ปลายฝนต้นหนาวแบบนี้ นอกจากจะต้องระวังสุขภาพเป็นพิเศษแล้ว การดูแลตนเองไม่ให้เกิดโรคที่มาในช่วงหน้าหนาวก็เป็นสิ่งสำคัญ และตามที่ได้เคยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับโรคที่จะมาในช่วงหน้าหนาวไปเมื่อ หลายฉบับก่อน ครั้งนี้ขอนำเสนอหนึ่งในโรคที่มักพบได้ในผู้ที่มีผิวแห้งเป็นพิเศษ นั่นก็คือ “ผื่นผิวหนังอักเสบที่มือ หรือ Hand Eczema”
ปกติแล้ว Eczema ก็คือ การอักเสบที่เกิดขึ้นกับ ผิวหนัง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่ Hand Eczema เป็นลักษณะการอักเสบที่เกิดขึ้นบนมือ ซึ่งความรุนแรงขึ้นอยู่กับลักษณะทางคลินิกที่เกิดขึ้น โดยส่วนมากจะพบเป็นตุ่มน้ำจมอยู่ในหนังกำพร้าของผิวหนังบริเวณข้างนิ้วมือ -นิ้วเท้า-ฝ่าเท้า-ฝ่ามือ ผลจากการเกิดตุ่มจะทำให้เกิดอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน จนทำให้เกิดอาการแห้งขึ้น ผิวหนังลอก ผิวหนังหนาเป็นรอยแตก และรอยโรคมักเป็น ๆ หาย ๆ ถ้ารอยโรคลามมาที่หลังมือ ใกล้โคนเล็บ เล็บอาจมีการเปลี่ยนแปลงผิดรูป มีเล็บหนา สีของเล็บเปลี่ยนไปได้
สาเหตุการเกิด สามารถเกิดได้จากปัจจัยภายนอกและภายใน ซึ่งรวมทั้งการสัมผัสกับสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ หรือสารที่มีความระคายเคืองต่อผิว จำพวกผงซักฟอก สบู่ น้ำยาทำความสะอาด ส่วนผสมบางอย่าง ใน เครื่องสำอาง และผลิต ภัณฑ์ดูแลผิวที่ใช้เป็นประจำ หรือการที่มือสัมผัสกับน้ำบ่อย ๆ ถูกอากาศแห้งจัด เย็นจัด ก็จะทำให้เกิดการแพ้ได้ ผลที่เกิดขึ้นที่ทำให้แตก แห้งนั้น จะทำให้ผิวหนังบริเวณมือสูญเสียความแข็งแรงไป ไม่สามารถต้านทานกับสิ่งที่สัมผัสได้
ดังนั้น จึงมีคำแนะนำสำหรับการดูแลผื่นผิวหนังอักเสบที่มือ ดังนี้
หลีกเลี่ยงสารที่แพ้ หากผื่นผิวหนังอักเสบค่อนข้างเรื้อรัง และสงสัยว่าจะเกิดจากการแพ้สารที่สัมผัส ให้มาพบแพทย์ผิวหนังเพื่อทำการทดสอบผื่นแพ้สัมผัสที่ผิวหนัง จนเมื่อทราบว่าแพ้สารชนิดใดแล้ว ก็ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารนั้น
การล้างมือ ไม่ควรล้างมือด้วยน้ำอุ่น น้ำร้อน และให้ใช้สบู่เพียงเล็กน้อย หลังล้างมือซับมือให้แห้ง (โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้ว) แล้วทาผลิตภัณฑ์ที่ให้ความชุ่มชื้น เช่น มอยส์เจอไรเซอร์ ทุกครั้ง ในชีวิตประจำก็ไม่ควรล้างมือบ่อยเกินไปหรือ 2-3 ครั้งต่อวัน งดเว้นการใช้สบู่ที่มีฤทธิ์เป็นด่าง เนื่องจากจะทำให้ผิวหนังที่มีอาการอักเสบอยู่เดิม เกิดการระคายเคืองและทำให้ผิวแห้งตึงได้ หากจำเป็นต้องใช้ควรใช้แต่น้อย โดยฟอกเฉพาะบริเวณที่จำเป็นเท่านั้น เช่น ตามซอกพับ ซอกอับต่าง ๆ ข้อแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่อ่อนโยนปลอดน้ำหอมและสาร กันบูดที่ไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงสบู่หอมและสบู่ที่ผสมยาฆ่าเชื้อ ยาดับกลิ่น หรือวิตามินที่ไม่จำเป็น อาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สบู่ที่ผสมมอยส์เจอไรเซอร์ชนิดปราศจากสบู่ นอกจากนี้ยังให้งดใช้แอลกอฮอล์เจล ยาฆ่าเชื้อ น้ำยาทำความสะอาดทุกชนิดอีกด้วย
