มือใหม่หัดเล่นเครื่องเสียง
LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่14"
พฤศจิกายน 26, 2024, 06:22:16 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: มือใหม่หัดเล่นเครื่องเสียง  (อ่าน 4582 ครั้ง)
BenQ
member
*

คะแนน214
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4790


อีเมล์
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 13, 2007, 01:14:13 am »

เสียงทุ้มหายเพราะต่อสายลำโพงผิดขั้ว

ทั้ง ๆ ที่ดูแล้วเป็นเรื่องที่ง่ายดายเสียเหลือเกินกับการต่อสายขั้วบวก - ลบ จากแอมปลิไฟร์ไปสู่ลำโพง แต่ก็มีหลายคนต่อผิดพลาด ลองสำรวจให้แน่ใจว่าคุณได้ต่อสายลำโพงอย่างถูกต้องแล้ว สายบวกจากแอมป์ไปยังลำโพงจะต้องเป็นรหัสสีเดียวกัน รวมถึงสายลบด้วย ถ้ามีการสลับสายเสียงทุ้มจากลำโพงจะหายไปหมด เพราะคุณต่อสายผิดพลาด ชนิดที่เขาเรียกว่าต่อผิดเฟส
(OUT OFF PHASE) โดยเฉพาะการต่อผิดเพียงข้างเดียวในแชนแนลซ้ายหรือขวาก็ตาม เมื่อเปิดเสียงจากแอมป์ ลำโพงข้างหนึ่งจะถูกผลักออกไปข้างหน้า แต่ลำโพงในข้างที่ต่อผิดขั้วไดรเวอร์จะดูดถอยหลัง เป็นผลให้เสียงทุ้มนั้นถูกหักล้างไปหมด นั่นเป็นสาเหตุที่ว่า ทำไมบางทีลำโพงตู้ยักษ์ขนาดตั้งพื้นจึงให้เสียงทุ้มบางเบาเสียเหลือเกิน

การต่อสายนำสัญญาณผิดก็มีผลต่อเสียง

เช่นการต่อสายจากซีดีเพลเยอร์ไปยังแอมปลิไฟร์ต่อสลับจากซ้ายเป็นขวา ขวาเป็นซ้าย เสียงที่ได้จะมีลักษณะคล้ายกับเวทีดนตรีแหว่ง ๆ พร่อง ๆ อย่างไรพิกล เพราะเป็นการกลับทิศทางข้างกันของตำแหน่งนักร้องนักดนตรี แผ่นซีดีประเภทบันทึกจากการแสดงสด โดยไม่ผ่านการปรับแต่งเสียงมากนัก จะเป็นแผ่นที่ทดสอบอาการที่ว่านี้เห็นได้จะแจ้งที่สุด โดยที่คุณจำเป็นต้องไปดูหลังเครื่อง สังเกตดูว่าจะพบว่า เสียงหลัก ของชิ้นดนตรีกับเสียงสะท้อน หรือเสียงที่เป็นฮาร์โมนิคของเครื่องดนตรีจะไม่สอดคล้องกัน อาจจะต้องอาศัยการฟังที่ชำนาญหรือระยะเวลาที่ยาวนานสักหน่อย สิ่งที่จะทำให้คุณรู้สึกสะกิดใจมากก็คือ เสียงดนตรีดูขัดแย้งกันเอง หรือเสียงโดยรวมตำแหน่งเวทีกว้างดี แต่ตรงกลางถ้าไม่โหว่ก็แน่นจนเกินจริง

