีก็ต้องการอยากจะให้คนอื่นเห็น ให้คนอื่นเป็นพยาน จึงจะดีอกดีใจ อันนั้นก็ดีอยู่ แต่ว่ามันยังไม่จริง ไม่บรรลุถึงความจริง...จริงๆ ไอ้ความจริงนั้นแม้เราจะไปลอบทำอยู่คนเดียว ทำความชั่วมันก็ชั่วอยู่นั่นแหละ ทำความดีอยู่คนเดียวไม่มีใครเห็น มันก็ยังดีอยู่นั่นเอง มันเป็นเสียอย่างนั้น ไม่ต้องว่าเราทำความชั่วคนเห็นแล้ว มันจะเพิ่มชั่วขึ้นมาอีก ไม่ใช่อย่างนั้น เมื่อเราทำความดีจริงเมื่อคนเห็นแล้ว มันจะเพิ่มความดีขึ้นมาอีก มันก็ไม่เป็นอย่างนั้น

อันนี้ถ้าหากว่าความดีทั้งหลายที่เราได้ ปฏิบัติกันแล้ว มันจึงตัดซึ่งลาภหรือยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์...ไม่มีที่ลับ ทำดีก็ได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่ว อันนี้เป็นความจริง พระพุทธองค์ท่านตรัสอยู่อย่างนั้น พระพุทธองค์ท่านทำความดี ท่านละความชั่วท่านออกไปบำเพ็ญนั่งหลับหูหลับตาที่ไหน ไกลรูป เสียง กลิ่นรส ท่านก็ยังมีความดี สาวกทั้งหลายก็เป็นอย่างนั้น แต่ว่าคนเราทุกวันนี้จิตใจไม่แน่นอน ไม่มีศรัทธาอย่างเป็นจริง ทำอะไรที่เป็นความดีอยากจะให้คนเห็น ถ้าคนไม่เห็นแล้วก็ไม่ค่อยสบายใจ ทำความชั่วก็เหมือนกันไม่อยากให้คนเห็น ถ้าคนเห็นแล้วมันจะเป็นยังไงก็ไม่รู้ ทำความชั่วที่คนไม่เห็นน่ะมันดี...อย่างนี้ ความที่เป็นขโมยในตัวของเราอยู่อย่างนี้ตลอดกาลตลอดเวลานั้น คนเราจึงไม่พบความจริง คือธรรมะ

ความเป็นจริงธรรมะนั้นมันมาตกลงอยู่ที่จิต ของเราอย่างการกระทำบุญน่ะ กระทำบุญทุกชั้นทุกส่วนก็เพื่อจะให้จิตเราเป็นบุญ เมื่อจิตเราเป็นบุญแล้ว จะนั่งอยู่มันก็เป็นบุญ จะเดินอยู่มันก็เป็นบุญ จะไปที่ไหนมันก็เป็นบุญ คนผู้ที่รู้จักบุญถึงแม้ว่าคนอื่นไม่เห็นก็เป็นบุญอยู่นั่นเอง คือความเห็นชอบอยู่ที่ตรงจิตใจของเรา การทำบุญทั้งหมดนั้นต้องการให้จิตเราเป็นบุญ ถ้าจิตเราเป็นบุญแล้ว ทำบุญอยู่ที่ไหนมันจะเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่ต้องฉลอง ไม่ต้องให้คนรู้ ไม่ต้องให้คนเห็น ไม่ต้องมีอะไร มีแต่กำลังจิตที่เชื่อมั่นในความดีแล้วเราก็ทำไป เท่านั้นแหละ

