โรคอาหารเป็นพิษยังคงครองแชมป์ปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยที่ส่งผล เสียต่อสุขภาพอนามัยเพราะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่จากการถ่าย อุจจาระ บางรายอาจจะหมดสติถึงตายได้
เนื่องจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่นิยมรับประทานอาหารที่ปรุงไม่สุก หรือพืชที่เก็บตามธรรมชาติ ได้แก่ เห็ด ซึ่งอาจเป็นเห็ดพิษ ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์การระบาดของโรคอาหารเป็นพิษที่สูงขึ้นในช่วงเดือน มีนาคม- กันยายน ซึ่งเป็นฤดูร้อนและฤดูฝน อาจทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี รวมทั้งเห็นในธรรมชาติมีจำนวนมากขึ้น และประชาชนนิยมนำมาบริโภค นอกจากนี้ยังพบได้ในอาหารกระป๋อง อาหารทะเลและน้ำนมที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ
โรคอาหารเป็นพิษ มักเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น ภายหลังจากรับประทานอาหาร อาการของโรคจะเกิดขึ้นภายใน 1 ชั่วโมง จนถึง 8 วัน หลังการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ทำให้เกิดอาหารคลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ เบื่ออาหาร และอุจจาระร่วง
เมื่อเราประสบเหตุอาหารเป็นพิษจากเห็ดพิษ หรือกลอยพิษ ควรทำอย่างไร..?
วิธีแก้ไขโดยการใช้สมุนไพรพื้นบ้านง่ายๆ มีดังนี้ขนานที่ 1 ให้นำใบข่อย 1 กำมือ ข้าวสารเจ้า 1 หยิบมือ นำเครื่องยาทั้งสองตำผสมกันให้ละเอียด ใส่น้ำพอควร คั้นยาเอาน้ำให้ได้สัก 1 แก้ว กินยาที่ได้นั้น จะทำให้อาเจียนพิษออกมา
ขนานที่ 2 ให้เอาผักบุ้งสัก 1 กำมือ ต้มผสมน้ำตาล โดยการ ต้ม 3 เอา 1 ให้กิน 1 แก้ว ถ้ามีอาการหนัก พอต้มเดือดให้กินก่อนก็ได้ แล้วต้มต่อไป รอจนยาได้ที่จึงกินช้ำอีกที
ขนานที่ 3 ให้เอาถั่วฝักยาวมา 1 กำมือ ตำให้ละเอียดเติมน้ำลงไปเล็กน้อย คั้นเอาน้ำให้ได้สักครึ่งแก้ว กินให้หมด จะอาเจียนออกมา
ภายหลังจากแก้ไขภาวะพิษเมาเบื่อ โดยการวิธีการข้างต้นแล้ว ควรจะปฏิบัติดังนี้
1. งดรับประทานอาหารรสจัด ให้รับประทานข้าวต้ม เติมเกลือแกงเล็กน้อย และน้ำข้าวเช็ดแทนน้ำ รับประทานไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหยุดถ่าย หรืออาเจียน
2. รับประทานยาหอมอินทจักร (เป็นยาสามัญประจำบ้านแผนไทย ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายยาไทยทั่วไป) ครั้งละ 1 ช้อนชา ชงละลายน้ำร้อนหรือน้ำขิง ก่อนอาหาร เช้า/กลางวัน/เย็น เพื่อเป็นการแก้ไขลมกองหยาบหรือเป็นการปรับสมดุลย์การทำงานของระบบย่อยอาหาร ให้คืนความเป็นปกติ
* ภาวะความเป็นปกติก็คือ ร่างกายเริ่มอยากอาหารมากขึ้น ไม่มีภาวะท้องอืด,ท้องเฟ้อ สามารถขับถ่ายอุจจาระได้ตามปกติ
แนวทางในการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอาหารเป็นพิษ..* ปรุงอาหารให้สุกอย่างทั่วถึง
* ห้ามรับประทานอาหารดิบ หรือ ดิบๆ สุกๆ โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์
* ควรรับประทานอาหารเมื่อปรุงเสร็จทันที หรือสุกใหม่ๆ
* เก็บอาหารที่ปรุงสุกแล้วอย่างระมัดระวัง ในกรณีที่จะนำมารับประทาน ต้องนำมาอุ่นให้ร้อนอย่างทั่วถึงก่อนรับประทานอีก สำหรับอาหารทารกต้องนำมารับประทานทันทีหลังปรุงสุกและไม่ควรเก็บไว้
* หลีกเลี่ยงการปนเปื้อนระหว่างอาหารด้วยกัน เพื่อไม่ให้อาหารที่ปรุงสุกแล้ว ปนเปื้อนกับอาหารดิบ เช่น การใช้มีด เขียง ต้องแยกระหว่างอาหารดิบและอาหารสุก เป็นต้น
* เลือกอาหารที่มีขบวนการผลิตที่ปลอดภัย
* ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนสัมผัสอาหารและรับประทานอาหาร และภายหลังการใช้ห้องน้ำ อย่าใช้มือสัมผัสอาหารที่ปรุงสุกแล้วโดยตรง
* รักษาสิ่งแวดล้อมในครัวให้สะอาด โดยเฉพาะโต๊ะที่ใช้ปรุงอาหาร
* น้ำดื่มและน้ำใช้ต้องสะอาด โดยเฉพาะน้ำสำหรับปรุงอาหารต้องสะอาด
* ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเตรียมอาหารสำหรับทารกหรือเด็ก
** กินอาหารร้อนๆ สุก สะอาด ปราศจากสารพิษ ล้างมือเป็นนิจ ป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ ชีวิตปลอดภัย**
http://thaiherbclinic.com/node/210