สายต่อไม่แน่นทำให้เสียงแย่ลงอย่างมาก

การต่อสายสำสัญญาณระหว่างเครื่องที่ไม่แน่นหนา อาจจะทำให้เสียงจากเครื่องเสียงแย่ลงอย่างคาดไม่ถึง โดยมากสาเหตุที่ว่านี้ มาจากขั้วต่อหรือแจ็คอาร์ซีเอที่นำมาใช้งาน หรือขั้วต่ออาร์ซีเอของตัวเครื่อง อย่างใดอย่างหนึ่งไม่มาตรฐาน (โดยมากจะเป็นขั้วต่อของสายนำสัญญาณที่ไม่มาตรฐาน) บางครั้งเสียงจะขาด ๆ หาย ๆ เป็นห้วง ๆ หรือมิฉะนั้นก็จะเกิดเสียงที่ขาดน้ำหนัก ดูเบา ๆ บางๆ เสียงทุ้มน้อยกว่าปกติ ในปัจจุบันมีขั้วต่ออาร์ซีเอหลายรูปแบบหลากดีไซน์ออกมาวางจำหน่าย บางรุ่นเน้นที่ความสวยงาม และออกแบบผิดประหลาดไปจากยี่ห้ออื่น ๆ เพื่อจูงใจผู้ซื้อสินค้าเครื่องเสียง ทำให้รูปแบบมาตาฐานนั้นเบี่ยงเบนไป มีผลต่อเสียงเป็นอย่างมาก ก่อนซื้อสายสัญญาณและแจ็คอาร์ซีเอ เพื่อไปต่อใช้งานด้วยตนเอง หรือจะซื้อชุดประกอบสำเร็จก็ตาม ให้พิจารณาดี ๆ และถ้าหากทดลองได้ ควรทดลองเสียบต่อกับเครื่องมาตรฐานทั่วไปดูก่อน

มีหัวแจ็คอาร์ซีเอในแบบของ WBT ซึ่งสามารถเลื่อนหัวแจ็คเข้าออก เพื่อคลายเพื่อขันให้แน่นกับแจ็คที่ตัวเครื่องได้ นับว่าเป็นรูปแบบที่สามารถนำไปใช้งานกับเครื่องทั่ว ๆ ไปได้อย่างไม่ต้องกังวล

จุดตำแหน่งการวางลำโพงและอิทธิพลต่อเสียงจากมุมห้อง

ลำโพงทุกคู่ ไม่ว่าจะเป็นลำโพงตั้งพื้นหรือวางบนชาตั้ง ไดรเวอร์ขับเสียงทุ้มซึ่งเป็นตัวหลักของลำโพง อาจจะก่อปัญหาได้หลาย ๆ ด้าน เมื่อจัดวางอย่างไม่เหมาะสมหรือมีอัตราส่วนที่ใกล้ - ไกลจากมุมห้องจนเกินไป คำว่ามุมห้องมิได้หมายถึงผนังห้องด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ แต่รวมหมายถึงผนังด้านหลังและผนังด้านข้าง ซึ่งประกอบกันเป็นมุมฉาก 90 องศา ลักษณะของการวางลำโพงจะทำให้มุมห้องนี้เป็นเสมือนปากฮอร์นขนาดยักษ์ ถ้าจัดตั้งลำโพงใกล้ชิดมุมห้องมาก จะเป็นการเพิ่มเสียงเบสให้มีน้ำหนักมากขึ้น แต่ถ้าใกล้มุมห้องเกินไปเสียงทุ้มจะแผ่ขยายออกมามากจนรู้สึกเบลอ หรือเสียงเบสบวมได้ หรือถ้าวางห่างจากมุมห้องมากก็จะมีผลทำให้เสียงเบสจาง ได้เช่นเดียวกัน อัตราส่วนที่เหมาะสมระหว่างผนังห้องทั้งสองด้านนี้กับลำโพง ควรวางห่างผนังหลัง-ผนังข้าง ในอัตราส่วน 1 : 2 หรือให้มีความแตกต่างกันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้เสียงเบสจะดูโปร่งลอยเป็นตัวตน นั่นแสดงให้เห็นว่า คุณได้ตั้งลำโพงถูกจุดหรือตำแหน่งของมันแล้ว

ในบางครั้ง มุมห้องที่เป็นผนังก่ออิฐหรือปูน จะสร้างเสียงก้องสะท้อนส่วนเกินออกมาทำให้เสียงเบสพร่ามัว คุณอาจต้องแก้ปัญหาโดยการใช้แผ่นฟองน้ำอคูสติกโฟม ซึ่งมีวางขายกันอยู่ทั่วไปตามร้านเครื่องเสียง ที่พอรู้จักกันก็คือ SONEX, DIAMOND เป็นต้น ฟองน้ำประเภทนี้จะผลิตจากวัสดุทนไป มีคุณสมบัติในการขับความถี่ส่วนเกินแถว ๆ 500-600 เฮิรตซ์ ได้ดีเป็นพิเศษ มีข้อน่าสังเกตคือ ฟองน้ำที่ใช้บุผนังห้องนั้นจะไม่ซับเสียงแหลมให้หดหายหรือขาดห้วน ถ้ามีอาการที่ว่านี้เมื่อคุณใช้ฟองน้ำบุผนัง ก็แสดงว่าฟองน้ำยี่ห้อนั้น ๆ ไม่เหมาะสมต่อการนำการใช้ซับเสียงส่วนเกินของลำโพง

เพดานห้องที่สูงและต่ำเกินไปกับผลของเสียง

เพดานห้องฟังตามปกติทั่วไปควรสูงในระดับ 2.30-2.70 เมตร หรือมีอัตราส่วนไม่สูงไปกว่าด้านกว้างของห้อง เพื่อมิให้เกิดปัญหาเสียงก้องกำธร การเกิดขึ้นของเสียงสะท้อนที่ซ้ำซ้อนในบางความถี่ ตามปกติอัตราส่วนของห้องฟังที่มีลักษณะใกล้เคียงกับมิวสิกฮอลล์ จะได้เปรียบในเรื่องคุณภาพเสียงมาก แต่คงไม่มีใครสามารถสร้างห้องฟังเลียนแบบมิวสิกฮอลล์ ดังนั้นอัตราส่วนห้อง 1 1/2:2:3 น่าจะเป็นอัตราส่วนของห้องฟังทั่ว ๆ ไปที่มีความเหมาะสมต่อการฟังเพลง (สูง 1 1/2ส่วน กว้าง 2 ส่วนและยาว 3 ส่วน)

เรื่องของห้องฟัง บางทีก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงปัญหาไม่ค่อยจะพ้น เพราะห้องฟังเพลงของนักเล่นเครื่องเสียงมักจะมีอยู่ก่อนแล้ว ไม่ใช้ห้องที่มีการวางแผนก่อสร้างเอาไว้ล่วงหน้า ดังนั้นเรามักจะต้องมาแก้ไขกันในภายหลังเสมอ ๆ ซึ่งแต่ละกรณีก็มีความแตกต่างกันไป

ขาตั้งลำโพงมีความจำเป็นมากสำหรับลำโพงเล็ก

ลำโพงวางหิ้วขนาดเล็ก มีความจำเป็นต้องพึ่งขาตั้งลำโพงดี ๆ มีคุณภาพ เพื่อให้ลำโพงนั้นได้แสดงถึงศักยภาพของมันออกมาให้ได้ดีที่สุด ขาตั้งเหล็ก ขาตั้งไม้ จะต้องมีความมั่นคง เมื่อวางบนพื้นไม่เลื่อนไถลไปมาง่าย ๆ จุดศูนย์ถ่วงต้องดี ขาตั้งประเภทมีขาถึง 4 ขา มักจะให้ความมั่นคงดีกว่างขาตั้งลำโพงประเภทขาเดี่ยว การถ่ายทอดความถี่ของลำโพงสัมพันธ์กับขาตั้งแข็งแรง จะมีส่วนในการเสริมเสียงเบสให้แน่นและเสียงกลางแหลมสะอาดดีขึ้น ข้อสำคัญในเรื่องของอินเมจ (จุดตำแหน่งของดนตรี) จะมีส่วนเสริมให้ดีขึ้น ฟงัออกชัดเจนอย่างที่นักเล่นหูทองเขาพูดกันว่า "อินเมจนิ่ง" นั้น มีผลมาจากขาตั้งลำโพงที่ดี ๆ ที่จะมาเสริมเสียงให้กับลำโพงขนาดเล็กนั้นเอง ขาตั้งที่คุณภาพเลวมักจะก่อให้เกิดปัญหาในการทำลายเสียงลำโพงให้ดูแย่ลง เนื่องจากการวางที่ไม่มั่นคง มีอาการสั่นคลอนได้เมื่อมีการสั่นไหวของขาตั้งนั้นเอง ดังนั้นอย่าพยายามประหยัดเงินด้วยการซื้อขาตั้งลำโพงวางหิ้งขนาดเล็กโดยเด็ดขาด

เสียงเบสที่มีคุณภาพในลำโพงนั้นคือความถี่ประมาณ 70-200 เฮิรตซ์ ซึ่งเป็นความถี่ที่จะแตกพร่าหรือมัวมนได้ง่าย หากลำโพงอยู่บนสถานที่ที่ไม่แน่นหนามั่นคง ดังนั้นขาตั้งที่ดีจะต้องสร้างความมั่นคงให้กับลำโพงให้ได้มากที่สุดด้วย


ระดับของทวีตเตอร์ในลำโพงควรเสมอกับระดับหู

การวางลำโพงประเภทใด ๆ ก็ตาม ตัวขับเสียงแหลมควรอยู่ในระดับเดียวกับหูของผู้ฟัง ไม่ควรตั้งลำโพงให้ทวีตเตอร์อยู่สูงเกินไปหรือต่ำมากไปจากระดับหูของผู้ฟัง มีนักเล่นเครื่องเสียงจำนวนมาก ตำหนิชุดเครื่องเสียงของตนว่า เสียงแหลมไม่พลิ้วกังวานทั้ง ๆ ที่ลำโพงนั้นใช้ทวีเตอร์ระดับสุดยอดแล้วก็ตาม เมื่อได้มีโอกาสพิจารณาจุดตำแหน่งที่นั่งฟังแล้ว พบว่าทวีตเตอร์อยู่สูงเกินไป ผู้ฟังนั่นฟังในตำแหน่งที่ต่ำมาก เสียงแหลมเลยไปจากหูหมด รายละเอียดต่าง ๆ ของดนตรีจึงไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะลำโพงที่ให้การตอบสนองความถี่เสียงแหลมเป็นลำแคบอย่างฮอร์นทวีตเตอร์ เมื่อตั้งลำโพงไว้ในตำแหน่งไม่เสมอกับระดับหูของผู้ฟัง เสียงจะดูทึบไปหมด ลำโพงที่ใช้ทวีตเตอร์ชนิดโดมโลหะ มักจะมีผลการตอบสนองความถี่ในแนวดิ่งและแนวนอนได้ดี การวางลำโพงทวีตเตอร์ไม่เสมอระดับหู อาจมีผลของเสียงไม่หนักในลำโพงบางคู่

แต่ก็ไม่ควรวางลำโพงให้ทวีตเตอร์นั้นไม่อยู่ในระดับเดียวกับหูผู้ฟัง ถึงแม้ลำโพงนั้นจะตอบสนองความถี่ได้ดีเลิศสักเพียงใดก็ตาม ยกเว้นเฉพาะลำโพงบางรุ่น ที่นำเอาทวีตเตอร์ไปอยู่ด้านล่างใช้วูฟเฟอร์อยู่ด้านบน กลับตาลปัตรกับลำโพงท้องตลาด ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของคู่มือของลำโพงเป็นหลัก ความถี่เสียงแหลมนั้นควบคุมได้ยากพอสมควร หากว่าจัดตั้งลำโพงไม่ถูกตำแหน่งแล้ว จะยิ่งฟังได้ชัดเจนว่าเสียงดีขึ้น-เลวลงเพียงแค่ชั่วระยะการวางที่แตกต่างกันเพียง 2-3 นิ้ว ดังนั้นการขยับปรับตำแหน่งการวางลำโพงบ่อย ๆ จะช่วยให้คุณพบข้อแตกต่างของเสียงได้มากขึ้น และในที่สุดคุณก็จะพบตำแหน่งที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับซิสเต็มเครื่องเสียง และลำโพงของคุณ

ตรวจจุดแหล่งโปรแกรมว่ามีความสมบูรณ์หรือไม่

ได้แก่การพิจารณาแหล่งโปรแกรมที่มีอยู่ เช่น เครื่องเล่นแผ่นเสียง, คอมแพ็กดิสก์ เพลเยอร์, คาสเซ็ตเทป, จูนเนอร์ ซึ่งความบกพร่องอันเนื่องมาจากแหล่งโปรแกรม นั้นก็มีส่วนทำให้เสียงจากเครื่องเสียงนั้นด้อยลงไปมากมาย ซึ่งจะพอนำมาพูดถึงเป็นส่วน ๆ ไปด้วยต่อไปนี้