เพราะฉะนั้น พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านทำคุณงามความดีของท่านน่ะ อยู่ที่ไหนท่านก็ทำของท่าน ใครจะว่าไม่ดีสักเท่าไรมันก็ดีอยู่นั่นแหละ เมื่อทำสิ่งที่ไม่ดี เขาจะว่าดีอยู่แค่ไหน มันก็ไม่ดีอยู่แค่นั้น อันนี้ก็เป็นเหตุอันหนึ่งที่จะให้พวกเราทั้งหลายทำความเข้าใจในธรรมะ ถ้าเราเข้าใจธรรมะอย่างลึกนี้แล้ว เราก็ไม่ต้องส่งจิตใจของเราออกไปข้างนอก เราอยู่ข้างในของเรา ทำจิตให้เป็นบุญ ไปแสวงหาบุญนอกใจเจ้าของมันก็ลำบาก นั่งรถนั่งเรือ วิ่งไปวิ่งมาตลอดกาลตลอดเวลา อย่างญาติโยมเขาทำบุญกันนั่นแหละ ไปทอดกฐินตรงนั้น ไปทำผ้าป่าอยู่ตรงนี้ แต่ไม่ค่อยได้ฟังธรรมหรอก พอไปนั่งกราบพระก็รีบจะไปแล้ว มันรถเขา เช่าเขามาต้องรีบวิ่งไปนั่ง แล้วก็รีบลุก ลุกแล้วก็รีบเดิน เดินแล้วก็รีบวิ่ง รีบไปรีบมา มีแต่รีบทั้งนั้นแหละ ไม่ได้อะไรเป็นสาระประโยชน์ในด้านจิตใจของเรา อันนี้คือคนวิ่งหาบุญ

บุญกุศลแท้ๆนั้น ไม่ใช่อื่นไกลหรอกในหลักพุทธศาสนามีพระพุทธหนึ่ง พระธรรมหนึ่ง พระสงฆ์หนึ่ง เมื่อบุคคลมาทำใจให้เชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์ อย่างแน่นแฟ้นแล้ว มันก็ไม่ตกนรกเท่านั้นแหละ

สมัยนี้ชาวพุทธเราทั้งหลาย เห็นเป็นของยาก เป็นของลำบาก ถึงแม้จะทำบุญ ถึงแม้จะฟังธรรม ถึงแม้จะสร้างคุณงามความดี จะต้องให้คนอื่นบังคับจับมือ ถ้าคนอื่นไม่บังคับ ไม่จับมือแล้วก็ไม่ยอมทำ ไม่กล้าทำ เพราะฉะนั้นธรรมอันแท้จริงเราจึงไม่เห็น เราจึงไม่เห็นว่าทำจิตใจของเรานั่นเอง ฉะนั้นจิตใจของเรานี้ถ้ามาพิจารณาดูแล้วมันไม่อยู่ที่อื่นหรอก บุญบาปอยู่ที่จิตใจของเรา ท่านจึงได้ค้นจิตของเรานั้นกับธรรมะ แต่จิตเรามันไม่ได้ฝึก เราจะไปเชื่อจิตของเราอย่างเดียวว่า เราชอบอันนี้มันดี บางทีมันก็ชอบอันผิดๆ นั่นแหละว่าดี แต่ว่ามันดีเฉพาะใจของเรา แต่ความจริงมันแล้วขาดจากธรรมะมันเป็นของไม่จริงโดยสัจธรรม

เพราะฉะนั้นต้องเอาจิตของเราน้อมไปสู่ ธรรมะ อย่าดึงธรรมะเข้ามาสู่จิตของเรา เราต้องดึงจิตของเราเข้าไปสู่ธรรมะอย่างผู้น้อยต้องน้อมเข้าไปหาผู้ใหญ่ ไม่ต้องให้ผู้ใหญ่น้อมเข้าไปหาผู้น้อย เราเป็นสาวกของพระพุทธองค์ จะต้องน้อมเข้าไปสู่พระพุทธเจ้าของเรา ไม่ใช่ให้พระพุทธเจ้าน้อมเข้ามาหาสาวก มันเป็นธรรมเนียมมาแต่ดึกดำบรรพ์มาแล้ว

ธรรมะก็ดีเป็นของที่สูงสุด แต่ตัวเรานี้เป็นคนที่ไกลจากธรรมะ เมื่อเราอยากจะเห็นธรรมะ เราก็ควรดึงธรรมะเข้ามาสู่ใจเรา ให้ใจเราน้อมเข้าไปหาธรรมะ เพราะธรรมะเป็นสัจธรรมจิตใจของเราเป็นต้นมันยังไม่ได้ฝึกฝนให้มันเป็นธรรมะ เป็นต้นว่า เราชอบอันนี้ อันที่เราชอบนี้มันจะดีแล้วหรือ? มันก็ยังไม่ใช่ดีก็เฉพาะจิตใจที่เราว่ามันดีที่เราชอบมัน บางทีเราชอบของไม่ดีก็เข้าใจว่าของดี ชอบของผิดๆ แต่ก็นึกว่ามันดี แต่ว่าความเห็นว่าดีน่ะ แต่จิตเราไม่รู้จัก เพราะจิตของเรายังไม่ได้ฝึกฝน จิตที่ฝึกฝนดีแล้วมันจึงเข้าสู่ธรรมะ น้อมจิตเราเข้าไปสู่ธรรมะเสียก่อน เพื่อให้จิตเรากลมเกลียวกับธรรมะ ให้จิตเป็นธรรมะให้ธรรมะเป็นจิต จะนั่ง จะยืน จะเดิน จะนอนอยู่ที่ไหนมันก็เป็นธรรม เมื่อจิตเป็นธรรม ความคิดเราก็เป็นธรรม สภาวะที่เราคิดนั่นมันก็เป็นธรรม เป็นความจริงเป็นสัจธรรมอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นจิตเจ้าของบางทีมันก็เป็นธรรมะ เราก็ไปเข้าใจสิ่งที่ผิดนั้นว่ามันถูกแล้วก็ไปชอบเข้า ดังนั้นท่านจึงให้ฟังธรรม ฟังธรรมเพื่อให้รู้จักธรรมะ ให้รู้ให้เห็นธรรมะอยู่ที่ใจความโง่หรือความฉลาดมันก็อยู่ที่จิตใจของเรา ความมืด ความหลง ก็อยู่ที่จิตใจของเรา ความรู้ความสว่างมันก็อยู่ที่จิตใจของเรา เหมือนกันกับที่ว่าจานใบหนึ่งที่สกปรก หรือพื้นฐานที่บ้านหรือศาลาเรานี้มันสกปรก มันถูกน้ำมันหรือความสกปรกอันใดอันหนึ่ง ก็สกปรกอยู่ที่มันสกปรกนั่นแหละ เมื่อเราอยากจะให้สะอาด เราก็เอาน้ำมาล้างมันเสีย ของสกปรกมันก็หายไป พื้นศาลาพื้นบ้านก็สะอาดขึ้นมา

เราก็จะเห็นได้ว่า สิ่งที่มันสกปรกนั้นก็คือจิตของเรา ถ้าหากว่าเราทำความถูกต้องดีแล้ว ของที่สะอาดมันก็ยังมีอยู่ เหมือนพื้นศาลามันสกปรก หรืออะไรต่างๆ ที่มันได้สกปรกนั้นเมื่อมาเช็ดมาล้างสิ่งที่มันสกปรกออก ความสะอาดมันก็พ้นขึ้นมาอยู่ที่นั้น ที่ของสกปรกมันปกปิดอยู่นั่นเอง ความชั่วและความดีของเราทั้งหลายก็เหมือนกันฉันนั้น ความชั่วอยู่ตรงไหนความดีก็อยู่ตรงนั้น ความผิดอยู่ตรงไหนความถูกก็อยู่ตรงนั้นความสกปรกอยู่ที่ไหนความสะอาดก็อยู่ ที่นั้น จิตใจเรานี้ก็เหมือนกันฉันนั้น

ธรรมชาติจิตของเราจริงๆนั้นน่ะ มันเป็นจิตที่สม่ำเสมอเป็นจิตที่ไม่เศร้าหมอง เป็นจิตที่ผ่องใสขาวสะอาดอยู่อย่างนั้นที่เศร้าหมองนั้นเพราะมันไปพบกับ อารมณ์ พบกับธรรมารมณ์ที่ไม่ชอบของเรานั่นแหละก็ทำใจของเราให้ขุ่นมัว ทำใจของเราให้เศร้าหมอง ทำใจของเราให้ไม่สะอาด ทำใจของเราให้สกปรก นี่เพราะอะไร? ไม่ใช่จิตของเรามันสกปรก เพราะจิตของเรายังไม่แน่นอน ไม่เชื่อมั่นในธรรมทั้งหลายนั่นเอง เมื่อประสบกับอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ใจเราก็เศร้าหมอง ได้อารมณ์ที่ชอบใจ ใจเราก็ผ่องใส มันก็เป็นอย่างนั้น

ฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของ เรา ท่านจึงให้ปฏิบัติ ไม่ให้พูดเฉยๆ ให้ปฏิบัติก็คือให้ทำความเป็นจริงเช่นว่า เราสมาทานซึ่งศีลอย่างนี้เป็นต้น ก็ว่าปานา...อทินนา...กาเม...มุสา...สุรา นี่เรียกว่าศีล แต่เป็นเพียงคำพูดถึงศีลไม่ใช่ตัวของศีล สภาวะของศีลนั้นไม่ใช่ว่าการพูด มันเป็นการกระทำจริงๆ เช่นว่า ไม่ฆ่าสัตว์อย่างนี้ เราก็ไม่ฆ่าจริงๆ ไม่กินสุราเราก็ไม่กินจริงๆ ไม่พูดโกหกเราก็ไม่โกหกจริงๆ เราไม่ขโมยของคนอื่นเราก็ไม่ขโมยจริงๆ ไม่ใช่ดีแต่พูดเฉยๆ ศีลมันอยู่ที่ตรงนั้น อยู่ตรงที่กระทำ ไม่อยู่ตรงที่พูด ที่พูดขึ้นเพื่อชี้ให้เห็นว่า อันนั้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อเราตกลงใจว่าเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็ลงมือกระทำเลย ลงมือประพฤติลงมือปฏิบัติเลย ก็จะเกิดเป็นผลขึ้นมา อันนั้นท่านเรียกว่าก้อนศีล

ที่เราพูดตามภาษาของเรานี้มันก็ลำบาก ถึงวันพระไปรักษาศีล ความเป็นจริงนั้นมันเป็นคำพูดที่ต่อกันมาเรื่อยๆ เป็นประเพณี เมื่อเราเพ่งความหมายแล้ว ศีลน่ะเห็นว่าโง่กว่าเราเสียแล้วละมัง ถึงจะต้องไปรักษามัน ศีลคงจะไม่ดีขนาดเรา เราถึงไปรักษาศีล ถ้าพูดตามความเป็นจริงแล้วศีลน่ะไม่ต้องไปรักษาท่านหรอก ท่านดีแล้ว มารักษาตัวเรานี้เอง รักษากาย วาจา ใจของเรานี้ให้ดี ศีลมันก็เกิดขึ้นมา เราไม่ต้องไปรักษาศีลแต่รักษาตัวของเรานี้ คำพูดอันนี้มันพูดสูงเกินตัวไปเสียแล้วละมัง ว่าเราไปรักษาศีล

บางคนไม่รู้จักศีลเลยก็เข้ามาวัด ถามไปไหน? ไปรักษาศีล ก็คิดว่าศีลน่ะมันเป็นของยาก มันเป็นของลำบาก ความเป็นจริงมันสะท้อนกลับมา และก็มารักษาตัวเรานี้เอง เมื่อรักษาตัวดีไม่มีโทษ ศีลก็เกิดขึ้นมาที่ตรงนั้น ฉะนั้นศีลนี้ไม่อยู่กับคำพูด แต่อยู่กับการกระทำ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสอนให้ฟังอย่างนี้ ให้ความดีเข้าไปฝังในใจ ถ้าความดีเข้าไปฝังในใจแล้ว ความทุกข์มันก็ถอนออกไป ห่างออกไปมันเป็นอย่างนั้น

ทีนี้เรามองไม่เห็น สิ่งที่มันเบาที่สุดเราก็เห็นเป็นหนัก สิ่งอะไรมันหนักเราก็ไปเห็นมันเป็นเบา อะไรที่มันผิดเราก็เห็นว่ามันถูก อย่างอาตมายกตัวอย่างให้ฟังว่า วันหนึ่งนั่งอยู่ในวัดเรานี่แหละ มีโยมคนหนึ่งมาจากอำนาจเจริญ เคยเป็นปราชญ์มาเคยบวชเป็นพระมา ออกมาเป็นฆราวาส ก็เป็นคนทำบุญสุนทร์ทานอยู่ตลอดเวลา วันหนึ่งแกก็มาจากอำนาจเจริญ ว่า "มีทุกข์หลาย ทุกข์มาหลายวันแล้วแก้อะไรไม่ตก นึกถึงหลวงพ่อองค์เดียวน่ะที่จะให้ผมมีความสว่าง ที่ไหนผมไม่นึกเห็นแล้ว"

อาตมาก็เลยว่า "ทำไมมันทุกข์?" บอกว่า "มันเรื่องใหญ่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เรื่องใหญ่เหลือเกิน" พูดแล้วน้ำตามันก็ไหลออกด้วย "หยุดบ้างซิโยม พูดให้ฟังซิมันเรื่องอะไรหนักหนา" เขาก็เลยคลานเข้ามากราบใกล้ๆ กระซิบว่า..."หลวงพ่อ...เมียผมตาย" หือ.. บอกว่า "เมียผมตาย" "อ้อ...นึกว่ามันใหญ่ อันนี้มันเรื่องเล็ก มันเกิดๆตายๆกันมาตลอดกาลตลอดเวลานมนานมาแล้วเคยเห็นคนเกิดไม่ตายไหม?" เกิดมาแล้วมันต้องตาย เรื่องเกิด เรื่องตายไม่ใช่เรื่องใหญ่ เป็นเรื่องธรรมดาของเรา ขนาดนี้มันก็ยังมองไม่เห็นว่ามันเป็นเรื่องใหญ่จนจะแก้ไม่ไหว เลยจนกว่าที่ว่าไม่เคยเห็นคนเกิด ไม่เคยเห็นคนแก่ ไม่เคยเห็นคนตาย ความเป็นจริงเกิดตายตั้งกี่ศพมาแล้ว ทำไมเราไม่พิจารณา ทำไมให้เป็นเรื่องใหญ่ จนเดือดร้อนกระวนกระวายกินไม่ได้นอนไม่หลับ

อาตมาบอก "คิดใหม่ซิ อันนี้มันไม่ใช่เรื่องใหญ่หรอก พ่อของโยมอยู่ไหม? ไปไหน?...ตายนั่นแหละตายแล้ว แม่ล่ะ?...แม่ก็ตายแล้ว มันจะเรื่องใหญ่อะไรนะ เราเป็นลูกมันจะไม่ตายหรือ อันนี้มันเรื่องธรรมดา โยมไปย้อนคิดใหม่ซิว่า..ไปคิดเรื่องใหญ่มันก็ใหญ่เท่านั้นแหละ มันเรื่องเล็กๆ เรื่องธรรมดา เรื่องคนเกิดคนตายในโลก มันเป็นอยู่อย่างนั้น"

ดังนั้นเมื่อเกิดมาพระพุทธเจ้าท่านให้รีบ ทำคุณงามความดีเพราะมันเป็นอย่างนั้น ก็เลยพูดกันไปพูดกันมา มีโยมผู้หญิงคนหนึ่งนั่งอยู่ข้างๆ ถามว่า "โยมมากับใครล่ะไหนว่าแม่บ้านตายแล้ว" ... "อันนี้แม่บ้านอีกคนหนึ่ง" "อ้าว...ทำไมมีหลายคนเหลือเกินล่ะ มันยังดีนะสองคน คนหนึ่งตายคนหนึ่งยังนี่ อีกบางคนแม่บ้านตายคนหนึ่งก็หมดยิ่งร้ายกว่าโยม เอาละพอแล้วตายคนหนึ่งยังอยู่คนหนึ่ง มันจะเรื่องใหญ่อะไร ให้ไปคิดใหม่" แกก็นั่งฟัง นี่คือความคิดของคนเรา ไม่รู้จัก...คือคนไม่รู้จักแก่ ไม่รู้จักเจ็บ ไม่รู้จักกาย ไม่รู้ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย

บางคนจะไปเทศน์ว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่สบายใจนะยิ่งคนฝรั่งเมืองนอกไปพูดเรื่องแก่ให้ฟังลุกหนีเลย เขาไม่อยากแก่ เขาอยากเป็นของเขาอยู่อย่างนั้น เมื่อคนเฒ่าชะแรแก่ชราอยู่อย่างนี้ ไม่เอา ไม่อยากได้ เพราะฉะนั้นเมืองนอกคนแก่เขาทิ้งไม่เหมือนเมืองไทยเรา หนุ่มๆสาวๆ เขาเกิดมาเขาหนีไปเที่ยวกัน คนแก่เขาทิ้งไปทั้งหมด แก่แล้วทิ้งทั้งนั้นแหละ ไม่ต้องไปเก็บหรอก