การเลือกใช้ครีม-โลชั่น-มอยส์เจอไรเซอร์ ที่ให้ความชุ่มชื้นกับผิว ให้เลือกใช้มอยส์เจอไรเซอร์ทามือบ่อย ๆ ทาซ้ำทุกครั้งที่รู้สึกผิวแห้งตึง และทุกครั้งหลังล้างมือหรือถอดถุงมือ เพื่อไม่ให้มือแห้ง พยายามเน้นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดน้ำหอม ไม่ใส่สี และไม่มีส่วนผสมของสารที่ทำให้แพ้ สำหรับมอยส์เจอร์ไรเซอร์ ถ้ายิ่งมีลักษณะเหนียวเหนอะจะป้องกันการระเหยของน้ำ จากผิว และให้ความชุ่มกับผิวได้ดี เช่น ขี้ผึ้ง วาสลิน จะค่อนข้างให้ผลดี รองลงมาจะเป็นประเภทน้ำมัน mineral oil ครีม และ โลชั่น
นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของยูเรียจะช่วยอุ้มน้ำในชั้นผิว และช่วยเพิ่มการซึมผ่านผิวของยาทาชนิดอื่น ทำให้เพิ่มประสิทธิ ภาพการรักษาด้วยยาทาได้มากยิ่งขึ้น
การเลือกใช้ถุงมือ ในผู้ป่วยที่มีการอักเสบที่มือที่มีอาชีพที่จำเป็นต้องสัมผัสกับสารที่ก่อ ให้เกิดอาการแพ้ ให้เลือกใช้ถุงมือพลาสติก (โพลียูรีเทน) ถุงมือไวนิล หรือ ถุงมือพีวีซี (PVC) ในการสัมผัสกับสารเหล่านั้น ซึ่งจะเป็นการป้องกันการสัมผัสกับสารที่ดีกว่าถุงมือยางลาเท็กซ์ เช่น ถุงมือแพทย์
คำแนะนำเพิ่มเติมในการใช้ถุงมือ ไม่ควรใส่ถุงมือนานเกินกว่า 15-30 นาทีต่อครั้ง เพราะจะทำให้เกิดความอับชื้นและระคายได้ หากมีเหงื่อออกมากให้ใส่ถุงมือผ้าขาวไว้ข้างในถุงมืออีกชั้นหนึ่ง เพื่อดูดซับเหงื่อ ในบางอาชีพที่ต้องสัมผัสกับงานแห้ง ๆ ที่มีฝุ่นสกปรก ให้เลือกใช้ถุงมือผ้าสีขาวที่ไม่อับชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้มือสกปรก จะทำให้ไม่ต้องล้างมือบ่อย ๆ การใส่ถุงมือผ้าสีขาวจะช่วยให้สามารถทามอยส์เจอไรเซอร์ที่เหนียวเหนอะหนะได้ บ่อย ๆ นอกจากนี้หากทายาแล้วใส่ถุงมือผ้าสีขาวก่อนนอนจะช่วยให้ยาดูดซึมเข้าสู่ผิว ได้ดีขึ้น
คำแนะนำอื่น ๆ เช่น ควรถอดแหวนออกขณะทำงานบ้าน และล้างมือ เพราะสบู่ที่คั่งค้างอยู่ใต้แหวนทำให้ผื่นอักเสบที่มือกำเริบได้พยายาม เลี่ยงงานบ้าน งานอดิเรกที่ต้องสัมผัสกับพวกตัวทำละลาย แอลกอฮอล์ น้ำยาทำความสะอาด กาว ขี้ผึ้ง อีป๊อกซี่ เรซิ่น และกาวอีป๊อกซี่ หากจำเป็นต้องทำงานบ้าน พยายามใช้แปรงด้ามยาวในการล้างจาน ทำความสะอาด หากเป็นไปได้ควรใช้เครื่องซักผ้า หรือเครื่องล้างจาน
นอกจากนี้แล้ว ยังให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งของเหล่านี้ด้วยมือเปล่า ได้แก่ อาหาร น้ำผลไม้ เปลือกผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้ตระกูลส้ม มะนาว ส้มโอ เนื้อสัตว์ เนื้อปลา ผัก หัวหอมใหญ่ และกระเทียม เช่นกัน อย่างที่กล่าวไปแล้ว สารที่อยู่ในผลิตภัณฑ์น้ำยาทำความสะอาด ผงซักฟอก น้ำยาขัดเงา น้ำมันก๊าด ทินเนอร์ น้ำมันใส่ผม โลชั่นใส่ผม ยาย้อมผม ให้ใช้ไม้พันสำลี หรือแปรงทาแทนการใช้มือเปล่า หรือให้ใช้ถุงมือเป็นเกราะป้องกันชั้นหนึ่งก่อน.
รศ.พญ. เพ็ญพรรณ วัฒนไกร
หน่วยโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล