ไทยเบิ้ง หรือ ไทยโคราช เบิ้งเป็นคำที่ชาวอีสานกลุ่มอื่นใช้เรียกชาวไทยโคราช เมื่อชาวไทยโคราชอพยพมาอยู่ถิ่นอื่นยังคงใช้ภาษาไทยโคราช ภาษาที่ใช้จึงเรียกว่าภาษาไทยเบิ้ง ที่สำคัญมีเสียงลงท้ายประโยคโดยเฉพาะ ได้แก่ ด๊อก (ดอก) แหล่ว (แล้ว) เบิ้ง (บ้าง) เหว่ย (หว่า) นี้ (เหรอ) เช่น
ด๊อก ใช้ท้ายประโยคเพื่อบอกให้ทราบ โดยเฉพาะประโยคปฏิเสธ เช่น
ไม่เป็นไร ใช้ว่า ไม่เป็นไรด๊อก
ไม่ให้ ใช้ว่า ไม่ให้ด๊อก
เบิ้ง ใช้ท้ายประโยคคำถามให้ตอบ บอกให้ทำหรือขอร้อง เช่น
ขอบ้าง ใช้ว่า ขอเบิ้ง
ไปด้วยคนได้ไหม ใช้ว่า ไปด้วยคนเบิ้ง
แหล่ว ใช้ท้ายประโยคบอกให้ทราบ เช่น
ถูกแล้ว ใช้ว่า ถูกแหล่ว
เหว่าย ใช้ท้ายประโยคเมื่อแจ้งให้ทราบ ให้ตอบ บอกให้ทำ ขอร้อง ชักชวน เช่น
วางลง ใช้ว่า วางไว้ตรงนั้นเหว่ย
เกิดอะไรขึ้น ใช้ว่า เกิดอะไรเหว่ย
เด้อ ใช้ลงท้ายประโยคแจ้งให้ทราบอย่างสุภาพ เป็นคำขอร้องและอาจใช้ร่วมกับคำอื่นได้บ้าง เช่น
กินยาหน่อยนะ ใช้ว่า กินยาเด้อ
ขอยืมหน่อย ใช้ว่า ขอยืมบ้างเด้อ
นี เป็นคำสร้อย คำรับรู้อย่างสุภาพ เช่น
กินข้าวแล้วเหรอ ใช้ว่า กินข้าวแล้วนี
ไปตลาดใช่ไหม ใช้ว่า ไปตลาดนี
ภาษาไทยเบิ้งใช้กันมากในบ้านช่องกุ่ม ต.ช่องกุ่ม บ้านแซร์ออ ต.แซร์ออ อ.วัฒนานคร และบ้านโคกมะกอก (มะกอก) ต.ทัพเสด็จ บ้านหนองปรือ ต.ทัพราช อ.ตาพระยา และบางตำบลใน อ.คลองหาด อ.วังสมบูรณ์ และ อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2545:115)