ตั๊กแตนใบไม้เป็นแมลงที่อยู่ในอันดับ Phasmatodea แมลงในอันดับนี้ คือพวกตั๊กแตนกิ่งไม้และตั๊กแตนใบไม้ ลักษณะเด่นประการหนึ่งคือ เป็นแมลงที่ไม่ค่อยว่องไว มีการเคลื่อนที่ช้า และไม่กระโดด (Triplehorn and Jonhson, 2005) มีหลายชนิดในประเทศไทย
ตั๊กแตนใบไม้อยู่ในสกุล Phyllium มีลักษณะรูปร่างน่าสนใจมาก พวกมันมีรูปร่างเหมือนใบไม้และลวดลายบนตัวที่เหมือนกับเส้นใบของใบไม้ ทำให้ดูกลมกลืนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย ซึ่งถือเป็นการแสดงพฤติกรรมการดำรงชีวิตเพื่อความอยู่รอด (ลอเรนซ์ เมาน์, 2536) ตั๊กแตนใบไม้เป็นตัวอย่างที่ดีในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม ด้านการป้องกันตัว โดยใช้เทคนิคการพรางตัว เป็นตัวอย่างที่ดีของความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการระหว่างสัตว์และพืช ที่มีวิวัฒนาการมานานกว่า 47 ล้านปี ตั๊กแตนใบไม้จึงถูกนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ทางธรรมชาติวิทยา ชีววิทยา ตลอดจนใช้ในการนันทนาการและการนำไปเลี้ยงเพื่อปลูกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ ตั๊กแตนใบไม้เป็นแมลงอีกชนิดที่มีการซื้อขายกันด้วยราคาสูง จึงเป็นแรงจูงใจให้มีการจับแมลงดังกล่าวจากธรรมชาติ ทั้งที่มีชีวิตและตายแล้ว เพื่อนำไปขายให้กับนักสะสมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ตั๊กแตนใบไม้เริ่มตกอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการคุกคาม (กองบรรณาธิการ, 2548) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เล็งเห็นถึงความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของตั๊กแตนใบไม้ในสกุลนี้ จึงจัดให้ตั๊กแตนใบไม้ทั้งสกุลอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าที่กำหนดให้การนำเข้าหรือส่งออกซึ่งซากหรือตัวที่มีชีวิต ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (กลุ่มงานวิจัยกีฏวิทยาและจุลชีววิทยาป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, 2535)
จากการสำรวจในพื้นที่จังหวัดลำพูน พบว่าสามารถพบตัวเต็มวัยของตั๊กแตนใบไม้ Phyllium sp. ได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือน กันยายน โดยศูนย์ฯได้นำเลี้ยงตั๊กแตนใบไม้จากป่าธรรมชาติ มาทดลองจำนวน 4 ตัว โดย 3 ตัวเป็นตัวเต็มวัย และ 1 ตัว ยังเป็นตัวอ่อน
ลักษณะการออกไข่ และการฟัก
ไข่ตั๊กแตนใบไม้มีสีชมพูอมน้ำตาล ลักษณะคล้ายเมล็ดพืชบางชนิด ทรงเหลี่ยม ขนาดไข่ ยาวเฉลี่ย 0.375 ± 0.013 เซนติเมตร กว้าง 0.013 ± 0.008 เซนติเมตร มีฝารูปวงกลมจะเปิดเมื่อตัวอ่อนฟักออกจากไข่
ตั๊กแตนใบไม้ตัวเมีย ปกติจะไข่ต่อเนื่องกันเกือบทุกวัน อีกทั้งพบว่าตัวเมียจากธรรมชาติที่เลี้ยงตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อน สามารถออกไข่ได้โดยไม่ผ่านผสมพันธุ์กับตัวผู้
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
http://www.dnp.go.th/FOREMIC/NForemic/Phyllium_web/index.htm