ให้พิจารณาให้เห็น อย่างที่ชลบุรีก็เหมือนกัน เอาคนแก่ไปเก็บไว้เลี้ยงอาตมาเคยเข้าไปดูแล้ว คนแก่ ๗๐ ปี ๘๐ ปีน่ะอยู่นั่นแหละให้พยาบาลมารักษา อาตมาเข้าไปเทศน์ตรงนั้น นึกๆไปก็น่าสลดสังเวช นึกไปนึกมาก็เหมือนกับเปลือกแตงโมเขาเอาไปทิ้ง ทานแล้วมันเหลือแต่เปลือก เขาก็เอาทิ้งลงคลองไปที่เลี้ยงคนแก่ที่ชลบุรีก็เหมือนกัน เข้าไปที่นั่นเหมือนเปลือกแตงโม มีแต่คนแก่ๆทั้งนั้น คนหนุ่มๆเขาไม่ค่อยเข้าไปหาหรอกมีแต่ไปหาเข้าโรงหนัง เข้าลิเก ลคร รำวงเล่นตามสบาย คนแก่ก็ลำบากไปเถิดแก่ไปเถอะ...ไม่มองถึงนะ

เพราะฉะนั้นเมืองนอกก็เป็นอย่างนั้น คนแก่เขาเอาไปทิ้งคนหนุ่มๆ เจริญไปอีกหน่อย พอแก่เข้าก็เอาไปทิ้งเหมือนกัน อาตมาพูดให้ชาวฝรั่ง...อันนี้คือกรรม แต่ก่อนเราทิ้งคนแก่ พอเราแก่คนหนุ่มเขาก็ทิ้งเราเหมือนกัน เป็นอยู่อย่างนี้ถ่ายทอดอยู่ตลอดเวลา อันนี้แหละความอบอุ่นของเมืองนั้นน่ะ ไม่เหมือนเมืองไทยเรา

เมืองไทยเรานั้นเทศน์ธรรมะให้ฟัง ให้เห็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ว่ามันเป็นธรรมะอันเป็นที่น่าสลดสังเวช เมื่อเราจะทำอะไรก็ต้องพิจารณา เมื่อเราหนุ่ม เราก็ทวนถึงคนแก่ เมื่อเห็นคนแก่เราก็ทวนไปถึงคนหนุ่ม มันเกาะกันเป็นลูกโซ่อย่างนี้ ฉะนั้นพระพุทธองค์สอนว่า ให้มีเมตตา ให้มีอุปการะคุณแก่บุคคลผู้ที่มีคุณ ทางนอกเขาไม่สอนอย่างนี้เขาสอนว่าคนแก่ก็แก่ไป คนหนุ่มกหนุ่มไป มันเรื่องของใครของมันทั้งนั้นแหละ มันเป็นเสียอย่างนี้ เมื่อพูดไปตามความเป็นจริงแล้ว หลักธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราน่ะ เลี้ยงลูกมาก็รัก เมื่อรักก็อยากจะให้รู้จักบุญคุณของพ่อแม่ ถ้าเลี้ยงมาไม่มีบุญคุณ ก็ไม่รู้ว่าจะเลี้ยงมาทำไม

อันนี้เมื่อพูดถึงธรรมะขององค์สมเด็จพระ สัมมาสัม-พุทธเจ้าของเรา แก่ขนาดไหนคนเมืองไทยก็ไม่ทิ้งกัน อันนี้เป็นความอบอุ่นในเมืองไทย ฉะนั้นพวกเรานี่ก็เหมือนกันฉันนั้น เราจะต้องพิจารณาธรรมะ พิจารณาให้เห็นว่าสังขารมันต้องเปลี่ยนไปๆ เรื่อยๆ ไอ้ความเปลี่ยนไปนั้นน่ะ มันเกิดมาแล้วเป็นเด็ก แล้วก็เป็นหนุ่มแล้วก็เป็นแก่ เฒ่าชะแรแก่ชรา แต่ว่าจิตใจของคนเราน่ะ มันไม่อยากจะให้มันเปลี่ยนไปอย่างนั้น หนุ่มแล้วไม่อยากให้แก่ แก่แล้วไม่อยากให้ตาย ให้อยู่อย่างนี้ๆนี่คือความเห็นผิด อันนี้มันอยู่ไม่ได้หรอก มันเรื่องอนิจจังเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงตามธรรมดาของมัน ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงเราจะอยู่ในโลกไม่ได้นะ