- คาสเซ็ตเด็คเสียงทึบ โดยมากจะเกิดจากหัวเทปสกปรก ในขณะที่เส้นเทปวิ่งผ่านหัวเทปเป็นระยะเวลาอันยาวนาน เส้นเทปมีวัสดุเคลือบอยู่ อาจเป็นผงออกไซด์ของเหล็กหรือโครเมียม ซึ่งการเสียดสีบ่อย ๆ กับเส้นเทปที่หมดอายุ หรือใช้วัสดุเคลือบคุณภาพไม่ดี มันก็จะหลุดร่วงติดค้างอยู่บนหัวเทปนั้นเอง เป็นสาเหตุให้เกิดเสียงอับทึบได้ ให้ใช้น้ำยาล้างหัวเทปล้างออกเสีย หัวเทปที่สกปรกนั้น จะสังเกตเห็นได้ว่ามีเศษวัสดุเคลือบเส้นเทปติดอยู่ เมื่อล้างหัวเทปสะอาดแล้วคุณจะได้เสียงที่สดใสคืนมาอีกครั้ง แต่ถ้าล้างหัวเทปแล้วยังมีเสียงอับทึบอยู่ ให้พิจารณาดูว่าคุณเล่นเทปเครื่องนั้นมานานหรือยัง ถ้านานแล้วหัวเทปอาจจะเกิดสภาพแม่เหล็กขึ้นมาก็ได้ ให้ใช้ที่ล้างสภาพแม่เหล็กหัวเทป หรือ HEAD DEMAGNETIZER ซึ่งมีให้เลือกสองลักษณะคือแบบที่คล้าย ๆ กับหัวแร้งบัดกรีตะกั่วกับแบบที่เป็นตลับเทปที่มีวงจรล้างสภาพแม่เหล็กหัวเทปอยู่ภายใน วิธีการใช้งานก็ไม่ยากเลย ใส่ตลับเทปล้างแม่เหล็กหัวเทปลงไปแล้วกด PLAY ตามปกติธรรมดา ใช้เวลาประมาณครึ่งนาที เครื่องล้างสภาพแม่เหล็กหัวเทป จะค่อย ๆ ย่อยสลายแม่เหล็กซึ่งแทรกตัวอยู่ในโมเลกุลของโลหะ ให้ค่อย ๆ เล็กลงและหายไปในที่สุด

- ส่วนเครื่องล้างสภาพแม่เหล็กหัวเทปแบบหัวแร้งนั้น ก็จะต้องเสียบไฟให้อุปกรณ์ชนิดนี้ โดยให้เครื่องมืออยู่ห่างคาสเซ็ตเด็ตราว ๆ 2 ฟุต แล้วเปิดสวิตช์ ON ให้เริ่มทำงาน เลื่อนอุปกรณ์เข้าไปช้า ๆ ให้อยู่ใกล้กับหัวเทปมากที่สุด (แต่ไม่สัมผัสหัวเทป) ใช้เวลาครึ่งนาที เลื่อนอุปกรณ์ออกมาให้ห่าง 2 ฟุต แล้วก็ปิดเครื่อง ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดเสียงรบกวนให้หัวเทปตามมาอีกนั่นเอง

การใช้เครื่องล้างสภาพแม่เหล็กหัวเทปแบบนี้ ห้ามเปิด POWER เครื่องคาสเซ็ทเด็ดขาด

ถ้าหากใช้วิธีการทั้งสองแบบข้างต้นแล้วยังมีเสียงทึบอยู่อีก ให้ทำการตรวจปรับ AZIMUTH หัวเทป โดยใช้ไขควงขันน็อตเล็ก ๆ ตรงหัวเทป ให้มีการปรับมุมฉากของเส้นเทปกับหัวเทปอย่างถูกต้อง ค่อย ๆ ปรับหมุนไปจนได้เสียงที่ชัดเจนที่สุด ต้องทำในขณะที่ PLAY BACK เครื่องคาสเซ็ตเด็ค และใช้วิธีฟังด้วยหูของคุณเองเท่านั้น แต่ถ้าหากไม่ถนัดที่จะทำดังกล่าว ให้ยกไปยังบริษัทตัวแทนจำหน่าย มอบหมายให้ช่างเขาปรับแต่งอซิมุธให้ (อซิมุธหมายถึงลักษณะมุมของเส้นเทปที่ตั้งฉากกับหัวเทป)


คอมแพ็กดิสก์กับตำแหน่งการวาง

ดูเผิน ๆ คอมแพ็กดิสก์ไม่น่าจะต้องได้รับการเอาใจใส่นักเท่าใดเลย แต่คอมแพ็กดิสก์ก็จะให้เสียงที่เลวลงเมื่อคุณจัดวางไว้ในที่ ๆ ไม่เสมอกัน การวางคอมแพ็กดิสก์ในระนาบเดียวกันทั้งสี่มุมจะทำให้เสียงดีขึ้นอย่างน่าแปลกใจทีเดียว การตั้งเอียงไปในด้านใดด้านหนึ่ง พบได้ว่าอิมเมจจะสูญเสียไปผลนั้นคงมาจากชุดกลไกพิคอัพ-เลเชอร์เบี่ยงเบนไปจากตำแหน่งที่ควรจะเป็นนั่นเอง การใช้สายต่อคุณภาพดีมีผลต่อเสียงที่จัดจ้านคมจนเกินเหตุ ลดลงมาได้พอสมควร คอมแพ็กดิสก์ระดับราคากลาง ๆ หมื่นกว่าบาทจนถึงสามหมื่นบาทต่อเครื่องควรใช้สายสัญญาณระดับราคาสามพันถึงห้าพันบาทต่อคู่ ซึ่งถือได้ว่ามีคุณภาพสมน้ำสมเนื้อกัน สายนำสัญญาณดี ๆ นั้นจะช่วยเสริมคุณภาพเสียงคอมแพ็กดิสก์เพลเยอร์ได้อย่างเห็นผล "ฟังออก" ได้ทันทีทันใด

แต่ถึงระวังสายนำสัญญาณราคาถูกบางรุ่นบางยี่ห้อ ซึ่งจะไปทำการเปลี่ยนแปลงบุคลิกเสียงเดิมของคอมแพ็กดิสก์ให้แปรเปลี่ยนไป การใช้วัสดุหนัก ๆ ทับบนหลังเครื่องคอมแพ็กดิสก์ ไม่ใช่หนทางที่ถูกต้องในการปรับปรุงคุณภาพเสียงเสมอไป เพราะวัสดุที่ไปกดทับบนเครื่องนั้น อาจไปทำให้หลังเครื่องบุบ หรือพิคอัพเลเซอร์และลิ้นชักใส่ซีดีของเครื่องบางรุ่น ถูกกดทับจนทำงานไม่ได้ก็มี ปกติควรเลือกเครื่องคอมแพ็กดิสก์ที่มีคุณภาพของพิคอัพเลเซอร์ที่แข็งแรงไว้ก่อน ไม่ใช่เลือกเครื่องที่ราคาถูก ๆ แล้วใช้วัสดุแปลกปลอมไปกดทับ เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุที่ไม่ถูกจุดนัก

เครื่องเสียง เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษ มากกว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบอื่น ๆ เพราะความอ่อนไหวทางด้านเทคนิค มีส่วนทำให้เสียงดีขึ้นเลวลงได้อย่างง่านดาย ยังมีเทคนิคเคล็ดลับอีกมากมายในการปรับปรุงคุณภาพเสียง ซึ่งผมจะนำมาเขียนถึงในตอนต่อ ๆ ไป เพื่อให้เครื่องเสียงของท่านผู้อ่านนั้นสามารถตอบสนองต่อเสียงได้ดีที่สุด เต็มประสิทธิภาพของเครื่องเสียงแต่ละเครื่อง เพราะเป้าหมายของการเล่นเครื่องเสียงก็คือ การคืนกลับมาของเสียงดนตรีที่ใกล้ความจริงที่สุด ในระดับไฮ-ฟิเดลิตี้


 Tongue


บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media

lsv2555Please follow the new website at https://www.pohchae.com

Valid CSS!