1. ปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองในประเทศไทย มีมากน้อยเพียงใด?
แหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยประกอบด้วยแหล่งอ่าวไทย (รวมพื้นที่คาบเกี่ยวไทย-มาเลเซีย) แหล่งที่ราบสูงโคราชและแหล่งบนบก ซึ่งมีปริมาณก๊าซธรรมชาติรวมกันประมาณ 30,656 พันล้านลูกบาศก์ฟุต (ที่มาข้อมูล : กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ปรับปรุง ณ เดือนเมษายน 2551) ซึ่งประเภทของปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติ สามารถจำแนกได้เป็น 3 ระดับ คือ
1. ปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว (Proved Reserve) เป็นปริมาณของปิโตรเลียมที่สามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ โดยมีความั่นใจที่จะผลิตได้ในระดับสูง
2. ปริมาณสำรองที่คาดว่าจะพบ (Probable Reserve) เป็นปริมาณสำรองที่ยังไม่ได้พิสูจน์ แต่มีความเป็นไปได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลธรณีวิทยาและวิศวกรรมว่าจะสามารถผลิตได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50
3. ปริมาณสำรองที่น่าจะพบ (Possible Reserve) เป็นปริมาณสำรองที่ยังไม่ได้พิสูจน์ แต่มีความเป็นไปได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลธรณีวิทยาและวิศวกรรมว่าจะสามารถผลิตได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10
และจากปริมาณสำรองดังกล่าวก๊าซธรรมชาติจึงเป็นพลังงานทางเลือกเพื่อทดแทนการใช้น้ำมัน ประกอบกับก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่มีการเผาไหม้สะอาดและลดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการคมนาคมขนส่ง เพราะสามารถช่วยชาติประหยัดเงินในการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้มากทีเดียว อย่างไรก็ตามก๊าซธรรมชาติเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดสิ้นไป จึงควรมีการวางแผนการใช้ก๊าซธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศโดยส่วนรวมในระยะยาว
ดังนั้น เราทุกคนจึงต้องร่วมมือกันใช้พลังงานอย่างประหยัดนะคะ เพื่อให้เรามีพลังงานใช้ได้ยาวนานค่ะ
2. โครงการ City Gas คืออะไร
โครงการ City Gas คือ การนำก๊าซธรรมชาติเข้าสู่เขตเมืองผ่านโครงข่ายท่อย่อยที่เชื่อมต่อจากระบบ ท่อส่งก๊าซธรรมชาติสายหลักเพื่อนำมาใช้ประโยชน์สำหรับชีวิตในเมืองมากขึ้น เนื่องจากก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานสะอาดและมีราคาถูกกว่าน้ำมัน ทำให้ ปตท. มีแผนขยายการให้บริการในวงกว้าง โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ อาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล และที่อยู่อาศัย รวมถึงช่วยลดปัญหาด้านการขนส่งและการขยายสถานีบริการ NGV
แม้คำว่า City Gas เป็นคำค่อนข้างใหม่สำหรับคนไทยแต่ในยุโรป อเมริกา เกาหลี และญี่ปุ่น ไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากกลุ่มประเทศเหล่านี้ได้ต่อท่อย่อยเข้าเขตเมืองหลวง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แหล่งชุมชน เพื่อใช้ชีวิตประจำวันและทำความอบอุ่นในช่วงฤดูหนาว หรือเรียกอีกหนึ่งชื่อว่า Town Gas
3. ก๊าซธรรมชาติสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในสนามบินสุวรรณภูมิได้อย่างไรบ้าง ?
ปัจจุบันก๊าซธรรมชาติถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าสนามบินสุวรรณภูมิ และยังสามารถนำความร้อนที่เหลือมาใช้ในกระบวนการผลิตความเย็นสำหรับระบบปรับอากาศที่เรียกว่า ระบบ Gas District Cooling and Co generation (Tri-Generation) แทนการใช้สาร CFC ที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นระบบที่ใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติได้เต็มประสิทธิภาพถึง 80% มากกว่าภาคไฟฟ้าที่ปัจจุบันใช้ได้เพียง 50% เท่านั้น
ขอขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือระหว่างวารสารสื่อชุมชนและวิชาการดอทคอม
www.pttplc.com