เหมือนผลไม้เมื่อมันแก่จากดิบมันก็ห่าม ไอ้ความเปรี้ยวมันก็หายไป เมื่อมันสุกมันก็เปลี่ยนไปเป็นหวาน ถ้าเราไม่อยากให้มันเปลี่ยนจะเกิดประโยชน์อะไร เปรี้ยวก็ให้มันเปรี้ยวอยู่อย่างนั้น ดีไม่ดีก็จะไม่ได้กินมะม่วงสุกเสียด้วยนะ เพราะไม่อยากให้มันเปลี่ยน ความเปลี่ยนแปลงน่ะมันดีแล้ว อย่างลมหายใจเข้าไปแล้วก็ออก ออกไปแล้วก็เข้า เราอยู่มาตลอดทุกวันนี้ก็เพราะอาการมันเป็นอย่างนี้ เพราะอนิจจังมันเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงจะอยู่ได้ไหม? หายใจเข้าไปแล้วอึดใจไว้ไม่ให้ออกจะอยู่ได้ไหม? ออกแล้วไม่เข้ามันก็ตายเท่านั้นแหละ เข้าแล้วไม่ออกมันก็ตาย มันอาศัยการเปลี่ยนแปลง เราอยู่ได้ก็เพราะการเปลี่ยนแปลงอย่างนี้

ฉะนั้นเราควรนึกถึงธรรมะเมื่อเรามีชีวิต อยู่ เราควรมองดูข้างๆ ว่าอันนี้พ่อแม่ของเรา อันนี้พี่น้องของเรา อันนี้ลูกหลานของเรา อันนี้ตัวของเรา มันก็พร้อมกันไปอย่างนี้ตลอดกาลตลอดเวลา เพราะธรรมะมันเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นเราจึงฟังธรรมะแล้วมาทำความเข้าใจกัน ให้รู้จักตามความเป็นจริง ยอมรับว่ามันจะต้องเป็นอย่างนั้น มาวันนี้ก็ต้องยอมรับว่า วันต่อไปมันก็ต้องเป็นอย่างนั้น มันจะเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างนั้นทุกเวลา

เมื่อเราเข้าใจธรรมะเช่นนี้ ความเป็นอยู่ก็ดี ความพลัดพรากจากกันก็ดี ก็เป็นธรรมดา เห็นไหมที่เราสวดมนต์กันอยู่ทุกวันนี้ที่ว่า... ให้พิจารณาอย่างนี้ทุกวันๆเถิด พิจารณากันหรือเปล่าก็ไม่รู้? เมื่อสวดแล้วก็ให้พิจารณากันทุกๆวัน ถ้าหากว่ามันเปลี่ยนแปลงเราก็ไม่ควรเสียอกเสียใจ ไม่ควรทำใจให้มันเป็นทุกข์ เพราะว่ามันเป็นอย่างนั้น สัจธรรมมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว ให้ความเห็นเราเป็นอย่างนี้ เมื่อเราได้ฟังธรรมบ่อยๆนะ ความบรรเทาทุกข์อันนี้มันก็จะพ้นขึ้นมา มันก็จะไม่ทุกข์ มันบรรเทาไปๆ มันน้อยไปๆ จนกว่าที่มันจะหมดทุกข์ เพราะเห็นความเป็นจริงอย่างนั้นของธรรมะ ได้แค่นี้ก็เรียกว่าเรามีหลักที่สำคัญอยู่แล้ว การภาวนาของเรา การเป็นอยู่ของเรา ก็จะมีที่พึ่งที่พำนัก (พุทโธเมสะระนังวะรัง...ธัมโมเมสะระนังวะรัง...สังโฆเมสะระนังวะรัง) ที่พึ่งอื่นไม่เหมือนพระพุทธเจ้า ที่พึ่งอื่นไม่เหมือนพระธรรม ที่พึ่งอื่นไม่เหมือนพระสงฆ์ เพราะความเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้น เมื่อเราคิดเช่นนี้ ความทุกข์มันก็ค่อยๆบรรเทาหายไปๆ น้อยไปๆ

ตกลงอยู่ที่ว่าเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดา คนเกิดมาก็เป็นธรรมดา ที่มันเกิดมาแล้วมีความเป็นอยู่ก็เป็นธรรมดา ธรรมดามันเป็นอยู่อย่างนี้ ถ้าเราเข้าใจเช่นนี้มันก็จะค่อยๆบรรเทาทุกข์ออกไป ความอยู่เย็นเป็นสุข ความสงบระงับ มันก็ตั้งขึ้นมาที่ใจของเรานั่นเอง อันนี้เป็นโอวาทคำสอนของพระพุทธองค์ของเรา ฉะนั้นจงพากันตั้งอกตั้งใจให้เข้าใจธรรมะ ให้พิจารณาอย่างนั้น.

ที่มา


บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป: